โลกของเราเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ตั้งแต่ในลุ่มน้ำทาริมของจีนไปจนถึงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย และเกาะครีตของกรีซ โดยอยู่ในรูปของประติมากรรมหุ่นนักรบดินเผา เนินดิน และวิหารศิลา วัฒนธรรมต่างๆในยุคโบราณทิ้งปริศนาและเงื่อนงำน่าทึ่งไว้เบื้องหลัง
เมื่อปราศจากบันทึกลายลักษณ์อักษร หรือกระทั่งแม้จะมีก็ตามที ปริศนาต่างๆจึงดำรงคงอยู่เรื่อยมาแม้ในขณะที่การสืบสวนอย่างขยันขันแข็งและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะช่วยตอบคำถามเก่าแก่หลายข้อ หรืออย่างน้อยก็ให้คำอธิบายที่เป็นไปได้ต่างๆบางส่วนได้แล้ว ปริศนาอีกนับจำนวนไม่ถ้วนยังคงอยู่
ปริศนาต่างๆในสารคดีเรื่องนี้ยังไม่อาจคลี่คลายได้ เราจะลองมองในอีกมุมหนึ่งแทนดีหรือไม่ มีมนตร์ขลังซ่อนอยู่ในความไม่รู้เสมอ เป็นอิสรเสรีที่จะปล่อยให้จินตนาการของเราได้ทำงาน แผ่ขยายความลี้ลับนั้นออกไปสู่ความเป็นอมตะ และความอัศจรรย์ของปริศนาใดๆก็ตามที่ตัวเราเองอาจทิ้งไว้เบื้องหลังเช่นกัน
เนินเกรตเซอร์เพนต์
เนินเกรตเซอร์เพนต์ (Great Serpent Mound) ซึ่งมีความยาวเกือบ 400 เมตร กว้างประมาณหกถึงแปดเมตร และสูงหนึ่งถึงสองเมตร คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปมาบนเนินทางตอนใต้ของรัฐโอไฮโอ นี่คือเนินดินจำลองรูปสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เนินดินคดเคี้ยวนี้ค้นพบครั้งแรกในทศวรรษ 1840 แรกเริ่มเดิมทีเชื่อว่าเป็นของชนเผ่าโบราณแอดีนา (Adena) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ช่วงราว 500 ปีก่อน ค.ศ. จนถึง ค.ศ. 200 และเป็นเจ้าของซากร่างที่ขุดพบในหลุมศพบริเวณใกล้เคียง ทว่าการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีบ่งชี้ว่า เนินแห่งนี้มีความเก่าแก่น้อยกว่า โดยอาจมีอายุประมาณ 900 ปี หรืออยู่ในยุคของชนเผ่าฟอร์ตเอนเชียนต์ (Fort Ancient People) วัฒนธรรมฟอร์ตเอนเชียนต์ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมิสซิสซิปปี ซึ่งมีงูหางกระดิ่งปรากฏอยู่ในภาพประติมานวิทยา (ภาพสัญลักษณ์เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม) จำนวนไม่น้อย อันที่จริง วัฒนธรรมอเมริกันพื้นเมืองจำนวนมากถือว่างูใหญ่มีความหมายเชื่อมโยงกับพลังทางจิตวิญญาณ นักโบราณคดีบางคนชี้ว่า ส่วนหัวของเนินเซอร์เพนต์อยู่ในแนวเดียวกับครีษมายัน ดังนั้น เนินแห่งนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางดาราศาสตร์หรือพิธีกรรมก็เป็นได้
