เผยอาณาจักร ” มายาโบราณ ” ที่ซ่อนในป่าหลายร้อยปี ด้วยเทคฯ สุดล้ำ!

โลกที่ชาว มายาโบราณ สร้างขึ้นซุกซ่อนอยู่กลางผืนป่ามาหลายร้อยปี ตอนนี้เทคโนโลยีปฏิวัติวงการกำลังเผยความยิ่งใหญ่ และความซับซ้อนอันน่าตื่นตะลึง

สองนักโบราณคดี ซึ่งเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกทั้งคู่ ใช้เวลารวมกันหลายสิบปีทำงานในผืนป่าของ อเมริกากลาง ความร้อนและความชื้นสาหัสสากรรจ์ รวมถึงการเผชิญสัตว์ป่าอันตรายและโจรติดอาวุธ คือส่วนที่แยกไม่ออกจากการค้นพบขุมทรัพย์ของโลก มายาโบราณ อารยธรรมที่รุ่งเรืองอยู่หลายพันปีก่อนจะอันตรธานไปอย่างเป็นปริศนา ใต้ผืนป่าอันรกชัฎ

ด้วยเหตุนี้ จึงดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้งที่การค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดของพวกเขาจะเกิดขึ้นตอนนั่งล้อมวงหน้าคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานติดแอร์ในนิวออร์ลีนส์ ขณะที่เพื่อนร่วมงานของเขา ฟรันซิสโก เอสตราดา-เบลลี มองอยู่ มาร์เชลโล กานูโต จากมหาวิทยาลัยทูเลน เปิดภาพถ่ายทางอากาศของป่าผืนหนึ่งทางเหนือของกัวเตมาลา ตอนแรกหน้าจอไม่แสดงภาพอะไรนอกจากยอดไม้ แต่ภาพนี้ถ่ายด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (LIDAR ย่อมาจาก Light Detection And Ranging) โดยอุปกรณ์ไลดาร์ที่ติดตั้งบนเครื่องบินจะยิงเลเซอร์ลงมานับพันๆ ล้านครั้ง จากนั้นจึงวัดส่วนที่สะท้อนกลับมา เลเซอร์พัลส์เพียงน้อยนิดที่ทะลุทะลวงหมู่ไม้ลงไปให้ข้อมูลมากพอจะประกอบรวมเป็นภาพของพื้นป่าเบื้องล่างได้

ด้วยการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้ง กานูโตก็ลอกพืชพรรณออกด้วยวิธีดิจิทัลเพื่อเผยให้เห็นภาพสามมิติของพื้นดิน ภูมิภาคห่างไกลจากศูนย์กลางประชากรใดๆ ที่พวกเขามองอยู่นั้นเคยเชื่อกันว่าไม่มีผู้อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ต่อให้เป็นช่วงที่อารยธรรมมายาเจริญถึงขีดสูงสุดเมื่อกว่า 1,100 ปีก่อนก็ตาม

ภาพถ่ายทางอากาศแทบไม่สื่อถึงขนาดที่แท้จริงของซีบันเชในคาบสมุทรยูกาตานของเม็กซิโก ไลดาร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลเซอร์ที่ลบเรือนยอดไม้ออกด้วยเทคนิคดิจิทัล แสดงภาพเมืองมายาแห่งนี้ที่แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ถึง 20 ตารางกิโลเมตร
กระถางที่ใช้เผายางไม้ในพิธีกรรมต่างๆ ทำเป็นภาพเทพเจ้าแห่งยมโลกของชาวมายา พบที่โฮลมุล เมืองโบราณมายา ในกัวเตมาลา

แต่ทันใดนั้น สิ่งที่เคยดูเหมือนเชิงเขาทั่วไปกลับเต็มไปด้วยร่องรอยทั้งที่เกิดจากอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น พื้นที่เพาะปลูกแบบขั้นบันได และคลองชลประทาน สิ่งที่เคยปรากฏเป็นภูเขาลูกเล็กๆ ที่จริงคือพีระมิดขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นอาคารประกอบพิธีกรรม ชุมชนหลายแห่งที่นักโบราณคดีหลายรุ่นสันนิษฐานว่าเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคกลับเป็น แค่ย่านชานเมืองของมหานครยุคก่อนโคลัมบัสที่ใหญ่โตกว่ากันมากและไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่ เชื่อมถึงกันด้วยทางหลวง เรียบยกระดับ

ทอมัส แกร์ริสัน หุ้นส่วนโครงการผู้เห็นข้อมูลนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า “ผมคิดว่าเรากำลังรู้สึก แบบเดียวกันกับตอนที่นักบินอวกาศมองผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลครั้งแรก และได้เห็นว่า ห้วงอวกาศว่างเปล่าทั้งหมดเหล่านั้นจู่ๆ ก็เต็มไปด้วยดวงดาวและดาราจักรครับ นี่คือผืนป่ากว้างใหญ่ที่ทุกคนคิดว่าเกือบจะว่างเปล่า แต่แล้ว พอลอกต้นไม้ออกไป ก็เห็นร่องรอยของมนุษย์อยู่ทุกหนแห่ง”

