มีใครรอดชีวิตจากมหาภัยพิบัติ ปอมเปอี บ้างหรือไม่?

นักวิชาการสมัยใหม่ยังคงสนใจติดตามเส้นทางของผู้รอดชีวิตจาก ปอมเปอี ที่นำไปสู่เมืองต่างๆ รอบๆ แคว้นกัมปาเนีย โดยปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสถือเป็นหนึ่งในการปะทุครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์โลกที่ฝังเมืองปอมเปอีไว้ใต้ซากเมื่อ ค.ศ. 79 รวมถึงคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 15,000 คน ผู้เสียชีวิตถูกฝังทั้งเป็นจากเถ้าหินภูเขาไฟที่หนากว่า 4 ถึง 6 เมตร

ทั้งนี้ แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยังคงโต้แย้งเรื่องวันที่แน่นอนของการปะทุ แต่ตามประวัติศาสตร์ของอิตาลีและยุโรประบุว่าเป็นวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งปอมเปอีถูกจดจำในฐานะเมืองที่ถูกแช่แข็งตามกาลเวลา แต่ไม่ใช่ทุกคนในเมืองที่เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ ในความเป็นจริงนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานว่า ผู้รอดชีวิตได้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาใหม่ในบริเวณปอมเปอี และชุมชนใกล้เคียง

ปอมเปอี เมืองที่ใกล้จะล่มสลาย

เมืองปอมเปอีอาจไม่ได้เป็นศูนย์กลางของยุคโรมันโบราณ แต่ก็ยังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของแคว้นกัมปาเนีย โดยเป็นภูมิภาคที่อยู่ติดกับเมืองและอ่าวเนเปิลส์ ซึ่งประชากรของเมืองปอมเปอีถูกคาดคะเนว่าอยู่ที่ 6,400 ถึง 30,000 คน นอกจากนี้เมืองยังดึงดูดชนชั้นสูงในยุคนั้นให้ซื้อทรัพย์สินในพื้นที่โดยรอบ

แผ่นดินไหวถือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแคว้นกัมปาเนีย ซึ่งในปี ค.ศ. 79 เมืองปอมเปอีเพิ่งผ่านการบูรณะใหม่จากแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อนที่สร้างความเสียหายในระดับที่ทำลายอาคารหลายหลังในเมืองให้พังลง

ดังนั้น เมื่อแผ่นดินสะเทือนด้วยแผ่นดินไหวหลายครั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จึงไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เกิดความตื่นตระหนกแต่อย่างใด

การรอดพ้นจากภัยพิบัติ

มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนหลายคนเคยพูดและเขียนถึงเรื่องการรอดชีวิตจากมหาภัยพิบัติปอมเปอี เช่นเรื่องเล่าของงานเขียนบันทึกของ Pliny ชายหนุ่มวัยประมาณ 18 ปี ที่เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติว่า เขาอยู่กับแม่ที่บ้านพักของลุงในเมืองมิเซนัมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอ่าวจากปอมเปอี และอยู่ห่างจากภูเขาไฟวิสุเวียสไปทางตะวันตกราว 18 ไมล์

เมื่อการปะทุของภูเขาไฟเริ่มขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม เขาจำได้ว่าเห็นเมฆก๊าซและเศษซากพ่นออกมาจากวิสุเวียสกระจายไปทั่วราวกับขนนกโปรยปรายทั่วท้องฟ้า ผู้คนในเมืองปอมเปอีที่อยู่ห่างจากภูเขาไฟ 6 ไมล์ จะได้เห็นเมฆที่แปลกประหลาดและไม่สงบเหมือนเดิม หากพวกเขารู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นถี่ในช่วงนั้น ก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อการปะทุครั้งใหญ่นี้ คนที่หนีออกจากเมืองปอมเปอีทันทีในตอนนี้จึงมีโอกาสรอดชีวิต ทว่าคนส่วนใหญ่ลังเลและไม่ทำการอพยพ

ในช่วงบ่ายหินภูเขาไฟเริ่มตกลงมาใส่ตัวเมืองปอมเปอี ทำลายอาคารและตกใส่ผู้คนที่พยายามหลบหนีในนาทีสุดท้าย เถ้า ก๊าซพิษ และเศษซากต่างๆ ก่อนที่หินลาวาจะฝังเมืองปอมเปอีในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น

Pliny และแม่ของเขาอยู่ในกลุ่มคนที่วิ่งหนีออกจากพื้นที่ เขาจำได้ว่าเมื่อความมืดและขี้เถ้าปกคลุมตัวแม้พวกเขาจะรอดชีวิต ก่อนที่ความโกลาหลจะครอบงำทั่วบริเวณ “คุณจะได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้หญิง เสียงกรีดร้องของเด็กๆ และเสียงตะโกนของผู้ชาย เรียกหาลูกๆ คนอื่นๆ เรียกพ่อแม่ คนอื่นๆ เรียกสามี พยายามจะจดจำกันด้วยเสียงที่ตอบกลับมา”

