ซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือหากอ่านออกเสียงเป็นภาษาเยอรมัน ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 ที่ไฟรแบร์คอินเมเริน มอเรเวีย ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ เมืองพริบอร์ ในสาธารณรัฐเช็ก
ฟรอยด์ เกิดในยุคที่จักรวรรดิออสเตรียกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาสายโทรศัพท์ติดต่อสื่อสาร และพัฒนาทางรถไฟไปถึงเมืองไฟร์เบอร์ก ส่งผลให้ครอบครัวของฟรอยด์ ที่ทำการค้าเสื้อผ้าขนสัตว์เกิดชะงักงันลงเพราะอิทธิพลของเครื่องจักร อุตสาหกรรมสิ่งทอทำลายหัตถกรรมและแรงงานคนไป ยิ่งเมื่อมีทางรถไฟตัดเส้นทางการค้าในย่านก็ยิ่งส่งผลหนัก
สำหรับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มีเชื้อสายเป็นชาวยิว พ่อของเขาคือจาคอบ คาลลามอน ซึ่งมีภรรยาสามคน ภรรยาคนแรกและคนที่สองเสียชีวิตลง จนกระทั่งมีภรรยาคนที่สามคือ อมาลี นาธานสัน ซึ่งเธอเป็นมารดาของฟรอยด์ ครอบครัวของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มีฐานะยากจน แต่ทั้งพ่อและแม่ก็ได้พยายามส่งเสียให้ ฟรอยด์ ได้รับการศึกษา ช่วงที่เรียนหนังสือในโรงเรียนตอนเด็กเขาสนใจเรื่องกฎหมาย ก่อนที่จะหันเหมาศึกษาด้านการแพทย์แทนเมื่อโตขึ้น
อุปนิสัยที่โดดเด่นของ ฟรอยด์ คือชอบอ่านหนังสือและมีทักษะด้านภาษา จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นเด็กเรียนเก่ง มีพรสวรรค์มากกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน ส่วนครอบครัวเขา โดยเฉพาะพ่อมีความเคร่งศาสนามาก แต่ ฟรอยด์ นับถือศาสนาคริตส์แต่ตัว เขาไม่เคร่งครัดในพิธีกรรมทางศาสนา และไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ซึ่งแม้จะไม่เคร่งในศาสนา แต่ก็ไม่เคยทิ้งสายเลือดความเป็นชาวยิว
ช่วงปี 1873 ซิกมันด์ ฟรอยด์ เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาในวิชาแพทย์ โดยเขาสนใจในทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน เนื่องจากให้ความหวังอย่างพิเศษในการเข้าใจโลก ประกอบกับฟรอยด์ได้ฟัง “คาร์ล บรูเอล” (Car Bruhl) อ่านเรียงความของ เกอเต้ เกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งเขาซาบซึ้งมาก จึงทำให้ตัดสินใจเรียนแพทย์
ทั้งนี้ แม้การเรียนแพทย์ของฟรอยด์จะมีผลการเรียนที่ดีมากแต่เขากลับไม่ยอมเรียนให้จบในเวลาที่กำหนด เขาต่อเวลาไปอีก 3 ปีในฐานะนักเรียนแพทย์ ทั้งนี้เพราะฟรอยด์ ใช้เวลาไปกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยา และการศึกษาเรื่องความแตกต่างทางเพศของปลาไหลไม่ใช่กรรมพันธุ์ มีเรื่องกล่าวขานกันว่า ฟรอยด์ ต้องผ่าปลาไหลนับร้อยตัวเพื่อหาอวัยวะที่ใช้สำหรับสืบพันธุ์
ผลงานเกี่ยวกับปลาไหลในเรื่อง Male River Eels ได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่นั่นก็ยังไม่ได้เป็นที่พึงพอใจของเขามากนัก ฟรอยด์จึงหันเหความสนใจไปศึกษาเรื่องสรีระศาสตร์แทน ภายใต้สถาบันสรีระศาสตร์มีอิทธิพลต่อความคิดของฟรอยด์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหล่าอาจารย์ในสถาบันแห่งนี้ จนนำเขาไปสู้ความสนใจเรื่องจิตในที่สุด สถาบันแห่งนี้มีการนำความรู้ใหม่เข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นสถาบันชั้นนำด้านสรีระวิทยาในยุคสมัยนั้น ในสถาบันแห่งนี้ฟรอยด์ใช้เวลาอยู่หลายปีในการศึกษาเกี่ยวกับประสาทวิทยา กระทั่งเกิดสงคราม ฟรอยด์ จึงออกไปเป็นทหารของกองทัพออสเตรีย-ฮังการี เป็นเวลา 1 ปีและกลับมาสอบรับปริญญาแพทย์ในปี 1881
