“ฉันเกิดใน ยุคพระเยซู ” ชีวิตแรกเกิดชวนตะลึง ของคริสตศาสดาและทารก

การที่คนเลี้ยงแพะและโหราจารย์ทั้งสามเดินทางไปร่วมยินดีกับการประสูติของพระเยซู อาจมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของการทำคลอด ยุคพระเยซู

ยุคพระเยซู – ทุก ๆ ปี ชาวคริสต์ทั่วโลกจะเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูตามประเพณี ด้วยการแสดงละครประวัติการประสูติและการจัดเทศกาลคริสต์มาสขึ้น มีการกล่าวถึงเรื่องราวการบังเกิดของพระเยซูหรือพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าไว้ในพระวรสารนักบุญลูกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ไบเบิล โดยบรรยายว่า พระนางมารีย์ “ประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้นแล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย” (ลูกา 2 : 7)

อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เจาะจงเกี่ยวกับการคลอดลูกของพระนางมารีย์เอาไว้ ดังนั้นนักวิชาการจึงเริ่มค้นหารายละเอียดเหล่านั้นจากแหล่งข้อมูลอื่น จากการค้นคว้าพบว่า การคลอดลูกที่เกิดขึ้นในยุคโรมันโบราณให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการทำคลอดของคนในยุคนั้น รวมไปถึงขั้นตอนในการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ซึ่งยังถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้

บทบาทของหมอตำแย

นักวิชาการด้านพระคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า พระเยซูประสูติ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงระหว่าง 4 ถึง 6 ปีก่อนสากลศักราช หรือในช่วงที่แคว้นยูเดียและเมืองเบธเลเฮมยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน แอนนา บอนเนลล์ ฟรายดิน (Anna Bonnell Freidin) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และนักเขียนเจ้าของหนังสือ ‘Birthing Romans: Childbearing and Its Risks in Imperial Rome’ ที่จะวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ กล่าวว่า “ในสมัยโรมโบราณ คนที่ไปร่วมการทำคลอดจะเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน ญาติ มิตร หรือทาสรับใช้ที่คอยช่วยเหลือหญิงสาวที่กำลังจะคลอดลูก ทั้งนี้ จำนวนคนที่มาช่วยจะขึ้นอยู่กับทรัพย์สินและสถานะทางสังคมของครอบครัวนั้น ๆ”

ฟรายดินกล่าวต่อว่า “ถ้าดูภาพเกี่ยวกับการทำคลอดในยุคจักรวรรดิโรมันจะสังเกตได้ว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญไปที่ การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้หญิง และฉันคิดว่ามุมมองที่สื่อออกมาผ่านภาพคือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติทางสังคมของมนุษย์ที่มีต่อการคลอดลูกในยุคนั้น”

การคลอดบุตรเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายในยุคสมัยของพระเยซู แต่หมอตำแยที่ปรากฎในภาพสลักหินโบราณนี้จากกรุงโรมได้ให้ความช่วยเหลือบางอย่างที่ยังเป็นสิ่งที่ทำอยู่จนถึงปัจจุบัน PHOTOGRAPH BY DEA, G. DAGLI ORTI/DE AGOSTINI/GETTY IMAGE

นอกจากนั้นเธอยังอธิบายเสริมว่า “หมอตำแย หรือผดุงครรภ์โบราณในยุคจักรวรรดิโรมัน มักจะเป็นผู้หญิงที่มีหน้าที่ให้บริการการดูแลรักษาสุขภาพของแม่และทารก ทั้งระหว่างและหลังการคลอด ให้กับครอบครัวที่สามารถเข้าถึงบริการเช่นนี้ได้ ในยุคนั้นหมอตำแยมีหลายชนชั้น นอกจากหมอตำแยที่เป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไปแล้ว ตามเมืองต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมันยังมีหมอตำแยที่เป็นคนชั้นสูงและมีการศึกษาอยู่”

แม้ว่าเมืองทุกเมืองในจักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของชาวโรมัน แต่จริง ๆ จักรวรรดิโรมันไม่ได้กำหนดธรรมเนียมทางสังคมและศาสนาที่เจาะจงให้กับผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้ ขั้นตอนในการคลอดลูกและธรรมเนียมก่อนการคลอดจึงแตกต่างกันไปตามพื้นที่และความเชื่อ โดยก่อนจะคลอดลูก ผู้ที่กำลังจะเป็นพ่อแม่อาจบูชาเทพเจ้าหรือถวายเครื่องบูชาต่าง ๆ ตามความเชื่อและศาสนาของพวกเขา