การใช้ไลดาร์กำลังปฏิวัติงานโบราณคดีมายา ไม่เพียงนำนักวิจัยไปสู่ตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นไปได้ แต่ยังเอื้อให้พวกเขาเห็นภาพใหญ่ของภูมิทัศน์โบราณ การสำรวจด้วยไลดาร์หลายสิบครั้ง รวมถึงโครงการสำคัญเมื่อปี 2018 ที่เปิดตัวใน นิวออร์ลีนส์โดยได้ทุนจากมูลนิธิเพื่อวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของกัวเตมาลา หรือปากูนัม (Pacunam) พลิกภาพจำ ที่ยึดถือกันมายาวนานของอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในภูมิภาคที่น่าอยู่น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปแล้ว

สมาชิกทีมขุดสำรวจ คลารา อะเล็กซานเดอร์ ตรวจสอบหลุมศพใกล้โฮลมุลที่ถูกโจรขุดสมบัติพังเข้าไป ขณะที่ไลดาร์เปิดเผยให้เห็นวิหาร หลุมฝังศพ และสิ่งปลูกสร้างยุคมายาอื่นๆ ที่ไม่รู้จักก่อนหน้านี้หลายพันแห่ง เช่นเดียวกับที่พบหลักฐานการลักลอบขุดค้นอย่างกว้างขวางด้วย

“แทบไม่มีทางพูดเกินความจริงถึงขอบเขตที่ไลดาร์สร้างความตื่นตัวให้วงการโบราณคดีมายาได้เลยครับ” นักโบราณคดีชาวกัวเตมาลา เอ็ดวิน โรมัน-รามิเรซ บอกและเสริมว่า “เราจะต้องออกไปขุดค้นเพื่อทำความเข้าใจผู้สร้างอาคารเหล่านี้เสมอครับ แต่เทคโนโลยีนี้กำลังเผยให้เราเห็นชัดลงไปว่า ต้องขุดที่ไหนและอย่างไร”

ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญที่เราค้นพบจากเทคโนโลยีนี้ คือการพลิกแนวคิดที่ว่าพื้นที่ต่ำในดินแดนมายาเป็น ภูมิทัศน์ที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง และมีนครรัฐปกครองตัวเองกระจายอยู่ไม่กี่แห่ง การสำรวจด้วยไลดาร์แต่ละครั้ง ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า มายาคืออารยธรรมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในขอบเขตและความซับซ้อนน่าตื่นตะลึง เป็นมหานครที่ประชากรหลายล้านเป็นเกษตรกร นักรบ และนักสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พิเศษเกินกว่าที่ใคร เคยนึกภาพไว้

สำหรับกัวเตมาลา ซึ่งยากจนทางเศรษฐกิจ แต่มั่งคั่งทางวัฒนธรรมและขุมทรัพย์เชิงนิเวศ การค้นพบเหล่านี้นำมา ซึ่งความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้น แหล่งโบราณคดีใหม่ๆ หลายแห่งอาจกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เอื้อให้ประเทศกรุยทางทางที่ยั่งยืนออกจากความยากจนได้ แต่สำหรับเอสตราดา-เบลลี และโรมัน-รามิเรซ ตลอดจนนักโบราณคดีและนักอนุรักษ์ชาวกัวเตมาลาอื่นๆ ภาพจากเทคโนโลยีล้ำยุคนี้ยังตีแผ่การพัฒนาที่น่ากังวลมากกว่าด้วย นั่นคือร่องรอยที่เห็นได้ชัดของโจรปล้นสมบัติ คนตัดไม้เถื่อน พวกกว้านซื้อจับจองที่ดิน และพวกลักลอบขนยาเสพติดที่ยึดครองป่าฝนใหญ่อันดับสองที่เหลืออยู่ในทวีปอเมริกา ชาวกัวเตมาลาจำนวนไม่น้อยกลัวว่า พวกเขาอาจแพ้เดิมพันในการเร่งปกป้องภูมิทัศน์และขุมทรัพย์ความเสี่ยงสูงต่างๆ เหล่านั้น

ขุมสมบัติมายาจากหลุมศพที่รอดพ้นเงื้อมมือโจรมาได้สองแห่งมีข้าวของอาทิ ชามระบายสี หน้ากากโมเสกทำจากหยก หัวลูกศรออบซีเดียนที่นำมาทำใหม่ให้เป็นของประกอบพิธีกรรม

