โรบินฮู้ด (Robin Hood) และกองโจรเมอร์รีเม็น (Merry Men) จอมโจรคุณธรรมที่ปล้นคนรวยเพื่อช่วยคนจน กลายเป็นตำนานที่ถูกยึดโยงเข้ากับป็อบคัลเจอร์ (Pop Culture) หรือวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างถาวร
เรื่องราวของโจรป่าสูงศักดิ์คนนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยของกษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์ (King Richard the Lionheart) หรือพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ โรบินฮู้ดเริ่มมีชื่อเสียงมาจากการต่อกรกับนายอำเภอประจำเมืองน็อตติงแฮมผู้ชั่วช้าไปพร้อม ๆ กับการเกี้ยวพาราสีเมด มาเรียน (Maid Marian) หญิงสาวผู้เลอโฉมที่เขาตกหลุมรัก แม้ว่าตำนานนี้จะถูกเล่าขานมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่องค์ประกอบที่เป็นที่จดจำหลายอย่างในเรื่องกลับเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกเติมแต่งเข้าไปยุคหลัง
ต้นกำเนิดของตำนานโรบินฮู้ดฝังรากลึกในประวัติศาสตร์อังกฤษเช่นเดียวกับป่าเชอร์วูด (Sherwood Forest) ที่อยู่คู่กับประเทศนี้มาช้านาน ชื่อของจอมโจรคนนี้สามารถพบได้ทั่วไปตามแผนที่ของเมือง เช่น เสาที่ตั้งขึ้นบนจุดที่โรบินฮู้ดยิงธนูไปตก (Robin Hood’s Stoop) และถ้ำโรบินฮู้ด (Robin Hood’s Cave) ในเมืองดาร์บิเชอร์ รวมไปถึงบ่อน้ำของโรบินฮู้ด (Robin Hood’s Well) กลางป่าบาร์นส์เดลและหมู่บ้านอ่าวโรบินฮู้ด (Robin Hood’s Bay) ในเมืองยอร์กเชอร์ เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 จะพบว่า ลักษณะตัวละครของโรบินฮู้ดนั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย รูปลักษณ์ของวีรบุรุษในคราบโจรในยุคแรก ๆ เองก็แทบไม่เป็นที่น่าจดจำ เมื่อเทียบกับจอมโจรโรบินฮู้ดที่แต่งกายด้วยชุดสีเขียวและเดินถือธนูไปมาอย่างในทุกวันนี้ เมื่อเวลาศตวรรษแล้วศตวรรษเล่าผ่านไป ตำนานของโรบินฮู้ดก็ได้พัฒนาไปพร้อมกับประเทศอังกฤษ และในแต่ละครั้งที่ตำนานนี้ถูกนำไปเล่าใหม่ ตัวละคร ฉากใหม่ ๆ รวมไปถึงลักษณะนิสัยของตัวละครที่เปลี่ยนไปก็จะปรากฏอยู่ในเส้นเรื่องของเรื่องราวเดิม และวิวัฒนาการเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตำนานที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการชาวอังกฤษจำนวนมากได้เริ่มทำการค้นหาโรบินฮู้ดตัวจริงหลังจากที่หนังสือเรื่อง Ivanhoe ของเซอร์ วอลเตอร์ สก็อตต์ (Sir Walter Scott) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1820 นวนิยายของสก็อตต์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1194 ในระหว่างที่ประเทศอังกฤษอยู่ในช่วงสงครามครูเสด โดยมีล็อกสลีย์ (Locksley) ซึ่งถูกเปิดเผยว่าเป็นโรบินฮู้ด กษัตริย์ของคนนอกกฎหมายและเจ้าชายของคนประพฤติดี เป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง สก็อตต์ถ่ายทอดตัวละคร “โรบิน” ออกมาในรูปแบบของชายชาวอังกฤษผู้ทรงเกียรติที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ริชาร์ดผู้จากไป การสร้างตัวละครชื่อดังขึ้นมาในลักษณะนี้ทำให้โรบินฮู้ดได้รับความสนใจจากผู้คนในยุคใหม่ และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า กษัตริย์ของคนนอกกฎหมายผู้นี้ถูกเขียนขึ้นจากคนที่มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
