ยุคน้ำแข็งน้อย – ผู้คนหลายพันคนเดินเล่นข้ามไปมาบนแม่น้ำเทมส์ที่ถูกแช่แข็ง ทหารบนหลังม้าเข้ายึดเรือที่ติดอยู่ในน้ำแข็ง ชาวพื้นเมืองเอาชนะชาวอังกฤษที่เข้าไปบุกรุกได้ด้วยรองเท้าเดินหิมะ หญิงสาวจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกนำตัวไปขึ้นศาลเพราะพวกเธอไม่สามารถอธิบายได้ว่าการที่พืชผลล้มตายและสภาพอากาศเย็นสุดขั้วเกิดจากอะไร
ตัวอย่างที่บรรยายมาทั้งหมดนั้นคือ เหตุการณ์บางส่วนที่ทำให้เห็นเราภาพของ “ยุคน้ำแข็งน้อย” หรือช่วงเวลาหลายร้อยปีที่บริเวณซีกโลกเหนือต้องเผชิญกับอุณหภูมิหนาวจัดอย่างต่อเนื่องเมื่อพันปีก่อนได้อย่างชัดเจน แต่สาเหตุที่ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งน้อยคืออะไร ยุคดังกล่าวกินเวลานานแค่ไหน ผู้คนในยุคนั้นปรับตัวเข้ากับอากาศอันหนาวเหน็บได้อย่างไร แล้วเราที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะสามารถเรียนรู้อะไรจากบทความนี้ได้บ้าง
ยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) ไม่ถือว่าเป็นยุคน้ำแข็งที่แท้จริง (Ice Age) เพราะอุณหภูมิต่ำเฉลี่ยในยุคนั้นน่าจะลดลงเพียง 0.5 องศาเซลเซียสและลดลงไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งยุค ดาโกมา ดีกรูต (Dagomar Degroot) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Frigid Golden Age เรียกยุคนี้ว่า “ยุคน้ำแข็งสั้น ๆ” ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ
แม้นักวิจัยบางคนจะแย้งว่ายุคน้ำแข็งน้อยอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ แต่นาซาได้กำหนดไว้ว่า ยุคน้ำแข็งน้อยเริ่มขึ้นเมื่อราว ๆ ปี ค.ศ. 1550 และมีช่วงที่อุณหภูมิต่ำที่สุด 3 ช่วงคือ ราว ๆ ปี 1650, 1770 และ 1850 สลับกับช่วงที่อุณหภูมิอุ่นขึ้นเป็นครั้งคราว
ในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคงศึกษาเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งน้อย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้บางส่วนของโลกเย็นลงเช่นกัน โดยทฤษฎีที่คาดว่าเป็นสาเหตุนั้นมีตั้งแต่ กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ที่ลดลง การปะทุของภูเขาไฟที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งทำให้พื้นที่ทางการเกษตรถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นผืนป่า จนปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงมากถึง 7,000 ล้านตัน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2022 ยังรายงานว่า สาเหตุเริ่มแรกของยุคน้ำแข็งน้อยอาจเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเช่น การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยงานวิจัยอธิบายว่า กระแสน้ำอุ่นจัดซึ่งไหลจากเขตร้อนไปสู่ซีกโลกเหนือในช่วงท้ายทศวรรษ 1300 จะพัดพาน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดยุคน้ำแข็งน้อยจะยังไม่แน่ชัด แต่ผลกระทบจากยุคที่สภาพภูมิอากาศของโลกหนาวเย็นกลับมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด
จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ยุคน้ำแข็งน้อยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระเจ้าชาร์ลส์ กุสทัฟที่ 10 แห่งสวีเดน (Charles X Gustav) ทรงสามารถเคลื่อนทัพข้ามช่องแคบที่แข็งตัว เพื่อบุกเข้ายึดเกาะฟึน (Funen) ในเดนมาร์กได้ในปี 1658 การที่กองทหารม้าฝรั่งเศสสามารถเข้ายึดกองเรือดัตช์ที่ติดอยู่ในน้ำแข็งได้สำเร็จในปี 1795 เนื่องจากน้ำบริเวณท่าเรือในเนเธอร์แลนด์แข็งตัวจากอากาศที่หนาวจัด จนถูกเรียกว่าเป็น ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทหารบนหลังม้าเข้ายึดเรือที่ติดในน้ำแข็งได้ หรือการที่ “การล่าแม่มด” และกระแสต่อต้านชาวยิวในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นในยุคนั้น เพราะความหวาดกลัวและความวิตกกังวลซึ่งเกิดจากการที่พืชผลล้มตายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากอากาศอันเหน็บหนาว
