เปิดเผยตำนาน บรรดา ” ซามูไรหญิง ” วีรสตรีนักรบแห่งญี่ปุ่น

ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ญี่ปุ่นตกอยู่ในยุคแห่งสงคราม ซามูไรหญิง ทั้ง 3 คนนี้คือวีรสตรีที่กล้าหาญที่สุดในประเทศ

ซามูไรหญิง – ในช่วง 700 ปีที่ญี่ปุ่นถูกปกครองโดยซามูไร ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญต่อทั้งการก่อร่างสร้างรัฐสงครามและการผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ยุครณรัฐ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 จักรพรรดิญี่ปุ่นกุมอำนาจสูงสุดของแผ่นดินไว้ได้เพียงระยะสั้น ๆ ก่อนจะกลายเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาล เนื่องจากถูกโชกุนหรือผู้นำทางทหารของประเทศเข้าควบคุมและช่วงชิงอำนาจสูงสุดไปจากมือ

ภายใต้การปกครองของโชกุนคนแรกอย่าง มินาโมโตะ โยริโทโมะ (Minamoto Yoritomo) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นผู้ลาดตระเวนตามเมืองและปฏิบัติหน้าที่ทางทหาร นับตั้งแต่การจัดหากำลังทหารไปจนถึงการปกป้องทรัพย์สินส่วนตัวจากการรุกราน นอกจากนั้น การที่ทั้งบุตรสาวและบุตรชายมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสืบทอดมรดกยังถือเป็นเรื่องปกติในยุครัฐบาลโชกุนคามากูระ (Kamakura shogunate) หรือยุคที่ตระกูลมินาโมโตะปกครองญี่ปุ่น

“ยุครัฐบาลโชกุนคามากูระอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่มีหญิงสาวเหล่านั้นอยู่เบื้องหลัง” ไมค์ เวิร์ต (Mike Wert) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก จากมหาวิทยาลัยมาร์เค็ต เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Samurai: A Concise History

แต่กระนั้น ความสำคัญของซามูไรหญิงกลับลดลงหลังสิ้นสุดยุครัฐบาลโชกุนคามากูระ บทบาทของพวกเธอเปลี่ยนจากการสู้รบเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการแต่งงาน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึง 17 ญี่ปุ่นตกอยู่ในยุคเซ็นโกคุ (Sengoku) หรือยุคแห่งสงครามกลางเมือง ภรรยาของซามูไรมีหน้าที่ดูแลและป้องกันที่พักอาศัยเมื่อสามีไม่อยู่ เพราะในสมัยนั้นเกิดการรุกปิดล้อมปราสาทขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้หญิงสาวผู้เป็นภรรยาของซามูไรและผู้ติดตามของเธอจึงได้รับการฝึกฝนให้ใช้มีดสั้นเพื่อป้องกันตัวจากอันตราย และใช้เพื่อสละชีวิตในการปกป้องรักษาเกียรติยศของตนเองเมื่อพ่ายแพ้ให้แก่ศัตรู

โดยส่วนใหญ่แล้ว ลักษณะการฝึกศิลปะการต่อสู้ของซามูไรหญิงจะขึ้นอยู่กับตระกูลของแต่ละคน สำหรับบางตระกูล การฝึกศิลปะการต่อสู้คือการฝึกฝนและเตรียมจิตวิญญาณของหญิงสาวให้พร้อมสำหรับชีวิตแต่งงานและการเป็นแม่ แต่สำหรับบางตระกูล เช่น ตระกูลของซามูไรหญิงแห่งไอสึ จะมุ่งเน้นในการฝึกศิลปะการต่อสู้ทางทหารอย่างจริงจัง

“นักรบหญิงจากแคว้นไอสึผ่านการฝึกทักษะการต่อสู้มาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะการใช้ง้าว” ไดอานา อี. ไรต์ (Diana E. Wright) บรรยายไว้ในงานวิจัยเรื่อง Female Combatants and Japan’s Meiji Restoration: the Case of Aizu “ซามูไรหญิงเหล่านั้นได้รับการศึกษาเกี่ยวกับ ‘ความกลมกลืนแห่งพู่กันและดาบ’ อย่างเท่าเทียมกับซามูไรชาย และยังได้รับการปลูกฝังว่า หน้าที่ของพวกเธอคือการปกป้องอาณาเขต เจ้านาย และครอบครัวของตนเอง” ไรต์อธิบายเพิ่มเติม

เนื้อหาต่อไปนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของ 3 ซามูไรหญิงในตำนานผู้อุทิศตนให้กับพวกพ้องและประเทศชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องราวของ 2 วีรสตรีนักรบในช่วงแรกเริ่มยุคซามูไรที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และ 1 วีรสตรีผู้สู้รบจนถึงจุดสิ้นสุดของยุค

