การค้นพบทางโบราณคดี – ปี 2023 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดีของวงการโบราณคดี เพราะนอกจากการนำเทคนิคใหม่ ๆ เช่น AI เข้ามาใช้จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรดาโบราณวัตถุที่ขุดพบก่อนหน้านี้
ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ยังเป็นปีแห่งการค้นพบทางโบราณคดีใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำมัมมี่ที่เผยเทคนิคลับในการฝังศพแบบโบราณ วิหารใต้น้ำในอิตาลีที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2000 ปีที่แล้วโดยเหล่าพ่อค้าชาวอาหรับ หรือเมืองมายาโบราณขนาดมหึมาที่ครั้งหนึ่งเคยสาบสูญใต้ผืนป่าทว่ากลับถูกค้นพบอีกครั้งด้วยการใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์ในการสำรวจ นอกจากนี้ยังมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ อีกหลายแห่ง
ร่วมตื่นตาตื่นใจไปกับ 7 การค้นพบครั้งใหม่ที่น่าสนใจที่สุดในปี 2023 ได้ในเนื้อหาต่อไปนี้
ในเดือนมิถุนายน นักโบราณคดีพบดาบ 4 เล่มในสภาพที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อภายในถ้ำในทะเลทรายจูเดียน (Judean Desert) คาดว่าดาบเหล่านี้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ช่วงศตวรรษที่ 1 – 3 ก่อนคริสตกาล หรือช่วงเวลาที่ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นแหล่งหลบภัยของกลุ่มกบฏชาวยิวที่ต่อต้านการปกครองของจักรวรรดิโรมัน โดยปกติแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปไม้และหนังจะผุพังลงอย่างรวดเร็ว แต่สภาพอากาศอันแห้งแล้งของทะเลทรายกลับปกป้องวัตถุโบราณเหล่านั้นจากการเสื่อมสภาพไว้ได้ ดาบที่ค้นพบจึงถูกคงสภาพไว้อย่างสมบูรณ์ทุกส่วน ทั้งด้ามจับและฝักที่ทำจากไม้ รวมไปถึงแถบหนังที่เป็นส่วนหนึ่งของดาบ
ดาบทั้ง 4 เล่มถูกพบหลังปลายเหล็กแหลมของหอกซัดโรมันที่เรียกว่า พิลัม (Pilum) และชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ทำจากไม้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกภายในถ้ำทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับทะเลเดดซี เมื่อพบพิลัมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ทำการสำรวจถ้ำต่อด้วยเครื่องตรวจจับโลหะจนพบกับดาบที่ถูกเก็บไว้ตามซอกหินย้อย เชื่อกันว่าอาวุธเหล่านี้อาจถูกกบฏชาวยิวเก็บรวบรวมมาจากสนามรบ หรือขโมยมาจากทหารโรมันแล้วนำมาซ่อนไว้ในช่วงการปฏิวัติ บาร์ กอคบา (Bar Kokhba) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 132 – 136 เหล่านักโบราณคดีต่างก็รู้สึกตื่นเต้นกับไม้และหนังที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพดี เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้อาจช่วยระบุสถานที่และช่วงเวลาที่ดาบถูกสร้างขึ้นได้
