900,000 ปีก่อน “ มนุษย์โบราณ ” เกือบสูญพันธุ์ พวกเขา “รอด” จนเป็นเรา อย่างไร

มนุษย์โบราณ เกือบจะสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 900,000 ปีก่อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องอพยพออกนอกแอฟริกา อาจพูดได้ว่าหากตอนนั้นพวกเขาไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จ ก็อาจจะไม่มีพวกเราในวันนี้

ในช่วงก่อนที่ ‘โฮโม เซเปียนส์’ (Homo sapiens) สายพันธุ์ของมนุษย์ปัจจุบันจะวิวัฒนาการขึ้นมา โลกเคยมี มนุษย์โบราณ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาก่อนหน้า ที่เรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า ‘โฮมินิดส์’ (Hominids) ซึ่งสูญพันธุ์ไปในเวลาต่อมา แต่ปัญหาคือนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุได้ว่าพวกเขาหายไปหรืออย่างน้อยก็เกือบจะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไม

การศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 2 ชิ้นได้เสนอช่วงเวลาแห่งการลดจำนวนลงไว้แตกต่างกันคือ 1.15 ล้านปีก่อน และ 900,000 ปีก่อน ตัวเลขที่ต่างกันถึง 200,000 ปีนี้เป็นระยะเวลาที่ห่างกันเกินไปจนทำให้เกิดความสับสนกับนักบรรพชีวินวิทยาอย่างมาก เนื่องจากการระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถใช้สืบหาสิ่งที่เกิดขึ้นตามต่อได้ หากพวกเขาไม่ทราบเวลาที่แน่นอน ข้อมูลทุกอย่างที่ตามมาก็จะคลาดเคลื่อนไปทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้รายงานล่าสุดจึงได้เสนอการพิจารณาตัวเลขใหม่ โดยเปลี่ยนมาใช้ปัจจัยที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมและจากพันธุกรรมแล้วสืบย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ จีโนมของมนุษย์ยุคโบราณแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าที่จะมีโฮโมเซเปียนส์ โฮมินิดส์เหล่านี้ (อาจเป็นโฮโม อิเร็กตัส, Homo erectus หรืออื่น ๆ) เจอกับสภาวะที่ยากลำบาก

โดยบรรพบุรุษของเรามีประชากรลดลงฮวบฮาบอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลทางพันธุกรรมได้ให้ตัวเลขไว้ว่าพวกเขาเหลืออยู่น้อยกว่า 1,300 คนบนโลกเท่านั้น นี่เป็นตัวเลขที่ต่ำมากตามมาตรฐานในปัจจุบัน หากพวกเขามีบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ บรรพบุรุษของเราจะอยู่ในรายชื่อใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่อะไรทำให้พวกเขาเหลือน้อยขนาดนี้?

จิโอวานนี มุทโทนี (Giovanni Muttoni) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิลานและ เดนนิส เคนท์ (Dennis Kent) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จึงพยายามสืบหาเรื่องราวทั้งหมด ขั้นแรก พวกเขาประเมินบันทึกเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ยุคแรก ๆ ทั่วยูเรเชีย ซึ่งพวกว่ากลุ่มชุมชนของมนุษย์โบราณที่น่าเชื่อถือได้นั้นเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 900,000 ปีก่อน

นั่นทำให้ตัวเลข 900,000 ปีมีผู้สนับสนุนเพิ่มเติม ต่อมาทั้งสองคนได้เปรียบเทียบสิ่งที่ค้นพบเข้ากับบันทึกของตะกอนในทะเล ซึ่งมาจากสมมติฐานที่ว่า สภาพอากาศอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลดลงของประชากร

ตะกอนในทะเลเหล่านั้นเป็นหลักฐานชั้นยอดของบันทึกสภาพอากาศ พวกมันเก็บข้อมูลไว้ในรูปของไอโซโทปออกซิเจน โดยอัตราส่วนของออกซิเจนที่ติดอยู่ในชั้นตะกอนจะเป็นตัวบอกว่าสภาพอากาศมีความอบอุ่นขึ้น หรือเย็นลงในขณะที่แร่ธาตุถูกสะสมไว้