เมื่อปี 1908 ลุยจิ แปร์นีแอร์ นักโบราณคดีชาวอิตาลี พบแผ่นดินเผารูปวงกลมขนาด 15 เซนติเมตรในซากปรักของพระราชวังโบราณเฟสโตสบนเกาะครีตของกรีซ แผ่นจานทรงกลมที่อาจมีอายุย้อนกลับไปราว 1700 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นยุคสำริดของอารยธรรมไมนอสบนเกาะ มีตราประทับสัญลักษณ์เรียงเป็นเกลียววนไปเรื่อยๆจนเต็ม ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถถอดความหมายได้ ข้อเท็จจริงของการใช้ตราประทับสัญลักษณ์อาจบ่งชี้ถึงความสามารถในการผลิตจำนวนมาก ถึงแม้จะไม่พบหลักฐานอื่นใดที่สนับสนุนความเป็นไปได้นี้ก็ตาม สัญลักษณ์ทั้งหมด 242 สัญลักษณ์ประกอบด้วยตราประทับพิเศษเฉพาะ 45 ดวง จับกลุ่มกันเป็น 61 ช่อง
สัญลักษณ์บางส่วนมีรูปร่างคุ้นตา เช่น ศีรษะที่มีรอยสัก ลูกศร ต้นไม้ แมว และรวงผึ้ง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวแทนกลุ่มสัทอักษรหรือพยางค์ แต่มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะถอดรหัสได้ ผู้พยายามไขปริศนานี้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้สารพัน เป็นต้นว่า นี่คือผลงานของชาวครีต หรือเป็นของคนต่างชาติ นี่เป็นการอ่านออกเสียงพยางค์จากนอกสู่ใน หรือจะเป็นการอ่านพยัญชนะจากในออกนอก คำตอบที่ได้หลากหลายไม่แพ้จำนวนผู้ตีความ
ใครคือ มัมมี่ทาริม
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นักโบราณคดีรายงานการค้นพบอันน่าทึ่งครั้งหนึ่ง ณ ขอบทะเลทรายทากลิมากันทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน พวกเขาพบร่างที่ได้รับการรักษาสภาพอย่างดีของมนุษย์จำนวนหนึ่ง ร่างที่กลายเป็นมัมมี่ตามธรรมชาติเหล่านี้ฝังอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่าลุ่มน้ำทาริม ใกล้บริเวณก้นแม่น้ำแห้งผากสายหนึ่ง โดยมีผมยาว สีบลอนด์ถึงน้ำตาล บางร่างอายุเกือบ 4,000 ปี มีมัมมี่อย่างน้อยกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อคลุมขนสัตว์และหมวกผ้าสักหลาดที่มีขนฟูๆเหมือนนักปีนเขาบนเทือกเขาแอลป์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาถูกฝังในเรือที่จัดวางให้คว่ำลง ด้านบนมีเสายาวรูปร่างคล้ายไม้พายจำนวนหนึ่งปักอยู่ในดิน นักวิจัยชี้ว่า สิ่งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของลึงค์
เหล่ามัมมี่ซึ่งเชื่อกันมานานว่าคือกลุ่มผู้อพยพ แท้จริงแล้วคือผู้อยู่อาศัยในลุ่มน้ำทาริมอันแห้งแล้งมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอเมื่อปี 2021 เผยว่า มัมมี่เหล่านี้สืบเชื้อสายจากประชากรสมัยน้ำแข็งที่มีการแยกตัวโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง โดยมีชื่อว่าชาวยูเรเชียเหนือโบราณ นักวิจัยค้นหาหลักฐานของประชากรกลุ่มนี้ในสมัยโฮโลซีนเพื่อหวังจะสืบค้นความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของพวกเขากับประชากรสมัยใหม่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน
อายุเก่าแก่ของ ผ้าห่อศพแห่งตูริน