โจเซฟ ฮันเตอร์ (Joseph Hunter) นักประวัติศาสตร์และนักจดหมายเหตุชาวอังกฤษพบหลักฐานว่า ในประวัติศาสตร์อังกฤษช่วงยุคกลาง มีบุคคลจำนวนหนึ่งใช้ชื่อว่า โรบินฮู้ด โดยชื่อที่พบมีรูปแบบการสะกดที่หลากหลาย หนึ่งในเอกสารอ้างอิงที่เก่าแก่ที่สุดที่ฮันเตอร์พบคือ บันทึกของศาลเมืองยอร์กเชอร์ที่ถูกเขียนขึ้นใน ค.ศ. 1226 เนื้อหาในบันทึกนั้นกล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของโรบินฮู้ดคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หลบหนีการจับกุมของรัฐ และบันทึกจากทางตอนใต้ของอังกฤษซึ่งถูกเขียนขึ้นใน ค.ศ. 1226 ก็มีการกล่าวถึงชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า วิลเลียม โรบฮ็อด (William Robehod) จากเมืองบาร์กเชอร์ในความผิดลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ บันทึกเมื่อปีก่อนหน้านั้นยังมีการกล่าวถึง “วิลเลี่ยม บุตรชายของโรเบิร์ต เลอ เฟเวอเรอ (Robert le Fevere) ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนนอกกฎหมาย” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนคนเดียวกับวิลเลียม โรบฮ็อด หลักฐานชิ้นต่อมาที่พบคือ บันทึกรายชื่อผู้ต้องขังใน ค.ศ. 1354 จากทางตอนเหนือของนอร์แทมป์ตันเชอร์ ในเอกสารชิ้นนั้นกล่าวว่า ผู้ถูกคุมขังชายที่ชื่อว่า โรบินฮู้ดกำลังรอรับการพิจารณาคดีอยู่
การค้นพบบันทึกจำนวนมากที่มีความเกี่ยวข้องกับชื่อโรบินฮู้ดของฮันเตอร์และนักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คนอื่น ๆ ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า อาจจะไม่มีบุคคลใดในประวัติศาสตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายชื่อดังเรื่องนี้ขึ้นมา ในทางกลับกัน ชื่อเล่นนี้อาจจะกลายเป็นนามแฝงที่คนนอกกฎหมายในช่วงเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษใช้กันโดยทั่วไป
หลังพบว่าการศึกษาบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถระบุตัวตนที่แน่ชัดของบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังจอมโจรคุณธรรมคนนี้ได้ บรรดานักวิชาการจึงมุ่งความสนใจไปที่วัฒนธรรมร่วมสมัยในช่วงยุคกลางของอังกฤษ เช่น เรื่องเล่าพื้นบ้าน บทกวี และลำนำนิทานแทน เนื่องจากวัฒนธรรมทั้งสามอย่างที่กล่าวมาเกิดจากการมุขปาฐะ หรือการส่งต่อวัฒนธรรมแบบปากต่อปาก นักวิชาการบางคนตั้งทฤษฎีว่า วัฒนธรรมเหล่านี้มีที่มาจากบทกวีที่ใช้รายงานข่าวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งขับร้องโดยกลุ่มนักร้องตรูบาดูร์ (Troubadour)
การกล่าวถึงโรบินฮู้ดในคำประพันธ์ฉบับภาษาอังกฤษถูกพบเป็นครั้งแรกในบทประพันธ์เรื่อง The Vision of Piers Plowman ซึ่งเขียนขึ้นโดยวิลเลียม แลงแลนด์ (William Langland) ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก่อนเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) จะเขียนหนังสือเรื่อง The Canterbury Tales ไม่นาน ในบทประพันธ์ของแลงแลนด์ บาทหลวงด้อยการศึกษาคนหนึ่งสำนึกผิดและสารภาพว่า เขาไม่ชำนาญในการสวดบทภาวนาเป็นภาษาละติน โดยกล่าวว่า
