ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ – บนที่ราบเขียวชอุ่มทางเหนือของแอฟริกา คนเก็บของป่าล่าสัตว์คนหนึ่งพินิจความลาดเอียงของแผ่นหินทราย สีส้มตรงหน้า ผาหินสูงตระหง่านนี้คือผืนผ้าใบสมบูรณ์แบบ จานหินกลมหนักอึ้งคือเครื่องมือที่เขามี เช่นเดียวกับศิลปินยุคหินใหม่คนอื่นๆ ชายผู้นี้จะวาดภาพคุ้นตา นั่นคือเรือนร่างใหญ่โตมีลวดลาย ตั้งอยู่บนขาเรียวบางสี่ข้าง ลำคอ ยาวโค้ง ส่วนบนคือหัวที่งุ้มงอ ในยุคสมัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ คนเก็บของป่าล่าสัตว์ผู้นี้มีเวลามากพอที่จะรังสรรค์ผลงานบนผนังหิน จารเส้นสายให้ฝังรอยลึกไปทีละเส้น ราวกับหวังจะให้คงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี
แม้เราจะสามารถไปยืนอยู่ ณ จุดเดียวกัน และมองภาพสลักรูปยีราฟสูง 1.5 เมตรนั้นได้ ทว่าการปรากฏ ของมันที่นี่ในทุกวันนี้คงไม่ต่างอะไรจากการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว ภูมิทัศน์ในปัจจุบันแตกต่างออกไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งแห้งแล้งกว่า สีแดงกว่า ไร้เมฆ แต่ความพิเศษแปลกตากลับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ในทุกด้าน ผืนทรายและศิลาแถบตอนกลางของสะฮารานี้ คือฉากแห่งความไร้ชีวิต
ประจักษ์พยานถึงความไร้ชื่อเสียงเรียงนามและความห่างไกลในเรื่องนี้ก็คือ น้อยคนนักจะเคยได้ยินชื่อ ของอุทยานแห่งชาติตาซิลีนาฌเฌร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอลจีเรีย แม้ที่นี่จะได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกา นี่คือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของที่ราบสูงหินทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลจากยุคแคมเบรียน ล้อมรอบ ด้วยหมู่เนินทรายสีส้ม ครอบคลุมพื้นที่ 72,000 ตารางกิโลเมตรของทะเลทราย ติดพรมแดนลิเบียและไนเจอร์
บริเวณที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอุทยาน คือตาดรารูฌที่ทอดตัวกว้างใหญ่และเข้าถึงได้ด้วย รถขับเคลื่อนสี่ล้อจากเมืองโอเอซิสชื่อจาเน็ต เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในตาซิลี การกัดกร่อนยาวนานนับกัปกัลป์กลึงเกลาหินใหญ่จนกลายเป็นยอดแหลม และสลักเสลาหินโผล่ให้เป็นรูปร่างสัตว์น่าอัศจรรย์ โครงค้ำยันตระหง่านแห่งหนึ่ง ผ่านร้อนผ่านหนาวจนเกิดเป็นโพรงสูง 15 เมตร รู้จักกันในนาม “อาสนวิหาร” ขณะที่หินมนใหญ่ก้อนหนึ่งที่เกยอยู่ บนขาหินเพรียวระหงสี่ข้างนั้น เรียกกันว่า “เฮดจ์ฮอก” ส่วนหินรูปร่างเหมือนเห็ดสูงสามเมตรนั้นยืนโดดเดี่ยวอยู่ กลางผืนทรายอันไพศาล เชื่อกันว่าอุทยานแห่งนี้มีสะพานหินโค้งธรรมชาติอยู่มากกว่า 300 แห่ง
ลำพังแค่หมวดหินนับไม่ถ้วนซึ่งได้รับการขนานนามว่า “พงพนาป่าหิน” ก็มากพอที่จะทำให้ตาซิลีนาฌเฌร์ ติดทำเนียบภูมิทัศน์ที่ขึ้นชื่อว่างดงามอลังการที่สุดในโลกแล้ว แต่นั่นยังน้อยไป ความงามสง่าของตาซิลีหาได้มีเพียงความตระการตาของหมู่ศิลา แต่ยังรวมถึงสิ่งที่คนรุ่นต่างๆ ในอดีตฝากไว้บนหินผาเหล่านั้นด้ว
