50ปี ตำนาน ‘ลูซี่’ ปรากฏการณ์การค้นพบระดับโลกที่สะท้อนวิวัฒนาการมนุษย์

ครบรอบ 50 ปีค้นพบ ‘ลูซี่’ ฟอสซิลโบราณที่เปลี่ยนมุมมองวิวัฒนาการมนุษย์ทั้งหมด แม้นักบรรพชีวินวิทยาจะขุดพบมาตั้งแต่ปี 1974 แต่มรดกของ ‘เธอ’ ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันทั้งทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์

เบาะแสแรกที่บ่งชี้ว่าบรรพบุรุษมนุษย์ที่กลายเป็นฟอสซิลที่รู้จักกันในชื่อที่โด่งดังว่า ‘ลูซี่’ นั้นจะกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเกิดขึ้นที่สนามบินปารีสในเดือนธันวาคมปี 1974 (พ.ศ. 2517) โดยขณะที่ โดนัลด์ โจฮันสัน (Donald Johanson) นักมานุษวิทยาโบราณได้นำพัสดุของเขาผ่านด่านศุลกากร

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ โจฮันสัน และทีมงานของเขาได้ค้นพบกระดูกของสัตว์เพศเมียที่โตเต็มวัยแต่ตัวเล็ก ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสมาชิกในตระกูลของเราที่สูญหายไปนาน โครงกระดูกโบราณนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและวิเคราะห์โดยนักวิจัย แต่การประชาสัมพันธ์ข่าวก็เพียงพอแล้วที่จะผลักดันให้ ‘เธอ’ กลายเป็นฟอสซิลที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์

“(ในเวลานั้นมี) ความสนใจอย่างกว้างขวางมากเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์” โจฮันสัน กล่าวและว่า การค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในแอฟริกาใต้ได้ค่อย ๆ เติมเต็มเรื่องราวของมนุษย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษในยุคแรกของเรามีวิวัฒนาการยืนตัวตรงมาตั้งแต่หลายล้านปีก่อน ตามมาด้วยหลักฐานที่เชื่อมโยงว่าเรามีสมองขนาดใหญ่และความสามารถในการใช้เครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม ฟอสซิลที่ขุดพบในขณะนั้นยังเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ โดยมีเพียงกะโหลกศีรษะและเท้าบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งยังมีอายุไม่เกิน 1.75 ล้านปีซึ่งอายุน้อยกว่าที่คาดว่าบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์จะมีอย่างมาก

กระนั้น “ลูซี่” ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ในด้านอายุและความสมบูรณ์ พร้อมทั้งยืนยันแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมนุษย์ไปสู่การเดินตัวตรง และแม้ฟอสซิลอื่น ๆ ในทุกวันนี้จะสร้างความสำเร็จเหนือกว่าเธอไปแล้ว แต่ลูซี่ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วมากว่า 50 ปี ซึ่งเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ของซากดึกดำบรรพ์นี้ได้ผูกพันกับเรื่องราวทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่แรกเริ่ม

ตำนานการค้นพบลูซี่ 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1974 โจฮันสัน กำลังค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์โบราณที่อาจเป็นเครือญาติมนุษย์โฮมินินในพื้นที่ที่เรียกกันว่า ‘ฮาดาร์’ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอาฟาร์ (Afar) ของเอธิโอเปีย

เขาสังเกตเห็นกระดูกปลายแขนที่โผล่ขึ้นมาจากเนินเขาที่ถูกกัดกร่อน โจฮันสัน และทีมภาคสนามของเขาได้รวบรวมกระดูกดังกล่าวและกลับมายังค่ายพักเพื่อฉลองยินดีในเย็นวันนั้นพร้อมกับร้องเพลง ‘Lucy in the Sky With Diamonds’ ซึ่งเป็นเพลงยอดนิยมของวง ‘เดอะบีเทิลส์’

เช้าวันถัดมาพวกเขาได้ขุดซากโฮมินินที่เหลืออยู่ภายใต้ความร้อน 38.3 องศาเซลเซียส และเริ่มเรียกโครงกระดูกดังกล่าวว่า ‘ลูซี่’ แต่ในวงการวิทยาศาสตร์เธอจะถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า ‘AL 288-1’ และในเอธิโอเปียจะถูกเรียกว่า ‘Dinkinesh’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘คุณช่างน่าทึ่งมาก’ ในภาษาอามฮารา (Amharic)

ทีมรวบรวมโครงกระดูกของลูซี่ได้ประมาณร้อยละ 40 โดยมีขากรรไกรล่าง ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง ซี่โครง แขน กระดูกเชิงกราน และขาของเธอมาประกอบกัน ปรากฎว่าเธอเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่กลับสูงเพียง 1 เมตรเศษ ๆ