“I kan noght parfitly my Paternoster as the preest it syngeth,
But Ikan rymes of Robyn Hood…”
เมื่อแปลจากภาษาอังกฤษสมัยกลางโดยคร่าว ๆ สามารถถอดใจความได้ว่า “แม้ข้าพเจ้าจะมิสามารถสวดบทภาวนาของพระเจ้าได้ แต่ข้าพเจ้าท่องบทกวีเรื่องโรบินฮู้ดได้” การที่แลงแลนด์เขียนให้ตัวละครที่ด้อยการศึกษากล่าวถึงโรบินฮู้ดแสดงให้เห็นว่า ตำนานนี้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปในยุคนั้นโดยที่ไม่ถูกจำกัดด้วยความสามารถในการอ่านหรือการเขียน
ต่อมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตำนานของโรบินฮู้ดได้ถูกเล่าใหม่อีกครั้ง โดยมีการสอดแทรกบทบาทของกบฏที่ต่อต้านชนชั้นปกครองเข้าไปในเนื้อหาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ หนึ่งในนิทานเขียนมือเกี่ยวกับคนนอกกฎหมายในป่าที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง “โรบินฮู้ดและนักบวช (Robin Hood and the Monk)” ก็ถูกแต่งขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานเกี่ยวกับโรบินฮู้ดในยุคต้น ๆ เพียงเรื่องเดียวที่เรื่องราวเกิดขึ้นในป่าเชอร์วูด ใกล้กับเมืองเมืองน็อตติงแฮม และลิตเติล จอห์น (Little John) หนึ่งในสมาชิกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกองโจรเมอร์รีเม็นเข้ามามีบทบาทต่อจอมโจรผู้สูงศักดิ์
ในเนื้อเรื่องของนิทาน โรบินฮู้ดเพิกเฉยต่อคำเตือนจากลิตเติล จอห์นและเดินทางออกจากป่าซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ในวันนั้น โรบินฮู้ดเดินทางไปยังเมืองน็อตติงแฮมเพื่อเข้าร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณและสวดอ้อนวอนกับพระแม่มารี ทว่านักบวชภายในโบสถ์กลับจำโรบินฮู้ดได้และนำตัวเขาไปส่งให้นายอำเภอ จากนั้นนักบวชคนนั้นก็เริ่มออกเดินทางไปหากษัตริย์เพื่อที่จะส่งข่าวให้ทราบว่าตนเองจับกุมคนนอกกฎหมายได้ แต่ก่อนที่นักบวชจะไปถึงจุดหมาย ลิตเติล จอห์นและมัช (Much) สมาชิกในกองโจรอีกคนของโรบินก็ได้ไล่ตามเขาไปจนทัน แล้วทำการปลิดชีพทั้งตัวนักบวชและคนรับใช้ที่ติดตามไป
คนของโรบินปลอมตัวเป็นนักบวชและคนรับใช้เพื่อตบตากษัตริย์ จากนั้นจึงเข้าไปแจ้งข่าวเกี่ยวกับการจับกุมตัวจอมโจรโรบินฮู้ดให้กษัตริย์ทราบ เมื่อลิตเติล จอห์นและมัชในคราบนักบวชได้รับรางวัลเป็นเงินและยศ พวกเขาก็กลับไปยังเมืองน็อตติงแฮมและปล่อยตัวโรบินฮู้ดออกจากคุก แม้นายอำเภอประจำเมืองจะได้รับความอับอายจากเหตุการณ์นี้แต่เขาก็ยังมีชีวิดรอด และยังอยู่ในเรื่องเล่าเรื่องต่อ ๆ ไป ในขณะที่โรบิน ลิตเติล จอห์น และมัชเดินทางกลับไปยังป่าพร้อมกับอภัยทานจากกษัตริย์ ในนิทายเรื่องนี้วายร้ายที่แท้จริงไม่ใช่นายอำเภอ ไม่ใช่กษัตริย์ แต่เป็นนักบวชที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณและบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตจักร โดยการร่วมมือกับนายอำเภอจับกุมตัวโรบินฮู้ด