“เราแนะนำว่าความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดไอโซโทปใต้ทะเลระยะที่ 22 ทำให้เกิดการแพร่กระจายของ (สภาพอากาศแบบ) สะวันนา และเกิดเขตแห้งแล้งทั่วทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่” มุทโทนี เขียนในรายงาน เหตุการณ์นี้ “ได้ผลักดันให้ประชากรโฮโมยุคแรกในแอฟริกาต้องปรับตัวหรืออพยพเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญพันธุ์”

หรือกล่าวอีกอย่างว่าเมื่อช่วง 900,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราพบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง โดยแอฟริกาและเอเชียเกิดความแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่ ทำให้โฮมินิดส์ขาดแคลนอาหารและน้ำจนเกิดการล้มตายกันเป็นจำนวนมากจนเหลือไม่ถึง 1,300 คนเท่านั้น

แต่โชคยังดีที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ทำให้ระดับมหาสมุทรทั่วโลกลดลงซึ่งเป็นผลมาจากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนครั้งแรก น้ำปริมาณมหาศาลถูกดึงไปเป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก บรรพบุรุษของเราจึงมีเส้นทางให้ออกจากแอฟริกาไปยังส่วนอื่นของโลกได้ง่ายขึ้น (ไม่ได้ไปครั้งเดียวทั้งหมด 1,300 คน)

โดยสรุปแล้วรายงานนี้ได้เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดผลกระทบใหญ่ ๆ สองอย่างตามมานั่นคือ บรรพบุรุษของเราลดจำนวนลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และ พวกเขาถูกผลักดันให้อพยพออกจากแอฟริกาบ้านเกิดของพวกเขา

“การอพยพอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นจากสภาพอากาศที่รุนแรงและวีธีที่หลบหนีออกมาร่วมกันคือสิ่งที่สามารถอธิบาย การอพยพออกนอกทวีปแอฟริกาเมื่อ 0.9 ล้านปีก่อน และมีส่วนทำให้เกิดหลักฐานทางจีโนมสมัยใหม่” รายงานระบุ

ทั้งคู่ยังได้เสริมว่าสัตว์ในแอฟริกาอื่น ๆ อีกหลายชนิดเช่น ช้าง ก็ได้อพยพออกจากทวีปนี้ด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน ยังไงก็ตามทีมงานไม่แน่ใจว่าผู้ที่อพยพออกไปนั้นหายไปไหน พวกเขาอาจเสียชีวิตเร็วกว่าที่คิด หรือถูกแซงด้วยกลุ่มอพยพในช่วงเวลาถัดมา

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเขามีส่วนให้ผู้ที่ยังอยู่ในแอฟริกามีโอกาสรอดมากขึ้นจากทรัพยากรที่มีน้อยลง และมนุษย์โบราณเหล่านั้นก็จะเดินทางออกนอกแอฟริกาอีกครั้งเมื่อ 100,000 ปีก่อนแล้วก้าวขึ้นมาเป็น ‘โฮโม เซเปียนส์’ มนุษย์ปัจจุบัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2318903121
.
https://www.sciencealert.com/study-reveals-how-ancient-humans-escaped-climate-extinction-900000-years-ago
.
https://phys.org/news/2024-03-migration-hominins-africa-driven-major.html
.
https://www.iflscience.com/humanitys-near-extinction-900000-years-ago-preceded-great-migration-73332


อ่านเพิ่มเติม ถ้า วิวัฒนาการมนุษย์ มาจากลิงจริง ทำไมถึงยังมีลิงอยู่รอบ ๆ ตัวเราในทุกวันนี้? – กุญแจสำคัญคือ ‘วิวัฒนาการไม่ใช่เส้นตรง’

วิวัฒนาการมนุษย์
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.