ทารกเพศหญิงที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 11,500 ปีก่อน ในตอนกลางของรัฐอลาสกา ที่ซึ่งสภาพอากาศรุนแรงอย่างสุดขั้ว มีอายุเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้นก่อนที่จะเสียชีวิตลง แต่ชีวิตสั้นๆ ของเธอได้เผยข้อมูลสำคัญอันน่าอัศจรรย์แก่นักสำรวจ
จีโนมของเธอเป็นข้อมูลทางพันธุกรรมที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับมนุษย์ยุคใหม่ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ข้อมูลทางพันธุกรรมของเธอยังเปิดเผยถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มประชากรที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาปัจจุบัน
ข้อมูลใหม่นี้ช่วยร่างรายละเอียดให้เห็นภาพว่าบรรพบรุษของ ชนพื้นเมืองอเมริกัน กระจายเป็นกลุ่มชนที่หลากหลายได้อย่างไร, เมื่อไหร่ และที่ใด ตลอดจนพวกเขาอพยพไปยังหลากหลายสถานที่ทั่วโลกใหม่ได้อย่างไร
ดีเอ็นเอของเด็กทารกคนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากรที่แยกสายออกมาเมื่อสิ้นสุดยุคไพลสโตซีน Ben Potter นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Alaska Fairbanks ผู้ค้นพบซากดังกล่าวในพื้นที่โบราณคดี Upward River Sun บริเวณแม่น้ำแทนะนอในปี 2013 ตั้งชื่อกลุ่มประชากรกลุ่มใหม่นี้ว่า “Ancient Beringians” (Beringia คือดินแดนที่เปรียบได้กับสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ ก่อนที่จะจมหายไปพร้อมกับการสิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อ 12,000 ปีก่อน)
โครงกระดูกของเด็กทารกเพศหญิงผู้นี้ถูกตั้งชื่อว่า Xach’itee’aanenh T’eede Gaay หรือเด็กหญิงแห่งดวงอาทิตย์ขึ้น ตามภาษา Athabascan ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น การค้นพบเริ่มต้นขึ้นในปี 2006 พื้นที่นี้สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น แคมป์โบราณถูกฝังอยู่ใต้ทรายและตะกอนลึกกว่าหนึ่งฟุต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดส่งผลให้สารประกอบอินทรีย์หลงเหลืออยู่น้อยมาก Potter ได้ขุดเอาซากศพที่ถูกเผาไปแล้วของเด็กวัยสามขวบขึ้นมาจากหลุมฝังศพในแคมป์ นั่นทำให้เขาได้พบกับโครงกระดูกของเด็กทารกเพศหญิงวัยเพียง 6 สัปดาห์ถูกฝังอยู่ รวมไปถึงโครงกระดูกของเด็กทารกคนที่สองที่น่าจะมีอายุน้อยกว่า
ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมจากเดนมาร์ก ในจำนวนนี้รวมถึง Eske Willerslev นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน พวกเขาเปรียบเทียบลำดับจีโนมของเด็กๆ ที่ถูกค้นพบกับจีโนมของประชากรจากยุคโบราณจำนวน 167 ตัวอย่างจากทั่วโลก ผลการวิจัยถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature
“เราไม่ทราบเลยว่าประชากรกลุ่มนี้เคยดำรงชีวิตอยู่” Potter กล่าว “ณ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าพวกเขาอาศัยอยู่ยังบริเวณนี้มานานหลายพันปี และเป็นการอยู่อาศัยที่ประสบความสำเร็จดีด้วย พวกเขาทำได้อย่างไร? อะไรคือจุดเปลี่ยน? ขณะนี้เรามีตัวอย่างจากพันธุกรรมของผู้คนสองกลุ่มที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศรุนแรงได้”
ผลการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มประชากรกลุ่มนี้กับบรรพบรุษชนพื้นเมืองอเมริกันที่เดินทางมาจากภูมิภาคทางตะวันออกของเอเชียเมื่อราว 36,000 – 25,000 ปีก่อน โดยใช้ดินแดน Beringia เป็นสะพานเชื่อม นั่นหมายความว่าทั้งในเอเชียตะวันออกหรือในดินแดน Beringia เอง กลุ่มประชากรกลุ่มนี้แยกตัวออกมาอย่างโดดเดี่ยวออกจากผู้คนที่อพยพมาจากเอเชียตะวันออกเมื่อราว 10,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่พวกเขาจะสร้างสายพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
จีโนมของเด็กทารกเพศหญิงยังแสดงให้เห็นว่าพันธุกรรมของชาว Beringians แยกสายวิวัฒนาการจีโนมให้แตกต่างอย่างชัดเจนกับชนพื้นเมืองอเมริกันอื่นๆ เมื่อราว 20,000 ปีก่อน แต่เนื่องจากเรื่องราวของมนุษย์ในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อราว 14,600 ปีก่อนยังไม่มีหลักฐานยืนยัน ดังนั้นการที่สองกลุ่มประชากรจะแยกสายออกไปจนพัฒนาจีโนมขึ้นมาเฉพาะตัว ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน
ผลการศึกษาใหม่ชี้ถึงความเป็นไปได้สองประการว่าการแยกสายของพวกเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความเป็นไปได้แรก ทั้งสองกลุ่มประชากรน่าจะแยกตัวออกจากกันตั้งแต่ตอนที่ยังอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จากนั้นทั้งสองกลุ่มก็ข้ามดินแดนที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองทวีป โดยอาจจะคนละช่วงเวลาหรือใช้คนละเส้นทาง
ความเป็นไปได้ที่สอง กลุ่มประชากรหนึ่งอพยพออกจากทวีปเอเชีย จากนั้นเกิดการแยกสายออกเป็นกลุ่ม Beringians และบรรพบรุษของชนพื้นเมืองอเมริกัน ในดินแดน Beringia ในขณะที่กลุ่ม Beringians ยังคงปักหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ของอลาสกาต่อไป ส่วนบรรพบรุษของชนพื้นเมืองอเมริกันเลือกที่จะอพยพลงใต้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 15,700 ปีก่อน
“มันไม่เหมือนกับการแตกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้นะครับ เหมือนการแยกจากกันของแม่น้ำมากกว่า” Miguel Vilar นักวิทยาศาสตร์จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว “เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เราคิดว่าประชากรในทวีปอเมริกาดูเหมือนว่าจะเป็นตัวอย่างที่เรียบง่าย แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าพวกเขามีความซับซ้อนมากกว่านั้น”
John Hoffecker ผู้ศึกษานิเวศวิทยาบรรพกาลของดินแดน Beringia จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ กล่าวว่า ยังคงมีประเด็นให้ถกเถียงอีกมากเกี่ยวกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่บรรพบรุษของเราแยกตัวออกจากกัน แต่ผลการศึกษาใหม่ช่วยเติมเต็มในหลายประเด็นที่เราคิดกันตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
“เราคิดว่าในกลุ่มประชากรชนพื้นเมืองอเมริกันนั้นมีความหลากหลายค่อนข้างมาก มากกว่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ มากมาย” Hoffecker กล่าว
“การได้รับทราบเรื่องราวของกลุ่มประชากร Beringians ช่วยให้ข้อมูลเราว่ากระบวนการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์นั้นซับซ้อนและบรรพบรุษของเรามีความสามารถในการปรับตัวมากแค่ไหน” Potter กล่าวเสริม “ทั้งยังกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามที่ดีกว่าเดิม ตลอดจนหวาดหวั่นต่อความสามารถของสายพันธุ์เราเองที่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ต่อไปได้อย่างประสบความสำเร็จแม้จะอาศัยอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงสุดขั้วก็ตาม”
เรื่อง Michelle Z. Donahue
อ่านเพิ่มเติม