ผ้าห่อศพแห่งตูรินเป็นผ้าลินินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นผ้าห่อพระศพของพระเยซู โดยสิ่งที่มองเห็นจางๆบนพื้นผิวของผ้า (และเห็นได้ชัดกว่าในภาพถ่าย) คือภาพของบุรุษไว้เครา ไม่สวมเสื้อผ้า มีบาดแผลเหมือนที่พบบนร่างของพระเยซูตอนสิ้นพระชนม์ ปัจจุบัน ผ้าห่อศพผืนนี้เก็บรักษาอยู่ที่มหาวิหารเซนต์จอห์นเดอะแบปทิสต์ในเมืองตูริน
ความจริงแท้ของผ้าห่อศพนี้เป็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่ตอนที่พบครั้งแรกในศตวรรษที่สิบสี่ เมื่อปี 1988 การทดสอบเพื่อหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีสามครั้งโดยไม่เกี่ยวข้องกันระบุอายุไว้ระหว่างปี 1260 ถึง 1390 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเป็นเวลานาน ต่อมาในปี 2005 นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งยืนยันว่า การทดสอบ ทำบนพื้นที่ที่มีรอยปะของผ้าและยืนยันว่า ผ้าห่อศพมีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก ทว่าข้ออ้างดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นถกเถียง ในปี 2013 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพดัวในอิตาลีทดสอบใยผ้าจากปี 1988 ซ้ำอีกครั้ง และระบุ อายุว่าอยู่ระหว่าง 300 ปีก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 400 อันเป็นช่วงเวลาที่พระเยซูมีพระชนม์ชีพอยู่
สวนสวรรค์เอเดนอยู่ที่ใด
หากสวนสวรรค์เอเดน (Garden of Eden) หรืออุทยานของพระเจ้า ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เคยมีอยู่จริง มันจะอยู่ที่ไหนได้บ้าง คำบรรยายในหนังสือปฐมกาล 2:10-14 เขียนไว้ว่า “มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลจากเอเดนรดสวนนั้น จากที่นั่น ก็แยกเป็นสี่สาย ชื่อแม่น้ำสายที่หนึ่งคือปิโชน เป็นแม่น้ำที่ไหลรอบแผ่นดินฮาวิลาห์ทั้งหมด ที่มีแร่ทองคำ ทองคำ ที่บริเวณนั้นเป็นทองคำเนื้อดี และมียางไม้ตะคร้ำและโมรา ชื่อแม่น้ำสายที่สองคือกิโฮน ไหลรอบแผ่นดินคูชทั้งหมด ชื่อแม่น้ำสายที่สามคือไทกริส ไหลไปทางทิศตะวันออกของอัสซีเรีย และแม่น้ำสายที่สี่ชื่อยูเฟรทีส” แม่น้ำเหล่านี้ทำให้พอจะระบุตำแหน่งของสวนเอเดนได้ว่าอาจอยู่ในอิรัก อิหร่าน ซีเรีย หรือตุรกี อย่างไรก็ตาม หนังสือประกาศกเอเสเคียลได้กล่าวถึงสวนเอเดนบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจอยู่ในเลบานอนปัจจุบันไว้อีกด้วย
การค้นหาสวนเอเดนออกไปไกลยิ่งกว่านั้น หากภูเขาศักดิ์สิทธิ์คือเนินพระวิหาร (Temple Mount) ในเยรูซาเลม และต้นกำเนิดของแม่น้ำอยู่ในจอร์แดน สวนเอเดนอาจอยู่ในบริเวณที่เป็นอิสราเอลปัจจุบัน หากกิโฮนคือแม่น้ำไนล์ เช่นที่บางคนเชื่อ แอฟริกาเหนืออาจเป็นที่ตั้งของสวนเอเดน การตีความที่สร้างสรรค์ยิ่งกว่าระบุว่าสวนเอเดนอยู่ในแจ็กสันเคาน์ตี รัฐมิสซูรี (ตามข้อมูลของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย หรือมอร์มอน) หรือบนดาวอังคาร ซึ่งเป็นการตีความของผู้เขียนที่เชื่อมโยงแม่น้ำในสวนเอเดนกับคลองบนดาวอังคาร