แม้ว่าวายร้ายในตำนานเวอร์ชันนี้จะได้รับความรุนแรงอย่างแสนสาหัสจากการถูกลิตเติล จอห์นและมัชสังหาร แต่การปลิดชีพนักบวชกลับกลายเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะเขาเป็นผู้กระทำความผิด และการปลิดชีวิตคนรับใช้ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม จริงอยู่ที่ผู้คนในยุคกลางเพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่าที่มีการสังหารผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างโหดเหี้ยม และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นปัญหา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน เนื้อหาของนิทานโรบินฮู้ดในเวอร์ชันต่อ ๆ มาก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น โดยการไม่เล่าถึงการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเรื่องลง
อาชญากรรมและการลงโทษที่เกิดขึ้นในยุคกลางนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับความเหี้ยมโหดและความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น กษัตริย์ ขุนนาง รวมไปถึงเหล่าผู้แทนมักจะใช้วิธีที่อำมหิตในการลงโทษชาวนาที่ต่อต้านอำนาจในการปกครองของตน ดังนั้นภาพของศพที่ห้อยอยู่บนที่แขวนคอ หรือถูกทิ้งไว้ตามทางแยกเพื่อเป็นการเตือนจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคนั้นคุ้นเคย อย่างไรก็ดี นิทานเกี่ยวกับโรบินฮู้ดในยุคแรก ๆ เหล่านี้เริ่มแสดงให้เห็นถึงบทบาททางอำนาจที่พลิกผัน ผ่านเรื่องราวที่ชนชั้นสูงในสังคมถูกชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าลงโทษโดยการใช้กลอุบายและความรุนแรง
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงที่นิทานเกี่ยวกับโรบินฮู้ดจำนวนมากแพร่กระจายไปทั่วเกาะอังกฤษ หนึ่งในนิทานที่ยาวที่สุดอย่างเรื่อง “การผจญภัยของโรบินฮู้ด (A Gest of Robyn Hode)” ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากยุคนี้ บทประพันธ์เรื่องนี้คือหนึ่งในครั้งแรก ๆ ที่คำประกาศิต “ปล้นคนรวยช่วยคนจน” ของโรบินฮู้ดถูกนำมาเล่าซ้ำ จากบทกลอนในเรื่องนี้โรบินกล่าวว่า “ผู้ใดที่ขัดสน ผู้นั้นควรได้รับเงินของข้า”
ในเรื่องเล่าเหล่านี้ โรบินถือเป็นชนชั้นล่างและเป็น “ยอมัน (Yeoman)” หรือผู้ที่มีสถานะสูงกว่าชาวนา แต่อยู่ต่ำกว่าอัศวิน ตามความหมายเดิม ยอมัน หมายความว่า หนุ่มรับใช้อายุน้อยที่ทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ระดับสูงในบ้านขุนนาง ตัวบทประพันธ์ของนิทานเรื่องนี้บรรยายไว้ว่า โรบินทำหน้าที่เป็นยอมันของกษัตริย์ ทว่า แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับสิทธิพิเศษ โรบินกลับคนึงหาชีวิตในผืนป่า เขาจึงตัดสินใจละทิ้งชีวิตในราชสํานัก และกลับไปใช้ชีวิตอย่างอิสระในป่าที่คุ้นเคย
ในเรื่องการผจญภัยของโรบินฮู้ด อดีตยอมันกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลชนชั้นล่าง เมื่อลิตเติล จอห์นปรึกษาโรบินเพื่อขอนำแนะนำว่า คนแบบใดที่สมควรโดนทำร้าย ปล้น และฆ่า เขาได้บอกหลักการแบ่งแยกคนออกตามหลักศีลธรรมพร้อมกับเส้นแบ่งระหว่างคนรวยและคนจนให้แก่จอห์นจะไม่มีชาวนา ยอมัน และอัศวินฝึกหัดผู้มีคุณธรรมคนได้รับอันตราย ในทางกลับกัน เหล่ากองโจรเมอร์รีเม็นถูกสอนให้ “ซัดและมัด” บาทหลวง หัวหน้าบาทหลวง และเหนือสิ่งอื่นใด นายอำเภอประจำเมืองน็อตติงแฮมผู้เป็นที่เกลียดชัง นอกจากนี้ วายร้ายในนิทานเรื่องนี้ยังถูกแต่งให้มีลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้จำนวนของตัวละครที่ไม่ลงรอยกับบรรดาชนชั้นล่างเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ตำนานโรบินฮู้ดเรื่องนี้ยังรุนแรงกว่าตำนานเวอร์ชันก่อน ๆ เนื่องจากเหล่าวายร้ายในเรื่องนี้ต่างก็ถูกแก้แค้นกันโดยถ้วนหน้า ยกตัวอย่างเช่น นายอำเภอที่ถูกโรบินยิงด้วยธนูและกรีดคอด้วยมีด ในต้นฉบับของนิทานเรื่องโรบินฮู้ดและกายจากตระกูลกิสบอร์น (Robin Hood and Guy of Gisborne) ที่ถูกเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โรบินไม่ได้พอใจกับการฆ่าศัตรูคู่แค้นอย่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขายังพอใจไปกับการใช้มีดตัดร่างไร้วิญญาณของกายด้วยความเพลิดเพลิน
ในบางครั้ง นักวิชาการจะอธิบายแนวคิดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เกี่ยวกับการหลอกลวงและการลงโทษผู้มีอำนาจที่ทุจริตว่าเป็น การสะท้อนถึงการต่อสู้ระหว่างชาวแซกซอน (Saxons) ที่ถูกเนรเทศให้ไปอาศัยในแถบชนบท และผู้ปกครองชาวนอร์มันที่มากไปด้วยอำนาจซึ่งอาศัยอยู่ในตัวเมือง อย่างไรก็ดี ในขณะที่ตำนานเรื่องโรบินฮู้ดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง รัฐบาลอังกฤษกลับต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระเบียบทางสังคมหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดสงครามกลางเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่ต่อมาถูกเรียกว่า ดิแอนะคี (The Anarchy) หรือสงครามอณาธิปไตยซึ่งนำไปสู่การล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่ของโครงสร้างทางกฎหมายและสังคม และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 การระบาดของกาฬโรค (Black Death ) และการทำสงครามร้อยปี (Hundred Years’ War) กับฝรั่งเศสได้ก่อภาระอันใหญ่หลวงให้กับชนชั้นล่างให้แก่ชนชั้นล่างซึ่งเคยก่อการปฏิวัติชาวนา (Peasants’ Revolt) ขึ้นในค.ศ. 1381
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตำนานโรบินฮู้ดถูกกลับนำมาเล่าใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบทบาทของจอมโจรคุณธรรมคือ การเผชิญกับเรื่องอันตรายที่น้อยลง เนื่องจากลักษณะตัวละครของโรบินฮู้ดและกองโจรเมอร์รีเม็นถูกปรับให้เข้ากับการเฉลิมฉลองวันเมย์เดย์ (May Day) หรือวันเริ่มต้นฤดูกาลเกษตรกรรมประจำเดือนพฤษภาคม ในทุก ๆ ปี ชาวอังกฤษจะต้อนรับการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิด้วยการจัดงานเทศกาลที่มักจะมีการแข่งกีฬาไปจนถึงการเลือกราชาและราชินีประจำงานที่จัดขึ้น ความสนุกอีกหนึ่งอย่างของงานนี้คือ ผู้ที่มาร่วมงานจะแต่งตัวเป็นโรบินฮู้ดและกองโจรเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงาน
และในช่วงเวลานี้เองที่โรบินฮู้ดกลายเป็นกลายเป็นแฟชั่นในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูง หนึ่งในเรื่องเล่าจาก ค.ศ. 1510 บรรยายว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (Henry VIII) ซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง 18 ปี ได้แต่งกายด้วยชุดแบบโรบินฮู้ด และพุ่งเข้าไปในห้องนอนของแคทเธอรีนแห่งอารากอน (Catherine of Aragon) ภรรยาใหม่ของพระองค์อย่างรวดเร็ว ในวันนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พร้อมด้วยสหายของพระองค์ได้เดินเข้าไปในห้องที่มีราชินีและนางกำนัลอยู่ ด้วยท่าเต้นที่สนุกสนานร่าเริง ใน ค.ศ. 1516 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และราชินีแคทเธอรีนทรงมีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมฉลองวันเมย์เดย์ ด้วยเหตุนี้ในวันงานจึงมีข้าหลวงจำนวน 200 คนแต่งกายด้วยชุดสีเขียว และมีข้าหลวงหนึ่งคนแต่งกายเป็นโรบินฮู้ดเพื่อนำพระราชาและพระราชินีเข้าสู่งานเลี้ยง
ในยุคนี้เริ่มมีตัวละครใหม่ปรากฏมาในเรื่องราวของโรบินฮู้ด ตัวละครแรกคือเมด มาเรียน และอีกตัวคือไฟรเออร์ ทัค (Friar Tuck) ทั้งสองบทบาทนี้ถูกเพิ่มเข้าไปในเนื้อเรื่องของตำนานในเวลาไล่เลี่ยกัน มาเรียนและทัคเองก็เป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมในงานเฉลิมฉลองประจำเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกับโรบินฮู้ด นอกจากนี้ ชื่อพวกเขาก็เริ่มปรากฏอยู่ตามงานวรรณกรรมต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
ครั้งแรก ๆ ที่ชื่อของไฟรเออร์ ทัคปรากฏอยู่ในบทประพันธ์คือบทละครเรื่อง โรบินฮู้ดและนายอำเภอเมืองน็อตติงแฮม (Robyn Hod and the Sheryff off Notyngham) ซึ่งถูกเขียนขึ้นราว ๆ ช่วงท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ความนิยมของทัคเพิ่มขึ้นมาก จนหลายปีต่อมาชื่อของตัวละครนี้ปรากฎอยู่ตามงานเขียนเกี่ยวกับโรบินฮู้ดหลายต่อหลายเรื่อง เช่น เรื่องโรบินฮู้ดและไฟรเออร์ (Robin Hood and the Friar) ซึ่งถูกเขียนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1560 เป็นต้น ในบทละครเรื่องนี้มีตอนที่อดีตนักบวชอย่างทัคเอาชนะโรบินฮู้ดได้และโยนจอมโจรแห่งยุคลงไปในน้ำ
ในรัชสมัยของพระราชินีนาถเอลิซาเบธ (Elizabeth I) โรบินฮู้ดกลายเป็นตัวละครยอดนิยมในละครเวทีที่แสดงให้ชนชั้นสูงรับชม แม้แต่นักเขียนบทละครชื่อดังอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ยังกล่าวถึงโรบินฮู้ดในงานของเขา นอกจากนี้ แอนโทนี มันเดย์ (Anthony Munday) กวีและนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นยังเขียนบทละครขึ้นจากตำนานโรบินฮู้ดถึงสองเรื่องด้วยกัน ในละครสองเรื่องนี้ คนนอกกฎหมายอย่างโรบินถูกเขียนให้เป็นขุนนางชื่อว่า โรเบิร์ต เอิร์ลแห่งฮันติงตัน ผู้ถูกลุงแท้ ๆ ของตนตัดออกจากกองมรดก โรเบิร์ตหนีเข้าไปอยู่ในป่า กลายเป็นโรบินฮู้ด และพบรักกับเมด มาเรียนในเวลาต่อมา โรบินฮู้ดไม่ได้เป็นยอมันอีกต่อไป ในยุคนี้ บทบาทของจอมโจรสูงศักดิ์ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้ผู้ชนคนใหม่ ๆ เพลิดเพลินไปกับตำนาน
