การสำรวจขั้วโลกของจอห์น แฟรงคลิน จบลงด้วยการกินกันเอง

“การออกสำรวจขั้วโลกเหนืออันโด่งดังของจอห์น แฟรงคลิน

จบลงด้วยการที่ลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิตอย่างปริศนา

นักวิทยาศาสตร์เสนอสมมุติฐานใหม่ว่า ‘ผู้รอดชีวิตน่าจะกินกันเอง’”


ในปี 1845 เรือเอชเอ็มเอส เอเรบัส (HMS Erebus) และเอชเอ็มเอส เทอร์เรอร์ (HMS Terror) ได้ออกเดินทางจากอังกฤษายใต้การบังคับบัญชาของเซอร์จอห์น แฟรงคลิน (John Franklin) นักสำรวจขั้วโลกเหนือผู้มากประสบการณ์ พร้อมกับลูกเรืออีก 128 คนเพื่อมองหาเส้นทางเดินเรือทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยหวังว่าจะพบเส้นทางลัดไปยังแคนาดาโดยผ่านอาร์กติก

แต่การสำรวจดังกล่าวจบลงด้วยความโชคร้ายเนื่องจากทุกคนในคณะสำรวจเสียชีวิตทั้งหมด อย่างไรก็ตามสาเหตุของโศกนาฏกรรมนี้ยังคงเป็นปริศนา บางคนเชื่อว่าพวกเขาตายจากโรคลักปิดลักเปิด ไม่ก็อดอาหารหรือได้รับสารพิษ (พิษตะกั่วเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่มีการยอมรับกันค่อนข้างมาก) 

“เรือเอชเอ็มเอส เอเรบัส และ เทอร์เรอร์ ถูกทอดทิ้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน ห่างจากที่นี่ 5 ลีกทางเหนือ-ตะวันตกเฉียงเหนือ หลังจากถูกตรึงอยู่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 1846” กัปตันฟิตซ์เจมส์เขียนในรายงาน ซึ่งต่อมาพบในกองหินบนเกาะคิงวิลเลียม 

“เซอร์จอห์น แฟรงคลินเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1847 และจนถึงปัจจุบันนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสำรวจครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ 9 นายและลูกเรือ 15 นาย” 

แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบซากบางส่วนที่อาร์กติกซึ่งช่วยระบุตัวตนศพร่างดังกล่าว ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Journal of Archaeological Science ได้เผยให้เห็นชะตากรรมอันโหดร้ายและความสิ้นหวังของคณะสำรวจครั้งนี้

ออกเดินทาง

เอชเอ็มเอส เอเรบัส เรือที่เป็นความภูมิใจของราชนาวีอังกฤษซึ่งถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1826 โดยตั้งชื่อตาม ‘เอเรบัส’ (Erebus หรือ กรีกโบราณ ρεβος , โรมัน Érebos) ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความมืดในตำนานเทพเจ้ากรีก เรือดังกล่าวได้สร้างชื่อเสียงของมันโดยการออกสำรวจพื้นที่ขั้วโลกเหนือระหว่างปี 1839-1843 ที่ชื่อว่า ‘Ross expedition’

โดยในปี 1838 สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งอังกฤษได้เสนอแผนการสำรวจเพื่อทำการวัดแม่เหล็กในแอนตาร์กติกา โดยได้เลือกให้เซอร์ เจมส์ คลาร์ก รอสส์ (James Clark Ross) เป็นผู้นำการสำรวจหลังจากมีประสบการณ์ในการทำงานด้านสำรวจแม่เหล็กบริติช (British Magnetic Survey) ตั้งแต่ปี 1834 

และในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1840 เรือก็ได้ออกเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในครั้งแรก ทีมสำรวจได้กลับมาพร้อมข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ พฤกษศาสตร์และปักษีวิทยาจำนวนมาก

ทางภาครัฐจึงสีคำสั่งให้ออกสำรวจอีกครั้งภายในการนำของเซอร์แฟรงคลิน โดยปรับปรุงให้เรือคิดตั้งเครื่องยนต์ไอน้ำจากหัวรถจักรของการรถไฟลอนดอนและการรถไฟกรีนวิช มันสามารถเดินทางด้วยความเร็ว 4 น็อต หรือราว 7.4 กม./ชั่วโมง และมีถ่านหินสำรองไว้ใช้ 12 วัน 

ทว่าเรือกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทำให้คนอื่น ๆ เชื่อกันว่าน่าจะเกิดปัญหาอะไรบางอย่างกระนั้นข่าวคราวเกี่ยวกับชะตากรรมของคณะสำรวจก็ยังไม่มีความชัดเจนจนกระทั่งในปี 1854 เมื่อชาวอินูอิตในท้องถิ่นได้บอกกับจอห์น เรย์ (John Rae) นักสำรวจชาวสก็อตว่าพวกเขาเห็นคนประมาณ 40 คนลากเรือด้วยเลื่อนไปตามชายฝั่งทางใต้

ในปีถัดก็พบว่ามีศพหลายร่างใกล้ปากแม่น้ำแบ็ก จึงนำไปสู่การค้นหาครั้งที่สองในปี 1859 โดยพบเรือหนึ่งลำจอดอยู่บนเลื่อนและผู้เสียชีวิตอีกหลายศพซึ่งห่าง 80 กิโลเมตรจากสถานที่แรก อย่างไรก็ตามเมื่อปี 1861 ทีมค้นหาก็พบร่างอีกจำนวนมากอยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร 