มีสิ่งใดซ่อนอยู่ใน สุสานองค์จักรพรรดิ
องค์ปฐมจักรพรรดิของจีน จิ๋นซีฮ่องเต้ ใช้พระราชอำนาจดุจดั่งผู้ปกครองเผด็จการ นอกจากจะทรงรวบรวมแว่นแคว้นที่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันให้เป็นปึกแผ่นเมื่อ 221 ปีก่อน ค.ศ. แล้ว พระองค์ยังทรงกำหนดน้ำหนักและมาตรวัดมาตรฐานต่างๆ สร้างถนน คลอง และกำแพงป้องกันทั่วราชอาณาจักร อีกทั้งยังทรงเป็นผู้ปกครองที่เผาตำรา ประหารนักปราชญ์และบัณฑิตด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการที่องค์จักรพรรดิทรงใส่พระทัยอย่างที่สุดคือมรดกของพระองค์เอง ด้วยความหลงใหลหมกมุ่นกับความเป็นอมตะ องค์จักรพรรดิจึงมีพระราชโองการให้เกณฑ์แรงงาน 700,000 คนสร้างสุสานที่มีลักษณะเหมือนเมือง โดยมีกองทัพนักรบดินเผาเฝ้าพิทักษ์
นักโบราณคดีขุดพบประติมากรรมทหารดินเผาหลายพันตัว ซึ่งแต่ละตัวลงสีสันอย่างสดใส นอกจากนี้ ยังพบม้าและรถม้าสำริดขนาดครึ่งเท่า รวมถึงโบราณวัตถุล้ำค่าต่างๆ ทั้งที่ทำจากผ้าไหม ผ้าลินิน หยก และกระดูกสัตว์ เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์อาศัยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล การสำรวจด้วยวิธีสัญญาณเรดาร์ และการเจาะเก็บตัวอย่างดิน เพื่อเปิดเผยขนาดอันกว้างใหญ่ไพศาลของสุสาน ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 98 ตารางกิโลเมตร ยังไม่เคยมีการขุดค้นหาพระศพขององค์จักรพรรดิ และไม่แน่ว่าจะมีการทำเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งนั่นน่าจะทำให้พระองค์ทรงพอพระทัย อย่างแน่นอน
พลิกแผ่นดินหา จอกศักดิ์สิทธิ์
แม้จะมีความเชื่อกันทั่วไปว่าเป็นภาชนะที่พระเยซูทรงใช้ในพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย จอกศักดิ์สิทธิ์เช่นว่านั้นกลับไม่เคยปรากฏในข้อเขียนใดๆจนกระทั่งศตวรรษที่สิบสอง เมื่อเครเตียง เดอ ทรัว กวีชาวฝรั่งเศส ประพันธ์บทกวี เพอร์ซิวัล เรื่องราวแห่งจอกศักดิ์สิทธิ์ ขึ้น ในเรื่องเล่าโรแมนติกที่เขียนไม่จบนี้ จอกทองคำคือภาชนะบรรจุอาหาร เป็นหนึ่งในสิ่งของปริศนาหลายชิ้นที่ถูกลำเลียงผ่านหน้าอัศวินหนุ่มนามเพอร์ซิวัล จอกนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง กับพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูจนกระทั่งศตวรรษต่อมา ในบทกวีของโรแบร์ เดอ บอรง ที่ชื่อ โยเซฟ ชาวอาริมาเทีย
นับจากนั้น ตำนานจอกศักดิ์สิทธิ์ก็แพร่สะพัดไปทั่วพร้อมกับเรื่องเล่าโรแมนติกของอัศวินโต๊ะกลมของกษัตริย์อาร์เทอร์ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสัญลักษณ์ ข้อเท็จจริง และความฝันเฟื่องของชาวคริสต์และชาวเคลต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเซอร์กาลาฮัดผู้บริสุทธิ์
บางคนบอกว่าอัศวินเทมปลาร์กู้จอกศักดิ์สิทธิ์มาจากเยรูซาเลมและซ่อนไว้อย่างปลอดภัยเกินไป มีหลายสถานที่ ตั้งแต่สเปนไปถึงรัฐแมริแลนด์ ที่อ้างว่ามีจอกศักดิ์สิทธิ์ของจริงอยู่ในครอบครอง