ในเดือนกุมภาพันธ์ ทีมอาสาสมัครวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในชิลีได้ขุดพบรูปปั้นหินแกะสลักขนาดยักษ์ซึ่งมีรูปร่างคล้ายใบหน้ามนุษย์ หรือโมอาย (Moai) ตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนบนเกาะอีสเตอร์ (Easter Island) หรือเกาะราปานูอี (Rapa Nui) ตามภาษาท้องถิ่น เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งชิลีประมาณ 3200 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับโมอายที่พบได้ทั่วไปบนเกาะ รูปปั้นที่เพิ่งถูกค้นพบถือว่ามีขนาดเล็กกว่าปกติ กล่าวคือ โมอายราว ๆ 900 ตัวที่พบบนเกาะมีความสูงได้มากถึง 10 เมตร และมีโมอายหนึ่งตัวที่คาดว่าอาจจะสูงมากกว่า 20 เมตรถ้าหากสร้างเสร็จ ในขณะที่โมอายตัวใหม่ที่เพิ่งขุดพบบริเวณก้นทะเลสาบที่แห้งเหือดบนปล่องภูเขาไฟมีความสูงประมาณ 1.5 เมตรเท่านั้น นักโบราณคดีเห็นตรงกันว่า บนเกาะนี้อาจมีโมอายที่ยังไม่ถูกค้นพบอยู่อีกจำนวนมาก
รูปปั้นโมอายส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1250 ถึง 1500 คนท้องถิ่นบนเกาะถือว่ารูปปั้นคือ “ใบหน้าที่มีชีวิต” ของบรรพบุรุษที่พวกเขาเคารพนับถือ ทว่ากลับยังไม่มีใครทราบว่าโมอายตัวใหม่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และถูกสร้างขึ้นตามบรรพบุรุษคนไหน อย่างไรก็ดี บรรดานักโบราณคดีจะทำการค้นหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั้นโมอายขึ้นจากหินภูเขาไฟที่ยังไม่แข็งตัวต่อไป หากสามารถอ่านอักษรโรโงโรโง (Rongorongo) หรือภาพสัญลักษณ์ที่สลักอยู่บนแผ่นไม้ปักหลุมศพของชนพื้นเมืองบนเกาะได้ นักโบราณคดีอาจจะได้ทราบข้อมูลที่ตามหาและข้อมูลที่สามารถอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับโมอายได้
ในเดือนมิถุนายน เทคโนโลยีไลดาร์ (Laser Detection and Ranging: LiDAR) ได้แสดงความสามารถอันล้ำหน้าด้วยการค้นพบเมืองมายาโบราณบนคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán Peninsula) ของเม็กซิโกที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน โดยเทคโนโลยีนี้จะใช้อุปกรณ์ทางอากาศเพื่อตรวจจับภูมิทัศน์ของพื้นด้านล่าง ด้วยการปล่อยลำแสงเลเซอร์หลายพันพัลส์ (Pulse) ต่อวินาทีลงสู่พื้นดิน การใช้ไลดาร์ช่วยเผยให้เห็นรายละเอียดอื่น ๆ ของเมืองโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนป่ารกทึบได้ นอกจากนี้ไลดาร์ยังสามารถตรวจจับโค้งแม่น้ำและทางน้ำโบราณของแม่น้ำมิสซิสซิปปี รวมไปถึงแหล่งหลบภัยที่ถูกสร้างขึ้นโดยทหารในระหว่างยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) ได้
บรรดานักโบราณคดีที่ลงพื้นที่สำรวจได้เรียกเมืองมายาโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยหายสาบสูญแห่งนี้ว่า “โอกอมทูน (Ocomtún)” จากคำภาษามายายูกาตัน (Yucatec Maya) ซึ่งมีความหมายว่า เสาหิน ตามเสาหินจำนวนมากที่พบในพื้นที่ของเมืองแห่งนี้ โอกอมทูนครอบคลุมพื้นที่กว่า 485,622 ตารางเมตร ภายในเมืองพบว่ามีสิ่งก่อสร้างอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นลานกว้าง สนามบอล อาคารต่าง ๆ ทางเดินยกพื้นสูง แท่นประกอบพิธีกรรม และพีรามิด นอกจากนี้ยังพบว่าซากของพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมีความสูงมากกว่า 24 เมตร นักโบราณคดีต่างก็คิดว่า เมืองโอกอมทูนเคยเป็นศูนย์กลางสำคัญของชาวเผ่ามายานับตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 250 จนกระทั่งเมืองนี้ถูกทิ้งร้างหลังอารยธรรมมายาล่มสลายลงจากความขัดแย้งภายในและภัยแล้งในช่วงปี ค.ศ. 900 ถึง 1000