โทโมเอะ โกเซ็น เจ้าของตำนานในหน้าประวัติศาสตร์

โทโมเอะ โกเซ็น (Tomoe Gozen) อาจจะเป็นซามูไรหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น ทว่า ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของเธอกลับมีที่มาไม่แน่ชัด ตามตำนานเชื่อว่า โทโมเอะเป็นซามูไรหญิงผู้มีบทบาทสำคัญต่อชัยชนะเหนือตระกูลไทระ (Taira) ของขุนศึกมินาโมโตะ โยชินากะ (Minamoto Yoshinaka) ในระหว่างสงครามเก็มเปะอิ (Genpei War)

นอกจากนี้ การมีอยู่ของโทโมเอะยังถูกตั้งข้อสงสัยขึ้น เนื่องจากไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเธอปรากฏในบันทึกอาสึมะ คากามิ (Azuma Kagami) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลักของสงครามเก็มเปะอิ ดังที่สตีเวน ที. บราวน์ตั้งข้อสังเกตว่า “ชีวประวัติของโทโมเอะถูกเล่าซ้ำผ่านตำนานจนยากจะแยกได้ว่า จุดใดคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จุดใดคือเรื่องราวที่ถูกประพันธ์ขึ้น”

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเป็นซามูไรของเธอซึ่งปรากฏตรงกันตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นั้นเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ในปี ค.ศ. 1181 โทโมเอะได้เข้าร่วมกองกำลังซามูไรของมินาโมโตะ โยชินากะ ในขณะที่ทั้งคู่มีอายุอยู่ในช่วง 20 ถึง 30 ปีต้น ๆ
ตามเนื้อหาของเก็มเปะอิเซะอิซุกิ (Genpei Seisuiki) ซึ่งเป็นวรรณกรรมฉบับขยายเนื้อหาของตำนานเฮเกะ (Tale of the Heike) โทโมเอะสามารถตัดศีรษะของศัตรูได้ถึง 7 คนในการร่วมรบครั้งแรก และได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ใต้บังคับบัญชาอันดับต้น ๆ ของโยชินากะ จากนั้นเธอยกทัพกำลังพลม้ากว่าพันนายไปเอาชนะกองทัพของตระกูลไทระได้ในยุทธการที่โทนะมิยามะ (Tonamiyam) ในปี 1183

อาชีพซามูไรอันยอดเยี่ยมของเธอจบลงในสมรภูมิอะวาสุ (Awazu) เมื่อปี 1184 จากการพ่ายแพ้ให้กับกองทัพของตระกูลมินาโมโตะอีกสาย ไม่ใช่กองทัพของตระกูลศัตรูคู่แค้นอย่างไทระ หลังจากที่โยชินากะยึดเมืองหลวงและเผาพระราชวังแล้ว โยริโทโมะ ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องก็ได้เคลื่อนกองกำลังเข้าใกล้เมืองโอสึเพื่อต่อต้านเขา

ท่ามกลางอุปสรรคมากมายที่โถมเข้าใส่ โยชินากะสู้กับกองกำลังของโยริโทโมะโดยมีโทโมเอะร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ไปจนจบการต่อสู้ ตามตำนานเฮเกะ เมื่อไพร่พลของโยชินากะถูกสังหารจนเหลือเพียงไม่กี่คน เขาได้สั่งให้โทโมเอะหนีออกไปจากสมรภูมินี้ ทว่าก่อนที่จะถอดชุดเกราะทิ้งและถอนตัวจากการต่อสู้ เธอก็สร้างความสำเร็จในการสู้รบได้อีกครั้ง

ว่ากันว่าเธอได้เผชิญหน้าท้าทายกับซามูไรผู้เก่งกาจอย่างโมโรชิเกะ อนดะ (Moroshige Onda) ผลักเขาให้ตกจากม้า และใช้ง้าวฟันศีรษะของเขาจนขาดในครั้งเดียว

หลังโยริโทโมะได้รับชัยชนะจากการสู้รบในครั้งนั้น เขาได้จัดตั้งรัฐบาลโชกุนรัฐบาลแรกขึ้นในเมืองคามากูระ และสถาปนายุคซามูไรขึ้น มีแหล่งข้อมูลหนึ่งระบุไว้ว่า หลังกองทัพของโยชินากะเป็นนายของโทโมเอะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โทโมเอะผู้มีชีวิตรอดจากศึกในครั้งนั้นมีชีวิตอยู่ไปจนถึงอายุ 90 ปี

