Berik Syzdykov วัย 38 ปี นั่งอยู่ในห้องครัวของอพาร์ทเม้นที่เขาอาศัยอยู่กับแม่ ในเมือง Semey ของคาซัคสถาน Berik เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางใบหน้า หลังแม่ของเขาได้รับกัมมันตรังสีจากการทดสอบนิวเคลียร์โดยสหภาพโซเวียต ขณะกำลังตั้งครรภ์ เขาตาบอด และต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งเพื่อลดอาการบวมของใบหน้า
ณ ที่ราบอันอ้างว้างเสื่อมโทรมในพื้นที่ห่างไกลของคาซัคสถาน ทะเลสาบไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการระเบิดของนิวเคลียร์ส่งผลให้ภูมิประเทศกลายเป็นที่ราบ อาคารรอบๆ ว่างเปล่า บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ความตายหลอกหลอนที่ดินผืนนี้ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็เหมือนตายทั้งเป็น เหล่านี้คือผลกระทบจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน
พื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ โพลิกอน สถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น ดินแดนนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของมีเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทำเกษตรกรรมอาศัยอยู่ แม้ว่าผู้พักอาศัยบางส่วนจะย้ายออกไปแล้วในช่วงของการทดสอบแต่ส่วนมากเลือกที่จะปักหลักอาศัยอยู่ และผลกระทบของมันยังคงส่งผลมาในปัจจุบัน
ฟีล แฮตเชอร์-มัวร์ ช่างภาพใช้เวลา 2 เดือนไปกับการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งสะท้อนถึง “ความโง่เขลาของมนุษย์” โปรเจคของเขามีชื่อว่า “Nuclear Ghosts” ถ่ายทอดภูมิประเทศที่ถูกทิ้งร้างและภาพถ่ายบุคคลของชาวบ้านที่เผชิญกับผลกระทบจากอาวุธนิวเคลียร์
จำนวนนั้นเป็นที่น่าประหลาดใจ ว่ากันว่ามีผู้คนมากถึง 100,000 คนในพื้นที่นี้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี ซึ่งสามารถส่งต่อได้ถึงสมาชิกในครอบครัว 5 รุ่น แต่ด้วยผลงานภาพถ่ายของมัวร์ เขาพยายามทำให้ตัวเลขเหล่านี้ถูกมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“การปนเปื้อนนิวเคลียร์เป็นอะไรที่เราไม่ได้เห็นกันด้วยตา” เขากล่าว “เราพูดกันถึงตัวเลขผลกระทบแต่ผมพบว่ามันน่าสนใจกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของของแต่ละบุคคล” มัวร์สัมภาษณ์เหยื่อที่ได้รับผลกระทบก่อนที่จะถ่ายภาพ ซึ่งเขาได้เรียนรู้ว่าความลับและข้อมูลที่ผิดพลาดจากรัฐก่อให้เกิดประสบการณ์มากมายแก่ชาวบ้านที่นี่
“ในทศวรรษ 50 ชายคนหนึ่งพร้อมด้วยเต้นท์ของเขาถูกสั่งให้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาเป็นเวลา 5 วันพร้อมกับฝูงแกะ ตัวเขาได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์ในฐานะผู้สังเกตการณ์การทดสอบ” มัวร์กล่าว “พวกเขาไม่เคยเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น แน่นอนรวมถึงอันตรายที่พวกเขาเผชิญมาด้วย”
แม้ว่าเรื่องราวของมนุษย์จะถูกใช้เป็นศูนย์กลาง แต่มัวร์ยังจัดทำเอกสารทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของการทดลอง การเผยแพร่ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการควบคู่ไปกับภาพถ่ายบุคคลของผู้คนที่ได้รับผลกระทบส่งผลให้งานของเขาเต็มไปด้วยความอึดอัดมากขึ้น และนั่นคือเจตนาของช่างภาพ
“ในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวของมนุษย์มากมายที่กลายเป็นเหยื่อทดลอง” มัวร์กล่าว “ผมต้องการผสานไอเดียทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน คือวิธีการที่ผู้คนตกเป็นเหยื่อกับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นอย่างไรต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา และมีความหมายใด”
เหยื่อบางรายของมัวร์นั้นต้องเผชิญกับความผิดปกติรุนแรง หลายคนป่วยจากปัญหาทางสุขภาพที่มองไม่เห็นเช่นมะเร็ง, โรคในระบบเลือดหรือความเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งผลกระทบที่ซ่อนเร้นอยู่เหล่านี้คือเรื่องที่น่าหนักใจที่สุด
“เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ได้มีการพัฒนานิวเคลียร์ต่อ แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้” มัวร์กล่าว “แต่เราไม่ได้ต้องการให้อาวุธนี้กลับมาอีกครั้ง ผู้คนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีจุดจบอย่างไร”
เรื่อง อเล็กซานดรา เกโนวา
ภาพถ่าย ฟีล แฮตเชอร์-มัวร์
อ่านเพิ่มเติม