สำหรับแหล่งโบราณคดีเทนิกี ใน Isalo Massif ซึ่งเป็นกลุ่มภูเขาในภูมิภาค Ihorombe ของมาดากัสการ์ ที่แห่งนี้มีทฤษฎีแรกเคยถูกระบุว่า เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 จากกลุ่มกะลาสีชาวโปรตุเกสที่เรืออับปาง แต่เอาชีวิตรอดมาได้ พวกเขาจึงขึ้นมาบนเกาะมาดากัสการ์ พร้อนสร้างชุมชนอยู่บนเกาะ ก่อนจะต่อเรือและเดินทางออกทะเลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีใหม่ว่า เทนิกี ถูกสร้างขึ้นโดยชาวโซโรอัสเตอร์จากศาสนาโซโรอัสเตอร์ หนึ่งในศาสนาสำคัญของจักรวรรดิเปอร์เซียยุคแรกๆ หรือ ศาสนาบูชาไฟ ที่หลบหนีการถูกกวาดล้างจากกองทัพเปอร์เซียจากความขัดแย้งเรื่องศาสนาและเชื้อชาติ
เทนิกี คือ โบราณสถานที่แยกตัวออกมาจากเทือกเขาไอซาโล่อยู่ทางตอนใต้ของมาดากัสการ์ เป็นสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับถํ้าหินทรายในหุบเขารูปอัฒจันทร์ที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำ โดยมีระเบียงที่มนุษย์สร้างขึ้นบนช่องหินที่ถูกตัดในหน้าผาสูงชัน และมีพักพิงหินที่มีผนังสร้างจากบล็อกหินทรายแบะมีการแกะสลักด้วย
ช่องหินแกะสลักและกำแพงหินของแหล่งโบราณคดีเทนิกกี้ในมาดากัสการ์มีปริศนามากมายที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ว่า แหล่งโบราณคดีที่น่าจะมีอายุมากว่า 1,000 ปี เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้สร้างและอยู่อาศัยในดินแดนห่างไกลแห่งนี้
ผลการศึกษาใหม่มีการระบุว่า ผู้ลี้ภัยโซโรแอสเตอร์จากเปอร์เซียคือกลุ่มคนที่สร้างสถานแห่งนี้ โดยหวังว่าจะสร้างสวรรค์อันห่างไกลบนเกาะมาดากัสการ์ ทว่าสุดท้ายชุมชนดังกล่าวก็ว่างเปล่าลงด้วยสาเหตุบางอย่าง
เทนิกี อยู่ท่ามกลางป่าเขตร้อน เนินเขาหิน และสันเขาสูง ห่างจากชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดมากกว่า 100 ไมล์ และอยู่ไกลจากสถานที่ต่างๆ บนเกาะมาดากัสการ์ในมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีขนาดพอๆ กับรัฐเท็กซัส
ช่องหลายสิบช่องบนหน้าผาดูเหมือนห้องเล็กๆ กว้างและลึกเพียงไม่กี่ฟุต ทางเข้าหลายแห่งล้อมรอบด้วยช่องทรงกลม เป็นไปได้ว่าเคยถูกปิดด้วยประตูไม้หรือหิน โพรงเหล่านี้ไม่เหมือนกับสถาปัตยกรรมใดๆ ที่พบในมาดากัสการ์หรือในแอฟริกาตะวันออกเลย แต่กลับมีความคล้ายคลึงกับช่องฝังศพในแหล่งโบราณคดีของอดีตชาวโซโรแอสเตอร์ในประเทศอิหร่านมากๆ
นอกจากนี้ กุยโด ชรอยส์ (Guido Schreurs) นักธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยเบิร์นในสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผย ช่องแคบๆ ด้านบนของเทนิกีอาจเป็นอดีตสุสานซึ่งเคยมีศพหรือกระดูกบรรจุอยู่
จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า เทนิกี แหล่งโบราณคดีอันห่างไกลมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดไว้มาก และการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ได้ค้นพบซอกที่มีการแกะสลัก สถานที่ประกอบพิธีกรรม และขั้นบันไดหินที่ซ่อนอยู่ในบริเวณโดยรอบ คล้ายกับเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่สาบสูญแห่งหนึ่งของโลก
สำหรับ กุยโด ชรอยส์ เริ่มสนใจ เทนิกี ตั้งแต่ปี 1994 ช่วงที่เขาทำงานในโครงการทางธรณีวิทยาของอุทยานแห่งชาติไอซาโล่ รูปถ่ายเทนิกีของ กุยโด เคยจัดแสดงในนิทรรศการที่เมืองเจนีวาเมื่อปี 2010 โดยเขาได้เริ่มต้นสำรวจครั้งแรกในปี 2020
กุยโด ชรอยส์ เดินทางไปยัง เทนิกี 4 ครั้ง พร้อมกับนักวิจัยอีก 16 คนจากสวิตเซอร์แลนด์และอันตานานาริโวเมืองหลวงของมาดากัสการ์ คาราวานของเขามีไกด์ท้องถิ่น 6 คน และคนงานยกของกว่า 150 คน เพื่อขนอาหารและอุปกรณ์ พวกเขาต้องเดินป่านาน 8 ชั่วโมงผ่านป่าและภูเขาลึกห่างไกลจากชุมชน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าเขาและคณะจะเดินทางไปถึงซากอารยธรรมโบราณเทนิกี จึงยิ่งน่าสงสัยว่า ชาวโซโรอัสเตอร์ในยุคนั้น เดินทางมาถึงพื้นที่รกร้างแห่งนี้ได้อย่างไร?