จะมีสักวันหรือไม่ที่เราเข้าใจศิลปะและ อักษรภาพบน เกาะอีสเตอร์
เกาะอีสเตอร์ หรือราปานุยในภาษาของชาวเกาะ คือบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ผู้อาศัยบนเกาะได้ตั้งเสาหินหนักหลายตันหลายร้อยต้น ซึ่งรู้จักกันในชื่อ โมอาย สิ่งนี้ทำให้ เหล่านักโบราณคดีรู้สึกทึ่งมานับตั้งแต่แรกค้นพบเมื่อราว 300 ปีก่อน หินเถ้าภูเขาไฟที่แกะสลักเป็นใบหน้าและรูปร่างต่างๆโดยใช้อุปกรณ์สำหรับการทำงานด้วยมือเป็นหลักเหล่านี้ถูกลำเลียงออกไปวางไว้บนลานหินด้วยวิธีการบางอย่าง วัตถุประสงค์ในการทำเช่นนั้นของพวกเขาคืออะไร ผู้คนเคลื่อนย้ายเสาหินเหล่านี้ได้อย่างไร
ชาวเกาะอีสเตอร์บอกว่ารูปสลักเหล่านี้เดินได้ นักเขียนบางคนอ้างว่าผู้ที่ตั้งเสาโมอายได้มีเพียงอารยธรรม ที่สาบสูญหรือไม่ก็มนุษย์ต่างดาวเท่านั้น แหล่งข้อมูลวิชาการมากกว่านั้นเสนอว่า เสาเหล่านี้อาจถูกยึดไว้กับโครงและชักลากมา เมื่อไม่นานมานี้ นักโบราณคดีได้สาธิตให้เห็นว่า ชาวเกาะอีสเตอร์อาจพูดถูกที่ว่า รูปสลักเหล่านี้เดินได้ หากให้คนหลายสิบคนเอาเชือกผูกและดึง พวกเขาจะช่วยกันโยกโมอายที่อยู่บนฐานโค้งไปทางซ้ายและขวาสลับกัน และค่อยๆทำให้มัน “เดิน” ไปข้างหน้าได้
กว่าจะถึงช่วงเวลาที่นักสำรวจชาวยุโรปมาถึงเกาะอีสเตอร์ เสาโมอายหลายต้นก็ล้มคว่ำและความหมายก็เลือนหายไปจากความทรงจำแล้ว
แผ่นจารึกหินและไม้ที่พบบนเกาะก็เป็นปริศนาเช่นกัน โดยมีอักษรรองโงรองโงที่ไม่สามารถถอดความได้ อักษรภาพที่น่าสนใจนี้เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา จากนั้นเมื่อสุดแผ่นจารึก ก็จะเขียนจากขวาไปซ้ายในลักษณะกลับหัว อักษรภาพดังกล่าวก็เหมือนรูปสลักโมอายที่จนถึงปัจจุบันยังไม่อาจถอดความได้
ทานิสอาจเป็นแหล่งโบราณคดีน่าตื่นตะลึงที่สุดที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แฟนนวนิยาย ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า อาจจำได้ว่านี่คือเมืองที่ถูกฝังซึ่งว่ากันว่าเป็นที่เก็บรักษาหีบพันธสัญญา ส่วนผู้อ่านพันธสัญญาเดิมอาจรู้จักเมืองนี้ในชื่อโศอัน ที่ซึ่งโมเสสแสดงการอัศจรรย์ โดยทุกวันนี้รู้จักในชื่อซานเอล-ฮาการ์ แต่เมืองทานิสในประวัติศาสตร์จริงๆ หรือเมืองหลวงแห่งราชวงศ์ที่ยี่สิบเอ็ดของอียิปต์ สูญหายไปจากโลกนี้ราว 2,000 ปีแล้ว เมืองที่เคยตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ หายสาบสูญไปใต้ทรายเมื่อแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล ไม่มีใครรู้ว่าจะหามันได้ที่ไหนหรือมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง
พอถึงศตวรรษที่สิบเก้า นักสำรวจชาวยุโรปเริ่มขุดพบบางส่วนของเมืองแล้ว ทว่าการค้นพบที่น่าตื่นตาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปี 1939 เมื่อปีแยร์ มงเต นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส พบหลุมฝังพระศพที่บรรจุหน้ากากทองคำ อัญมณี หีบศพเงิน และขุมทรัพย์อื่นๆ แต่น่าเสียดายที่สงครามโลกครั้งที่สองเปิดฉากขึ้นเสียก่อน ส่งผลให้การค้นพบของเขาไม่เป็นข่าว ถึงแม้ปัจจุบันขุมทรัพย์บางส่วนของทานิสจะหาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ ณ กรุงไคโร นักวิทยาศาสตร์ก็รู้ว่ายังมีของอีกมากรอให้ค้นพบอยู่ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมอินฟราเรดเผยให้เห็นอาคารต่างๆที่รอการขุดค้น
เมื่อปี 1502 นักการเมืองชาวฟลอเรนซ์ ปีเอโร โซเดรีนี ว่าจ้างเลโอนาร์โด ดา วินชี ให้วาดภาพจิตรกรรม ฝาผนังที่ปาลัซโซเวกกีโอในเมืองฟลอเรนซ์ ภาพสุดท้ายซึ่งเป็นฉากชัยชนะของกองกำลังทัสคานีในยุทธการอันเกียรี มีขนาดใหญ่มาก นั่นคืออาจมีความยาวถึงหกเมตรและสูงสามเมตร แต่ดา วินชี ไม่พอใจ เขาทดลองวาดภาพโดยใช้ สีน้ำมันบนผนังห้องโถงแห่งห้าร้อย (Hall of the Five Hundred) แล้วพบว่าสีเปื้อนเปรอะ จึงทิ้งภาพนั้นไปโดยวาด ไม่เสร็จ
ผู้ชมหลายคนประทับใจฉากสงครามอลังการนี้ แต่เมื่อห้องโถงดังกล่าวได้รับการออกแบบใหม่ ศิลปิน จอร์โจ วาซารี ได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพทับผลงานของดา วินชี นักวิชาการบางคนคิดว่า วาซารี ผู้ชื่นชมดา วินชี ได้สร้างผนังปลอมขึ้นเพื่อปกป้องผลงานของดา วินชี แล้ววาดภาพจิตรกรรมของตนบนนั้นแทน
ในปี 2012 นักประวัติศาสตร์ศิลปะ เมารีซีโอ เซราชีนี แทรกกล้องเล็กๆเข้าไปในรอยแตกที่ผนังและพบช่องกลวงๆกับสารสีดำอยู่หลังภาพจิตรกรรมฝาผนังของวาซารี การตรวจสอบถูกสั่งพักชั่วคราว ทำให้ชะตากรรมของภาพดังกล่าวกลายเป็นคำถามปลายเปิด
นักเขียน วินเซนต์ แกดดิส คือคนแรกที่เสนอว่า ภูมิภาคมหาสมุทรระหว่างไมแอมี เบอร์มิวดา และเปอร์โตรีโก หรือบริเวณที่เขาเรียกว่า สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (Bermuda Triangle) ถูกสาป เขาเขียนไว้ในนิตยสาร อาร์กอซี เมื่อปี 1964 โดยเล่าเรื่องเครื่องบินทิ้งระเบิดห้าลำจากฝูงบิน 19 อันอับโชคของกองทัพเรือ หลังออกจากฟอร์ตลอเดอร์เดลในรัฐฟลอริดาเพื่อปฏิบัติภารกิจฝึกซ้อมตามปกติเมื่อปี 1945 เครื่องบินทั้งห้าลำรายงานว่าพบปัญหาเกี่ยวกับเข็มทิศและเงียบหายไปในที่สุด โดยไม่ได้กลับฐานอีกเลย ลูกเรือสิบสี่นายหายสาบสูญ
เมื่อเรื่องของแกดดิสเผยแพร่ออกไป แฟนๆเรื่องเหนือธรรมชาติเริ่มรวบรวมเรื่องราวของเรือและเครื่องบินที่สูญหายไปในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา โดยบอกว่าภูมิภาคดังกล่าวเป็นจุดที่เข็มทิศไม่ทำงานและคนที่หายสาบสูญไปเฉยๆมีจำนวนมากผิดปกติ บรูซ เกอร์นอน นักบินผู้บินจากบาฮามาสไปปาล์มบีชในฟลอริดาเมื่อปี 1970 บอกว่า เขาเข้าสู่อุโมงค์เมฆประหลาดที่ดูเหมือนจะพาไปมิติอื่น และไปถึงฟลอริดาเร็วกว่ากำหนดครึ่งหนึ่ง