ค้นพบอาณาจักรมายาซ่อนตัวใต้ผืนป่ากัวเตมาลา

ค้นพบ”อาณาจักรมายา”ซ่อนตัวใต้ผืนป่ากัวเตมาลา

การค้นพบครั้งล่าสุดนี้นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมมายา ทีมนักวิจัยประกาศการค้นพบซากปรักหักพังของบ้านเรือนกว่า 60,000 หลัง, พระราชวัง, ทางหลวง และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ โดยทั้งหมดนี้ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนป่าทางตอนเหนือของกัวเตมาลา

ด้วยเทคโนโลยี ไลดาร์ (LiDAR ย่อมาจาก Light Detection And Ranging) ลำแสงเลเซอร์ที่ช่วยฉายภาพของภูมิทัศน์แบบปราศจากผืนป่าและต้นไม้ทั้งหมด ภาพที่ทีมวิจัยได้นั้นเผยให้เห็นถึงร่องรอยและซากปรักหักพังของอาณาจักรมายาที่มีเครือข่ายอันซับซ้อนมากกว่าที่เคยคิดกันไว้

“ภาพถ่ายจากไลดาร์ช่วยให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ในอดีตเคยมีการตั้งถิ่นฐานที่หนาแน่นมากขนาดไหน รวมทั้งจำนวนของประชากรที่เราเคยประมาณตัวเลขเอาไว้นั้นก็ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก” Thomas Garrison นักโบราณคดีจากสถาบันวิจัย Ithaca และหนึ่งในนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว ตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสำหรับงานด้านโบราณคดีโดยเฉพาะ โดยโครงการสำรวจครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ PACUNAM องค์กรในกัวเตมาลาที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยเฉพาะ

เทคโนโลยีไลดาร์ซึ่งยิงลำแสงเลเซอร์ลงไปยังผืนดินเบื้องล่างช่วยเปิดเปลือยภูมิทัศน์จริงของพื้นที่ และเผยให้เห็นถึงร่องรอยของอารยธรรมมายา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

โครงการดังกล่าวได้สร้างแผนที่ขนาด 2,100 ตารางกิโลเมตร ของอารยธรรมมายาที่ถูกค้นพบในภูมิภาค Petén ของกัวเตมาลาขึ้น และนับเป็นแผนที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีไลดาร์

ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า อาณาจักรมายาที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 1,200 ปีก่อน และมีความยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับอารยธรรมกรีกและจีน แทนที่ผู้คนจะอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายบางเบาเช่นที่เคยเข้าใจกันมาเมื่อในอดีต

นอกเหนือจากซากของสิ่งปลูกสร้างจำนวนหลายร้อยแห่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแล้ว ภาพถ่ายจากไลดาร์ยังฉายให้เห็นถึงร่องรอยของทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางของเมืองกับเหมืองหิน ทั้งยังมีระบบชลประทานที่ซับซ้อนสำหรับการเกษตรหรือหล่อเลี้ยงคนงานจำนวนมากมายภายในเมือง

 

มองด้วยตาเปล่าภาพซ้ายดูเหมือนผืนป่าธรรมดา แต่เทคโนโลยีไลดาร์เผยให้เห็นพีรามิดของชาวมายาในภาพขวา

“เราเคยมีความคิดกันว่าอารยธรรมอันซับซ้อนยิ่งใหญ่นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคเขตร้อน” Marcello Canuto นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Tulane กล่าว นอกจากนั้นตัวเขายังเป็นหนึ่งในนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกที่เข้าร่วมในการสำรวจครั้งนี้ด้วย

“แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างไลดาร์ จากหลักฐานที่เราได้ในภูมิภาคอเมริกากลางและจากกัมพูชา เราจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นนี้ใหม่ ว่าความเจริญเองก็สามารถเติบโตได้ในเขตร้อนเช่นกัน”

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกษัตริย์ของอาณาจักรมายา)

“ไลดาร์นี่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการโบราณคดีเลยก็ว่าได้ครับเหมือนๆ กับที่กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลเคยปฏิวัติวงการดาราศาสตร์มาแล้ว” Francisco Estrada-Belli คำกล่าวจากนักโบราณคดี มหาวิทยาลัย Tulane เช่นกัน “ข้อมูลที่เราได้มันมากมายมหาศาลจริงๆ ครับ อาจต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีได้กว่าจะสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด”