การสำรวจของ กุยโด ชรอยส์ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาไม่เชื่อว่า เทนิกี เกิดจากฝีมือของลูกเรือชาวโปรตุเกส ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า หากเป็นเพียงที่พักชั่วคราวเพื่อเดินทางต่อ ทำไมต้องลำบากเจาะภูเขาหินหรือแกะสลัก อีกทั้งสถาปัตยกรรมภายในที่พักลักษณะคล้ายถํ้าก็ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับโปรตุเกสหรือยุโรปเลย รวมถึงยังไม่มีหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงให้เป็นว่าชาวโปรตุเกสเคยอาศัยอยู่ที่นั่น
ขณะเดียวกัน ทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับ ชาวโซโรอัสเตอร์ ดูมีนํ้าหนักมากกว่า เพราะช่องต่างๆ ใน เทนิกีมีความคล้ายกับช่องหินแกะสลักในสุสานของชาวโซโรแอสเตอร์ในเมืองฟาร์สของอดีตจักรวรรดิเปอร์เซียอย่างมาก โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน ประเทศอิหร่าน ซึ่งชาวโซโรแอสเตอร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองฟาร์สเชื่อว่าการฝังศพทำให้ผืนดินของโลกมีมลทิน ดังนั้นพวกเขาจึงใช้วิธีเผาศพจนเหลือแต่กระดูกแล้วนำไปใส่ไว้ในซอกหิน
ส่วนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ที่อยู่อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดของมาดากัสการ์เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 12 ก่อนที่ชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกจะเข้ามาในพื้นที่นี้ โดยอาจเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการก่อตั้งเมืองแห่งแรกถูกบนเกาะมาดากัสการ์ในแถบชายฝั่ง ซึ่งกลุ่มชาวโซโรแอสเตอร์อาจเป็นเผ่าพันธุ์นอกเกาะกลุ่มแรกๆ ที่มาถึงมาดากัสการ์ และเดินทางลึกเข้าไปด้านใน ก่อนจะเจอพื้นที่ในการสร้างชุมชนขึ้น
โซโรอัสเตอร์ เป็นศาสนาแรกๆ ของโลก และเป็นศาสนาของจักรวรรดิเปอร์เซียมานานกว่า 1,000 ปีก่อนที่ชาวอาหรับจะเข้ายึดครองช่วงศตวรรษที่ 7 และถูกขับไล่ออกมา ปัจจุบันศาสนาโซโรอัสเตอร์ยังคงหลงเหลืออยู่ในบางพื้นที่ของประเทศอินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน รวมๆ แล้วมีผู้นับถือทั่วโลกประมาณ 1-2 ล้านคน ซึ่งศาสนานี้เป็นศาสนาและปรัชญาศาสนาอิหร่านเอกเทวนิยมโบราณอย่างหนึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวคือ อาหุรามัสดา และบูชาไฟอันศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์
ทั้งนี้ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ มีอิทธิพลต่อศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และ ไญยนิยม (ลัทธินอสติก) โดยการเดินทางไกลของ ชาวโซโรอัสเตอร์มาดากัสการ์ อาจเกิดจากการที่พวกเขาต้องการสถาปนาอาณานิคมบนเกาะของตัวเอง
ในอีกมุมหนึ่ง นาธาน แอนเดอร์สัน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยซานตาคลาราของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยนี้ แต่เขาได้ค้นคว้าการตั้งถิ่นฐานในประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของมาดากัสการ์ สงสัยเรื่อง ความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาโซโรอัสเตอร์กับเทนิกี ว่า คำอธิบายเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเทนิกีในตอนนี้ยังขาดหลักฐานที่มีนํ้าหนัก