ยิ่งไปกว่านั้น ยุคน้ำแข็งน้อยยังอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในจีน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแห้งแล้งทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหาร ซึ่งภายหลังนำไปสู่การลุกฮือของกบฏชาวนาขึ้น อุณหภูมิที่ลดฮวบและปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมผืนดินและผืนสมุทรที่เพิ่มขึ้นยังทำให้อาณานิคมนอร์ส (Norse colonies) หายไปจากเกาะในกรีนแลด์ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานว่า เสียงอันไพเราะเป็นเอกลักษณ์ของไวโอลินสตราดิวาเรียส (Stradivarius violins) เกิดจากการที่อันโตนิโอ สตราดิวารี (Antonio Stradivari) เลือกใช้ไม้ที่เติบโตในอากาศเย็นจัดในยุคน้ำแข็งน้อยซึ่งมีความหนาแน่นสูงกว่าปกติเป็นวัสดุหลักในการทำไวโอลิน
นอกเหนือจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว สภาพอากาศในยุคน้ำแข็งน้อยยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คน โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและคนยากจนในเมือง ไบรอัน เฟแกน (Brian Fagan) ได้บรรยายความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นไว้ในหนังสือเรื่อง The Little Ice Age ที่เขาเขียนว่า “ผู้คนที่อาศัยบนภูเขาสูงดำรงชีวิตอยู่ด้วยขนมปังที่ทำจากเปลือกถั่วบดผสมกับแป้งข้าวบาร์เลย์และแป้งข้าวโอ๊ต” เรื่องราวในปี 1648 ที่ถูกบันทึกเอาไว้ยังกล่าวถึงคนยากจนในยุคนั้นว่า “เสียงโหยไห้และหยาดน้ำตา เหล่าคนยากแค้นร่ำร้องว่า พวกเขาหิวจนจะโหยแล้ว”
ในบางช่วงของศตวรรษที่ 16 และต้นศตวรรษที่ 18 ความโหดร้ายของฤดูหนาวนั้นรุนแรงเป็นพิเศษ หลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 1600 จากการศึกษาประวัติศาสตร์ แอเรียล เฮสเซยอน (Ariel Hessayon) จากมหาวิทยาลัยโกลด์สมิทส์ พบว่า ฤดูหนาวในปี 1684 รุนแรงมากจนพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (King Charles II) ทรงริเริ่มให้มีการรวบรวมสิ่งของหรือเงินบริจาคขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความหนาวเหน็บ พระราชกรณียกิจของพระองค์ทำให้อังกฤษสามารถฟันฝ่าฤดูหนาวอันทารุณได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เฮสเซยอนบันทึกไว้ว่า “มีผู้คนเสียชีวิตไปทั่วทั้งแผ่นดิน เช่นเดียวกับสัตว์ นก และปลา การฝังศพถูกยกเลิกชั่วคราวเนื่องจากพื้นแข็งเกินกว่าที่จะขุดได้ ลำต้นของต้นไม้แตกออกจากกัน พืชพรรณก็เฉาตาย”
ไม่ว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายแค่ไหน คนบางกลุ่มก็มีความสามารถที่จะปรับตัวและรับมือกับความยากลำบากที่ต้องเผชิญได้อย่างน่าทึ่ง ในลอนดอน สภาพอากาศอันหนาวเหน็บทำให้แม่น้ำเทมส์กลายเป็นน้ำแข็งอยู่บ่อยครั้ง จนมีการจัดงาน “Frost Fairs” ขึ้นบนแม่น้ำ กิจกรรมที่ผู้คนมักจะทำในงานนี้คือ การเล่นฟุตบอล การเชียร์กีฬากัดหมี (Bear-baiting) และการแข่งขันยิงธนู ท่ามกลางแผงร้านรวงต่าง ๆ ที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ช็อกโกแลตร้อนไปจนถึงพายหลากรส
“อย่างไรก็ดี การที่แม่น้ำเทมส์กลายเป็นน้ำแข็งอาจสร้างปัญหาใหญ่ให้กับคนพายเรือรับจ้างในเมือง ผู้ให้บริการแท็กซี่ตามสายแม่น้ำเป็นหลัก” เฮสเซยอนอธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ เขาอธิบายเสริมต่อว่า “คนพายเรือใช้งาน Frost Fairs ที่จัดขึ้นบ่อย ๆ เป็นช่องทางในการหารายได้เสริม คนเหล่านั้นปรับตัวได้ เพราะพวกเขาสามารถเปิดร้านขายของบนแม่น้ำที่ถูกแช่แข็งได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่”
