วลาดจอมเสียบ คือฉายาของ วลาด แดร็กคิวล่า (Vlad Tepes Dracula) หรือ วลาดที่ 3 เจ้าชายแห่งวาลาเคีย ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ช่วงปี ค.ศ. 1431–1476 ซึ่งเรื่องราวของพระองค์ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายชื่อ Dracula (1897) ของ บราม สโตกเกอร์ ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์ในปราสาทแดร็กคิวล่าที่ประเทศโรมาเนีย
ชื่อแรกของ วลาดที่ 3 คือ วลาด เซเปช ก่อนที่จะถูกเรียกว่า วลาดิสลาฟ ดรากูลา (แดร็กคิวล่า) ในภายหลัง พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของ วลาด ที่ 2 ที่มีพระราชบิดาได้รับตรากล้าหาญ Order of the Dragon จากพระจักรพรรดิซิกิสมุนด์
ในวัยเยาว์พระองค์และพระอนุชา ราดู ผู้รูปงาม (ฉายา) ถูกส่งไปเป็นตัวประกันในจักรวรรดิออตโตมัน ด้วยความที่อาณาจักรวัลลาเชีย (ในอดีตโรมาเนียแบ่งออกเป็น 3 รัฐ คือ วัลลาเชีย, มอลดาเวีย, ทรานซิลเวเนีย) สมัยศตวรรษที่ 15 อยู่ในฐานะประเทศราชของออตโตสัน โดยก่อนจะได้ปกครองเมือง เจ้าชายวลาดต้องพเนจรไปในหลายประเทศ ช่วงที่ออตโตมันพิชิตดินแดนคาบสมุทรบอลข่าน
ต่อมาพระราชบิดาของพระองค์คือ วลาดที่ 2 และพระเชษฐา มีร์ชาที่ 2 ถูกพวกขุนนางภายใต้สังกัดฮังการีปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1447 จักรวรรดิออตโตมันจึงพยายามกำจัดอิทธิพลของฮังการีโดยการส่งกองทัพมายึดวาลาเคีย และตั้งวลาดที่ 3 ในวัย 17 พรรษา เป็นเจ้าชายผู้ครองรัฐภายใต้อาณัติแห่งจักรวรรดิออตโตมัน แต่วลาดที่ 3 ก็ต้องเสียบัลลังก์ไป เมื่อ ฮุนยาดี ยานอช ผู้สำเร็จราชการของฮังการี นำทัพเข้าพิชิตวาลาเคีย
วลาดที่ 3 จึงเสด็จหนีไปประทับอยู่ที่มอลดาเวียกับ บกดานที่ 2 เจ้าชายแห่งมอลดาเวีย ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง ภายหลังบ็อกดานถูกลอบสังหารจากสงครามกลางเมือง วลาดจึงต้องเสด็จหนีไปฮังการี ด้วยความที่ฮุนยาดีประทับใจในความรู้ความสามารถของวลาด และรู้ว่า วลาด มีความเกลียดชังต่อสุลต่านพระองค์ใหม่คือ สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ฮุนยาดี จึงตั้งวลาดให้เป็นที่ปรึกษา หลังฮุนยาดีถึงแก่อสัญกรรม วลาดได้นำกำลังเข้ายึดวาลาเคียคืนจากฮังการี และขึ้นครองบัลลังก์
ค.ศ. 1459 สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ได้ส่งทูตมาเรียกร้องบรรณาการจากวาลาเคีย วลาดที่ 3 ปฏิเสธจะจ่ายบรรณาการ และสังหารทูตโดยการตอกตะปูกับผ้าโพกหัวให้ติดกับศีรษะ สุลต่านทรงพิโรธจึงส่งทหารเข้าโจมตีวาลาเคียในปี ค.ศ. 1462
วลาดที่ 3 สวมบทนักรบปกป้องอาณาจักรจากการรุกรานเกือบตลอดชีวิต แม้กำลังน้อยกว่า แต่เขาใช้วิธีรบแบบกองโจรและประสบความสำเร็จหลายครั้ง ซึ่งครั้งสำคัญที่สุดคือการลอบโจมตีในกลางดึกที่ ตรือโกวิชเต้ ส่งผลให้กองทัพออตโตมันสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ วลาดที่ 3 ได้ฉายา วลาดจอมเสียบ จากการที่พระองค์ต้องการแสดงความโหดเหี้ยมเพื่อข่มขวัญทหารชาวเติร์กด้วยการทรมานเชลยและนักโทษโดยใช้ไม้แหลมเสียบร่างเหยื่อแล้วปักประจานต่อหน้าประชาชน จนเป็นที่หวาดผวาของกองทัพออตโตมัน รวมถึงถูกกล่าวขานวีรกรรมนี้ไปทั่วยุโรป เพราะตอนนั้นไม่ค่อยมีชาติไหนกล้าต่อกรกับออตโตมัน
แต่ในทางตรงกันข้าม พระองค์ทรงเป็นที่เคารพในฐานะวีรบุรุษของประเทศโรมาเนีย ตลอดจนส่วนอื่นของทวีปยุโรป กับการช่วยพิทักษ์ประชากรโรมาเนียทั้งใต้และเหนือแม่น้ำดานูบ สามัญชนและอภิชนชาวโรมาเนียและบัลแกเรียที่ยังเหลืออยู่จำนวนมากย้ายมาเหนือแม่น้ำดานูบสู่วาลาเคีย หลายชนชาติตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั้นได้หลัง วลาดที่ 3 ขับไล่ จักรวรรดิออตโตมันออกไปจากพื้นที่
