มาร์ชา พี. จอห์นสัน บุคคลสำคัญในเหตุจลาจลสโตนวอลล์ที่นำมาสู่การเกิด Pride Month

มาร์ชา พี. จอห์นสัน หรือ มัลคอล์ม ไมเคิลส์ จูเนียร์ แดรกควีนผิวสีชาวอเมริกัน และ LGBTQ+ ในตำนาน หนึ่งในนักเคลื่อนไหวผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเดือน Pride Month

ประวัติ มาร์ชา พี. จอห์นสัน

มาร์ชา พี. จอห์นสัน(Marsha P. Johnson) เกิดวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เธอเกิดที่เมืองเอลิซาเบธ รัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวของ ชาวอเมริกันผิวสี มาร์ชา วัยเด็กเธอมีชื่อว่า มัลคอล์ม ไมเคิลส์ จูเนียร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมาร์ชา พี. จอห์นสัน เมื่อเริ่มต้นย้ายมาตามหาความฝันในนครนิวยอร์ก ซึ่งตัวอักษรย่อ P. ในชื่อของเธอ มาจากวลีที่มีอิทธิพลในกลุ่ม LGBTQ+ ที่ว่า Pay it no mind ที่ใช้เพื่อพูดเวลาที่ถูกผู้คนวิจารณ์แย่ ๆ เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก

มาร์ชา พี. จอห์นสันประกอบอาชีพนักแสดงโชว์ในสถานบันเทิง ขณะเดียวกันเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรสตาร์ (Street Transvestite ActionRevolutionaries-STAR) ร่วมกับซิลเวีย ริเวร่า (SylviaRivera) โดยเป็นองค์กรแรกของโลกที่ตั้งโดยหญิงข้ามเพศผิวดำเพื่อให้ช่วยเหลือชาว LGBTQ+ ทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทว่า สิ่งที่ มาร์ชา พี. จอห์นสันทำอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอถูกดูถูกเหยียดหยามมาตลอดชีวิต เพราะนอกจากกจะเป็นสตรีข้ามเพศแล้ว เธอยังเป็นคนผิวสี ซึ่งในยุคนั้นคนสองกลุ่มนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม มีกฏหมายหลายอย่างที่กีดกัน รวมถึงริดรอนสิทธิ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และ คนผิวสี มาร์ชา พี. จอห์นสันจึงใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม มาร์ชา พี. จอห์นสันก็มีความสุขเล็กๆ กับการได้แต่งตัวสวยๆ ในแบบของเธอ ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ หลากหลายเพศ ณ บาร์เกย์ชื่อดังย่านกรีนิชวิลเลจชื่อ สโตนวอลล์อินน์ ซึ่งเป็นบาร์เกย์แห่งเดียวในเมือง โดยร้านอยู่ได้ด้วยการใช้เงินติดสินบนเจ้าหน้าที่

เหตุจลาจลสโตนวอลล์

เหตุจลาจลสโตนวอลล์ ที่จุดประกายให้เกิดการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1969 ตำรวจจำนวนมากใช้กำลังเข้าจับกุมพนักงานและกลุ่มผู้ใช้บริการในร้านทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากมาย โดยหลายคนถูกจับกุมเพียงเพราะแต่งตัวไม่ตรงตามเพศสภาพ หลายคนถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้า หลายคนถูกทำร้ายร่างกาย

ต่อมามีฝูงชนจำนวนมากที่อยู่รอบๆ บริเวณร้านได้มารวมตัวที่หน้าร้าน พร้อมทั้งตะโกนต่อว่าตำรวจว่า คนในร้านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยลูกค้าในร้านออกมา มาร์ชา พี. จอห์นสันก็อยู่ในบาร์วันนั้น โดยเธอสร้างวีรกรรมความกล้าหาญด้วยการ ปาแก้วช็อตใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมตะโกนว่า ฉันก็มีสิทธิมนุษยชนของฉัน จากนั้นประชาชนด้านนอกก็เริ่มลุกฮือ ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตอบโต้ และต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กลุ่ม LGBTQ+

หลายชั่วโมงต่อมา เหตุการณ์ยังไม่สงบ ลูกค้ากว่า 600 คน รวมถึงนักข่าวถูกตำรวจขังอยู่ในร้าน ประชาชนด้านนอกที่มารวมตัวกันนับพันคนจึงตัดสินใจช่วยกันทำลายประตูจนเกิดเพลิงไหม้ หน่วยดับเพลิงจึงเข้ามาดับไฟ และสถานการณ์ได้คลี่คลายลง