มองไกลๆ ริ้วลายที่เห็นอาจดูเหมือนผลงานของกระบวนการทางธรณีวิทยาสักอย่าง ครั้นเมื่อพิจารณาใกล้ๆ ลายริ้วเหล่านั้นก็คลี่คลายกลายเป็นภาพที่เราคุ้นตา ทั้งภาพวาดและภาพสลักรูปสัตว์ต่างๆ และชนเผ่าโบราณ ซึ่งร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวว่า ชีวิตที่นี่วิวัฒน์ไปเช่นไรตลอด 12,000 ปีที่ผ่านมา
หอศิลป์ธรรมชาติเหล่านี้โดดเด่น ใช่เพียงเพราะความเก่าแก่โบราณและคุณค่าทางศิลปะ แต่เพราะขนาด อันโอฬารด้วย ว่ากันว่าอุทยานแห่งชาตินี้เป็นที่พำนักของงานศิลป์ราว 15,000 ชิ้น ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มภายในรอยแยกตามธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ชะง่อนผา ซุ้มหรือโพรงบนที่สูง อันเป็นที่คุ้มแดดคุ้มฝนให้เหล่าศิลปินผู้รังสรรค์งานศิลปะเหล่านั้น
แม้ชนเผ่าเร่รอนชาวทูอาเร็กจะรู้จักศิลปะบนผนังหินเหล่านี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่อองรี โลต นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ซึ่งใช้เวลา 16 เดือนบันทึกและสเก็ตช์งานศิลป์หลายร้อยชิ้นในภูมิภาคตาซิลีระหว่าง ปี 1956-1957 เป็นผู้ทำให้คนทั่วโลกรู้จักตาซิลี
งานนิทรรศการศิลปวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนภาพสำเนาที่โลตนำกลับมาจากแอลจีเรีย ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์มัณฑนศิลป์ (Musée des Arts Décoratifs) ในกรุงปารีส เมื่อปี 1957 ก็สร้าง ความฮือฮาคลั่งไคล้ในหมู่สาธารณชน ในหนังสือ ตามหาภาพเฟรสโกแห่งตาซิลี (The Search for the Tassili Frescoes) ของเขา โลตโอ่ว่าภูมิภาคดังกล่าวเป็น “พิพิธภัณฑ์ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”
ภาพจำหลักในตาซิลีที่โดดเด่นและงดงามที่สุดเป็นภาพของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่โดยทั่วไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา เช่น ช้าง นกกระจอกเทศ สิงโต ยีราฟ แรด วัวป่าออร็อค จระเข้ แอนทิโลป และฮิปโปโปเตมัส
ฉากหลังที่ปลาสนาการไปนานแล้วของการปรากฏของสัตว์เหล่านั้นคือ “ความเขียวขจี” ของสะฮารา ทั่วทั้ง ตาซิลีนาฌเฌร์ อัตราการดกัดกร่อน โดยเฉพาะระบบหุบเหวลึกต่างๆ ที่อยู่ทางเหนือ บ่งชี้ว่า ดินแดนเวิ้งว้างและ ร้อนแล้งแถบนี้เคยมีทางน้ำตัดสลับไปมา การศึกษาทางธรณีวิทยาเมื่อไม่นานมานี้คาดว่า สิ่งที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่าเป็นทะเลทรายร้อนระอุกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลกนี้ เคยผ่าน “ช่วงเวลาแห่งความชื้น” จากฝนที่ตกอย่างชุ่มฉ่ำ มาแล้ว 230 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเริ่มขึ้นเมื่อราว 15,000 ปีก่อน
จากมุมมองของนักภูมิอากาศบรรพกาล ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเอียงของแกนหมุน ของโลกและวงโคจร ซึ่งสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาแห่งความชื้นเหล่านี้ของแอฟริกา ทำให้ซีกโลกเหนืออุ่นขึ้น มรสุมฤดูร้อนที่หนักหน่วงและยาวนานช่วยเติมเต็มแอ่งทางธรณีต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเป็นทะเลสาบและทุ่งน้ำ แม่น้ำใหญ่หลายสายเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับแนวชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของภูมิภาคมาเกร็บ
ยุคแห่งความอุดมสมบูรณ์นี้เองที่ยืนยันด้วยภาพจำหลักเก่าแก่ที่สุดส่วนใหญ่ในตาซิลี เมื่อทุ่งหญ้าแผ่ขยาย ไปทั่วพื้นที่ตอนในของแอฟริกาเหนือ เหล่าสัตว์กินพืชชิงอพยพขึ้นเหนือไปก่อน ตามด้วยสัตว์นักล่าและมนุษย์
ยุคต่อๆ มาของศิลปะบนผนังหินในตาซิลีนาฌเฌร์ฝากร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและภูมิอากาศ ที่ตามมา เพราะหากสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเปลี่ยนไป การดำรงอยู่มนุษย์ก็เช่นกัน ในบรรดาลายเส้นที่พบ มากที่สุดในตาซิลี คือภาพธรรมชาติของปศุสัตว์พันทาง ชวนให้คิดถึงการเปลี่ยนผ่านจากการเก็บของป่าล่าสัตว์ ไปสู่การไล่ต้อนปศุสัตว์ ภาพจำนวนมากที่ยังหลงเหลืออยู่จากยุคโบวิเดียน (Bovidian) หรือยุคเลี้ยงสัตว์นี้ ถูกวาดด้วยสีเหลืองออกน้ำตาลหรือแดงเลือดนกที่ได้จากหินบดผสมกับเลือดวัว
บนหินโผล่โดดเดี่ยวก้อนหนึ่ง ใกล้ถนนสายที่ปัจจุบันทอดระหว่างจาเน็ตกับชายแดนลิเบีย คือภาพจำหลักที่เรียกว่า “เหล่าวัวร่ำไห้” ซึ่งช่างชั้นครูเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นโดยเป็นภาพลายเส้นที่ตวัดเป็นรูปปศุสัตว์กลุ่มหนึ่ง หัวของวัวเหล่านั้นหันมาทางผู้มอง และแต่ละตัวมีหยาดน้ำตาขนาดใหญ่เอ่อล้นออกมาอยู่ใต้ดวงตาข้างหนึ่ง ตำนานพื้นถิ่น เล่าว่า ภาพนี้แสดงถึงความกังวลของชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์เมื่อฝนแล้งแห้งหาย และพืชพรรณของสะฮาราซึ่งหล่อเลี้ยงบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มาตลอดหลายพันปีพากันถอยร่นหดหาย
เหล่าวัวร่ำไห้เป็นลางสังหรณ์ถึงปัจจุบันอันแห้งแล้งของสะฮารา เมื่อยุคแห่งความอุดมสมบูรณ์ถูกแทนที่ด้วยสมัยแห่งฝุ่นผง การเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตเร่ร่อนพเนจรระยะไกลก็เริ่มต้นขึ้นในยุคศิลปะสุดท้าย หรือแคเมลไลน์ (Camelline) ที่โดดเด่นด้วยรูปเขียนหวัดๆ เหมือนแผนภาพรูปอูฐ ซึ่งมักประกอบด้วยลำตัวรูปสามเหลี่ยมมีเส้นตรง ยื่นออกไปรอบๆ แทนคอและขา พอถึงตอนนี้ การสลักลวดลายหรือการจดจารลงบนแผ่นหินที่ใช้เวลายาวนาน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในยุคสมัยแห่งความชุ่มชื้น ถูกกราฟฟิตีเร่งด่วนประเภท “ฉันเคยอยู่ที่นี่” ของผู้คน ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่เสมอเข้ามาแทนที่
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ความไร้เสถียรภาพในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งรุนแรงในลิเบีย และไนเจอร์ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานดังกล่าว ความกว้างใหญ่ไพศาลของดินแดนไกล ปืนเที่ยงนี้ย่อมเกินขีดความสามารถของหน่วยลาดตระเวนของแอลจีเรีย ถึงตอนนี้ งานศิลป์บนศิลาส่วนใหญ่ของ ตาซิลี และภูมิทัศน์น่าพิศวงที่ก่อรูปเป็นฉากหลัง ยังคงสูญหายไปในกาลเวลา
เรื่อง เฮนรี วิสไมเยอร์
ภาพถ่าย มัตยาซ กรีวิก
ติดตามสารคดี หอศิลป์บนทรายและศิลา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/601207