ดังนั้น วลาดที่ 3 จึงถูกยกย่องว่าเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรวัลลาเชีย ทั้งการปกป้องบ้านเมืองจากการรุกราน ลดอัตราอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่น แม้ว่าจะทรงใช้วิธีการลงโทษแบบสุดโต่งเพื่อสร้างความหวาดกลัวก็ตาม แต่ก็กำจัดปัญหาการทำผิดกฏหมายลงได้ ส่วนการค้าของดินแดนก็เป็นไปด้วยดี
แม้จะมีกองทัพที่มีชื่อเสียง แต่ วลาดที่ 3 ก็ต้องพ่ายแพ้เนื่องจากมีขุนนางเป็นไส้ศึก แปรพักตร์ไปเข้ากับศัตรู ออตโตมันจึงสามารถกลับมาพิชิตวาลาเคีย และตั้ง ราดู ผู้รูปงาม (Radu Cel Frumos) พระอนุชาของวลาดที่ 3 ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและมีใจฝักใฝ่ต่อออตโตมัน ขึ้นบัลลังก์เป็นเจ้าชายแห่งวาลาเคีย
ด้าน วลาดมรา 3 เสด็จหนีไปขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรของพระองค์คือฮังการี แต่แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือ พระองค์กลับถูกจับกุมตัวโดย พระเจ้ามะติอัช ซึ่งเป็นพระโอรสของฮุนยาดี ยานอช และเป็นพระมหากษัตริย์ฮังการี โดยสาเหตุของการจับกุมอาจเป็นไปได้ว่าพระเจ้ามะติอัชทรงไม่ประสงค์จะเปิดศึกกับออตโตมัน เพราะพระองค์ทรงกำลังต้องการที่จะขยายอำนาจในยุโรปกลางมากกว่า จึงทรงแต่งจดหมายปลอมว่าวลาดมีใจฝักใฝ่ต่อออตโตมัน เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในการจับกุมตัว วลาดที่ 3
ต่อมา พระเจ้ามะติอัชทรงต้องการแผ่ขยายอำนาจสู่ดินแดนวาลาเคีย จึงทรงปล่อยตัววลาดในปี ค.ศ. 1474 และในปี ค.ศ. 1476 พระองค์ได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุน วลาดที่ 3 ให้กลับไปยึดวาลาเคียอีกครั้ง วลาดที่ 3 สามารถยึดบัลลังก์จาก บาซารับ ลาโยเตอะ ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งวาลาเคียพระองค์ใหม่ที่ฝักใฝ่ในออตโตมัน ได้สำเร็จ และปกครองบัลลังก์วาลาเคียเป็นสมัยที่ 3 แต่พระองค์ปกครองได้ไม่นานก็ถูกสังหารลงในการสู่รบกับกองทัพออตโตมัน ณ เมืองบูคาเรสต์ ในปี ค.ศ. 1476
ปี 1897 บราม สโตกเกอร์ เขียนนิยายชื่อ แดร็กคูล่า โดยนิยายคลาสสิกเรื่องนี้เขียนบริบทเชิงพื้นที่ในปราสาท ซึ่งปราสาทที่รับรู้กันว่าเป็น ปราสาทแดร็กคิวล่า คือ ปราสาทโพเอนารี่ (Poienari Castle) ของ วลาดที่ 3 ในโรมาเนีย ปราสาทเก่าแก่นี้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 13 ก่อนจะกลายมาเป็นที่ประทับของพระองค์ช่วงศตวรรษที่ 15 (ภายหลังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว)
ขณะเดียวกัน ต้นแบบของตัวละคร แดร็กคูล่า บราม ก็อ้างอิงมาจาก วลาดที่ 3 กับเรื่องราวของแวมไพร์หรือผีดิบดูดเลือดในโรมาเนีย ที่เดินทางมาอังกฤษเพื่อเผยแพร่เผ่าพันธุ์ โดยมีฉากหลังเป็นอังกฤษที่ปกคลุมด้วยบรรยายกาศอึมครึมในยุควิกตอเรีย
อย่างไรก็ตาม เคาท์แดร็กคูล่าแวมไพร์ผู้เป็นอมตะ ที่อาศัยอยู่ในปราสาทที่ทรานซิลเวเนีย ชราแต่ร่างกายแข็งแรง มีผมและหนวดเคราสีขาวโพลน ตาสีแดงมีแววโหดเหี้ยม ฟันเล็กแหลมคม ชอบสวมชุดยาวสีดำล้วน พูดภาษาอังกฤษชัดเจนแต่สำเนียงแปลก และจะปรากฏตัวเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น ก็กลายเป็นผีอีก 1 ตัว ที่มีบทบาทอย่างมากในวงการภาพยนตร์ และในช่วงเทศกาลฮาโลวีน
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Vlad_the_Impaler
https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/vlad-the-impalers-thirst-for-blood-was-one-inspiration-behind-count-dracula
https://www.silpa-mag.com/history/article_51775
https://travel.trueid.net/detail/9ZDWbJ8Drnjx