มรดกวัฒนธรรมสำคัญที่สุดส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเขตสงวนชีวมณฑลมายา (Maya Biosphere Reserve) ซึ่งผนวกรวมทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่สัมปทานป่าไม้ที่อนุญาตให้ชาวบ้านตัดไม้และเก็บผลิตผลจากป่าอื่นๆได้ เขตสงวนชีวมณฑลซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ราวหนึ่งในห้าของกัวเตมาลาเป็นที่อยู่ของเสือจากัวร์และนกมาคอว์แดง รวมถึงนก ผีเสื้อ สัตว์เลี้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด

ป่าดิบชื้นในอเมริกากลางแทบไม่เคยเผยความลับที่ฝังอยู่ออกมาง่ายๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า นักเขียน ชาวอเมริกัน จอห์น ลอยด์ สตีเวนส์ กับเฟรเดอริก แคเทอร์วูด เพื่อนศิลปินชาวอังกฤษ ออกสำรวจเมืองมายาที่ถูกทิ้งร้างบางส่วนในคาบสมุทรยูกาตานของเม็กซิโก คำบรรยายและภาพวาดพีระมิดและพระราชวังในดงไม้รกเรื้อของทั้งคู่ ดึงดูดนักวิจัยอื่นๆ ให้ตามเข้าไป แต่หลังจากขุดสำรวจอยู่หลายสิบปี นักโบราณคดีก็เจาะหน้าต่างบานเล็กๆ เข้าสู่โลก ของมายาได้ไม่กี่บานเท่านั้น

เมื่อปี 2009 นักโบราณคดีสองสามีภรรยา ไดแอนและอาร์เลน เชส ซึ่งปัจจุบันทำงานที่มหาวิทยาลัยฮิวสตัน พยายามลองทำสิ่งใหม่ที่การากอล เมืองโบราณในเบลีซที่พวกเขาขุดสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 1985 เครื่องสแกนไลดาร์ที่เดิมใช้ในงานอุตุนิยมวิทยาและติดตามเทห์ฟ้า ได้รับการติดตั้งบนอากาศยานเพื่อช่วยทำแผนที่และสำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้วยสูงใส่ช็อกโกแลต รูปสลักเทพเจ้าข้าวโพดทำจากหยก และกระดูกต้นขามนุษย์ที่จารึกภาพวาดกษัตริย์มายาถูกฝังในหลุมหนึ่ง (ศิลปวัตถุทั้งหมดถ่ายภาพที่ห้องปฏิบัติการโครงการโบราณคดีโฮลมุล, แอนตีกัว, กัวเตมาลา)

“ตอนเริ่มโครงการ เราคิดว่าการากอลเป็นแค่กลุ่มพีระมิดกับวิหารไม่กี่หลังเท่านั้น” อาร์เลน เชส บอกและเสริมว่า “แต่พอใช้ไลดาร์สำรวจพื้นที่รอบนอก เราพบว่าที่จริงแล้วนี่คือเมืองขนาดใหญ่ที่มีการวางผังอย่างละเอียดซับซ้อนครับ”

ข้อค้นพบของทั้งคู่ทำให้นักโบราณคดีคนอื่นๆ ตื่นตัวกับศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ เมื่อปี 2021 การขุดสำรวจที่อิงข้อมูลของปากูนัมให้ผลน่าทึ่งแม้กระทั่งในตีกัล (Tikal) แหล่งโบราณคดีใหญ่ที่สุดของกัวเตมาลา เมืองนี้ใหญ่กว่าที่เคยคิดกันก่อนหน้าอย่างน้อยสี่เท่า และบางส่วนก็ล้อมรอบด้วยคูขนาดใหญ่และกำแพงป้องกันที่ทอดยาว หลายกิโลเมตร สิ่งที่เผยให้เห็นยังมีพีระมิดขนาดใหญ่และกลุ่มสิ่งปลูกสร้างที่เห็นได้ชัดว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนจาก เตโอตีอัวกัน มหาอำนาจโบราณที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกกว่า 1,250 กิโลเมตร

“การพบโบราณสถานสำคัญใหม่ๆ ใจกลางตีกัล ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางครอบคลมที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่มายา ตอกย้ำว่าไลดาร์กำลังเปิดประตูบานใหม่ๆ” โรมัน-รามิเรซ ผู้อำนวยการโครงการโบราณคดีตีกัลใต้ บอกและเสริมว่า “เรากำลังค้นพบหลายสิ่งที่เราไม่มีทางนึกภาพออก แม้กระทั่งตอนที่เราเดินอยู่บนนั้นก็ตาม”

เรื่อง ทอม ไคลน์ส

ภาพถ่าย รูเบน ซัลกาโด เอสกูเดโร

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี เผยโฉมแดนมายา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/603626


อ่านเพิ่มเติม พบหน้ากากหยกสุดวิจิตรในสุสานกษัตริย์ชาวมายาผู้ลึกลับ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.