๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

เรื่อง  นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย  สิทธิชัย จิตตะทัต

อากาศเช้าตรู่เดือนกันยายนบนภูหลง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ชื้นเย็น บางวันฝนกระหน่ำ น้ำไหลหลากถนนกลายเป็นโคลนสีแดง

โดยทั่วไป ถ้าไม่ได้รับกิจนิมนต์เพื่อไปบรรยายหรืออบรมใดที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่น เช้าวันธรรมดา พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวันหรือเรียกอย่างสั้นว่า “ภูหลง” จะออกเดินนำพระลูกวัดออกบิณฑบาต และพรรษานี้พระไพศาล เจ้าอาวาสผู้ดูแลรับผิดชอบวัดสองแห่ง  แบ่งเวลาจำพรรษาที่ภูหลงในวันธรรมดา พอถึงสุดสัปดาห์ท่านจะลงมาวัดป่าสุคะโตที่บ้านใหม่ไทยเจริญ และหากมีกิจนิมนต์ การขึ้นลงจากภูแลนคาเข้ากรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ชนิดไปเช้ากลับดึกดื่นวันเดียวกันก็ยังเป็นสิ่งที่พระอาจารย์วัย 60 ปี บวชมา 34 พรรษากระทำอยู่ เช่นเดียวกับการเทศน์เช้าค่ำ ประชุมสมาชิกในวัด เขียนหนังสือ ออกบรรยายและฝึกอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ 14 คอร์สต่อปี ตอบอีเมลและข้อความในกล่องอินบ็อกซ์ ซึ่งรวมถึงคำถามเรื่องความทุกข์ส่วนตัวจากบุคคลทั่วไปทุกวัน และกำลังเตรียมงานธรรมยาตราของปีนี้ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ปีนี้จัดเป็นที่ 18 แล้วภายใต้หัวข้อ “รักษาป่า รักษาธรรม”

ถ้าถาม “พ่อจง” บรรจง พงษ์สะพัง ชาวบ้านใหม่ไทยเจริญ และมัคทายกวัยเจ็ดสิบเศษแห่งวัดป่าสุคะโต ผู้ทำหน้าที่มาเกือบ 40 ปีตั้งแต่สมัยหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ว่าคิดอย่างไรกับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันที่เขาเห็นมาแต่หนุ่มนี้  พ่อจงมั่นใจว่า “ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างขวาง เทศน์ฟังเข้าใจง่าย อยู่สมถะ พูดน้อย เคร่งมาก ปกครองวัดอย่างสงบเรียบร้อยไปง่ายมาง่าย เป็นพระที่คนนิยม ศรัทธามาก เหมือนหลวงพ่อคำเขียน เหมือนพ่อเหมือนลูก” ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับที่ คนทั่วไปในสังคมไทยยอมรับนับถือท่านด้วย

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2527 พระไพศาลยังเป็นพระนวกะอายุ 26 ปี เพิ่งบวชได้ไม่ถึงพรรษา ก็ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกประจำปีของมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญอย่าง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้แสดงปาฐกถา พระไพศาลใช้เวลา 2-3 เดือนเตรียมการพูดในหัวข้อ “แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม” ซึ่งท่านออกตัวว่า “เป็นทัศนะเกี่ยวกับชีวิตและสังคมของพระหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไม่มากก็น้อยเมื่อแก่ตัวลง”  ในปาฐกถาที่ผ่านการเรียบเรียงจากความคิด การค้นคว้า และประสบการณ์นานเก้าปีของ “ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์” นักกิจกรรมที่ผ่านสถานการณ์วิกฤติหลายครั้งในบ้านเมือง  ก่อนจะมาเป็นพระไพศาล วิสาโล กล่าวว่าสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของรากฐานของชีวิต หรือ “คุณภาพด้านในของชีวิตที่เป็นพื้นฐานของการรับรู้และการกระทำ  เป็นหลักยึดเหนี่ยวของชีวิต และเป็นที่มาของกิจกรรมที่แสดงออก” ซึ่งได้แก่ 1. ความใฝ่ใจในการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ 2. การรู้จักตนเอง ระลึกรู้ถึงความอ่อนแอ เท่าทันความเศร้าหมองภายในตัวเอง  3. การเข้าถึงความสุขอันประณีต แลเห็นด้านสดใสของผลแห่งการงาน  และ 4. การเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตและโลก วางใจเป็นอิสระจากผลที่จะเกิดขึ้น  ทั้งสี่ข้อมีอรรถาธิบายถ้วนถี่ 208 หน้าให้ผู้ใฝ่ใจอ่านได้ในหนังสือชื่อเดียวกับปาฐกถาซึ่งขึ้นหิ้งเป็นหนังสือคลาสสิกของนักกิจกรรมรุ่นถัดๆ มา

