“กอบกู้ประวัติศาสตร์” เมื่อเรื่องเล่าของกลุ่มชนเสี่ยงต่อการสูญหาย ใครกันจะก้าวเข้ามารักษาไว้

สงครามแห่งความทรงจำและการกอบกู้ประวัติศาสตร์ ที่กำลังถูกรวบรวมไว้เป็นหลักฐานจากรุ่นสู่รุ่น

เซด์เดค ซาลีห์ มีเรื่องจะขอให้ช่วย ตอนนั้นเป็นช่วงพลบค่ำ เรายืนอยู่ในสวนผลไม้เล็กๆ ของครอบครัวเขาในย่านชานเมืองสเลมานี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของเคอร์ดิสถานอิรัก

ก่อนหน้านี้ ฉันได้รับอนุญาตให้เข้าพบชีคอาวุโสลึกลับท่านหนึ่งในคืนนั้น เล่าลือกันว่าเขามีเอกสารต้นฉบับภาษาเคิร์ดที่ดีที่สุดชุดหนึ่งในครอบครอง เซด์เดค ชายวัย 65 ปี ท่าทีอ่อนโยน ยิ้มแย้มตลอดเวลา ตอนนี้ดูเคร่งขรึม  “ถามเขาว่า ‘คุณสะสมเอกสารต้นฉบับไว้มากมาย ทำไมไม่มอบให้ซีนบ้าง’”

ซีน (Zheen) ซึ่งแปลว่า “ชีวิต” ในภาษาเคิร์ด เป็นชื่อคลังเอกสารเก่าและจดหมายเหตุที่เซด์เดคกับราฟีก  ผู้เป็นน้องชาย ใช้เวลากว่าสองทศวรรษสร้างขึ้นมา คลังที่ว่านี้รวบรวมหนังสือ ต้นฉบับ หนังสือพิมพ์ จดหมาย สมุดบันทึก และเอกสารอื่นๆ ที่เก่าแก่ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่สิบเก้า บอกเล่าเรื่องราวพลิกผันของชาวเคิร์ด ซึ่งมักถูกพูดถึงในฐานะชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกที่ไร้รัฐ การเก็บรวบรวมศิลปวัตถุเหล่านี้เป็นเสียงเพรียกที่นำพาพี่น้องคู่นี้ไปยังส่วนต่างๆ ของตุรกี อิหร่าน ซีเรีย และอิรัก ที่กอปรกันขึ้นเป็นเคอร์ดิสถาน (Greater Kurdistan) ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ที่ซึ่งประชากร 35 ล้านคน ผู้นับถือศาสนาและขนบธรรมเนียมแตกต่างกัน เรียกขานตนเองว่า ชาวเคิร์ด

เรื่องราวของชาวเคิร์ดหักเหครั้งแล้วครั้งเล่า จากชีวิตบนเทือกเขาที่มองลงมาเห็นดินแดนเมโสโปเตเมีย                     สู่การพิชิตดินแดนครั้งแล้วครั้งเล่าในยุคกลางที่นำโดยซาลาดิน กษัตริย์นักรบผู้เลื่องลือ จนถึงการถูกทรยศหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อเหล่ามหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิเสธการให้สถานะรัฐแก่พวกเขา และการกวาดล้าง  นองเลือดเมื่อปี 1988 โดยซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีในขณะนั้นที่ต้องการกำจัดชาวเคิร์ดให้หมดสิ้นไปจากอิรัก  นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้พวกเขาหวาดระแวงและไม่ไว้ใจใคร แต่ก็จุดประกายให้สองพี่น้องซาลีห์รู้สึกว่ามีภารกิจต้องทำให้ลุล่วง  ชาวเคิร์ดอาจไร้รัฐ แต่หากเซด์เดคกับราฟีกพากเพียรต่อไป เผ่าพงศ์ของพวกเขาจะไม่ไร้ซึ่งเรื่องราวอันรุ่มรวยที่ได้รับการบันทึกไว้