การตรวจสอบโดยนักโบราณคดีอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1990 ก็ได้กำหนดให้สถานที่ดังกล่าวเป็น NgLj-3 และ NgLj-2 ตามลำดับ คณะสำรวจของเซอร์แฟรงคลินไม่ได้กลับบ้าน และอาจจะไม่สามารถออกจากเกาะได้เลย นักวิยาศาสตร์ได้พยายามระบุตัวตนของศพแต่ละร่างเพื่อลูกหลานและญาติของพวกเขา 

ด้วยการเปรียบเทียบดีเอ็นเอของโครงกระดูก นักวิจัยก็สามารถระบุเพิ่มได้อีก 2 คนสำคัญนั่นคือ จอห์น เกรกอรี (John Gregory) วิศวกรบนเรือเอชเอ็มเอส เอเรบัส และเจมส์ ฟิตซ์เจมส์ (James Fitzjames) ซึ่งเป็นกัปตันของเรือเอเรบัส 

แต่ขณะที่ตรวจสอบขากรรไกรของเขาอย่างละเอียด มันก็ได้เผยให้เห็นชะตากรรมที่ไม่มีใครคาดคิด 

ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ไร้ค่า

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1850 ชาวอินูอิตได้รายงานว่าพบเห็นผู้รอดชีวิตกินเนื้อคน ทว่าคำบอกเล่าดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธจากชาวยุโรปเนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องน่ารังเกียจและต่ำทรามเกินกว่าจะเชื่อได้ 

อย่างไรก็ดีในปี 1997 แอน คีนลีย์ไซด์ (Anne Keenleyside) นักโบราณคดีชีวภาพผู้ล่วงลับได้เสนออย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรกว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คนที่ ‘ถูกกิน’ ในเหตุการณ์ดังกล่าวตามรายงานใหม่นี้ ทีมวิจัยได้ศึกษาดีเอ็นเอและวิเคราะห์โครงกระดูกอย่างละเอียดในร่างใหม่ที่ระบุได้คือ เกรกอรีและฟิตซ์เจมส์ 

“เราทำงานกับตัวอย่างที่มีคุณภาพดี ซึ่งช่วยให้เราสร้างโปรไฟล์โครโมโซมวายได้ และเราโชคดีมากที่ได้ตรงอย่างตรงกัน” สตีเฟน ฟรัตเปียโตร ผู้เขียนร่วมจากห้องปฏิบัติการพาลีโอ-ดีเอ็นเอ (Paleo-DNA) ของมหาวิทยาลัยเลคเฮด กล่าว เขาเชื่อว่าฟิตซ์เจมส์น่าจะเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน

แต่ชิ้นส่วนที่พิเศษก็คือขากรรไกรซึ่งมี ‘รอยตัด’ อยู่หลายแห่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าร่างของเขาถูก ‘เฉือน’ ‘ตัด’ และ ‘กัดกิน’ บางทีลูกเรือของเขาที่อดอาหารมาหลายวันได้ใช้ปประโยชน์จากร่างที่ไร้ชีวิตนี้อย่างเต็มที่ 

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเขาก็เสียชีวิตก่อนลูกเรือคนอื่น ๆ ที่เสียชีวิตบางส่วน และทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ก็ไม่ได้เป็นหลักสำคัญในช่วงวันสุดท้ายที่สิ้นหวังของการเดินทาง ในขณะคนที่เหลืออยู่พยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด” ดักลาส สเตนตัน (Douglas Stenton) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู กล่าว 

สำหรับเราที่อยู่ในปัจจุบันคงไม่อาจตัดสินสิ่งที่ผู้รอดชีวิตในขณะนั้นต้องเผชิญได้ พวกเขาอาจจะอดอาหารมาเป็นเวลานาน ป่วยจากการขาดสารอาหาร ไม่มีอะไรกิน ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนั้นการกินสิ่งที่มีอยู่อาจเป็นทางรอดสุดท้ายที่เหลืออยู่

ร่างฟิตซ์เจมส์จะถูกส่งคืนไปยังกองหินอนุสรณ์สถานบนเกาะคิงวิลเลียมพร้อมกับกระดูกของลูกเรือนคนอื่น ๆ ที่เสียชีวิตที่นั่น ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ยังคงรวบรวมตัวอย่างดีเอ็นเอต่อไปจากญาติของลูกเรือ เพื่อหวังว่าจะระบุร่างที่เหลือเพิ่มเติมได้

“อย่างไม่ต้องสงสัยเลย สิ่งที่เห็นใจที่สุดต่อข้อมูลที่นำเสนอนี้คือความสิ้นหวังที่ลูกเรือของแฟรงคลินต้องรู้สึกในการทำสิ่งที่พวกเขาถือว่าน่ารังเกียจ และยอมรับความเศร้าของความจริงที่ว่าในกรณีนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงแค่อการยืดเวลาความทุกข์ทรมานของพวกเขาออกไป” ผู้เขียนสรุป

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.sciencedirect.com

https://www.newscientist.com

https://www.cbc.ca/

https://www.smithsonianmag.com

https://arstechnica.com

https://www.sciencealert.com


อ่านเพิ่มเติม : เดินเรือตามรอย เซอร์ จอห์น แฟรงคลิน และนักสำรวจ 120 คนที่สูญหาย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.