เชื่อว่าต้องมีผู้ฟังปาฐกถาในวันนั้นและผู้อ่านในวันนี้ที่แคลงใจในความเป็นไปได้จริง ของเนื้อหาที่พระหนุ่มอายุน้อยสาธกเรื่องการหยั่งรากฐานของชีวิตในโลกของกิจกรรม  แม้อาจารย์สุลักษณ์จะการันตีว่า “พระไพศาลเป็นแบบอย่างทางอุดมคติของคนรุ่นใหม่ได้  คำพูดและข้อเขียนของเธอควรแก่การรับฟัง เท่าๆ กับวิถีชีวิตของเธอก็ควรแก่การเอาเยี่ยงเช่นกัน” แต่ใช่ว่าข้อสงสัยจะหายไปง่ายๆ

กิจวัตรหนึ่งที่พระไพศาลยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมาคือการออกบิณฑบาตพร้อมกับพระลูกวัด นอกจากเป็นพระธรรมวินัยและเป็นเครื่องฝึกให้เป็นคนอยู่ง่ายแล้ว การบิณฑบาตยังทำให้พระสงฆ์และญาติโยมมีความสัมพันธ์และตระหนักว่าต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

ชีวิตของเราถูกขับเคลื่อนโดยเหตุการณ์บ้านเมือง… ซึ่งเป็นตัวแปรในการตัดสินใจสิ่งใหญ่ๆ ในชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระภิกษุ พระไพศาลไม่เคยแยกชีวิตของตนเองจากชีวิตกิจกรรม “เราไม่ได้เป็นคนที่อยากบวชพระตั้งแต่แรก เรามีความเป็นนักกิจกรรมอยู่ เราเริ่มต้นตั้งแต่ความรักชาติ และความรักชาติทำให้ต้องทำโน่นทำนี่ ตอนหลังก็เปลี่ยนจากความรักชาติเป็นการทำเพื่อสังคม ถ้าทำอะไรได้เพื่อส่วนรวมก็อยากจะทำ จุดไหนที่ทำได้ก็จะอยู่จุดนั้น”

ถ้าพระไพศาลเป็นสงฆ์สมัยพุทธกาลก็คงเทศน์สอนชาวบ้านเป็นหลัก เพราะสังคมไม่ซับซ้อนและปัญหาของคนเราก็หนีไม่พ้นเกิดแก่เจ็บตาย แต่ในเมื่อท่านเกิดเลยพุทธกาลมา 2,500 ปี  และเข้าวงการกิจกรรมมาตั้งแต่วัยรุ่น ประวัติย่อของชีวิตจึงมีตำแหน่งประธาน กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาของมูลนิธิและสถาบันอีกนับไม่ถ้วน ได้รับรางวัลเกียรติยศและปริญญากิตติมศักดิ์มากมาย มีงานเขียนงานวิจัยอีกหลายหลาก  ในรายการเหล่านั้น มีงานอันเกี่ยวกับสันติวิธี เช่นงานวิทยากรโครงการเสริมสร้างทักษะแก่ผู้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธีและกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อันเป็นงานสายที่ท่านสมาทานมาตั้งแต่เรียน

นารี เจริญผลพิริยะ นักฝึกอบรมสันติวิธีและอดีตหัวหน้าฝ่ายศาสนาและสันติวิธี กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมระหว่างปี 2531-2534 เล่าว่า ในยุคแรกมีการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับสันติวิธีหรืออหิงสาในทางทฤษฎีกันมาก แต่ไม่เห็นรูปแบบในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน  นารีถือว่าพระไพศาล “เป็นคนที่พยายามทำให้เรื่องสันติวิธีเป็นรูปธรรมและมีคนหันมาสนใจมากขึ้น เอาไปใช้จริงมากขึ้น มีการฝึกอบรมและปฏิบัติการจริง  สันติวิธีไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่ใช้  สันติวิธีทำให้คนมีความรู้ว่าเวลาเจอกับสถานการณ์เขาจะได้มีทางเลือก”