“ขณะเดียวกัน ชาวโมฮาวี (Mojave) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียในปัจจุบัน รับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นในศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 19 โดยการสร้างวัฒนธรรมการค้าขายโดยตรงแบบไม่ผ่านศูนย์กลาง” ดีกรูตกล่าว นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า “ชาวโมฮาวียังประดิษฐ์บรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงทนทาน เช่น ตะกร้าและภาชนะดินเผาขึ้น เพื่อใช้ขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ไกล ๆ หากมีการขาดแคลนอาหารในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พวกเขาจะสามารถชดเชยอาหารที่ขาดได้ด้วยการค้าขายแลกเปลี่ยนกับผู้คนจากที่อื่น ๆ ครับ”
ดีกรูตอธิบายว่า การรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของชาวโมฮาวีสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวดัตช์ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร เพราะในช่วงที่ยุคน้ำแข็งน้อยส่งผลกระทบต่อโลกรุนแรงที่สุด ชาวดัตช์กำลังเพลิดเพลินไปกับ “ยุคทอง” อันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างการค้าในประเทศให้ยืดหยุ่นและหลากหลาย
“พวกเขาสามารถรับ – ส่งสินค้าจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างธัญพืชหลากชนิดที่รับมาจากท่าเรือหลายแห่งในแถบบอลติก” เขากล่าวเสริม “ฉะนั้น ในช่วงที่สภาพอากาศรุนแรงจนเกิดการขาดแคลนธัญพืชขึ้น ชาวดัตช์จะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นั้น เพราะสามารถนำเข้าสินค้าและธัญพืชต่าง ๆ ได้โดยตรงจากแหล่งผลิตครับ”
ในนิวอิงแลนด์ ชนเผ่าวาบานากิ (Wabanaki) ใช้ประโยชน์จากความเย็นและหิมะของฤดูหนาวโดยใช้รองเท้าเดินหิมะที่เป็นภูมิปัญญาของเผ่าเป็นอุปกรณ์ช่วยในการเข้าโจมตีเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษ จนกระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เจ้าอาณานิคมได้เรียนรู้ทักษะและนำความเชี่ยวชาญของชนพื้นเมืองออกมาใช้ โดยการส่ง “ทหารลุยหิมะ” หลายร้อยคนซึ่งใส่รองเท้าแบบเดียวกับชาววาบานากิออกไปลาดตระเวนตามพื้นที่ล่าสัตว์ของเผ่า
“เรื่องหนึ่งที่น่าแปลกใจสำหรับผมคือ การล่าวาฬในแถบอาร์กติก เพราะธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นแต่กลับเกิดความขัดแย้งน้อยลง เมื่ออากาศเย็นลงจนน้ำแข็งขยายตัว วาฬ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของธุรกิจนี้จะรวมตัวกันแน่นหนาและค้นหาได้ง่ายขึ้น” ดีกรูตกล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า “ผลที่ตามมาคือ สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธซึ่งเคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งระหว่างการล่าวาฬในอาร์กติกลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดครับ”
เขายังกล่าวเสริมอีกว่า “เรื่องนี้อาจให้บทเรียนบางอย่างกับผู้ที่เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เพราะผลที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับสิ่งที่อาร์กติกมักจะถูกกล่าวถึงในแวดวงความมั่นคงอย่างสิ้นเชิงครับ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักจะคิดว่า ในขณะที่อาร์กติกละลาย ภูมิภาคนี้อาจเกิดการแข่งขันและความขัดแย้งสูงขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ยุคน้ำแข็งน้อยจะทิ้งผลกระทบที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์เอาไว้ แต่ดีกรูตกลับชี้ว่า ความหนาวเย็นในยุคนั้นยังไม่ถือว่ารุนแรงเท่ากับภาวะโลกร้อนที่เราประสบในปัจจุบันนี้ ด้านเฮสเซยอนลงความเห็นว่า สิ่งที่ดีกรูตกล่าวถึงทำให้เห็นว่า การเข้าใจยุคน้ำแข็งน้อยและวิธีที่ผู้คนในยุคนั้นใช้ปรับตัวสำคัญมากแค่ไหน “มีแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลากหลายอย่างที่เราสามารถนำมาศึกษาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตได้ครับ ผมหวังว่าการศึกษาวิธีที่คนในยุคก่อนใช้รับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เรามีแนวทางในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันครับ”
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