ชิ้นหินภูเขาไฟในบริเวณที่ขุดพบฟอสซิลระบุว่า ลูซี่มีอายุอย่างน้อย 3.2 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่เกือบเป็น 2 เท่าของบรรพบุรุษมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกันในตอนนั้น นอกจากนี้โครงกระดูกที่เก่าแก่รองลงมาในเวลานั้นก็มีอายุเพียง 100,000 ปีเท่านั้น

“เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุด” บอยซ์ เรนสเบอร์เกอร์ (Boyce Rensberger) นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์ของนิวยอร์กไทม์ กล่าวและนั่นทำให้ ลูซี่เป็นฟอสซิลที่ไม่เหมือนใคร เพราะทั้งเก่าแก่และน่าทึ่ง

จากการวิเคราะห์เศษกะโหลกศีรษะที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ และสิ่งค้นพบอื่น ๆ ที่ฮาดาร์ บ่งบอกว่าลูซี่น่าจะมีสมองขนาดเล็กเท่าชิมแปนซีและมีใบหน้าที่ยื่นออกมา แต่โครงกระดูกส่วนที่เหลือแสดงให้เห็นว่าเธอมีท่าทางยืนตรงและคล้ายมนุษย์ที่สมบูรณ์

ในปี 1978 โจฮันสัน และเพื่อนร่วมงานของเขาได้จัดให้ลูซี่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการซึ่งก็คือ ‘ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส’ (Australopithecus afarensis มีความหมายว่า ลิงใต้ในภาษาละติน) และประกาศว่าเธอคือหลักฐานที่พิสูจน์ว่าบรรพบุรุษของเราเดินด้วยสองขา ก่อนที่จะวิวัฒนาการมามีสมองขนาดใหญ่

แม้ในตอนนั้นลูซี่จะยังไม่ได้กลายเป็นการค้นพบที่สร้างความฮือฮาในวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ ถึงแม้ว่าเธอจะแสดงให้เห็นว่ามีการเดินตัวตรงซึ่งเป็นลักษณะของบรรพบุรุษในแอฟริกา แต่ภูมิภาคนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติมานานหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับแนวคิดที่ว่ามีการเดินตัวตรงก่อนจะมีสมองขนาดใหญ่

กระนั้นความสำคัญทางวัฒนธรรมของลูซี่กลับขยายออกไปอย่างรวดเร็วเกินสถานะทางวิทยาศาสตร์ เธอมีทุกอย่างตั้งแต่แรกเริ่มทั้งในเชิงสัญลักษณ์จากชื่อเล่นที่ติดหู การค้นพบที่น่าตื่นเต้นของเธอ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้บรรยายที่กระตือรือร้นอย่าง โจฮันสัน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการผสมผสานที่ลงตัว

อะไรเป็นแรงผลักดันให้ลูซี่โด่งดัง

ในปี 1974 ครอบครัวลีคีย์ (Leakey family) ซึ่งประกอบด้วยแมรี่ หลุยส์ และริชาร์ด ได้ค้นพบฟอสซิลบรรพบุรุษมานานกว่าทศวรรษ โดยมีกะโหลกหลายชิ้น เครื่องมือหิน และฟอสซิลอื่น ๆ จากหุบเขาโอลดูไวในแทนซาเนียและริมฝั่งทะเลสาบเทอร์คานาในเคนยา ซึ่งปรากฏอยู่ในนิตยสารของเนชันเนล จีโอกราฟฟิก และอื่น ๆ

ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษที่ครอบครัวลีคีย์ค้นพบจะมีชื่อเล่นอย่าง ‘เดียร์บอย’ (Dear Boy) และ ‘นัทเครกเกอร์แมน’ (Nutcracker Man) ที่ออกข่าวบ้าง แต่บรรพบุรุษเหล่านี้ก็ไม่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังเลย “ไม่มีฟอสซิลใด ๆ ที่คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปเชื่อมโยงถึงได้เลย” เคย์ รีด (Kaye Reed) นักมานุษยวิทยาและโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา กล่าว

“ผมคิดเรื่องนี้มาตลอด” โจฮันสัน กล่าว “พยายามหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากมายขนาดนั้น” การเดินทางของลูซี่จากคนที่ไม่มีใครรู้จักในที่ราบสูงของเอธิโอเปีย สู่คนดังที่ได้รับการยอมรับในสนามบินนั้นทำให้แม้แต่ผู้ค้นพบเองก็ยังรู้สึกสับสน