พระไพศาลกับทีมพัฒนาหลักสูตรสันติวิธีจากแนวคิดที่แปรสู่การฝึกฝนฐานทั้งสาม ได้แก่  สมอง ร่างกาย และจิตใจ นั่นคือสนใจการทำงานของสมอง การดูแลรักษาร่างกายให้สุขภาพดี และฝึกโยคะให้จิตใจกับกายประสานกันและมีสติ  นารีกล่าวว่าสันติวิธีไม่ใช่เป็นเรื่องแค่คิดเอา แต่ต้องฝึกฝนจนกลายเป็นวิถีชีวิต เธอใช้หลักสูตรสันติวิธีอบรมตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไปที่มีกรณีขัดแย้ง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจของรัฐที่ทำหน้าที่ปราบจลาจลในช่วงเวลาหนึ่ง

เหมือนกับหลักสูตร “เผชิญความตายอย่างสงบ” ที่พระไพศาลและทีมงานเสนอให้สังคมไทยรู้จักมานานกว่า 10 ปี ก็เริ่มต้นจากหลักการและแนวคิดของพุทธทิเบตในหนังสือที่ท่านแปล และอาศัยการลองผิดลองถูกจนกลายเป็นกระบวนการ เริ่มจากการทบทวนความตายว่าทำไมคนถึงกลัว การตายดีเป็นอย่างไร ฝึกเจริญมรณสติ โดยเลือกใช้เทคนิคบางอย่างของวัชรยานที่ไม่มีในเถรวาทเข้ามาผสมผสานประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์  อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยที่ตื่นตัวยอมรับและเริ่มต้นพูดถึงความตายอย่างเปิดเผยเป็นธรรมดากว่าเดิม ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานของพระไพศาลและ “ทีมความตาย” อย่างแข็งขันต่อเนื่อง  แม้แต่งานแซยิด 60 ปีของท่านก็ยังถือเป็นโอกาสจัดงาน Happy Death Day และยังมีการเปิดพินัยกรรมของพระไพศาลเป็นตัวอย่างของการจัดการร่างกายเมื่อเจ็บป่วยขั้นสุดท้ายและหลังจากมรณภาพแล้วด้วย

ภายในวัดป่าสุคะโต นอกจากความเงียบสงบแล้ว ยังเต็มไปด้วยต้นยางนาร่มรื่นเต็มพื้นที่ 500 ไร่ ยังประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ใจปฏิบัติธรรม ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้อาศัยเก็บเห็ดระโงกที่พบมากในป่ายางนาซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนด้วย

ด้วยพื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เห็นความสำคัญของการศึกษา พระไพศาลสมัยเป็น “เด็กเนิร์ด” ชั้น ม.ศ. 3 ที่อัสสัมชัญเริ่มอ่านหนังสือที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนและวารสารที่เป็นบรรณาธิการ จากนักเรียนที่เคยอ่านแต่หนังสือ สารคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ได้อ่าน “งานเขียนที่วิจารณ์บ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หากยังคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และคณะสงฆ์ ก็ช่วยให้หูตากว้างขึ้น และเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม” เกิดความสำนึกในสังคมพร้อมกับความนึกคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังได้รู้จักและอ่านงานของนิโคลัส เบนเนตต์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติและที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งนอกจากจะเป็นผู้มีส่วนกระตุ้นให้ไทยมีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธี เป็นพุทธศาสนิกชน และเป็นครูด้านสันติวิธีที่พระไพศาลเรียนรู้เมื่อทำงานด้วยกันในเวลาต่อมาว่า วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน และสันติสุขต้องเกิดจากสันติวิธีเท่านั้น  แต่เด็กเนิร์ดไม่ได้อ่านแค่หนังสือ แต่เริ่มทำงานด้านสังคมสงเคราะห์กับกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนาและยังสนใจเรื่องบทบาทของเยาวชนต่อการพัฒนาสังคมด้วย

ปีถัดมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไพศาลอายุ 16 ปี เริ่มสนใจเช เกวารา ฟิเดล คาสโตร และจิตร ภูมิศักดิ์ ในบทความ “สองทศวรรษกับ ส. ศิวรักษ์” ที่ท่านเขียน พระไพศาลเล่าว่าช่วงนั้น “หลายคนพูดถึงการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ และการยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชน โค่นล้มนายทุนขุนศึกศักดินาให้สิ้นซาก ข้าพเจ้าเองก็พลอยได้รับอิทธิพลกระแสนี้ไปด้วย” กระนั้นก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากขบวนการฝ่ายซ้าย ตั้งคำถามกับความรุนแรง และเริ่มเรียนรู้สันติวิธี ซึ่งสมัยนั้นใช้คำว่า “อหิงสา” อันเป็นแนวทางที่อาจารย์สุลักษณ์และกลุ่มเพื่อนๆ สนใจ  มีหัวข้อในวงสนทนาว่าด้วยพุทธศาสนา เต๋า และชีวิตภายใน

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ไพศาลได้รับทุนภูมิพล แต่ก็สนใจงานกิจกรรมมากกว่า และคลุกคลีในหมู่เพื่อนที่กำลังแปลหนังสือปรัชญาศาสนากันอย่างคึกคัก  ในปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัย ท่านรับหน้าที่สาราณียกรของ ปาจารยสาร ซึ่งเปลี่ยนแนวทางจากที่เคยมุ่งเน้นด้านการศึกษามาเป็นอหิงสาสายพุทธศาสนาเพื่อสังคม  “เราก็เห็นว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธนี่ก่อความเสียหายเยอะ ใจก็เลยเอียงมาทางสันติวิธี”  ขณะอายุ 18 ปี ไพศาลตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ทำร้ายใคร และถึงแม้มีโอกาสก็จะไม่ทำ  ถ้าจะตายก็ขอให้ได้ตายแบบไม่ทำร้ายหรือผูกใจเจ็บใครเลย  ความตั้งใจดังกล่าวเป็นจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขณะที่ท่านและเพื่อนชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีกำลังอดอาหารคัดค้านกรณีสามเณรถนอมอุปสมบทถูกจับกุม  สามวันหลังนั้น ท่านและเพื่อนนักศึกษาได้รับการปล่อยตัว และฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) สร้างเครือข่ายและผลักดันให้เกิดกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในอีกสองปีถัดมา  ชีวิตในมหาวิทยาลัยของพระไพศาลกินเวลาสี่ปีครึ่ง ซึ่ง “มีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน การเรียนรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย”

การทำงานกับ กศส. อย่างมุ่งมั่นทุ่มเทหลังเรียนจบนาน 3-4 ปี แม้ยังมีงานด้านสังคมที่ต้องทำอีกมาก แต่ส่วนตัวก็ทำให้เกิดภาวะที่พระไพศาลเคยบรรยายไว้ว่า “เหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว เป็นความเหนื่อยล้าชนิดที่ไม่ยอมคิดหาความสงบนิ่ง แถมยังสงบนิ่งไม่ได้ด้วย เพราะใจร้อนรนอยู่ไม่สุข”  และก็เป็นอาจารย์สุลักษณ์นั่นเองที่ผลักดันให้ท่านลองบวช ซึ่งตั้งใจไว้แต่แรกเพียงสามเดือนเพื่อ “หวังให้หายเครียดเท่านั้นแหละ ไม่ได้หวังนิพพานอะไร”

ที่วัดป่ามหาวันหรือภูหลง กุฎิของพระไพศาลเต็มไปด้วยกองหนังสือมากมายซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับงานเขียนและการบรรยายธรรม นอกเหนือจากข้อมูลที่ค้นจากอินเทอร์เน็ต จนถึงปัจจุบัน พระไพศาลมีหนังสือที่เขียน แปล เป็นบรรณาธิการ ตลอดจนบทความที่ตีพิมพ์ลงในสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมกว่า 350 เล่ม

