ไขปริศนา-ตามรอยชีวิต ” สิทธัตถะ โคตมะ” สู่ “พระพุทธเจ้า”

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช่วงชีวิตและยุคสมัยของเจ้าชาย สิทธัตถะ โคตมะ ผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นยากที่จะสรุปได้ นักวิชาการจึงเดินทางไปยังสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระองค์ ณ ประเทศเนปาล เพื่อไขข้อสงสัย

เมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา สิทธัตถะ โคตมะ เจ้าชายแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ผู้ร่ำรวย ได้ตัดสินใจหันหลังให้ครอบครัวและทรัพย์สมบัติของตน เพื่อออกตามหาหนทางแห่งการดับทุกข์ พระองค์สละยศของตนก่อนจะออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์กลายมาเป็นรากฐานความเชื่อของศาสนาที่ในปัจจุบันนี้มีผู้นับถือมากถึง 500 ล้านคน

คาเรน อาร์มสตรอง (Karen Armstrong) นักวิชาการด้านศาสนาได้ตั้งข้อสังเกตในหนังสือชีวประวัติพระพุทธเจ้าของเธอที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2001 ไว้ว่า “ศาสนิกชนชาวพุทธบางคนอาจกล่าวว่า การเขียนชีวประวัติของ สิทธัตถะ โคตมะ ขึ้นเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนไม่สมควรจะกระทำ” พระพุทธเจ้าเป็นที่รู้จักในด้านการเทศนาสั่งสอนธรรมมาตลอดพระชนม์ชีพ แต่กลับไม่ต้องการให้ผู้ติดตามคนใดอุทิศตนให้แก่พระองค์เพียงคนเดียว ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าสร้างความท้าทายให้แก่บรรดานักประวัติศาสตร์ เนื่องจากคัมภีร์คำสอนในศาสนาพุทธนั้นมีอยู่มากมาย ทว่าบันทึกข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของพระองค์ในขณะที่ยังมีชีวิตกลับมีอยู่เพียงไม่กี่เล่ม

พระสงฆ์ขณะนั่งวิปัสสนากรรมฐานใต้ต้นโพธิ์ในสวนลุมพินีวัน สถานที่แสวงบุญทางพุทธศาสนาที่มีผู้คนแวะเวียนมาตลอด แม้บางส่วนของสวนจะถูกนักโบราณคดีขุดค้นอยู่ก็ตาม ภาพถ่ายโดย F. BIENEWALD/GETTY IMAGES

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจึงหันไปใช้การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสำรวจสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธและทำความเข้าใจชีวิตของพระพุทธเจ้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การขุดค้นสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกของ UNESCO ที่ตั้งอยู่ ณ ประเทศเนปาล ทำให้นักโบราณคดีได้ค้นพบสิ่งอัศจรรย์หลายอย่าง เช่น พุทธศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การค้นพบสิ่งที่มีความสำคัญเช่นนี้ช่วยให้นักวิชาการเข้าใจในพัฒนาการของศาสนาพุทธในยุคแรก ๆ และบทบาทในการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ การค้นพบเหล่านั้นยังให้ข้อมูลสำคัญที่ช่วยจะให้นักโบราณคดีระบุได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อไร มีชีวิตอยู่ในช่วงไหน และดับขันธปรินิพพานเมื่อใด

เศษเสี้ยวจากม้วนคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 คือหนึ่งในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งถูกค้นพบในแคว้นคันธาระ ประเทศปากีสถาน
ภาพถ่ายโดย British Library, London

จาก สิทธัตถะ หนทางสู่การเป็นพระพุทธเจ้า

ปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไทย และญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างก็ปฏิบัติตนตามหลักของนิกายต่าง ๆ ที่นับถือ นิกายเหล่านั้นเกิดจากการที่พระภิกษุแต่ละกลุ่มตีความหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในรูปแบบที่หลากหลาย จนเกิดเป็นแนวคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มความเชื่อ