ฮันกะคุ โกเซ็น สาวงามผู้อำมหิต

ฮันกะคุ โกเซ็น (Hangaku Gozen) คือซามูไรหญิงผู้ภักดีต่อไทระ ไม่ว่าตระกูลนี้จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามเก็มเปะอิ หรือมีส่วนร่วมในการรัฐประหารมินาโมโตะที่ล้มเหลวลงในปี 1201 ก็ตาม บันทึกอาสึมะ คากามิรายงานไว้ว่า บรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดที่ถูกขัดขวางแผนการรัฐประหารได้หลบหนีไปยังฐานที่มั่นของตระกูลไทระซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือ โดยทราบว่าโชกุนจะส่งกองกำลังตามไปจับกุมพวกเขา ในระหว่างนั้น หลานชายของฮันกะคุได้รวบรวมกองกำลังขึ้นเพื่อป้องกันปราสาทของตระกูลซึ่งตั้งอยู่ที่โทริซากะ (Torisaka) จากภายนอก ในขณะที่ฮันกะคุจัดการวางแผนป้องกันการรุกรานเพื่อป้องกันปราสาทจากภายใน

เธอถูกทิ้งให้รับมือกับการบุกรุกของกองทัพจากโชกุนเพียงคนเดียวหลังกองกำลังของหลานชายถูกปราบปรามลงจนหมดสิ้น ปราสาทโทริซากะเป็นปราสาทไม้ซึ่งมีโครงสร้างค่อนข้างที่จะเรียบง่ายจึงป้องกันกองกำลังรักษาการณ์เล็ก ๆ ที่อยู่ภายในปราสาทจากผู้รุกรานได้ไม่นานนัก

แต่ถึงกระนั้น ฮันกะคุและผู้ติดตามของเธอก็สามารถป้องกันปราสาทเอาไว้ได้ด้วยความกล้าหาญ และชะลอการโจมตีจากกองทัพของโชกุนออกไปได้ถึง 3 เดือน นอกจากนั้น ในบันทึกยังรายงานไว้ว่า ฮันกะคุเป็นผู้ที่มีทักษะในการยิงธนูดีเยี่ยม ในระหว่างที่ปราสาทถูกกองทัพปิดล้อม เธอยิงธนูออกไป 100 ดอก โดยที่ไม่มีดอกใดไม่เข้าเป้า

หลังจากที่เธอได้รับบาดเจ็บจากการถูกลูกธนูยิงเข้าที่ต้นขา แนวป้องกันของปราสาทก็อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถต้านทานผู้รุกรานได้อีกต่อไป ท้ายที่สุดฮันกะคุก็ถูกจับกุมและถูกนำตัวกลับไปเมืองหลวงคามากูระในฐานะนักโทษ “การมาถึงของเธอทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นภายในเมือง หนึ่งในบริวารที่สนิทที่สุดของโชกุนถึงกับอยากจะจูงมือเธอเข้างานวิวาห์ เพราะเชื่อว่าการได้แต่งงานกับนักรบผู้กล้าหาญเช่นนี้จะทำให้เขามีทายาทที่มีความสามารถและคู่ควรครับ” โคชิโร ฮามาดะ (Kochiro Hamada) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวญี่ปุ่นกล่าว

เนื้อหาในบันทึกบรรยายไว้ว่า เมื่อโชกุนได้ยินคำขอของบริวารแล้วก็รู้สึกขำจนกล่าวออกมาว่า “ผู้ใดจะรักหญิงสาวที่หน้าตาสะสวยแต่มีนิสัยอำมหิตเช่นนี้ได้กัน”
แม้ว่าโชกุนจะอนุมัติให้บริวารของตนแต่งงานกับฮันกะคุ แต่กลับไม่ค่อยมีผู้ใดทราบถึงชีวิตหลังจากนั้นของเธอ เชื่อกันว่า ฮันกะคุใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่เมืองคาอิซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาทางตะวันตกของโตเกียว

นากาโนะ ทาเคโกะ หนึ่งในซามูไรหญิงคนสุดท้าย

นากาโนะ ทาเคโกะ (Nakano Takeko) คือหนึ่งในซามูไรหญิงคนสุดท้ายในยุคแห่งซามูไร หลังโชกุนถูกโค่นอำนาจลงโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจักรพรรดิ แคว้นไอสึและเขตการปกครองอื่น ๆ ทางตอนเหนือที่สนับสนุนโชกุนก็ได้ทำการต่อต้านการฟื้นฟูอำนาจของจักรวรรดิอย่างต่อเนื่อง