34 ปีก่อน ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ย่านคลองสาน แล้วไปเรียนเจริญสติแบบเคลื่อนไหวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามในอยู่ห้าเดือน แล้วจึงไปจำพรรษาแรกที่วัดป่าสุคะโต ชื่อที่แปลว่า ผู้ไปดีแล้วบนเส้นทางอริยมรรค ไม่หวนกลับสู่กิเลสด้วยมัชฌิมาปฏิปทา พระไพศาลเมื่อบวชใหม่ปฏิบัติธรรมทั้งเต็มที่ทั้งซีเรียส แต่กลับไม่บรรลุผลใดๆ แถมยังกลายเป็นความเครียดคับแค้นและ “ล้มคว่ำคะมำหงาย” ครั้งแล้วครั้งเล่า  สองเดือนผ่านไป พอพระไพศาลถอดใจและอยู่เพื่อลาสิกขาในเดือนที่สาม  คราวนี้กลับกลายเป็นว่า “วางใจได้ดีขึ้น มีความผ่อนคลายเพราะปล่อยวาง สติและความรู้สึกตัวค่อยๆ เพิ่มพูน ทำให้รู้ทันความนึกคิดได้เร็วขึ้น และหลุดจากความฟุ้งซ่านได้ไว ทำให้ใจสงบและว่างจากความคิดได้นานขึ้น เป็นครั้งแรกที่เข้าใจว่าการอยู่อย่างมีสตินั้นหมายถึงอะไร และอดไม่ได้ที่จะซาบซึ้งในพลังแห่งสติ”

พระไพศาลมีงานอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบปีละ 14 ครั้ง เมื่อมีผู้นิมนต์ ท่านก็ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยและใช้ธรรมะ “ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย” ในการรักษาใจ

หน้าแล้งปี 2559 ภูหลงต้องเผชิญกับไฟป่าที่ต้นเพลิงจากข้างนอก ข้ามเขตแนวกันไฟมา นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษขนาดที่ทำให้สูญเสียต้นไม้ไปกว่า 2,000 ไร่ ทั้งป่าปลูกใหม่อายุกว่า 10 ปีด้านทิศเหนือและทิศใต้เกือบทุกแปลง รวมทั้งป่าดิบเขาที่เป็นไม้เก่าแก่อายุ 300-400 ปี ถือเป็นไฟที่ไหม้ตรงไข่แดงของป่าภูหลงซึ่งเป็นจุดที่เข้าถึงยาก ไฟป่าหนนี้ แม้เปลวเพลิงจะไหม้รุนแรงอยู่ไม่ถึงสัปดาห์ แต่ที่ทำให้ต้องเฝ้าระวังผลัดเวรดับไฟกันทั้งวันทั้งคืนอยู่เป็นเดือนก็เพราะมีไฟสุมขอนที่คอยจะปะทุและลามต่อไปเรื่อยๆ สำหรับป่าที่อยู่ห่างไกลกันดาร กำลังหลักที่ชวยกันดับไฟป่าหนีไม่พ้นพระวัดภูหลง ชาวบ้านตาดรินทองและหมู่บ้านใกล้ๆ และอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟก็ยิ่งไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าถังน้ำพลาสติกกับรองเท้าแตะยางที่ถอดออกมาตบไฟที่ไหม้ตามพื้น

แม้จะรู้สึกเสียดายที่ป่าถูกไฟไหม้ไปมากและงานข้างหน้าคงยากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าถามพระไพศาลว่าหมดแรงไหม  “ไม่มี  โธ่เอ๊ย หมดแรงแบบเพลียน่ะมี อย่างอื่นไม่มี ทำต่อไป พยายามโหมกำลังเข้าไป ป่าเราไหม้ไป 2,000ไร่ ที่น่านโดนเผาไปทีเป็นแสนไร่ ของเราจิ๊บจ๊อย ถ้าเราคิดว่าป่าก็ต้องมีไฟ ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจและเห็นว่าปัญหามันเล็กน้อย” เสียงราบเรียบตอบเรื่อยๆ เหมือนเป็นคำสนทนาเรื่องจิปาถะ

“ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส” ที่เป็นทั้งชื่อหนังสือ ทั้งสโลแกนปิดท้ายหนังสือธรรมะหลายเล่มของพระไพศาลจึงไม่ได้เขียนออกมาคล้องจองเก๋ๆ แต่เป็นถ้อยคำที่เชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริงไม่เฉพาะแต่ตัวของท่าน หากยังขยายไปสู่คนทำงานใกล้ชิดอย่างวิชัย “อาจารย์บอกว่าปัญหาของภูหลงมีเยอะแยะ แต่ก็มีจุดคลายที่ทำให้เราเห็นชัดขึ้นมา  อาจารย์เคยถามว่าคุณรับได้ไหมถ้าภูหลงมีต้นไม้เหลือเพียงต้นเดียว ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ เราหวังให้ดีที่สุด แต่ว่าเราต้องยอมรับเหตุปัจจัยด้วย”

 

อ่านเพิ่มเติม : ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์, จาริกแสวงบุญ : เพื่อศาสนา หรืออัตตา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.