“น่ารักและจำง่าย” หรืออาจเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าการค้นพบนี้ “เป็นเพียงโครงกระดูกบางส่วน” เขาครุ่นคิด “และจึงสามารถจดจำได้ในฐานะบุคคล” บางทีอาจเป็นเพราะชื่อเล่นของเธอที่ดูเหมือนเป็นมนุษย์มากเป็นพิเศษ

คนอื่น ๆ ยกย่อง โจฮันสัน ว่ามีการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ออกไปต่อสาธารณชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งในหนังสือของ โจฮันสัน เรื่อง Lucy: The Beginnings of Humankind ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1981 เองก็ขึ้นแท่นหนังสือขายดี หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาได้ไปอยู่ใน Good Morning America และซีรีส์จาก NOVA เรื่อง “In Search of Human Origins” ซึ่งถ่ายทำในเอธิโอเปีย

“เกือบทั้งหมดเราต้องขอบคุณงานเขียน บทสัมภาษณ์ และการบรรยายของโจฮันสัน” เซเรย์ อเล็มเซเก็ต (Zeray Alemseged) นักมานุษยวิทยาและโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยชิคาโก บอก

เมื่ออายุ 31 ปี โจฮันสันเองก็ดูสบายใจขึ้นเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้อง ขณะที่เดินไปในทะเลทราย เช่นเดียวกับตอนที่เขานั่งข้าง ๆ วอลเตอร์ โครไนต์ (Walter Cronkite) ในช่วงไฟรม์ไทม์ สื่อต่าง ๆ ได้บรรยาย โจฮันสัน ในเวลาต่อมาว่าเป็น ‘ชายที่สง่างามตามธรรมชาติ’ และ ‘อินเดียนา โจนส์ ในเครื่องแบบของอาร์มานี’

อย่างไรก็ตามเขาจำได้ว่าในตอนแรก “ค่อนข้างอึดอัดและต้องใช้เทคนิคจำนวนมาก” ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำจาก คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ผสมผสานกันของชื่อเล่น ความสมบูรณ์ และแนวทางของโจฮันสันทำให้ลูซี่ดูเข้าถึงได้ เขาไม่ได้ปฏิบัติกับเธอเหมือนกองกระดูกเก่า ๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่น แต่กลับทำให้เธอเป็นบุคคลที่มีความเป็นส่วนตัวในสารคดี

ตัวอย่างเช่น เขามักจะเตือนผู้ชมอย่างแยบยลว่าเธอเคยเป็นบุคคลที่มีชีวิตและหายใจได้ โดยอ้างถึงสถานที่ค้นพบของเธอว่าไม่ใช่แค่สถานที่ที่เขาพบฟอสซิลของเธอเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘จุดที่เธอเสียชีวิตเมื่อหลายล้านปีก่อน’

ต้นกำเนิดของมนุษย์ได้รับความสนใจ

บรรพบุรุษที่เป็นคนดีนี้ทำให้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ได้รับความสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมา โจฮันสัน ได้ก่อตั้งสถาบันไม่แสวงกำไรที่ชื่อว่า ‘สถาบันต้นกำเนิดมนุษย์’ (Institute of Human Origins) ในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1981 ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากกระแสนี้โดยเขาตัดสินใจว่าการเข้าถึงสาธารณชนควรเป็นเสาหลักขององค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม

ลูซี่ได้มอบช่องทางในการให้ความรู้แก่ผู้คน เป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “และบอกได้เลยว่านี่คือสิ่งที่เราทำ” รีด หนึ่งในคณาจารย์คนแรกของสถาบัน กล่าว

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เห็นคุณค่าของบุคลิกที่เปิดเผยต่อสาธารณชนนี้ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งภายในสถาบันเนื่องจากนักวิจัยบางนกล่าวหาว่า โจฮันสัน ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ข้อพิพาทสิ้นสุดลงด้วยการลาออกของนักธรณีวิทยาหลายคนและย้ายไปยังมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนาในปี 1997

เวลาเดียวกันนั้นเอง วิลเลียม คิมเบล (William Kimbel) เพื่อนร่วมงานของโจฮันสันได้โต้แย้งในหนังสือพิมพ์ ‘Phoenix New Times’ ว่า หากนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงาน “ไม่สามารถสื่อสารผลการวิจัยให้สาธารณชนทราบได้ แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติ” ดังนั้นการเข้าถึง การระดมทุน และการวิจัยจึงต้องดำเนินต่อไปพร้อม ๆ กัน

ความพยายามเหล่านี้ทำให้เงินทุนหันไปหาการทำงานภาคสนามซึ่งช่วยให้ ‘ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส’ กลายเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับการนำเสนอดีที่สุดในโลก ด้วยตัวอย่างมากกว่า 400 ตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงกะโหลกที่สมบูรณ์หลายชนิด แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้มีอายุตั้งแต่ 3.9 ถึง 3 ล้านปีก่อน และกินอาหารทั่วไป ซึ่งทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นกว่าโฮมินินรุ่นก่อน ๆ

มรดกของลูซี่คืออะไร?