แม้จะยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นคืออะไร แต่การสำรวจครั้งนี้ก็ได้เผยข้อมูลที่น่าประหลาดใจบางอย่างออกมาแล้ว นั่นคือจำนวนประชากรของอาณาจักรนี้ ในยุคสมัยราวคริสต์ศักราชที่ 250 – 900 เชื่อกันว่าอาณาจักรมายามีจำนวนประชากรมากเป็นสองเท่าของเกาะอังกฤษในยุคกลาง “ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่น่าจะมีประมาณ 5 ล้านคนครับ” Estrada-Belli  กล่าว “และด้วยข้อมูลใหม่ จำนวนสูงสุดที่ประมาณได้น่าจะอยู่ที่ราว 10 – 15 ล้านคน ซึ่งค่อนข้างแออัดน่าดู”

 

ลึกเข้าไปในผืนป่า ผลการค้นพบครั้งใหม่นี้เผยให้เห็นพีรามิดจำนวน 7 ชั้น ที่แทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ความสลับซับซ้อนของอารยธรรมมายาที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยเส้นทางที่เป็นเครือข่ายนี้ เชื่อกันว่าในอดีตบนเส้นทางเหล่านี้คงจะเต็มไปด้วยขบวนขนส่งสินค้ามากมาย ในขณะที่ทางหลวงยกระดับนั้นมีความสำคัญตรงที่ช่วยให้การขนส่งยังคงสามารถขับเคลื่อนไปได้ในฤดูฝน ตัวอย่างจากอารยธรรมในบางพื้นที่ของโลกที่ก่อตั้งขึ้นในภูมิภาคที่อาจเกิดน้ำหลากหรือน้ำท่วมนั้น มักมีระบบการจัดการวางแผนน้ำเป็นอย่างดี เช่นการขุดคูคลอง หรืออ่างเก็บน้ำ

นอกเหนือจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ อีกหนึ่งข้อมูลที่ชวนให้น่าประหลาดใจก็คือแนวกำแพงป้องกันเมือง ที่ประกอบด้วยกำแพงหินและป้อมปราการแน่นหนา และหลุมอีกนับพันที่ถูกขุดโดยชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งเข้ามาปล้นเอาโบราณวัตถุไป “สิ่งต่างๆ เหล่านี้ใหม่สำหรับเรา แต่ไม่ใช่สำหรับบรรดาพวกลักลอบครับ” Marianne Hernandez ประธานมูลนิธิ PACUNAM กล่าว

ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมคืออีกหนึ่งเรื่องที่ทีมนักวิจัยค่อนข้างเป็นกังวลต่อการค้นพบครั้งนี้ กัวเตมาลาสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่าร้อยละ 10 ในทุกปี และด้วยพรมแดนที่ติดกับเม็กซิโกปัญหาจากผู้บุกรุกเพื่อการตั้งถิ่นฐาน หรือทำการเกษตรกำลังตามมา

“การสำรวจพื้นที่ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าผู้คนในยุคโบราณมีความเป็นอยู่กันอย่างไร เราเองคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความตระหนักให้แก่ชาวบ้านท้องถิ่นให้พวกเขารู้สึกรักและหวงแหนสถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมา” Hernandez กล่าว

(ค้นพบถ้ำใต้น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในโลก ภายในซุกซ่อนอารยธรรมของชาวมายาไว้)

ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าวเป็นเพียงการค้นพบแรกภายใต้โครงการสำรวจทางโบราณคดีด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ของ PACUNAM  โครงการนี้กินระยะเวลาการสำรวจสามปีเต็ม เมื่อเสร็จสิ้นแผนที่ขนาด 14,000 ตารางกิโลเมตร ของผืนดินใต้กัวเตมาลาจะปรากฏ

“ความทะเยอทยานและผลลัพธ์ที่ได้ของโครงการนี้เป็นที่น่าทึ่งมาก” Kathryn Reese-Taylor นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Calgary  ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมมายากล่าว “หลังผ่านมาหลายปีของการถูกผืนป่าปกคลุม ไม่เคยมีนักโบราณคดีเหยียบย่ำมายังพื้นที่นี้ สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่เคยคาดคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน และตอนนี้เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังช่วยให้เราเห็นความเจริญและความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมมายา”

เรื่อง Tom Clynes

 

อ่านเพิ่มเติม

ภูมิประเทศอันน่ามหัศจรรย์จากเทคโนโลยี Laser Scanner

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.