การลักพาตัวของมนุษย์ต่างดาว กระแสวนในอวกาศ และพลังงานจากแอตแลนติส คือคำอธิบายการหายไปเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การทบทวนอุบัติการณ์ในพื้นที่ชี้ว่า ที่นี่ไม่ได้เกิดเหตุผิดปกติบ่อยกว่าส่วนอื่นๆของมหาสมุทรที่มีการสัญจรหนาแน่นแต่อย่างใด น่านน้ำอุ่นที่ล้อมรอบด้วยกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมมักเกิดคลื่นรุนแรงและพายุบ่อยครั้งตามธรรมชาติ
นักวิจัยยังคงเติมคำในช่องว่างเกี่ยวกับความรุ่งเรืองและการล่มสลายของอารยธรรมมายาอันยิ่งใหญ่ ทั้งที่มีบันทึกลายลักษณ์อักษรมากมายหลงเหลือมาถึงเรา บันทึกเหล่านี้บางส่วนค้นพบที่แหล่งโบราณคดีปาเลงเกในเม็กซิโก เมืองโอ่อ่าที่มีวิหารศิลาและลานจัตุรัสนี้เจริญรุ่งเรืองจากราว ค.ศ. 200 ถึง 900 การก่อสร้างอาคารยิ่งใหญ่ต่างๆหยุดชะงักลงใน ค.ศ. 800 ก่อนที่จำนวนประชากรจะลดลงอย่างช้าๆตามมา
โครงสร้างและอาคารต่างๆของปาเลงเกซึ่งถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นป่ารกชัฏมาหลายร้อยปี มีอักษรภาพจารึก อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะวิหารแห่งจารึก (Temple of Inscriptions) ที่มีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวยุโรปกลุ่มแรกมาถึงคาบสมุทรยูกาตานในศตวรรษที่สิบหก ไม่มีใครที่อ่านข้อความเหล่านี้ได้หลงเหลือ อยู่อีกแล้ว
การสำรวจแบบคร่าวๆไม่พบข้อมูลใดๆ ในทศวรรษ 1780 พันเอก อันโตนิโอ เดล ริโอ เริ่มการค้นหาพระราชวังปาเลงเกด้วยการทุบกำแพงเข้าไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการเริ่มพบอักษรภาพอันซับซ้อนหลังเข้าไปในสุสานของผู้ปกครองจักรวรรดิมายานามว่า ปากาล ซึ่งพบอยู่ภายในวิหารแห่งจารึก ในทศวรรษ 1970 นักโบราณคดีที่ปาเลงเกหาวิธีถอดความรายพระนามกษัตริย์ออกมาได้ ทุกวันนี้ อักษรภาพเหล่านั้นได้รับการถอดความแล้วประมาณร้อยละ 90 โดยเผยให้เห็นอักษรที่เป็น “ภาพสัญลักษณ์” อันซับซ้อน และสัญลักษณ์ต่างๆอาจแทนได้ทั้งพยางค์หรือคำ
ตำราวอยนิชเป็นหนังสือหนา 240 หน้าเขียนด้วยภาษาที่ไม่มีใครรู้จักและบรรจุภาพสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ พืชที่ไม่อาจระบุชนิด และรูปร่างมนุษย์ที่ดูพิลึกพิลั่น ซึ่งวาดด้วยหมึก ไว้หลายร้อยภาพ นักวิทยาการเข้ารหัสลับจำนวนมาก รวมถึงยอดฝีมือระดับโลกบางส่วน พยายามถอดรหัสอักขระที่ใช้ในตำรา แต่คว้าน้ำเหลว นี่คือคู่มือพืชสมุนไพร หรือคู่มือการเล่นแร่แปรธาตุกันแน่ ไม่มีใครตอบได้