ขณะที่พวกเราเอ้อระเหยในอากาศหนาวยามค่ำ ฉันแปลกใจกับคำขอของเซด์เดค เขากับชีคโมฮัมเหม็ด อาลี คาราดากี รู้จักกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว  เขาอธิบายว่าชีคผู้นี้ไม่เคยยอมให้ใครเห็นของสะสมทั้งหมดของเขา ซึ่งว่ากันว่ามีเอกสารหลายร้อยรายการที่ครอบคลุมช่วงเวลาถึง 400 ปี และเซด์เดคก็หมกมุ่นอยากรู้ว่ากรุนั้นมีอะไรอยู่บ้าง จะเป็นสมุดบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง บทกวีชิ้นเอกที่สูญหายไป หรือจดหมายลับเฉพาะทางการทูตกันแน่

ในแวดวงการเก็บเอกสารเก่า ทุกเบาะแสให้ความหวังยวนใจว่า จะนำไปพบชิ้นส่วนหรือเรื่องราวใหม่ๆ  ของกลุ่มชน และเรื่องราวของชาวเคิร์ดนั้น เซด์เดคบอกว่า ถูกกดขี่มานานหลายชั่วคน  “งานที่เราทำกันอยู่คือสงครามอย่างหนึ่ง เป็นสงครามที่ต่อสู้กันด้วยสันติอย่างยิ่ง” เขาบอกฉัน

“กรุณาถามเขาให้หน่อยนะครับ” เขาย้ำ

เบดรีเย เมกาลลี หัวหน้าแผนกชุดสะสมพิเศษที่หอสมุดแห่งชาติคอซอวอ ประคองหนังสือฉบับแปลเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นชีวประวัติของเจิร์จ กัสตรีโอตี ผู้นำกบฏชาวแอลเบเนียที่ต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่สิบห้าระหว่างสงครามคอซอวอ กองกำลังเซอร์เบียทำลายหนังสือภาษาแอลเบเนียในหอสมุดแห่งนี้ไปเป็นจำนวนมาก
เฟอร์โดนีเจ เกอร์เคซี เก็บรักษาบ้านที่เมืองจาโกวาไว้เป็นบันทึกมีชีวิตถึงสามีและบรรดาลูกชายที่ถูกชาวเซิร์บ จับตัวไประหว่างสงคราม เธอเชิญชวนผู้มาเยือนให้ชมห้องนอนของลูกชายที่ยังรักษาไว้ในสภาพเดิม เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและรักษาความทรงจำของครอบครัวให้คงอยู่ต่อไป

เช่นเดียวกับนักสืบ นักจดหมายเหตุหรือนักเก็บเอกสารเก่าจะรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบกันเป็นภาพเหตุการณ์ที่สมบูรณ์ ลองนึกถึงการพยายามบอกเล่าประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาจากมุมมองของคนอังกฤษเพียงด้านเดียว  หรือลองคิดดูว่าหากสุนทรพจน์เกตตีสเบิร์กของเอบราแฮม ลิงคอล์น งานเขียนของเช เกวารา หรือคำปราศรัยของเนลสัน แมนเดลา หายสาบสูญไป ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องราวยิ่งรุ่มรวยและลุ่มลึกด้วยชิ้นส่วนที่ต่อเติมโดยผู้คนและชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย เช่น เรื่องราวการก่อกำเนิดของชนชาติแรกๆ ในออสเตรเลีย ภาพเขียนของฟรีดา คาห์โล และบทเพลงของอารีทา แฟรงคลิน เป็นต้น

ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีคลังเก็บเอกสารอันเป็นสมบัติของชาติที่ใหญ่โตกว้างขวางและได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นอย่างดี  แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กอย่างกินี-บิสเซาและปาเลา ก็ยังมีหอจดหมายเหตุแห่งชาติขนาดย่อมๆของตนเอง แต่จะทำอย่างไรได้บ้าง ในกรณีกลุ่มชนเช่นชาวเคิร์ดที่ไม่เข้าข่ายเป็นชาติที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ หรือกลุ่มชนในดินแดนที่แตกแยกพังพินท์เพราะความขัดแย้ง ผู้ซึ่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ถูกกีดกันจากเรื่องเล่ากระแสหลัก