หลังเรียนจบ ฟรอยด์ ชพยายามสร้างครอบครัว โดยแต่งงานกับหญิงสาวชื่อ มาร์ธา เบอร์เนย์ส ซึ่งพบรักกันมานานและหมั้นกันในปี 1882 เขาเริ่มเปิดคลินิกส่วนตัวและทำงานในโรงพยาบาลทั่วไปในกรุงเวียนนาควบคู่ไปด้วย
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นแพทย์ที่รับผิดชอบการวิจัยโรคสมองพิการ ภาวะเสียการสื่อความ และจุลประสาทกายวิภาคศาสตร์ เขาเดินหน้าเพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกและกลไกของการกดเก็บ และตั้งสาขาจิตบำบัดด้วยวาจา โดยตั้งจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีการทางคลินิกเพื่อรักษาจิตพยาธิวิทยาผ่านบทสนทนาและระหว่างผู้รับการรักษากับนักจิตวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม แม้จิตวิเคราะห์จะใช้เป็นการปฏิบัติเพื่อการรักษาลดลง แต่ก็ได้บันดาลใจแก่การพัฒนาจิตบำบัดอื่นอีกหลายรูปแบบ ซึ่งบางรูปแบบแตกออกจากแนวคิดและวิธีการดั้งเดิมของฟรอยด์
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ คือเมื่อปี 1885 เขาได้รับทุนจากโรงเรียนแพทย์ไปดูงานที่กรุงปารีส ที่โรงพยาบาลซาลเปตริแอร์ โดยเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงอยู่มาก ภายใต้การนำของชอง มาร์แตง ชาร์โกต์ ผู้เป็นแพทย์ทางด้านประสาทที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ที่นี่ทำให้ฟรอยด์พบมุมมองใหม่ๆ ทางจิตวิทยา โดยเฉพาะพยาธิสภาพทางระบบประสาท ซึ่งเขาสนใจมากและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตการงานจากประสาทวิทยาไปสู่จิตเวชศาสตร์และจิตวิทยา
ฟรอยด์ ได้เรียนรู้การบำบัดโรคฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิตผู้ป่วยจากชาร์โกต์ ต่อมาเขาลดความสนใจงานทางด้านวิชาการลง หันไปทำคลินิกส่วนตัวเพื่อทำให้ฐานครอบครัวดีขึ้น และหันไปรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีแบบใหม่โดยการบำบัดรักษาโดยจิตบำบัด ให้คำแนะนำผู้ป่วยให้รู้จักผ่อนคลาย ให้การรักษาแบบใหม่ด้วยการรักษาด้วยไฟฟ้า การนวดและอาบน้ำคล้ายกับสปาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย แต่วิธีการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาคมแพทย์เวียนนายุคนั้น
หลังจากนั้น ฟรอยด์ กับ บรูเออร์ เพื่อนสนิทผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม ได้ตีพิมพ์สิ่งที่ค้นพบในผลงานชื่อว่า การศึกษาอิสทีเรียและถูกเปรียบว่าเป็นขอบเขตเบื้องต้นของวิชาจิตวิเคราะห์ โดยการตีพิมพ์การศึกษานี้ออกเป็นฉบับสมบูรณ์เมื่อปี 1893 ถูกมองว่าเป็นรายงานเบื้องต้นของจิตวิเคราะห์ ภายหลังฟรอยด์ สร้างผลงานของเขาเองคนเดียวชื่อ สาเหตุของฮิสทีเรีย เมื่อปี 1896 ซึ่งเป็นผลงานแรกที่ปรากฏคำว่า จิตวิเคราะห์
ปี 1899 ฟรอยด์ ได้ค้นพบทฤษฎีและวิธีการแปลความฝันในเชิงจิตวิทยา งานชิ้นนี้เองที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเขาอันตามมาด้วยผลงานอื่นๆ อีกเป็นระลอก ตำรา The Interpretation of Dream ที่เขาจัดพิมพ์เมื่อปี 1900 ถือเป็นองค์ความรู้อันสัมพันธ์กับจิตสำนึกและทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และในปี 1901 – 1905 ฟรอยด์ก็มีผลงานตีพิมพ์ออกมาอีกสามเรื่องซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงเซ็กซ์ในเด็กเล็ก 1-3 ขวบ อันเป็นที่มาของพัฒนาไซโคเซ็กช่วล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของจิตวิเคราะห์