ตำราวอยนิชได้ชื่อตามวิลฟริด วอยนิช พ่อค้าหนังสือเชื้อสายโปแลนด์-อเมริกัน ผู้ซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อปี 1912 แต่ต้นกำเนิดของมันเก่าแก่กว่านั้นมาก งานเขียนชิ้นนี้มีอายุสืบย้อนกลับไปอย่างน้อยถึงจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้ารูดอล์ฟที่สองแห่งเยอรมนี (ปี 1576-1612) ทรงได้มาครอบครองในราคา 600 ดูกัตทองคำ โดยเชื่อว่าเป็นงานของโรเจอร์ เบคอน ปราชญ์ในยุคกลาง ส่วนผู้ขายอาจเป็นจอห์น ดี โหราจารย์ชื่อฉาวชาวอังกฤษและผู้ศึกษาไสยเวท ที่สะสมงานของเบคอน จากนั้นตำรานี้ได้ผ่านมือเจ้าของชาวยุโรปอื่นๆอีกหลากหลาย โดยไม่มีใครเข้าใจว่ามันคืออะไร การทดสอบล่าสุดชี้ว่า ตำราวอยนิชมีอายุย้อนกลับไปถึงช่วงต้นศตวรรษที่สิบห้า ทุกวันนี้ ตำราวอยนิชเก็บรักษาไว้ ที่ ห้องสมุดไบเนกคี มหาวิทยาลัยเยล
แรกสุดที่ปรากฏ เอลโดราโดคือคน ไม่ใช่เมือง กลุ่มนักสำรวจชาวสเปนในอเมริกาใต้ได้ยินตำนานเล่าขานของคนผู้นี้มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบหก ว่ากันว่า ที่ไหนสักแห่งในเทือกเขาแอนดีส ชนพื้นเมืองมุยส์กาจะสถาปนาหัวหน้าเผ่าคนใหม่ด้วยการโรยผงทองให้จากหัวจรดเท้า แล้วโยนทองคำและมรกตลงทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความโลภ นักผจญภัยชาวสเปน เยอรมัน โปรตุเกส และอังกฤษ มุ่งหน้าเข้าสู่ป่ารกชัฏในประเทศโคลอมเบีย กายอานา และบราซิล และที่อื่นใดที่ดูน่าจะเป็นไปได้ เพื่อค้นหาขุมทรัพย์ปริศนานี้ เมื่อเวลาผ่านไป เอลโดราโดได้เปลี่ยนจาก เรื่องเล่าของชายคนหนึ่งกลายเป็นหุบเขาที่ปูด้วยทองคำ รอคอยการค้นพบ
มีผู้คนจำนวนมาก ทั้งชาวอเมริกันพื้นเมืองและชาวยุโรป จบชีวิตจากการค้นหาอันโหดร้ายเหล่านี้ โดยไม่เคยมีผู้ใดพบขุมทอง
อย่างไรก็ตาม ตำนานอาจมีความจริงบางอย่างแทรกอยู่ ทะเลสาบที่กล่าวถึงในเรื่องเล่าของชาวมุยส์กา อาจเป็นทะเลสาบลากูนากัวตาบีตา ซึ่งอยู่สูงบนเทือกเขาแอนดีส ใกล้กรุงโบโกตาของโคลอมเบีย มีผู้เก็บวัตถุที่ทำด้วยทองคำและอัญมณีจากทะเลสาบนี้และทะเลสาบอีกแห่งใกล้ๆ แต่ความพยายามระบายน้ำในทะเลสาบออกเพื่อค้นหาสมบัติอันเลื่องชื่อล้วนล้มเหลว ไม่ว่าขุมทรัพย์ใดจมอยู่ใต้น้ำนั้น ล้วนยังไม่มีผู้ใดแตะต้อง
ตัวเอกผู้มีความเป็นสุภาพบุรุษใน แดรกคิวลา นวนิยายเมื่อปี 1897 ของแบรม สโตเกอร์ ไม่ใช่ผีดิบดูดเลือดตนแรกที่ปรากฏตัวในบรรณพิภพ แต่ท่านเคานต์แดรกคิวลาคือตัวละครแวมไพร์ที่โด่งดังจนทำให้นักอ่านจำนวนมาก นึกสงสัยว่า เขามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
เห็นได้ชัดว่าสโตเกอร์นำชื่อ “แดรกคิวลา” มาจาก เรื่องเล่าของดินแดนศักดินาแห่งวัลลาเคียและมอลดอเวีย ของวิลเลียม วิลคินสัน ซึ่งมีตัวละครโหดร้ายชื่อ วลาด แดรกคิวลา ที่สาม เจ้าชายแห่งวัลลาเคียช่วงกลางศตวรรษที่สิบห้าผู้เกิดในทรานซิลเวเนีย สโตเกอร์เขียนบันทึกส่วนตัวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “แดรกคิวลาในภาษาวัลลาเคียหมายถึงปีศาจ” ส่วนการดื่มเลือดของท่านเคานต์อาจได้แรงบันดาลใจจากเอลิซาเบท บาโทรี เคาน์เตสชาวฮังการีผู้เป็นฆาตกรต่อเนื่อง และ ชี (ภูต) ของไอร์แลนด์ที่มีรสนิยมชอบดื่มเลือดเหมือนแวมไพร์
เรื่อง แพทริเซีย เอส. แดเนียลส์
แปล ศรรวริษา เมฆไพบูลย์