ซีแลนเดีย ทวีปที่ถูกซ่อนไว้ และการค้นพบทวีปที่ 8 ของโลก

ซีแลนเดีย ทวีปที่ซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทร ได้แยกออกจากกอนด์วานา ซึ่งเป็นมหาทวีป ด้วยสาเหตุจากธารลาวาเมื่อ 100 ล้านปีก่อน

นักวิทยาศาตร์ได้รวบรวมข้อมูล และจัดทำแผนที่ฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของ “แผ่นดินที่สาบสูญ” แห่ง ซีแลนเดีย ซึ่งรวมถึงนิวซีแลนด์ และหมู่เกาะโพ้นทะเลนิวแคลิโดเนีย ของฝรั่งเศส ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการก่อตัวของทวีปเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน

ซีแลนเดียเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อปี 2017 ซึ่งมีสมมติฐานว่า ดินแดนแห่งนี้อาจเป็นทวีปใหม่ของโลก โดยก่อนหน้านี้ ซีแลนเดียเป็นที่รู้จักในชื่อภาษาเมารีว่า เตริวอาเมาอี นักธรณีพบว่า พื้นดินส่วนใหญ่ของทวีปนี้เป็นส่วนประกอบของชั้นหินที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ และมีตะกอนดินทับถมกันแน่นบริเวณขอบทวีป

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาแผ่นดินผืนนี้มาเป็นเวลาหลายปี ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้จัดทำแผนที่ฉบับสมบูรณ์ฉบับแรก และเผยแพร่ผลงานของพวกเขาลงในวารสาร Tectonics เมื่อเดือนกันยายน 2023 โดยใจความหลักอธิบายว่า ซีแลยเดียมีพื้นที่เกือบทั้งหมดจมอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเพียงแผ่นดินของประเทศนิวซีแลนด์ที่โผล่พ้นน้ำทะเลมาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ภาพประกอบ GNS

ลักษณะโดยรวมทางภูมิศาสตร์ของซีแลนเดีย ประกอบด้วย พื้นที่รวมประมาณ 4.9 ล้านตารางกิโลเมตร ในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มสำรวจและทำแผนที่ของพื้นที่ทางตอนใต่ของซีแลนเดีย ซึ่งมีขนาดประมาณ 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งการทำแผนที่ในครั้งนั้น ทำให้พวกเขาพบว่า ดินแดนซีแลนเดียได้แยกออกจากแผ่นดินขนาดใหญ่ “กอนด์วานา” เมื่อ 60 – 100 ล้านปี ที่ผ่านมา

ซุนดาแลนด์ ภูมิภาคในอดีตที่อาเซียนเคยเชื่อมโยงเป็นผืนแผ่นดินเดียว

จนกระทั่ง พวกเขาสำรวจและเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงการศึกษาที่เผยแพร่ฉบับล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถจัดทำแผนที่ของซีแลนเดียได้อย่างสมบูรณ์ โดยแสดงให้เห็นพื้นที่ทางตอนเหนือของซีแลนเดีย ซึ่งมีขอบเขตระหว่างประเทศนิวซีแลนด์ นิวแคลิโดเนีย และออสเตรเลีย

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า ทวีปซีแลนเดียแยกออกจากกอนด์วานาเนื่องจากแรงผลักดันจากแนวภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่มีหินลาวาแม่เหล็กอยู่เบื้องล่าง ซึ่งทอดตัวยาวไปตามขอบของทวีปทั้งสอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดทวีปซีแลนเดีย นักวิทยาศาสตร์พบว่า “เมื่อครั้งหนึ่งเกิดแมกมาหลอมเหลวจากภูเขาไฟปะทุขึ้นมาและไหลผ่านแผ่นดิน บวกกับความบางของแผ่นดินบริเวณนี้” นิก มอร์ทิเมอร์ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ และนักธรณีวิทยา สถาบันธรณีและวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (GNS) เขียนในรายงาน และเสริมว่า “จึงเป็นสาเหตุให้ทวีปซีแลนเดียแตกและแยกออกจากกอนด์วานาในที่สุด”

“จนถึงปัจจุบัน เรายังทราบข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของแมกมาที่มีผลต่อการแยกตัวของทีป และการศึกษาที่ผ่านมายังไม่ได้ศึกษาถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก” แวนดา สแตรทฟอร์ด นักธร๊ฟิสิกส์ สถาบัน GNS กล่าวและเสริมว่า “แมกมาที่อยู่ใต้พื้นที่ทวีปนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดประมาณประเทศนิวซีแลนด์”

ภาพประกอบ  Google Earth

จากการศึกษาตัวอย่างของก้อนกินที่เก็บขึ้นมาจากก้นทะเลใกล้กับทวีปซีแลนเดีย นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลว่า บริเวณตอนกลางของซีแลนเดียมีสายแร่หินแกรนิตพาดผ่าน ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปประมาณ 100 – 250 ล้านปีก่อน

ในรายงานระบุเพิ่มเติมว่า การค้นพบทวีปซีแลนเดียจะส่งผลให้นิวซีแลนด์พื้นที่การสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่กว้างขึ้น และหมายถึงการลงทุนด้านการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอนาคต

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ภาพ กราฟิก National Geographic

ข้อมูลอ้างอิง
https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1029/2023TC007961
https://www.livescience.com/lost-continent-zealandia-new-tectonic-map.html
https://www.bbc.com/thai/articles/c99qr14lp1do

อ่านเพิ่มเติม แพนเจียอัลติมา มหาทวีปใหม่ในอีก 250 ล้านปีอาจกวาดล้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมให้สูญพันธุ์หมด เหตุโลกร้อนจัด เต็มไปด้วยภูเขาไฟ ไม่สนับสนุนการใช้ชีวิต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.