รายละเอียดของ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า บุคลิกภาพของผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันเนื่องมาจากประสบการณ์ของแต่ละคนเมื่อเวลาอยู่ในวัยเด็ก และขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนแก้ปัญหาของความขัดแย้งของแต่ละวัยอย่างไร โดย 5 ปีแรกของชีวิตจะมีความสำคัญมาก
ฟรอยด์ ระบุว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด และได้แบ่งสัญชาตญาณออกเป็น 2 ชนิด คือ สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีพ (Life Instinct) และสัญชาตญาณเพื่อความตาย (Death Instinct) สัญชาตญาณบางอย่างจะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ได้ตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์เรามีพลังงานอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดเรียกพลังงานนี้ว่า Libido เป็นพลังงานที่ทำให้คนเราอยากมีชิตอยู่ อยากสร้างสรรค์และอยากมีความรัก มีแรงขับทางด้านเพศหรือกามารมณ์ เพื่อจุดเป้าหมายคือความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure) โดยมีส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกและได้เรียกส่วนนี้ว่า Erogenous Zones แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ดังนั้น จึงคิดว่าแม่เป็นคนรับผิดชอบเพราะแม่เป็นคนใกล้ชิดที่สุด และโกรธแม่ว่าเป็นคนที่ทำให้ตนไม่มีอวัยวะเพศเหมือนกับเด็กชาย อิจฉาผู้ที่มีอวัยวะเพศชาย แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยอมรับและโกรธแม่มาก ถอนความรักจากแม่มารักพ่อที่มีอวัยวะเพศที่ตนปรารถนาจะมี แต่ก็รู้ว่าแม่และพ่อรักกัน เด็กหญิงจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกป้องกันตน โดยเก็บความรู้สึกความต้องการของตน (Repression) และเปลี่ยนจากการโกรธเกลียดแม่มาเป็นรักแม่ (Reaction Formation) ขณะเดียวกันก็อยากทำตัวให้เหมือนแม่ จึงเลียนแบบ สรุปได้ว่าเด็กหญิงมีความรักพ่อแต่ก็รู้ว่าแย่งพ่อมาจากแม่ไม่ได้จึงเลียนแบบแม่
ฟรอยด์ สรุปว่า หากเด็กโชคดีและผ่านวัยแต่ละวัยโดยไม่มีปัญหาก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพปกติ แต่ถ้าเด็กมีปัญหาในแต่ละขั้นของพัฒนาการก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่ง ฟรอยด์ ได้ตั้งชื่อตามแต่ละวัย เช่น Oral Personalities เป็นผลของ Fixation ในวัยทารกจนถึง 2 ปี ถ้า Fixation เกิดในระยะที่ 2 ของชีวิต คือ อายุราวๆ 2-3 ปี จะทำให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพแบบ Anal Personality ซึ่งอาจจะมีลักษณะต่างๆ คือ
– เป็นคนเจ้าสะอาดมากเกินไป
– อาจจะมีลักษณะตรงข้ามเลย คือ รุงรัง ไม่เป็นระเบียบ
– อาจจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย หรือตระหนี่ก็ได้