พุทธประวัติซึ่งรวบรวมขึ้นจากพระไตรปิฎกบรรยายชีวิตวัยเยาว์ของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ว่า พระองค์ประสูติในตระกูลศากยะ ตระกูลผู้ปกครองดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดียที่มากไปด้วยเงินทองและอำนาจบารมี บุพการีของพระองค์มีนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา เมื่อเจ้าชายเติบใหญ่ พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งพยายามจะปกป้องพระโอรสของตนจากความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในโลก มีรับสั่งให้สร้างปราสาทขึ้น ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ให้เจ้าชายสิทธัตถะประทับเพื่อแยกพระองค์ออกห่างจากความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาณต่าง ๆ

ซากปรักหักพังของเมืองกบิลพัสดุ์ในประเทศเนปาล สถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะทรงอาศัยอยู่จนเติบใหญ่ ภาพถ่ายโดย LEONID PLOTKIN/ALAMY/CORDON PRESS

เมื่ออายุได้ 29 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งในขณะนั้นอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพายโสธรา และมีพระโอรสด้วยกัน 1 พระองค์ ก็ได้เห็นความจริงว่า ชีวิตที่เพรียบพร้อมในพระราชวังแสนโอ่อ่านั้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงตัดสินพระทัยออกจากวังไปเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ไม่สามารถหลีกหนีจากความเจ็บ ความแก่ และความตายได้ หลังจากที่ละทิ้งบุพการี พระมเหสี และพระโอรสแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงปฏิเสธความสะดวกสบายทางโลกเพื่อแสวงหาปัญญาและหนทางหนทางที่จะสามารถดับทุกข์ของมนุษย์ได้ พระองค์ทรงพบคำตอบอันเป็นทางพ้นทุกข์ขณะที่ทรงนั่งประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันถูกเรียกว่า พุทธคยา ณ ที่แห่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้และบรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นจึงเป็นที่รู้จักในนาม พระพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

รูปแกะสลักพระพุทธเจ้าทองคำ (ภาพกลาง) บนผอบบรรจุพระธาตุบิมารัน จากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1
ภาพถ่ายโดย SCALA, FLORENCE

นักวิชาการเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงเทศนาสอนบุคคลทั่วไปและกลุ่มผู้เลื่อมใสในตัวพระองค์ที่ในมีชื่อเรียกว่า พระสงฆ์ พระธรรมคำสอนต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้ามีจุดประสงค์หลักคือ การส่งเสริมให้ผู้ฟังละทางโลกและไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้คนผู้นั้นบรรลุถึงนิพพานได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพุทธศาสนาเชื่อว่า มนุษย์ส่วนใหญ่จะต้องผ่านสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบรรลุนิพพานและหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

แม้ว่าพระไตรปิฎกในยุคแรก ๆ จะมีการบรรยายถึงชีวประวัติทั่วไปของพระพุทธเจ้าเอาไว้ แต่เนื้อหาที่ถูกบันทึกในคัมภีร์แต่ละเล่มกลับถ่ายทอดรายละเอียดของเหตุการณ์ต่าง ๆ ออกมาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ พระไตรปิฎกบางฉบับระบุไว้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระพุทธเจ้าเกิดมานานตั้งแต่ช่วงกลางสหัสวรรษที่สามก่อนคริสตกาล ในขณะที่พระคัมภีร์อื่น ๆ บันทึกไว้ว่าเพิ่งเกิดช่วงตอนปลายศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน หลักธรรมคำสอนของพระองค์ได้ถูกนำไปรวบรวมและจัดเป็นหมวดหมู่ผ่านการสังคายนา แล้วจึงนำออกไปเผยแผ่ตามดินแดนต่าง ๆ โดยพระธรรมทูตหรือพุทธศาสนิกชนที่อุทิศตนเพื่อการนี้ บริเวณแรกที่พระธรรมทูตเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคือแถบทวีปเอเชีย ในยุคแรก ศาสนาพุทธอาจเป็นเพียงหนึ่งในศาสนาเกิดใหม่เล็ก ๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียตอนเหนือซึ่งความคิดด้านปรัชญาและศาสนาเฟื่องฟู แต่เมื่อศาสนานี้เข้าไปยังดินแดนต่าง ๆ แล้ว พระธรรมคำสอนที่ได้รับการถ่ายทอดกลับถูกผู้คนในแต่ละแห่งตีความและประยุกต์จนมีนิกายใหม่ ๆ ซึ่งมีคำสอนหลักและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