หลังจากที่ภูเขาไฟสงบลง Pliny และแม่ของเขาก็กลับไปที่เมืองมิเซนัม พวกเขาโชคดีที่รอดชีวิตจากมหาภัยพิบัติปอมเปอี ต่อมาบันทึกข้อสังเกตของ Pliny ที่เล่าเรื่องราวขณะที่ภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุทั่วอ่าวเนเปิลส์ถูกส่งต่อเป็นบทบันทึกสำคัญของประวัติศาสตร์ยุโรป จนมีการนำมาวาดเป็นภาพวาดโดยศิลปินชาวสวิส Angelica Kauffman ซึ่งสมุดบันทึกเล่มนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองปอมเปอีอย่างลึกซึ้ง

ตามรอยผู้รอดชีวิต

แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าคนในเมืองปอมเปอีเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่อาจมีคนรอดชีวิตอีกหลายพันคน ว่าแต่พวกเขาหายไปไหน? จุดหมายปลายทางของผู้รอดชีวิตจากเมืองปอมเปอี คือ เมืองต่างๆ รอบๆ แคว้นกัมปาเนีย เช่น เมืองมิเซนัม ไปจนถึง นครเนเปิลส์

สำหรับหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ชาวปอมเปอี ผู้รอดชีวิตคือแท่นบูชาโบราณในโรมันยุคโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารที่เสียชีวิต รวมถึงนายทหารคนหนึ่งที่มีชื่อเป็นผู้สูญหาย และระบุว่าเขาอาศัยอยู่ในเมืองปอมเปอีและเนเปิลส์ โดยบอกเป็นนัยว่าเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองเนเปิลส์หลังเกิดภัยพิบัติ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Steven L. Tuck นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิกพบว่า มีอย่างน้อยห้าครอบครัวจากเมืองปอมเปอีได้ย้ายมาอยู่ที่เนเปิลส์หลังจากภัยพิบัติ เขาติดตามการอพยพของผู้รอดชีวิตโดยใช้นามสกุลของพวกเขา ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของปอมเปอี เขาพบชื่อเหล่านี้บนจารึกหลุมศพตามสถานที่ต่างๆ รอบๆ แคว้นกัมปาเนียหลังคริสตศักราช 79 และมีชุมชนอื่นๆ ที่เป็นบ้านของผู้รอดชีวิตจากปอมเปอี ได้แก่ คูมาเอ กับ ปูเตโอลี

Steven L. Tuck ยังพบหลักฐานว่าครอบครัวที่ไม่เกี่ยวข้องกันจากเมืองปอมเปอีแต่งงานกันหลังจากการภัยพิบัติครั้งใหญ่ ตัวอย่างเช่นครอบครัวตระกูล Licinii และ Lucretii ซึ่งดูเหมือนจะแต่งงานกันในกลุ่มผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรม โดยเรื่องนี้บอกเป็นนัยว่า พวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาชาวปอมเปอีที่พยายามสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่หลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิต

การฟื้นฟูเมืองปอมเปอี

ดูเหมือนว่ารัฐบาลโรมันจะเข้ามาช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเมืองปอมเปอีหลังภัยพิบัติ ไททัส จักรพรรดิตั้งแต่คริสตศักราช 79 ถึง 81 ทรงเริ่มปฏิบัติการหลังจากข่าวการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสไปถึงกรุงโรม ตามคำกล่าวของนักเขียนประวัติศาสตร์ในสมัยโบราณ ซูโทเนียส ติตัส ระบุว่า

“ไม่เพียงความกังวลของจักรพรรดิเท่านั้น แต่ ไททัส ยังทรงแสดงความรักอันลึกซึ้งขอความเป็นบิดาด้วย ไม่ว่าจะโดยการส่งข้อความแสดงความเสียใจ และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่สามารถทำได้”

ไททัส ได้สนับสนุนโครงการก่อสร้างเพื่อรองรับการหลั่งไหลของผู้รอดชีวิตจากเมืองปอมเปอีทั่วแคว้นกัมปาเนีย อาทิ การก่อสร้างวิหารที่อุทิศให้กับเทพเจ้าที่หลายคนในเมืองปอมเปอีบูชา เช่น เทพวัลแคนและเทพีไอซิส

อนึ่ง แม้ว่าเปลวไฟแห่งภูเขาไฟวิสุเวียสอาจทำให้ชีวิตจำนวนมากในเมืองปอมเปอีต้องจบลง แต่เหล่าผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนั้นก็ค้นพบวิธีที่จะสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาเช่นกัน

ภาพจาก DAVID HISER, NAT GEO IMAGE COLLECTION

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ข้อมูลอ้างอิง National Geographic 

อ่านเพิ่มเติม : ควรขุดค้น ปอมเปอี นครแห่งความตายจากภูเขาไฟต่อไหม หรือปล่อยไว้จะดีกว่า?

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.