อนึ่ง การพูดถึงเซ็กซ์ของเด็กทำให้ ฟรอยด์ ถูกโจมตีจากนักวิชาการ เช่นกรณี คาร์ล ยุง นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงในยุคเดียวกันกับเขา ขอถอนตัวจากสมาคมที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ อยู่ เพราะไม่ชอบงานวิจัยของเขา แต่ก็ไม่มีผลมากนัก เนื่องจากในปี 1902 ซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็มีผู้สนับสนุนมากพอที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เต็มตัว
หนังสือจิตวิทยาความฝัน (Dream Psychology) คือผลงานที่โด่งดังและสร้างชื่อเสียงให้ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากที่สุด ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1920 เนื้อหาเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ความฝัน อธิบายถึงกลไกการทำงาน และสาเหตุที่ทำให้เกิดฝัน ในยุคที่ผู้คนได้เริ่มรู้จักกับคำว่า จิตใต้สำนึก ในยุคที่ยังไม่มีการรับรองว่าจิตใต้สำนึกนั้นมีจริงหรือไม่ เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ดังเช่นยุคปัจจุบันนี้ Dream Psychology จึงถือได้ว่าเป็นตำราขั้นพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์เล่มแรกๆ
ด้านหัวข้อในหนังสือมีทั้ง ความฝันมีความหมาย , กลไกการทำงานของความฝัน , ทำไมความฝัน จึงบิดเบือนความปรารถนาของผู้เขียน , การวิเคราะห์ความฝัน , เซ็กซ์ในความฝัน , ความปรารถนาในความฝัน , การทำงานของความฝัน , กระบวนการปฐมภูมิ และ จิตไร้สำนึก และความรู้ตัว-ความเป็นจริง
ฟรอยด์ หน้าที่ของฝันคือ การรักษาการหลับโดยแสดงภาพความปรารถนาที่สมหวัง ซึ่งหาไม่แล้วจะปลุกผู้ฝัน คนเรามักฝันใน สิ่งที่ตนเองมีความต้องการ แต่ไม่อาจครอบครอง โดยมีสัมพันธ์กับระบบของจิตไร้สำนึกเป็นส่วนของจิตที่ใหญ่ที่สุด และส่งผลโดยตรงกับพฤติกรรม รวมทั้งบุคลิกภาพ เป็นเสมือน กล่อง ที่เก็บความปรารถนาเบื้องลึกที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ประสบการณ์ต่างๆ (ทั้งประทับใจ หรือ สะเทือนใจ) อัดแน่นเอาไว้ภายใน
อาการจิตเหล่านี้จะเผยออกมาในรูปแบบ อารมณ์ชั่ววูบ อาการหวาดกลัวอย่างมีนัยยะ อาการเพ้อ รวมไปถึงกฏในรูปของ ความฝัน อาทิ ฝันว่าตนเองกำลังเดินเล่นอยู่ในสถานที่ใดสักที่ ฟังดูแล้วก็เป็นความฝันธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ ฟรอยด์ ระบุว่า คือความฝันของผู้ที่ต้องการเป็นอิสระจากเรื่องราวบางอย่างภายในจิตใจ
นอกจากนี้ ในปี 1923 ฟรอยด์ เขียนงานที่ประสบความสำเร็จอีกเล่ม The Ego and the ld โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงสร้างจิตใจของบุคคลอันประกอบไปด้วย อีโก้ ซูเปอร์อีโก้ และอิด ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในวงการแพทย์สมัยนั้น นับจากนี้ไปฟรอยด์ก็ใช้ชีวิตกับครอบครัวและการทำงานก็ไม่ได้ราบรื่นดีนักกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตฟรอยด์ก็เปลี่ยนไป
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลูกชายทั้งสามคนของฟรอยด์ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร สองคนถูกส่งไปอยู่แนวหน้าอย่างถาวร ส่วนลูกชายคนโตก็มีรายงานว่าสาบสูญ ต่อมาจึงทราบว่าถูกจับไปเป็นเชลยอยู่ที่โรม อิตาลี ส่วนคลินิกผู้ป่วยก็ล้มตายและจากไปกันหมด ทรัพย์สินเงินทองเริ่มร่อยหรอลง ก่อนที่ต่อมาปี 1915 เขาตีพิมพ์งานวิชาการที่เกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ ชีวิตของ ฟรอยด์ เริ่มกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง ลูกชายทุกคนของเขากลับมาบ้าน ทว่าลูกสาวของเขากลับเสียชีวิตลงด้วยไข้หวัดใหญ่ ทำให้เขาจมอยู่กับความเศร้าไประยะหนึ่ง
และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 พรรคนาซีในเยอรมนีกำลังมีอำนาจในยุโรป แน่นอนว่าสมาคมจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็กำลังถูกเพ่งเล็ง ทั้งในเรื่องของการเป็นคนเชื้อสายยิวกับเนื้อหาที่ล่อแหลม สองปีต่อมาเอกสารเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ของ ฟรอยด์ ถูกทำลาย บางส่วนถูกเผาทิ้งโดยกองทัพนาซี เพื่อนๆ เขาร้องขอให้ออกจากเวียนนาแต่เขาไม่ยอม
เมื่อกองทัพนาซียึดครองออสเตรีย และเข้าถึงกรุงเวียนนา เขาให้ลูกสาวและคนเล็กและภรรยาหนีออกไปก่อน ส่วนตนเองและลูกชายตามไปพบกันที่ลอนดอน หลังจากนั้นครอบครัวฟรอยด์ก็อพยพไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษทั้งหมด
ที่อังกฤษ ฟรอยด์ ได้รับการต้อนรับอย่างดี เขารับแต่งตั้งเป็นสมาชิกราชสมาคมแพทย์แห่งลอนดอน ซัลวาดอร์ ดาลี จิตรกรเอกยังมาวาดภาพเหมือนของฟรอยด์เป็นที่ระลึก
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นอีกบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางเมื่อล่วงลับไปแล้ว โดยในวันที่ 23 กันยายน 1939 ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ฟรอยด์จากไปอย่างสงบ ณ บ้านพักในกรุงลอนดอน 3 วันต่อมาศพจึงถูกเผาตามที่เขาสั่งเสียไว้ ณ สุสานโกลเดอร์ กรีน คเรมะทอเรียม
แม้ว่าแนวคิดของเขาจะถูกส่งต่อมาใช้จนถึงปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตศาสตร์จะไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลเลย ถึงแม้ว่าจะถูกเสนอชื่อมากกว่า 10 ครั้ง แต่เขาดันได้รางวัลในแง่ของงานเขียนด้านวรรณกรรมแทน
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ คือผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยทฤษฎีของเขาเชื่อว่าภายใต้ความคิดและการกระทำที่มีสติของมนุษย์ มีแหล่งสะสมความปรารถนา ความกลัว และความทรงจำเอาไว้มากมาย ซึ่งในบริบทของเทคโนโลยี แนวคิดนี้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกวิชาการแขนงใหม่ให้กับมนุษยชาติ และยังเป็นผู้ริเริ่มและจุดประกายให้ผู้คนสนใจเรื่องของจิตใต้สำนึกอย่างแพร่หลายอีกด้วย
คำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เกี่ยวกับจิตวิทยาในปัจจุบันนี้ อาทิ การเก็บกด จิตไร้สำนึก จิตสำนึก อีโก้ ซุปเปอร์อีโก้ แม้แต่ ลิบิโด ซึ่งใช้แทนคำว่า แรงขับทางเพศ ในภาษาอังกฤษที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ล้วนแต่เป็นคำศัพท์ที่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เป็นผู้บัญญัติขึ้นเป็นคนแรกทั้งสิ้น อีกทั้งชื่อของเขาเองยังถูกนำมาบัญญัติขึ้นเป็นศัพท์ใหม่อีกหลายคำ เช่น Freudian slip หรือการพลั้งปากพูด เป็นต้น ซึ่งทฤษฎีของฟรอยด์จะมีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์อยู่ก็ตามแต่ผลงานของเขาได้รับการตีแผ่ในความคิดเชิงปัญญาและวัฒนธรรมสมัยนิยม
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก Wikipedia
ข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Sigmund_Freud