เหตุลับโลกไม่รู้ เพราะถูกปิดข่าว ญี่ปุ่น-เยอรมัน โจมตีสหรัฐ ถึงถิ่น ช่วง WWII สงครามโลกครั้งที่ 2

เรือดำน้ำของเยอรมันคืบคลานอยู่ใต้ผืนมหาสมุทรนอกชายฝั่ง บอลลูนติดระเบิดซึ่งมีจุดประสงค์ในการโหมไฟป่า การ โจมตีสหรัฐ บนแผ่นดินใหญ่เมื่อยามสงครามโลกครั้งที่สองเหล่านี้นำมาซึ่งการทำลายล้างและความหวาดวิตก ในยามที่พวกเขาปิดไม่มิด

โจมตีสหรัฐ ฯ – ณ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การสู้รบแทบทั้งหมดมิได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าร่วมสงครามหลังการถล่มฐานทัพเรือที่เพิร์ลฮาร์เบอร์โดยฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 1941 หากแต่เป็นสนามรบอันไกลโพ้นบนผืนทวีปยุโรปและเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ยังผลให้ชาติน้อยใหญ่มากมายต้องเผชิญกับการทำลายล้าง

แต่กระนั้นเอง บนแผ่นดินใหญ่ของประเทศนี้ก็มิได้หลุดรอดจากภยันตรายไปเสียทั้งหมด เพราะนอกเหนือจากเหตุการณ์ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์แล้ว ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและเยอรมนีต่างก็ทำการโจมตีอาณาเขตของสหรัฐฯ อยู่เป็นครั้งครา แม้ปฏิบัติการเหล่านี้ ซึ่งมีตั้งแต่การโจมตีด้วยบอลลูนติดระเบิดของฝ่ายญี่ปุ่น, เรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมัน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำนอกชายฝั่งอเมริกาเหนือ, และวัตถุลึกลับเหนือท้องฟ้าของลอสแองเจลิส — จะเป็นที่รับรู้เพียงน้อยนิดสำหรับผู้คนซึ่งมิได้ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงคราม พวกมันก็แสดงให้ถึงจุดอ่อนของแผ่นดินใหญ่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสนามรบ ณ อีกฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องดำเนินมาตรการป้องกันตนเองมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ยังทำให้สาธารณชนอเมริกันต้องตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวและความหวาดระแวง และเป็นเพราะความระแวงดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้ประชาชนเชื้อสายญี่ปุ่นนับหลายพันคนต้องถูกจองจำในค่ายกักกันโดยไร้ความผิด เหล่านี้คือบางตัวอย่างของการโจมตีแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ในยามที่สงครามกำลังระอุบนทวีปอันห่างไกลออกไป

เรือเสบียง เอส.เอส. เพนซิลเวเนียซัน ถูกเรือดำน้ำดำน้ำเยอรมันโจมตีด้วยตอร์ปิโด ณ บริเวณนอกชายฝั่งคีย์เวสต์ ฟลอริดา เมื่อเดือนกรกฎาคม 1942 แม้จะถูกไฟลุกท่วมอย่างหนัก ลูกเรือของเรือขนส่งน้ำมันลำนี้ก็สามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ ก่อนที่เรือของกองทัพสหรัฐฯ จะช่วยจูงมันเข้าฝั่ง ภาพถ่ายจาก U.S. NAVY. OFFICE OF PUBLIC RELATIONS

ระเบิดบอลลูนของญี่ปุ่น

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1944 และเดือนเมษายน 1945 ฝ่ายญี่ปุ่นได้ปล่อยระเบิดบอลลูนเพดานบินสูงราว 9,000 ลูกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อเผาป่าแห่งต่างๆ ในภาคตะวันตกของประเทศ

อาวุธซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “บอลลูนเพลิง” เหล่านี้ อาศัยกระแสลมสำหรับการพัดพาข้ามมหาสมุทร และลอยตัวได้โดยกลไกซึ่งกระตุ้นให้ฟิวส์ของบอลลูนเหล่านี้ทำงานเมื่อพวกมันลดระดับความสูง เมื่อพวกมันทำงาน ฟิวส์เหล่านี้จะสลัดกระสอบทรายซึ่งติดอยู่กับบอลลูนทิ้งครั้งละหนึ่งกระสอบเพื่อลดน้ำหนักและทำให้พวกมันไต่ระดับความสูงขึ้นอีกครั้ง

กระบวนการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นซ้ำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกระสอบทั้งหมดถูกสลัดทิ้งและมีเพียงลูกระเบิดซึ่งยังติดอยู่กับบอลลูน ในขณะที่การค้นพบอาวุธเหล่านี้ซึ่งมีการบันทึกไว้จะมีเพียง 300 ครั้ง อันเป็นจำนวนเพียงเศษเสี้ยวของระเบิดทั้งหมดซึ่งถูกปล่อย พวกมันก็กลับมีโอกาสสร้างความเสียหายได้มากเกินคาด เนื่องเพราะบอลลูนเหล่านี้บางลูกได้ลอยลึกเข้าไปในแผ่นดินจนถึงไวโอมิงและมอนทานา

หนึ่งในการโจมตีโดยบอลลูนติดระเบิดเหล่านี้ส่งผลให้ชีวิตของพลเรือนอเมริกันหกคนต้องจบลง เหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่พลเรือนต้องเสียชีวิตด้วยอาวุธของฝ่ายศัตรูบนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 1945 เมื่อการระเบิดของอาวุธดังกล่าว ใกล้กับเมืองบลาย (Bly) มลรัฐโอเรกอน สังหารสตรีที่กำลังตั้งครรภ์และเด็กอีกห้าคนซึ่งกำลังพบปะเข้าสังคมกับชุมชนโบสถ์ของตน

แต่กระนั้น การโจมตีซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชน จนทำให้สหรัฐต้องหันเหทรัพยากรสำหรับการสงครามมาป้องกันแผ่นดินใหญ่ของตนเองก็ไม่สำฤทธิ์ผล เพราะการปกปิดข่าวสารอย่างมิดชิดโดยรัฐบาล ซึ่งบังคับให้ชุมชนผู้ต้องพบเจอโศกนาฐกรรมครั้งนี้ต้องปิดปากให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ความหวาดผวาแพร่กระจายเป็นวงกว้างในหมู่สาธารณชน

บอลลูนในภาพซึ่งถ่ายที่แคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1946 นี้ คือบอลลูนติดระเบิดซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นปล่อยให้ลอยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อก่อไฟป่าในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ภาพถ่ายโดย NATIONAL MUSEUM OF THE US NAVY
ยี่สิบปีหลังการทิ้งระเบิดที่โอเรกอนเมื่อปี 1942 โนบุโอะ ฟูจิตะ ผู้ทำการโจมตีครั้งนี้ อ่านข่าวเกี่ยวกับการโจมตีซึ่งเขาเป็นผู้ดำเนินการ ฟูจิตะมาเยือนโอเรกอนในฐานะแขกของหอการค้าสหรัฐฯ ซึ่งเชื้อเชิญให้เขามาเยือนสหรัฐฯ เพื่อส่งสัญญานถึงความเป็นมิตรไมตรี ภาพถ่ายโดย ASSOCIATED PRESS

ภัยจากเรือดำน้ำเยอรมัน

ระหว่างเดือนมกราคมและมิถุนายน 1942 ภายใต้ผืนทะเลของมหาสมุทรแอตแลนติก บรรดาเรือดำน้ำหรือเรืออู (U-boat) ของฝ่ายเยอรมนีได้ลอยเลื้อยไปตามแนวชายฝั่งต่างๆ ของสหรัฐฯ และแคนาดาเพื่อจู่โจมเรือส่งเสบียงของฝ่ายสัมพันธมิตร

เมื่อปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้น เรือดำน้ำเหล่านี้สามารถส่งเหยื่อเป้าหมายกว่า 100 ลำลงสู่ก้นทะเลภายในเวลาเพียงสามเดือนแรกหลังการโจมตีเริ่มขึ้น ซ้ำร้าย เรือบางลำกลับต้องพบจุดจบหลังพวกมันออกจากท่าไปได้เพียงไม่นาน และต้องจมลงท่ามกลางสายตาของผู้คนบนฝั่ง จำนวนเรือที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียในช่วงเวลาดังกล่าว เรือ 78 ลำ พร้อมลูกเรือพานิชย์นาวีอีก 1,200 ชีวิต ถูกจมลง ณ บริเวณนอร์ธแคโรไลนาเพียงแห่งเดียว

กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามจากภยันตรายใต้น้ำเหล่านี้ และสถานการณ์ก็คับขันถึงขั้นที่พลเรือนต้องใช้เครื่องบินขนาดเบาและไม่ติดอาวุธของตนขึ้นตรวจตราบริเวณนอกชายฝั่ง แม้พวกเขาจะไม่มีวิธีใดๆ ในการขับไล่ศัตรูก็ตาม ในเวลาต่อมา ลูกเรือเหล่านี้บางคนก็เริ่มติดระเบิดให้เครื่องบินของตนด้วยวิธีแบบแสวงเครื่อง และประสบความสำเร็จในการจมเรืออูสองลำ

อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายเยอรมนีจะสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมากในช่วงเเรก การโจมตีเหล่านี้ก็เกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด หลังเรือพานิชย์ของสหรัฐฯ เริ่มเดินทางร่วมกับขบวนเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งได้รับการคุ้มกันจากทั้งเรือและเครื่องบินรบ

เครื่องบินของหน่วยคุ้มกันชายฝั่ง (Coast Guard) สองลำขึ้นบินลาดตระเวณเพื่อคุ้มกันขบวนเรือ ภาพถ่ายโดย THE NATIONAL ARCHIVES

เรือดำน้ำซุ่มโจมตีของญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1942 นาวาโทนิชิโอะ โคโซ ผู้บัญชาการเรือดำน้ำ I-17 แห่งราชนาวีญี่ปุ่น ได้ออกคำสั่งให้ลูกเรือของตนนำเรือขึ้นเหนือผิวน้ำนอกชายฝั่งของแคลิฟอร์เนีย และเปิดฉากยิงใส่ทุ่งน้ำมันเอลล์วูด ใกล้กับเมืองซานตาบาร์บารา แม้ทุ่งน้ำมันแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในมลรัฐนี้ มันกลับไม่มีทหารจำนวนมากประจำการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเหมือนเช่นทุ่งน้ำมันแห่งอื่นๆ ในซานฟรานซิสโกและลอสแองเจลิส

รายงานข่าวต่างๆ จากหนังสือพิมพ์จากช่วงเวลานั้นระบุว่าการโจมตีเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวหนึ่งทุ่มสิบห้านาที และมีการยิงกระสุนไปทั้งหมดราว 16 นัด ฮิลดา วีลเลอร์ ผู้ทำงานในโรงแรมขนาดเล็กของครอบครัวในบริเวณใกล้เคียง เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “พวกเราเห็นกระสุนปืนใหญ่พวกนี้ฉีกทึ้งพื้นดินเมื่อมันตกลงบริเวณระหว่างพวกเราเเละหน้าหาด… ในตอนแรก พวกเราทุกคนคิดว่านี่มันคือการซ้อมยิง แต่จากนั้น เราก็หันหลังกลับไปและเห็นดินที่กำลังปลิวขึ้นมา จากนั้น พวกเราก็กลัวกันแทบตายเลยค่ะ”

แต่น่าอัศจรรย์ที่ความเสียหายที่กระสุนเหล่านี้ก่อขึ้นมีเพียงเครื่องขุดเจาะน้ำมันเครื่องหนึ่ง ซึ่งสามารถซ่อมแซมได้ด้วยเงินเพียง 500 เหรียญสหรัฐฯ (ในสมัยนั้น) และชายอีกคนซึ่งได้รับบาดเจ็บเมื่อเขาพยายามปลดชนวนกระสุนซึ่งไม่ระเบิดลูกหนึ่ง ฝ่ายสหรัฐฯ พยายามโต้ตอบการโจมตีครั้งนี้ด้วยการส่งเครื่องบินหลายลำขึ้นไล่ตาม I-17 แต่ทั้งนิชิโนะและลูกเรือทั้งหมดก็สามารถหนีรอดไปได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้สร้างความหวาดกลัวต่อการรุกรานอย่างมหันต์ในหมู่ชาวอเมริกันในภาคตะวันตก หนังสือพิมพ์สำนักต่างๆ พาดหัวข่าวเช่น “เรือดำน้ำยิงถล่มทุ่งน้ำมันเอลล์วูด” และ “แผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกโจมตีเป็นครั้งแรกในสงคราม” และในไม่ช้านาน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มจับกุมตัวประชาชนเชื้อสายญี่ปุ่นกว่า 120,000 คนอย่างไม่เป็นธรรม และจองจำคนเหล่านี้ — ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะเป็นพลเมืองอเมริกัน —ในค่ายกักกันแห่งต่างๆ จนถึงปี 1945

วัตถุลอยฟ้าลึกลับ

หลังการโจมตีที่เอลล์วูดผ่านพ้นไปได้หนึ่งวัน ความหวาดวิตกซึ่งแผ่ปกคลุมไปทั่วก็ได้นำไปสู่หนึ่งในเหตุการณ์ที่แปลกพิสดารที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งนี้

เมื่อเวลาสองนาฬิกาของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กองทัพสหรัฐฯ ได้ตรวจพบวัตถุลอยฟ้าไม่ระบุตัวตนซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังบริเวณลอสแองเจลิส และเชื่อว่าวัตถุดังกล่าวอาจเป็นอากาศยานหรือบอลลูนซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นส่งมาโจมตีแคลิฟอร์เนีย

ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเปิดสัญญานเตือนภัยการโจมตีทางอากาศ และเมืองลอสแองเจลิสก็เข้าสู่ภาวะระวังภัยระดับสูง ไฟส่องสว่างถูกฉายขึ้นฟ้าเพื่อค้นหาวัตถุดังกล่าว ปืนต่อต้านอากาศยานเปิดฉากการระดมยิงซึ่งผลาญกระสุนไปกว่า 1,400 นัด และสร้างฉากแห่งความโกลาหลเหนือท้องฟ้ายามราตรีและตัวเมืองเบื้องล่าง ยังผลให้ผู้คนหลายชีวิตต้องล้มตายเนื่องจากอุบัติเหตุจราจรและอาการหัวใจวาย กระนั้น มันก็กลับไม่มีเครื่องบินของฝ่ายศัตรูซึ่งถูกยิงตกในเหตุการณ์ครั้งนี้ และเศษซากซึ่งอาจมาจากอากาศยานก็ไม่เคยถูกค้นพบ

เหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “การยุทธแห่งลอสแองเจลิส” (the Battle of Los Angeles) ในปัจจุบันก็ยังคงครอบคลุมไปด้วยความคลุมเคลือ เนื่องเพราะแม้แต่ในทุกวันนี้ มันก็ยังคงไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าวัตถุลึกลับซึ่งปรากฏขึ้นบนจอเรดาห์ในค่ำคืนนั้นคือสิ่งใดกันแน่

ทหารตรวจดูความเสียหายจากการยิงโจมตีฟอร์ตสตีเวนส์ โอเรกอน โดยเรือดำน้ำ I-25 ของญี่ปุ่น การโจมตีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1942 ครั้งนี้ และการโจมตีชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือโดยเรือดำน้ำพิสัยไกลชั้น I ครั้งอื่นๆ คือการโจมตีตอบโต้ของญี่ปุ่น หลังแผ่นดินใหญ่ของพวกเขาถูกโจมตีทางอากาศเมื่อเดือนเมษายนของปีเดียวกัน ภาพถ่ายจาก THE NATIONAL ARCHIVES

เครื่องบินน้ำติดลูกระเบิด

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1942 เครื่องบินน้ำขนาดเล็กสำหรับการสอดแนมลำหนึ่งบินขึ้นจากเรือดำน้ำของฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมด้วยระเบิดเพลิงเทอร์ไมต์น้ำหนัก 71 กิโลกรัมสองลูกซึ่งติดอยู่ใต้ลำตัวเครื่อง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังโอเรกอนเพื่อดำเนินภารกิจก่อไฟป่าขนาดยักษ์ในมลรัฐแห่งนี้ อันเป็นผลลัพธ์ซึ่งพวกเขาคาดหวังว่าจะสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง

เพื่อการนี้ โนบุโอะ ฟูจิตะ นักบินผู้บังคับเครื่อง ได้ทิ้งระเบิดทั้งสองลูกลงในบริเวณเทือกเขาเอมิลี ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ราว 80.5 กิโลเมตร แต่ระเบิดเหล่านี้กลับสามารถก่อได้แต่เพียงไฟป่ากองเล็กๆ ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วเท่านั้น เพราะฝนซึ่งตกในบริเวณนั้นส่งผลให้ป่าที่ถูกโจมตีมีสภาพอับชื้นและทำให้เพลิงลุกไหม้ได้ยาก หลังการโจมตี สะเก็ดระเบิดซึ่งถูกระบุว่ามาจากอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นได้ถูกเก็บรวบรวมและส่งให้กองทัพสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีรูสต์เวลล์ออกคำสั่งปกปิดข่าวเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความหวาดผวาแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่การเก็บความลับครั้งนี้ไม่สัมฤทธิผลแต่อย่างใด เพราะผู้คนจำนวนมากได้ทราบข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปเรียบร้อยแล้ว การทิ้งระเบิดครั้งนี้ส่งผลให้กองทัพต้องส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นบินในบริเวณนั้น และทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการพรางไฟตลอดทั้งแนวชายฝั่งตะวันตกของประเทศ

แม้สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันตนเอง แต่ก็ไม่สามารถทำให้การโจมตีจบลงได้ ในอีกยี่สิบวันต่อมา หลังเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 กันยายน ฟูจิตะก็ทำการโจมตีด้วยระเบิดเพลิงสองลูกอีกครั้ง แต่ก็เหมือนเช่นครั้งแรก การโจมตีครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่เขารายงานว่าตนเองเห็นเปลวเพลิงจากระเบิด ผู้คนในบริเวณใกล้เคียงก็กลับไม่ได้รายงานถึงความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง NEIL KAGAN และ STEPHEN HYSLOP

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ทำไมญี่ปุ่นดำเนิน การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ แม้โอกาสชนะสหรัฐฯ มีน้อยนิด

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.