กำเนิด Pride Month

เหตุการณ์สโตนวอลล์ สร้างผลกระทบที่ใหญ่มากต่อสังคมอเมริกัน ข่าวเหตุจลาจลที่เกิดในวันที่ 27 ทำให้วันที่ 28 มิถุนายน มาร์ชา พี. จอห์นสันและกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนกว่า 2 พันคนมาชุมนุมที่สโตนวอลล์อินน์ โดยตำรวจได้ใช้แก๊สนํ้าตาและความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ในคืนต่อๆมา มาร์ชา พี. จอห์นสันกับกลุ่ม LGBTQ+ ก็กลับมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิกันต่อเนื่องถึง 5 วันติดต่อกัน

หลังจากนั้น ข่าวสโตนวอลล์ก็ถูกโหมกระพือไปในสื่อทั่วประเทศสหรัฐฯ คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจถึงประเด็นสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สโตนวอลล์อินน์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการขับเคลื่อนพลังทางสังคม ส่วน มาร์ชา พี. จอห์นสันก็เดินหน้าเพื่อเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมของชาวหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องหลายปี

นอกจากนี้ เมื่อเหตุการณ์สโตนวอลล์ผ่านไป 1 ปี ได้มีการจัดงานรำลึกขึ้นในเมืองนิวยอร์กต่อเนื่องมาหลายปี จนกระทั่งเป็นที่มาของงาน Pride Month ที่ถูกจัดในทุกๆ เดือนมิถุนายนทั่วโลก เพื่อเฉลิมฉลองให้กับชัยชนะของ LGBTQ+

การเสียชีวิตของมาร์ชา พี. จอห์นสัน

ในปี 1992 มาร์ชา พี. จอห์นสันในวัย 46 ปี ได้เข้าร่วมพาเหรดเกย์ไพรด์ ก่อนที่วันต่อมาจะมีผู้พบศพของจอห์นสันลอยอยู่ในแม่น้ำฮัดสัน บาดแผลขนาดใหญ่บริเวณด้านหลังศีรษะ แต่ตำรวจกลับลงความเห็นว่ามาร์ชาฆ่าตัวตาย ซึ่งเพื่อนๆ ของเธอเชื่อว่า มาร์ชาไม่ได้ฆ่าตัวตาย และตั้งข้อสังเกตว่ารอยแผลขนาดใหญ่ที่หัวของ มาร์ชา อาจเกิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย

การเสียชีวิตที่น่ากังขาของเธอเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพที่ความรุนแรงต่อต้านเกย์กำลังถึงจุดสูงสุดในนิวยอร์กซิตี รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากตำรวจเองด้วย จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย เดือนธันวาคม 2002 การสอบสวนโดยตำรวจจบลงด้วยการยอมแก้สาเหตุการเสียชีวิตของจอห์นสันจาก ฆ่าตัวตาย เป็น ยังไม่ทราบ

จากนั้น อดีตนักการเมืองนิวยอร์ก ทอม ดอน ผลักดันให้มีการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของจอห์นสันใหม่ โดยระบุเหตุผลว่า ปกติแล้ว เวลาบุคคลหนึ่งฆ่าตัวตายก็มักจะทิ้งโน๊ตไว้ แต่เธอไม่ได้ทิ้งโน๊ตไว้เลย จนในเดือนพฤศจิกายน 2012 นักเคลื่อนไหวชื่อ มารายห์ ลอเพซ ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้กรมตำรวจนิวยอร์กพิจารณาการเสียชีวิตของจอห์นสันใหม่ว่าอาจเป็นการถูกฆาตกรรม

การตายของ มาร์ชา พี. จอห์นสันถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ The Death and Life of Marsha P. Johnson (2017) ซึ่งสารคดีสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ มาร์ชา พี. จอห์นสันความยาวเกือบ 2 ชั่วโมงนี้ พยายามนำเสนอว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่รัฐนั้นปรับใช้กับคนในสังคมอย่างต่างระดับ ราคาของความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์การใช้ชีวิต การเป็นตัวเองแม้กระทั่งการตายนั้นต้องจ่ายสูงกว่าคนปกติมากนักของกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ Transgender หรือคนข้ามเพศ

มาร์ชา พี. จอห์นสันคือ ตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อนๆ ของเธอก่อตั้ง องค์กรมาร์ชา พี. จอห์นสัน เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเพศทางเลือกต่อไป ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 แอนดรูวด์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะย่านบรูคลิน จากสวนอีสต์ริเวอร์สเตทปาร์ค ให้เป็นชื่อ สวนมาร์ชา พี. จอห์นสัน เพื่อเป็นเกียรติแด่เธอ

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก wikipedia และ ROBERT K. CHIN, ALAMY

https://www.nationalgeographic.com/history/article/stonewall-uprising-ignited-modern-lgbtq-rights-movement

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Marsha_P._Johnson

https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/marsha-p-johnson


อ่านเพิ่มเติม มิเรียม มาเคบา จาก นักร้องผิวสี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สู่ไวรัลเพลง Makeba ในโซเชียลมีเดีย

มิเรียม มาเคบา
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.