การวิจัยของ กุยโด ชรอยส์ และคณะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แม้ว่า ทฤษฎีใหม่นี้จะมีความน่าสนใจ แต่ในทางประวัติศาสตร์พบว่า โลกอิสลามยุคแรกรู้จักเกาะมาดากัสการ์ในฐานะเพียง เกาะในตำนาน เท่านั้น เป็นไปได้ยากที่ในยุคนั้น ชาวโซโรอัสเตอร์จะสามาถอพยพจากดินแดนเปอร์เซียบริเวณอ่าวเปอร์เซีย รอนแรมข้ามนํ้าข้ามทะเลมาได้ไกลถึงมาดากัสการ์ที่อยู่ไกลถึงนอกชายฝั่งทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา
อีกข้อสงสัยคือไร้กระดูกหรือซากมนุษย์ใน เทนิกี หรือยังไม่มีการค้นพบใดๆ ที่เป็นหลักฐานว่า มีกลุ่มคนจำนวนมากอาศัยอยู่อย่างยาวนานในชุมชนลึกลับแห่งนี้
อนึ่ง กรณีไม่พบศพชาวโซโรแอสเตอร์ในช่องหินมีนักวิชาการ แก้ต่างว่า อาจเป็นเพราะทายาทของชาวโซโรแอสเตอร์ได้ใช้กระดูกของบรรพบุรุษเพื่อทำพิธีทางศาสนา
โครงสร้างที่โดดเด่นที่สุดของเทนิกีคือ ถ้ำใหญ่ ซึ่งเป็นที่กำบังหินขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาในวงแหวนหรืออัฒจันทร์ทางโค้งของหน้าผาที่เปิดโล่ง โดยถ้ำแห่งนี้มีบางส่วนถูกปิดด้วยกำแพงที่สร้างขึ้นอย่างประณีต ทำจากบล็อกหินทราย ด้านหน้าช่องกว้างไม่กี่ฟุตมีการแกะสลักเข้าไปในชั้นหิน
นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบช่องที่คล้ายกันหลายสิบช่องถูกแกะสลักเรียงกัน มี เสาหิน และ ม้านั่ง ในถ้ำเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 ฟุตทางตะวันออกเฉียงใต้ของเทนิกี
กุยโด ชรอยส์ และทีมค้นพบซากกำแพงหินที่ล้อมรอบพื้นที่รอบๆ ถ้ำ และสถานที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบบนพื้นที่มากกว่า 300,000 ตารางฟุต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคโบราณ
กำแพงและระเบียงดินใกล้แม่น้ำซาฮานาโฟที่ทอดยาวไปทางตะวันตกของถ้ำประมาณหนึ่งไมล์ ทำให้เกิดข้อข้อสันนิษฐานว่า เทนิกี อาจไม่ใช่แหล่งอาศัย แต่เป็นเพียงสุสานบนภูเขาของชาวโซโรแอสเตอร์ ที่สร้างเมืองล้อมรอบภูเขาแห่งนี้ไว้
แม้ยังไม่พบร่องรอยของชุมชนหรือเมือง รวมถึงการทำเกษตรกรรมที่เป็นไปได้ยากในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยหิน ดิน ทราย แต่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนี้ได้ เพราะอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์อย่างหมูป่าและค่างก็มีในป่าและที่ราบใกล้เคียง กุยโด ชรอยส์ จึงเชื่อว่า คจำนวนหลักร้อยสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ เทนิกี ได้
ในปี 2025 กุยโด ชรอยส์และทีมจะกลับไปสำรวจในพื้นที่อีกครั้ง และหวังว่าจะไขความลับบางส่วนได้ว่า หากเป็นชาวชาวโซโรแอสเตอร์จริง ทำไมพวกเขาถึงมาตั้งถิ่นฐานในสถานที่อันห่างไกล และทำไมพวกเขาจึงจากไป หรือ สาบสูญไปจากเกาะ
มีความเป็นไปได้ข้อหนึ่งคือ ชุมชนในพื้นที่เทนิกีอาจถูกโจมตีจากเผ่าพันธุ์อื่น หรือ ด้านบนที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นสุสาน แท้จริงคือป้อมปราการหรือที่หลบภัย สอดคล้องกับการสร้างกำแพงที่ไม่จำเป็นหลายจุดของกลุ่มคนที่เคยอาศัยในที่แห่งนี้ แต่ถ้าเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกัน ในดินแดนลึกลับห่างไกล พวกเขาต้องการป้องกันชุมชนจากสิ่งใด?
เรื่องโดย Tom Metcalfe
ภาพโดย Courtesy Raphael Kunz
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ที่มา