มันเดย์กำหนดช่วงเวลาของละครไว้ในรัชสมัยของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ในยุคนั้นพระเจ้าริชาร์ดต้องเดินทางออกจากเกาะอังกฤษเพื่อไปเข้าร่วมสงครามครูเสด (Crusades) ณ ประเทศแถบตะวันออกกลาง เจ้าชายจอห์น (John, King of England) ซึ่งเป็นพระอนุชาจึงขึ้นเป็นผู้ปกครองประเทศแทนพระเจ้าริชาร์ด ถึงแม้ว่าบทละครเกี่ยวกับโรบินฮู้ดของมันเดย์จะถูกนักวิจารณ์ในยุคปัจจุบันมองว่าเขียนโครงเรื่องได้ไม่ดี และตัวบทน่าเบื่อเล็กน้อยเนื่องจากต้องเขียนฉากที่มีการต่อสู้เป็นบทบรรยายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดออกจากการแสดง แต่ละครเรื่องนี้ก็ยังถือว่ามีอิทธิพลต่อสังคมมาก นับแต่นั้นมา นักเขียนคนอื่น ๆ ก็หันมาแต่งบทละครโดยกำหนดรัชสมัยของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เป็นช่วงเวลาหลักของเรื่อง
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา บรรดานักเขียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานโรบินฮู้ดในยุคกลางก็ยังคงหยิบเอาเรื่องเล่าเหล่านี้ขึ้นมาปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง และตีความตัวละครใหม่ให้เข้ากับบริบททางวัฒนธรรม สังคม และยุคสมัยของตน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วอลเตอร์ สก็อตต์เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโรบินฮู้ดขึ้นใหม่เพื่อนำไปเขียนเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Ivanhoe ส่วนฮาวเวิร์ด ไพล์ (Howard Pyle) เองก็ได้สร้างตำนานโรบิน ฮูดเวอร์ชันใหม่ขึ้นเพื่อทำเป็นหนังสือสำหรับเด็ก โดยหนังสือที่ไพล์เขียนขึ้นใหม่มีชื่อว่า The Merry Adventures of Robin Hood of Great Renown in Nottinghamshire ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1883 งานเขียนของไพล์ทำให้โรบินฮู้ดเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านรายใหม่ ๆ ทั่วอเมริกา และทำให้นักอ่านเหล่านี้ต้องการจะอ่านนิทานเกี่ยวกับโรบินฮู้ดมากขึ้นตลอดช่วงหลายปีหลังการตีพิมพ์ และใน ค.ศ. 1917 พอล เครสวิก (Paul Creswick) นักเขียนหนังสือสำหรับเด็กได้ร่วมมือกับเอ็น. ซี. ไวเอท (N. C. Wyeth) จิตรกรชื่อดังแห่งยุคเพื่อจัดทำหนังสือโรบินฮู้ดที่มีสีสันสดใสขึ้น หนังสือที่ทั้งสองคนนี้ร่วมกันทำถือเป็นหนึ่งในการนำตำนานโรบินฮู้ดมาเล่าใหม่ในรูปแบบที่โดดเด่นสะดุดตาที่สุด
ต่อมา ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรื่องราวของโรบินฮู้ดก็ได้ย้ายจากหน้าหนังสือไปสู่หน้าจอภาพยนตร์ ตำนานนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่และถูกเล่าซ้ำไปมาโดยมีนักแสดงชื่อดังอย่างดักลาส แฟร์แบงส์ (Douglas Fairbanks) เออร์รอล ฟลินน์ (Errol Flynn) ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) และแดฟฟี่ ดั้ก (Daffy Duck) รับหน้าที่เป็นนักแสดงนำในบทโรบินฮู้ด แม้ว่าเรื่องราวของโรบินฮู้ดจะถูกนำไปดัดแปลงและถูกนำไปสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ตำนานซึ่งถูกนำไปเล่าใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่ายังมีเค้าโครงเดียวกันคือ ลำนำนิทานและบทกวีดั้งเดิมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังองค์ประกอบต่าง ๆ ของเนื้อเรื่อง การทำเช่นนี้ถือเป็นการรักษาตำนานเดิมไว้ไม่ให้หายไป ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้เรื่องราวของจอมโจรคุณธรรมผู้นี้พัฒนาไปตามบริบทของแต่ละยุคสมัย
เรื่อง เจ รูเบน บัลเดส มิยาเรส
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