เดอร์วิชผู้หนึ่งที่เทกเกชีคเอมินในเมืองจาโกวา นำเอกสารต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งมาเปิดให้ดู เมืองจาโกวาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้ายุคออตโตมัน ดึงดูดผู้นับถือลัทธิรหัสยนิยม (mysticism) และปราชญ์จากทั่วจักรวรรดิ พวกเขานำเอกสารต้นฉบับที่เขียนด้วยภาษาหลากหลายมาแปลเป็นภาษาแอลเบเนีย

ประวัติศาสตร์ของพวกเขามักลงเอยด้วยการถูกโยนลงถุง ใส่กล่อง และซุกทิ้งไว้ตามห้องใต้หลังคา ปู่ย่าของฉันหนีจากโปแลนด์หลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว  ฉันโตมาพร้อมความรู้สึกฉงนกับข้อความหนึ่งในใบขอวีซ่าของพวกท่านซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ เขียนในช่องระบุสัญชาติ “ไม่มี”  หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวที่ยืนยันถึงชีวิตในฐานะชาวยิวในโปแลนด์ และหลายศตวรรษของตระกูลเราในยุโรป คือเอกสารปึกหนึ่งที่พวกเราเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทางเก่าคร่ำคร่า ซึ่งได้แก่ หนังสือเดินทางชั่วคราวของโปแลนด์ บัตรประจำตัวจากค่ายกักกันต่างๆ และภาพถ่ายอีกหยิบมือหนึ่ง

ตลอดหลายปีที่ฉันค้นหาหนทางที่กลุ่มชน “ไร้รัฐ” แสวงหาเพื่อทวงคืนเรื่องราวของพวกเขา  หลังการพลัดถิ่นและการทำลายล้าง ในประเทศเกิดใหม่อย่างเซาท์ซูดาน ฉันติดตามบรรดานักจดหมายเหตุผู้รวบรวมเอกสารเปื่อยยุ่ยจากห้องใต้ดิน  อันเป็นความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ของชาติ  ฉันสอบถามเหล่าผู้พลัดถิ่นตามค่ายผู้ลี้ภัยบนเส้นทางผู้อพยพว่า พวกเขานำอะไรจากบ้านติดตัวมาบ้าง

สำหรับหลายคน ข้าวของเหล่านั้นเป็นหนทางรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตน ในเมื่อพวกเขาอาจไม่มีอะไร                 สักอย่างที่เป็นทางการ  และบางครั้ง พลเรือนสามัญธรรมดา เมื่อตกอยู่ในสภาวะผิดธรรมดา ก็ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้  ฉันพบผู้คนเหล่านี้ในเคอร์ดิสถาน คอซอวอ และโซมาลีแลนด์ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นรัฐชาติ

เรื่องราวที่พวกเขายึดเหนี่ยวไว้ หรือพยายามประกอบขึ้นใหม่นั้น ไม่ใช่ของที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แอนน์ กิลลิแลนด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ผู้ศึกษาบทบาทของคลังเอกสารเก่าและความทรงจำในพื้นที่สงคราม ความขัดแย้งที่ถึงทางตัน และในรัฐชาติที่ไม่ได้รับการรับรอง กล่าว  เรื่องราวเหล่านี้ยังมีชีวิต และมักตกเป็นเป้าในห้วงสงคราม “การกำจัดบันทึกหรือเอกสารให้สิ้นซากเป็นวิธีการหนึ่งในการกำจัดกลุ่มชนนั้นๆ ให้สิ้นซากด้วย” กิลลิแลนด์บอกฉัน

นั่นเท่ากับผลักเหล่าผู้ปกปักรักษาเอกสารเหล่านั้นให้อยู่ในแนวหน้าของสงครามอันเงียบงันทว่าสำคัญยิ่ง             ของการช่วงชิงประวัติศาสตร์และความทรงจำ


อ่านเพิ่มเติม : ภาพถ่ายรำลึก 80 ปี วันดีเดย์ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง ที่โลกไม่ลืม

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.