ในเดือนสิงหาคม นักโบราณคดีชาวอิตาลีได้ประกาศว่า ค้นพบซากวิหารอายุกว่า 2000 ปีที่จมอยู่ใต้ทะเลในบริเวณใกล้กับเมืองเนเปิลส์ (Naples) โดยคาดว่าวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยชาวนาบาเทียนโบราณ (Nabateans) ชาวนาบาเทียนที่มาจากบริเวณประเทศจอร์แดนและซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน หรือชนชาติที่สร้างมหานครเปตรา (Petra) ขึ้นนั้นเป็นพ่อค้าทะเลทรายที่ทำหน้าที่จัดหาของหรูหราต่าง ๆ จากทางตะวันออกมาขายให้ชาวโรมัน เรือของพ่อค้าชาวนาบาเทียนจำนวนไม่น้อยเข้ามาจอดเทียบที่ท่าเรือของเมืองปูเตโอลี (Puteoli) หรือเมืองโปซซัวโอลี (Pozzuoli) ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเนเปิลส์ไปทางตะวันตกเพียงไม่กี่กิโลเมตร วิหารที่ตั้งอยู่บนแนวชายฝั่งของท่าเรือจมลงใต้น้ำระหว่างที่ภูเขาไฟวิซูเวียส (Mt. Vesuvius) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้นเกิดการปะทุขึ้น
การจมลงใต้น้ำสร้างความเสียหายต่อตัววิหารและแท่นบูชาเทพเจ้าของชาวนาบาเทียนอย่างหนัก นักโบราณชี้ว่าวิหารแห่งนี้ทำหน้าที่เป็น “ป้ายบิลบอร์ด” ที่เผยแพร่วัฒนธรรมของชาวนาบาเทียน และเป็นสถานที่ที่คนเหล่านี้ใช้ในการประกอบพิธีบูชาเทพเจ้า คำจารึกภาษาละตินบนแผ่นหินอ่อนที่พบบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิหารนี้ไว้ว่า “ไซดูและอับเดลเจได้นำอูฐสองตัวมาถวายแก่เทพดูชารา (Dushara)” การบูชายัญในครั้งนั้นอาจทำไปเพื่อขอให้การเจรจาการค้าเป็นไปด้วยดี หรือเพื่อขอพรให้การเดินทางทางทะเลที่อันตรายผ่านไปอย่างปลอดภัย
ในเดือนพฤษภาคม นักโบราณคดีชาวอียิปต์ได้ประกาศว่า ค้นพบสถานที่ทำมัมมี่โบราณอีกสองแห่ง ณ สุสานในเมืองซักการา (Saqqara) ทางตอนใต้ของกรุงไคโร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับซากนครเมมฟิส (Memphis) อดีตเมืองหลวงของอียิปต์โบราณ แหล่งทำมัมมี่ทั้งสองที่พบนั้นเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ต่างกัน สถานที่แห่งแรกเป็นแหล่งทำมัมมี่ในยุคราชวงศ์ที่สามสิบแห่งอียิปต์ หรือช่วง 380 ถึง 345 ปีก่อนคริสตกาล และอีกแห่งเป็นแหล่งทำมัมมี่ในยุคราชวงศ์ทอเลมี (Ptolemaic dynasty) หรือช่วง 305 ถึง 30 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งถือว่าเป็นช่วงท้ายของอาณาจักรอียิปต์โบราณ อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีพบว่าการทำมัมมี่เพื่อรักษาสภาพร่างผู้เสียชีวิตไว้ให้พร้อมสำหรับวิญญาณที่จะหวนคืนของชาวอียิปต์นั้นมีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน และอาจจะมีขึ้นก่อน 2600 ปีก่อนคริสตกาล
หนึ่งในสถานที่ทำมัมมี่โบราณที่เพิ่งถูกพบในเมืองซักการามีเตียงหินขนาดใหญ่ไว้สำหรับการเตรียมร่างผู้เสียชีวิต ในขณะที่อีกแห่งมีเตียงขนาดเล็กกว่า ซึ่งนักโบราณคดีคาดว่าเป็นเตียงสำหรับการทำมัมมี่สัตว์ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าไปสำรวจภายในสถานที่ยังพบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการทำมัมมี่ ไม่ว่าจะเป็นโถดินเผาสำหรับใส่เครื่องใน โถสำหรับประกอบพิธีดองศพ หรือส่วนผสมหลักในกระบวนการดองศพอย่างเนตรอน (Natron) ผงเถ้าโซเดียมคาร์บอเนตชนิดหนึ่งซึ่งได้มาจากก้นทะเลสาบที่เหือดแห้งในทะเลทราย