ทารา มัลเดอร์ (Tara Mulder) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียกล่าวว่า “หากครอบครัวของพระนางมารีย์มีกำลังทรัพย์มากพอ มารดาชาวยิวเช่นพระนางก็คงจะต้องออกตระเวนตามหาหมอตำแยชาวยิว ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองและลูก เพราะในช่วงเวลานั้นเกิดกระแสต่อต้านชาวยิวขึ้น”

มัลเดอร์เสริมอีกว่า “หมอตำแยถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในระบบกฎหมายของโรมัน แม้จะไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ หรือการกำกับดูแลจากหมอและหมอตำแยด้วยกันก็ตาม” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรขึ้น หมอตำแยในฐานะผู้เชี่ยวชาญจะถูกเรียกให้ไปยืนยันว่า หญิงคนนั้นตั้งครรภ์อยู่จริง ๆ หรือไม่ หรือเคยผ่านการคลอดบุตรมาแล้วจริงไหม

การเตรียมห้องคลอด

โซรานัส (Soranus) หมอผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชในยุคโรมันโบราณ เขียนคุณสมบัติของหมอตำแยในอุดมคติไว้ว่า ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความจำดี น่านับถือ ร่างกายแข็งแรง พร้อมทั้งมี “นิ้วเรียวยาวและเล็บที่สั้น”

ตามหลักการแล้ว ควรจะมี “ผู้ช่วยผู้หญิงสามคน” ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือหมอตำแยในระหว่างการทำคลอด โดยผู้ช่วยสองจะคนอยู่ข้าง ๆ หญิงสาวที่กำลังจะคลอดลูก ในขณะทีผู้ช่วยอีกหนึ่งคนจะคอยประคองตัวผู้คลอดอยู่ข้างหลัง เพื่อช่วยกำกับการคลอดและคอยปลอบประโลมหญิงสาวคนนั้น ผู้ช่วยทั้งสามคนมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การกำกับลมหายใจ และการทำให้ผู้ที่กำลังจะคลอดรู้สึกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โซรานัสยังเขียนแนะนำไว้ว่า สำหรับ “การคลอดแบบปกติ” หมอตำแยจะต้องมีน้ำมันมะกอก น้ำอุ่น ผ้าสะอาด และเครื่องหอมเตรียมสำหรับให้ผู้คลอดดม วางอยู่ใกล้มือ นอกจากนั้น โซรานัสยังแนะนำว่า ระหว่างการคลอดลูก ผู้คลอดควรนั่งบนเก้าอี้ของหมอตำแย ซึ่งเป็นเก้าอี้ทรงสูงพิเศษที่บริเวณพื้นนั่งมีช่องไว้สำหรับคลอดทารก

หากเกิดความผิดปกติรุนแรงขึ้นในระหว่างคลอด หมอซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะถูกเรียกตัวไปยังห้องคลอด “ตอนที่หมอถูกเรียกไป อาจเป็นไปได้ว่า ในขณะนั้น หมอตำแยไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตทารกในครรภ์ได้แล้ว และหมอที่ไปช่วยก็พยายามจะรักษาแต่ชีวิตของผู้เป็นแม่เอาไว้เท่านั้น” มัลเดอร์เล่า “มีความเป็นไปได้สูงว่าก่อนที่หมอจะไปถึง หมอตำแยคือผู้ที่ทำอะไรก็ตามที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คลอดได้” เธอกล่าวเสริม

ในช่วงเวลาประสูติของพระเยซู หมอตำแยมีบทบาทสำคัญในการคลอดบุตรทั่วจักรวรรดิโรมัน พวกเธอยังให้การรับรองต่อสาธารณะเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือความบริสุทธิ์ ในผลงานศตวรรษที่ 15 นี้ โดย Lotto Lorenzo หมอตำแย (ด้านขวา) ปรากฏอยู่ข้างพระเยซูและมารีย์ PAINTING BY LORENZO LOTTO, COURTESY BRIDGEMAN IMAGES

วิธีดูแลทารกแรกเกิด

โซรานัสได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีตรวจและดูแลทารกแรกเกิดหลังคลอด ซึ่งคล้ายคลึงกับวิธีที่ใช้ในปัจจุบันเอาไว้เช่นกัน ในขั้นตอนแรก หมอตำแยและผู้ช่วยจะระบุเพศ ต่อด้วยการประเมิน “ความแข็งแรง” ของทารกจากเสียงร้องไห้ครั้งแรก จากนั้นจึงตรวจสอบแขนขา ข้อต่อ และรูปร่างโดยรวม ในขั้นตอนสุดท้าย หมอตำแยจะตัดสายสะดือ “ให้ห่างจากหน้าท้องทารกประมาณสามนิ้วครึ่ง”