ในปี 1868 กลุ่มผู้สนับสนุนโชกุนในแคว้นไอสึต้องระดมกองกำลังทหารอาสาขึ้น เพื่อต่อต้านการโจมตีของกองกำลังจักรวรรดิซึ่งมีจำนวนไพร่พลและอาวุธมากกว่าฝ่ายของตน แม้ว่ากองกำลังบางส่วนของไอสึจะใช้อาวุธสมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากตะวันตก ทว่า นักรบส่วนใหญ่ในกองทหารกลับยังใช้อาวุธโบราณล้าสมัย เช่น หอกไปจนถึงปืนคาบชุดและปืนคาบศิลา ในการสู้รบอยู่ ในช่วงแรกของสงคราม กองทหารอาสาสามารถบุกโจมตีกองกำลังจักรวรรดิได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มผู้สนับสนุนโชกุนกลับตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจากการสูญเสียกำลังพลอย่างหนักจนต้านทานกองกำลังของจักรวรรดิได้เพียงไม่นาน ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนโชกุนในแคว้นไอสึก็เป็นฝ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้

ผู้หญิงบางคนในแคว้นเลือกที่จะปลิดชีวิตของตนเพื่อหลีกหนีการถูกศัตรูจับกุม หรือการกลายเป็นภาระของนักรบในฐานที่มั่น โดยมีผู้หญิงจำนวนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่เลือกที่จะลุกขึ้นมาสู้รบ

ทาเคโกะในวัยเพียง 22 ปีเป็นที่รู้จักจากความสามารถในการใช้ง้าวนากินาตะ (Naginata) หรืออาวุธที่มีใบมีดยึดติดกับไม้แท่งยาวซึ่งเธอถูกฝึกให้ใช้ระหว่างการฝึกศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก “ทาเคโกะทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าผู้ฝึกสอนที่โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้แห่งหนึ่งครับ” ฮามาดะอธิบายเสริม

หลังจากที่ทาเคโกะและนักรบหญิงกว่า 24 คนเสียชีวิตลง ผู้คนก็ได้เรียกกลุ่มซามูไรหญิงกลุ่มนี้ว่า โจชิตาอิ (Joshitai) ซึ่งมีความหมายว่า “กองทัพสตรี”
ซามูไรหญิงในกลุ่มโจชิตาอิสวมชุดเกราะและใช้อาวุธโบราณดั้งเดิมของซามูไร ผมของพวกเธอถูกตัดจนสั้นเกรียน และสมาชิกในกลุ่มที่ยังไม่แต่งงานก็ไม่ได้ทาฟันให้เป็นสีดำ เมื่อมองจากระยะไกล กองทัพสตรีซึ่งนำโดยทาเคโกะจึงกลืนไปกับนักรบชายคนอื่น ๆ การปรากฏตัวของโจชิตาอิ ณ สะพานยานากาอิสร้างความสับสนให้กองกำลังของจักรวรรดิ จนบรรดาซามูไรหญิงสามารถรุกเข้าปะทะตัวฝ่ายตรงข้าม และขึ้นเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือกองกำลังของจักรวรรดิสำเร็จในช่วงสั้น ๆ

ทาเคโกะสังหารทหารของฝ่ายตรงข้ามได้ 5 นายก่อนจะได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถูกมาซาโกะ น้องสาววัย 16 ปีของเธอลากออกจากสนามรบ เธอขอร้องให้มาซาโกะตัดศีรษะของเธอทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูนำมันไปใช้เป็นถ้วยรางวัล มาซาโกะที่อ่อนล้าทำตามคำขออันน่าสลดใจของพี่สาวสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากทหารนายอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ หลังการต่อสู้จบลง เธอได้นำศีรษะของทาเคโกะไปฝังอย่างเหมาะสมที่วัดแห่งหนึ่งภายในแคว้น

ยุคสมัยของซามูไรสิ้นสุดลงพร้อมกับเรื่องราวของทาเคโกะ ไม่กี่เดือนต่อมาร่อยรอยสุดท้ายของกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบการปกครองใหม่ได้ถูกกำจัดลงในฮอกไกโด การฟื้นฟูเมจิทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกชนชั้นซามูไร และสำหรับผู้หญิงบางคน การดิ้นรนครั้งใหม่เพื่อค้นหาบทบาทและสถานะของพวกเธอในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้น

เรื่อง ไมเคิล ดี. อาร์. มิวเออร์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม 158 ปี ภาพ ซามูไรญี่ปุ่น ยืนถ่ายรูปหน้าสฟิงซ์ของอียิปต์ บันทึกประวัติศาสตร์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงบนโลก

ซามูไรญี่ปุ่น
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.