ในเดือนมิถุนายน นักโบราณคดีประกาศว่าพบอัญมณีแกะสลักรูปเทพเจ้าและสัตว์ต่าง ๆ จำนวนหลายสิบก้อนในซากระบบระบายน้ำโบราณ ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำออกจากโรงอาบน้ำโรมันในช่วงศตวรรษที่ 3 และ 4 ที่เมืองคาร์ไลล์ (Carlisle) ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ก้อนอัญมณีเหล่านี้คือชิ้นส่วนเครื่องประดับของผู้มาใช้บริการโรงอาบน้ำที่มีฐานะมั่งคั่ง คาดว่าสาเหตุที่ทำให้สิ่งที่มีมูลค่าสูงเช่นนี้ตกลงไปในท่อระบายน้ำคือ ความร้อนและความชื้นภายในโรงอาบน้ำที่ทำให้สิ่งยึดอัญมณีเหล่านั้นคลายตัวออก
อัญมณีแกะสลักที่พบเป็นพลอยเนื้ออ่อน เช่น อาเกต แจสเปอร์ อเมทิสต์ และคาร์เนเลียน อัญมณีบางก้อนที่พบแกะสลักเป็นรูปเทพเจ้าโรมันองค์ต่าง ๆ เช่น อะพอลโล วีนัส และมาส์ นอกจากนี้บางส่วนที่พบยังสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น กระต่าย และนก สำหรับชาวโรมันโบราณ อัญมณีในลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า อินทาลิออส (intaglios) พวกมันถูกใช้เป็นตราประทับที่ชาวโรมันใช้เป็นลายเซ็นประเภทหนึ่ง โดยอัญมณีเหล่านี้มักจะถูกนำไปกดลงบนดินเหนียวหรือครั่งเพื่อสร้างตราประทับสำหรับปิดผนึกขึ้นจากลวดลายที่แกะสลักเอาไว้ การที่ท่อระบายน้ำโบราณถูกพบใต้ศาลาของสโมสรคริกเกตคาร์ไลล์ (Carlisle Cricket Club) นั้นเป็นเพราะในอดีตเมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางของบริเตนสมัยโรมัน (Roman Britain) หรือบริเวณของอังกฤษส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันที่มีชื่อว่า ลูกูวาเลียม (Luguvalium)
ในเดือนเมษายน นักค้นคว้าชาวออสเตรเลียได้ประกาศว่า พบซากของเรือมอนเตวิเดโอ มารู (Montevideo Maru) เรือขนส่งสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งจมลงใต้ทะเลพร้อมกับเชลยศึกพันธมิตรมากกว่าพันคนใน ค.ศ. 1942 นอกจากเชลยแล้ว เรือลำนี้ยังบรรทุกกองกำลังทหารออสเตรเลียที่ถูกจับกุมตัวระหว่างญี่ปุ่นเข้ารุกรานนิวกินี กองกำลังทหารเรือเสริมชาวนอร์เวย์ และพลเรือนอีกมากกว่า 200 ชีวิตไว้
เรือลำดังกล่าวเดินทางมุ่งหน้าไปยังเกาะไห่หนานของประเทศจีนซึ่งถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่ ในขณะที่ถูกเรือดำน้ำยูเอสเอส สเตอร์เจียน (USS Sturgeon) ของสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ใกล้กับชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์จับตำแหน่งได้ เรือดำน้ำสหรัฐฯ ตามตำแหน่งของเรือมอนเตวิเดโอ มารูอยู่หลายชั่วโมงก่อนจะตัดสินใจยิงตอร์ปิโดใส่จนทำให้เรือของญี่ปุ่นจมลง โดยที่ไม่ทราบว่าบนเรือลำนั้นมีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ เหตุการณ์นี้ถือเป็นภัยพิบัติทางทะเลครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย เนื่องจากไม่มีเชลยศึกชาวออสเตรเลียคนใดรอดชีวิต อย่างไรก็ดี ลูกเรือชาวญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งได้รายงานว่า เชลยบางกลุ่มที่ขึ้นไปบนแพชูชีพสำเร็จได้ร้องเพลงออลด์แลงไซน์ (Auld Lang Syne) เพื่อไว้อาลัยให้แก่เหล่าสหายที่จมหายไปพร้อมกับเรือ
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