มหาโพธิวิหาร พุทธศาสนสถานเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่เชื่อว่ามีต้นไม้ที่สืบมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในขณะที่ตรัสรู้ มหาวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนั้นถูกบูรณะขึ้นด้วยอิฐทั้งหมดตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ภาพถ่ายโดย OLAF SCHUBERT/ALBUM

การเข้ามามีบทบาทของพระเจ้าอโศกมหาราช

เมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์และเข้ามาช่วยให้ศาสนาพุทธซึ่งถือเป็นศาสนาใหม่ในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองและเติบโต พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลานของปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเมารยะ ราชวงศ์ผู้ทรงอำนาจนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตโบราณ จักรวรรดิเมารยะได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างแห่งอำนาจหลังจากที่อเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาลในการขยายเขตการปกครองไปทั่วบริเวณอินเดียตอนเหนือ

พระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิในช่วงราว ๆ 265 ปีก่อนคริสตกาล และทำการยึดครองแคว้นต่าง ๆ เพื่อขยายอาณาจักรของพระองค์ต่อไป ในปีที่ 8 ของการครองราชย์ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณและความเชื่อครั้งยิ่งใหญ่ ตามบันทึกที่พระองค์ทรงเขียนขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชพิชิตแคว้นกะลิงคะได้สำเร็จ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมาณที่เกิดจากสงครามที่ตนเป็นคนก่อแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสำนึกผิด ตัดสินใจจะละทิ้งความรุนแรง แล้วหันมานับถือพุทธศาสนา พระองค์กำหนดให้คำสอนของศาสนานี้เป็นแนวนโยบายหลักของอาณาจักร นอกจากนี้แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชยังมีคำสั่งให้จารึกหลักปฏิบัติและยุทธศาสตร์ใหม่ รวมไปถึงพระบรมราชโองการไว้ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ และเสาอโศกซึ่งกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง

พระเจ้าอโศกมหาราชผู้หันมาเลื่อมใสในศาสนาพุทธได้สร้างเสาหินที่มีชื่อว่า เสาอโศก ไว้ทั่วอาณาจักรเมารยะ รวมไปถึงเสาหินที่ถูกจารึกถึงการเสด็จเยือนสวนลุมพินีวันของพระองค์เมื่อช่วงราว ๆ 249 ปีก่อนคริสตกาล
ภาพถ่ายโดย IRA BLOCK/NGS
ในอินเดียตอนกลาง ซุ้มประตูสลักลวดลายพุทธประวัติซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสถูปสาญจีถูกสร้างขึ้นโดยพระอโศกมหาราชเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สถูปหรือพุทธสถานทรงโดมเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ทั่วทั้งประเทศอินเดียและเนปาล
ภาพถ่ายโดย UNIQUELY INDIA/AGE FOTOSTOCK

การหันมานับถือศาสนาพุทธของพระเจ้าอโศกมหาราชจุดประกายให้เกิดการเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วทั้งอินเดีย เมื่อประมาณ 50 ปีก่อนคริสตกาล สำนักพุทธหลายนิกายเริ่มออกเดินทางไปตามเส้นทางการค้าขายต่าง ๆ เช่น เส้นทางสายไหม เพื่อเผยแผ่ศาสนาให้แก่ผู้คนในต่างแดน ในเวลาต่อมา พุทธศาสนาก็เริ่มหยั่งรากลึกลงในประเทศแถบตะวันออกซึ่งอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดหลายพันกิโลเมตร จนกระทั่งแผ่ไปถึงประเทศญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 5 การที่พุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปไกลเช่นนี้เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจาริกแสวงบุญ ณ สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเนปาล

การค้นพบครั้งใหม่ในสวนลุมพินีวัน

คัมภีร์พุทธประวัติได้บรรยายถึงเหตุการณ์การให้กำเนิดพระโอรสของพระนางสิริมหามายาซึ่งเกิดขึ้นในสวนลุมพินีวันไว้ว่า ในระหว่างการเสด็จกลับไปยังบ้านเกิด ณ กรุงเทวทหะ พระนางสิริมหามายาประชวรพระครรภ์และทรงให้ประสูติกาลพระราชโอรสขณะที่ยืนเหนี่ยวกิ่งของต้นสาละไว้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปหลายศตวรรษ สวนแห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอยู่ ทว่าความนิยมกลับถดถอยไปตามกาลเวลา ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่อาจจะทำให้สวนแห่งนี้ค่อย ๆ ถูกลืมอาจมาจากความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 มีการค้นพบเสาหินจากเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลในสวนลุมพินีวัน บนเสามีรอยจารึกชื่อของพระเจ้าเทวานัมปริยะ ปริยทรรศิน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นชื่อของพระอโศกมหาราช นอกจากนั้น บนเสายังมีรอยจารึกข้อความว่า “หลังพระเจ้าเทวานัมปริยะ ปริยทรรศินขึ้นครองราชย์มา 20 ปี พระองค์เสด็จเยี่ยมชมและสักการะสถานที่นี้เป็นการส่วนตัว เนื่องจากที่แห่งนี้คือสถานที่ประสูตรของพระพุทธเจ้า” นับตั้งแต่นั้นมา สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ก็ถูกค้นพบ

ภาพพระนางสิริมหามายา (ขวา) ที่กำลังยืนเหนี่ยวกิ่งของต้นสาละไว้ในขณะทรงให้ประสูติกาลเจ้าชาย สิทธัตถะโคตมะ ผู้ที่จะกลายเป็นพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา (ซ้าย) ซึ่งถูกสร้างขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่สองถึงสาม ในปัจจุบันประติมากรรมแบบนูนสูงที่มีต้นกำเนิดจากประเทศปากีสถานชิ้นนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ศิปละ กีเมต์ (Guimet Museum) ในประเทศฝรั่งเศส ภาพถ่ายโดย RICHARD LAMBERT/RMN-GRAND PALAIS
กำแพงสีขาวของพระวิหารมายาเทวีที่ตั้งตระหง่านเหนือพุทธสถานที่ถูกสร้างในยุคก่อนๆ ตามความเชื่อเล่าว่า พระนางสิริมหามายาสรงน้ำในสระนี้ก่อนจะให้ประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพถ่ายโดย F. BIENEWALD/GETTY IMAGES
พระวิหารมายาเทวีที่ถูกล้อมรอบไปด้วยกลุ่มสถูปจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 และคริสต์ศตวรรษที่ 9 ภาพถ่ายโดย R. BONNEROT/GETTY IMAGES

การขุดค้นสวนลุมพินีวันเผยให้เห็นสถานที่อันซับซ้อนซึ่งเต็มไปด้วยโครงสร้างจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อหลายศตวรรษก่อน หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเท่าที่พบมาในสวนลุมพินีวันคือ สระน้ำของพุทธสกุลศากยะ สถานที่ซึ่งเชื่อกันว่าพระนางสิริมหามายาใช้สรงน้ำก่อนให้ประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบซากปรักหักพังของวัดหลายแห่งซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลไปจนถึงศตวรรษที่ 5 ซากของสถูปจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 และพระวิหารมายาเทวีซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญในสวนแห่งนี้ ใน ค.ศ. 1996 มีการค้นพบหินที่เชื่อว่าเป็นสิ่งระบุบริเวณที่พระพุทธเจ้าประสูตรอยู่ใต้พระวิหารมายาเทวี และต่อมาใน ค.ศ. 1997 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้สวนลุมพินีวันเป็นมรดกโลก

อมราวดีสถูปซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ถือเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดียโบราณ ผู้แสวงบุญที่มาเยือนสามารถเยี่ยมชมสถูปและประติมากรรมแบบนูนต่ำที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติได้ งานศิลปะบางชิ้น ยกตัวอย่างเช่นชิ้นนี้ที่แสดงภาพการประสูติของพระพุทธเจ้า สามารถเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ภาพถ่ายโดย BRITISH MUSEUM/SCALA, FLORENCE

จนถึงปัจจุบันนี้ หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นที่ยอมรับนั้นย้อนกลับไปได้เพียงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลเท่านั้น ทว่าการค้นพบใน ค.ศ. 2011 อาจเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่กล่าวมา ทีมนักโบราณคดีนานาชาติได้เดินทางมาที่สวนลุมพินีวันเพื่อขุดค้นพื้นดินใต้ทางเดินอิฐซึ่งปูขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทีมนำโดยนักโบราณคดีสองคนคือ โรบิน คอนนิงแฮม (Robin Coningham) และคอช ปราสาท อะชารยา (Kosh Prasad Acharya) ทำการรื้อทางเดินออกเพื่อขุดหาชิ้นส่วนของโครงสร้างไม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ หลังนำตัวอย่างชิ้นส่วนซากไม้ไปวิเคราะห์ ทีมก็ได้พบว่าไม้เหล่านั้นถูกใช้เมื่อประมาณ 550 ปีก่อนคริสตกาล

รากไม้ที่แปรสภาพกลายเป็นหินซึ่งทางทีมนักโบราณคดีขุดพบชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างของซากไม้ที่ขุดพบมีลักษณะคล้ายกับโพธิการะ (Bodhigara) หรือวัดที่สร้างขึ้นจากต้นโพธิ์ ถึงแม้ว่าโครงไม้ในลักษณะเช่นนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่อื่น ๆ ซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อนศาสนาพุทธถือกำเนิด แต่ทั้งคอนนิงแฮมและอะชารยากลับคิดว่า เมื่อพิจารณาจากลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ค้นพบแล้ว ซากไม้เหล่านี้มาจากสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาอย่างแน่นอน

พระภิกษุอธิฐาน ณ บริเวณผนังพระวิหารมายาเทวีที่สวนลุมพินีวัน ในขณะที่นักโบราณคดีทำการขุดค้นโครงของสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ในยุคโบราณในบริเวณนั้น ภาพถ่ายโดย IRA BLOCK/NGS
การขุดค้นพระวิหารมายาเทวีที่สวนลุมพินีวันเผยให้เห็นชั้นของอิฐที่เรียงตัวกันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ภาพถ่ายโดย IRA BLOCK/NGS

ตามพุทธประวัติ ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้ทรงกำหนดให้สวนลุมพินีวันเป็นแหล่งแสวงบุญสำหรับผู้เลื่อมใสในศาสนา ดังนั้น การค้นพบวัดที่ถูกสร้างด้วยต้นโพธิ์เมื่อช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลจึงชี้ว่า พระพุทธเจ้าอาจมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งในยุคนั้น นอกจากนี้ รากไม้ที่พบยังเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่อาจจะช่วยให้บรรดานักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการสามารถปะติดปะต่อข้อมูลรวมไปถึงเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของพระพุทธเจ้าเข้าด้วยกัน จนสามารถสรุปออกมาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มี

เรื่อง VERONICA WALKER

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม เดินทาง ตามรอยพระพุทธเจ้า นับจากประสูติจนปรินิพพาน จากเนปาลสู่อินเดีย

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.