หลังจากนั้น หมอตำแยและผู้ช่วยจะทำความสะอาดเด็กแรกเกิดด้วยเกลือป่น ซึ่งจะนำไปโรยไปทั่วตัวเด็ก โดยระวังไม่ให้โดนบริเวณปากหรือตา จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำอุ่น และนำผ้าขนสัตว์เนื้อนุ่มมาห่อตัวทารกเอาไว้ โซรานัสแนะนำให้วางเด็กทารกไว้ในที่นอนที่เป็นร่องคล้ายรางน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกตัวไปมา และควรยกหัวของเด็กขึ้นเล็กน้อยด้วยการนำหมอนที่ทำจากหญ้าแห้งไปรองบริเวณหัวไว้ โซรานัสยังบันทึกไว้อีกว่า มีบางคนนำเด็กไป “นอนในราง” เพื่อทำตามคำแนะนำของเขา ซึ่งวิธีการดูแลเด็กเช่นนี้ อาจสะท้อนอยู่ในบทบรรยายถึงวิธีที่พระนางมารีย์ดูแลพระเยซูในวัยแบเบาะจากพระวรสารนักบุญลูกา

ความตายและอันตรายที่อาจจะเกิด

จักรวรรดิโรมันมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดสูงในทุก ๆ พื้นที่ ในบางครั้ง ครอบครัวและหมอตำแยยังนำเด็กทารกที่ถูกมองว่าไม่แข็งแรง ออกไปทิ้งไว้ข้างนอกเพื่อให้เสียชีวิต หรือเพื่อให้มีคนมารับเลี้ยง นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตของมารดาในยุคนั้นยังอาจจะสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของมารดาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันถึง 20 เท่า โดยคาดว่ามีจำนวนมารดาที่เสียชีวิต 500 ถึง 2,000 คน ต่อการเกิดมีชีพแสนคน หนึ่งในปัจจัยหลักที่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตของมารดาคือ การขาดวิตามินและแร่ธาตุ มัลเดอร์กล่าวว่า “เราทราบปัญหานี้จากงานวิจัยทางชีววิทยาที่ศึกษาซากกระดูก ฟัน และเส้นผมของหญิงสาวที่เสียชีวิตหลังคลอดลูก”

เธอยังกล่าวเสริมอีกว่า “ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงในยุคโรมันโบราณตั้งครรภ์ตอนที่อายุยังน้อยเกินไป และคลอดลูกถี่เกินไป” ปัญหานี้รุนแรงขึ้นเนื่องจากในยุคนั้นการใช้บริการแม่นมแพร่หลายมากกว่าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ เพราะร่างกายอาจจะไม่ผลิตไข่ในช่วงที่แม่ยังให้นมลูกอยู่ ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้หญิงบางคนที่สามารถตั้งครรภ์ในช่วงนั้นได้ อย่างไรก็ดี การตั้งครรภ์ซ้ำ ๆ โดยมีเวลาในการฟื้นฟูร่างกายไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายของแม่ถูกใช้งานหนักจนเกินไป

แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะมีบันทึกของโซรานัสเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง แต่การจะจำแนกว่าบันทึกเรื่องใดเป็นวิธีทำคลอดและรักษาสุขอนามัยแม่และเด็กที่ดีที่สุดในยุคโบราณ บันทึกเรื่องใดเป็นวิธีการที่คนโรมันใช้จริง ๆ นั้น ยังถือเป็นเรื่องยากสำหรับบรรดานักวิชาการอยู่ ข้อมูลจากหนังสือ Birthing Romans ของฟรายดินที่กำลังจะถูกตีพิมพ์ในปีช่วงเดือนมิถุนายนของปีนี้ชี้ว่า จดหมายและคำจารึกบนหลุมฝังศพที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยโรมโบราณต่างก็บรรยายถึงการคลอดลูกว่า เป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายต่อทั้งชีวิตของแม่และทารกในครรภ์

เนื้อหาในหนังสือได้ยกชีวิตของหญิงสาวชาวโรมันคนหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง หญิงสาวคนนั้นแต่งงานตอนอายุ 11 ปี และเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 27 ปี เธอผ่านการคลอดลูกถึงหกครั้ง ทว่า ในตอนที่เธอเสียชีวิตลงกลับมีลูกเพียงหนึ่งคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคที่พระนางมารีย์ให้กำเนิดพระเยซูจึงทำให้ผู้คนหันมาเฉลิมฉลองให้กับเด็กทุกคนที่มีชีวิตรอดหลังคลอดและมีโอกาสได้เติบโตขึ้นทุกปี

เรื่อง ดีนา ไฟน์ แมรอน

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ‘มารีย์’ และ ‘โยเซฟ’ ผู้ให้ กำเนิด พระเยซู มาพบรัก-สมรสกันได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.