นักวิจัยด้านวิวัฒนาการมนุษย์ในรุ่นปัจจุบันคือกลุ่มคนที่ลูซี่มให้ความรู้มา คริส คัมปิซาโน (Chris Campisano) นักมานุษยวิทยาโบราณ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา จำได้ว่าเขาเคยอ่านหนังสือของ โจฮันสัน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อทำโปรเจคฤดูร้อน และการกระทำครั้งนั้นได้จุดประกายความสนใจของเขาในการค้นหาฟอสซิลโฮมินินในแอฟริกา จนทำให้ปัจจุบันเขากลายเป็นผู้นำการวิจัยที่ฮาดาร์

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะได้เป็นผู้นำในโครงการนี้ในวันครบรอบ 50 ปีของการค้นพบลูซี่” เขา กล่าว

ปัจจุบันสถาบันที่ลูซี่สร้างขึ้นยังคงเป็นผู้นำการวิจัยด้านมานุษยวิทยาโบราณทั่วโลก การผสมผสานการศึกษาเข้ากับการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย ทำให้ผลกระทบขยายออกไปไกลเกินกว่าจะหยุดแค่ในฮาดาร์

ชื่อเสียงของฟอสซิลดังกล่าวมี “ผลกระทบแบบโดมิโน” อเล็มเซเก็ต ซึ่งเป็นชาวเอธิโอเปีย กล่าว เขาพบกับลูซี่ครั้งแรกขณะทำงานที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเอธิโอเปียในเมืองแอตดิสอาบามา ซึ่งปัจจุบันเธอได้รับการเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ

ในตอนที่ อเล็มเซเก็ต ยังเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกของสถาบัน เขานำทีมชาวเอธิโอทีมแรกไปยังแหล่งขุดค้นดิกิกา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอวัชจากฮาดาร์ ณ ที่นั่นเขาก็ได้พบกับลูกของลูซี่ในสภาพสมบูรณ์อย่างน่าทึ่งพร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า ‘เซเลม’ (Selam) ซึ่งแปลว่าสันติภาพ

เด็กคนดังกล่าวเสียชีวิตตอนอายุเพียงประมาณ 2.4 ปีโดยได้รับฉายาว่า “ลูกของลูซี่” อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะอยู่มีชีวิตอยู่ก่อนลูซี่กว่า 200,000 ปี แต่ท่ามกลางฟอสซิลของ ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ลูซี่ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางเช่นเดิม

“เป็นเรื่องยากมากที่คุณจะไม่พูดถึงลูซี่เมื่อมีการค้นพบใหม่ ๆ” อเล็มเซเก็ต กล่าว พร้อมกับเสริมว่าเธอได้กลายเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการเปรียบเทียบฟอสซิลอื่น ๆ ทั้งหมด “เมื่อคุณพบอะไรบางอย่าง ผุ้คนจะถามมันว่าเก่ากว่าหรืออายุน้อยกว่าลูซี่ สูงกว่าหรือเตี้ยกว่าลูซี่”

กระนั้นปัจจุบันลูซี่ก็ไม่ใช่บรรพบุรุษของมนุษย์ที่เก่าแก่หรือสมบูรณ์ที่สุดอีกต่อไปแล้ว มีการค้นพบ ‘ซาเฮลแอนโทรปัส ชาดเอนซิส’ (Sahelanthropus tchadensis) อายุ 7 ล้านปีและ ‘โอโรริน ทูเจเนนซิส’ (Orrorin tugenensis) อายุ 6 ล้านปีซึ่งกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันตำแหน่งที่เก่าแก่ที่สุด

อย่างไรก็ตามสถานะเชิงสัญลักษณ์ของลูซี่ก็ยังคงไม่มีใครทำซ้ำได้ แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามตั้งชื่อเล่นให้กับสิ่งที่ค้นพบไม่ว่าจะเป็น “อาร์ดิ’ (Ardi) ซึ่งเป็นคำย่อของ อาร์ดิพิเทคัส (Ardipithecus) ไปจนถึง ‘นีโอ’ (Neo) และ ‘เด็กแห่งความมืด’ (Child of Darkness) สำหรับตัวอย่างต่าง ๆ ของมนุษย์สายพันธุ์ โฮโม นาเลดี (Homo naledi) ของแอฟริกาใต้

ทว่าชื่อเล่นเหล่านี้ก็ยังไม่แพร่หลายพอจะเทียบเท่าลูซี่ได้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Thomas Ernsting, laif/Redux

 

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.