อรุณรุ่งแห่งยุคทองคำ

“พวกเขาทิ้งทรัพย์สมบัติอร่ามเรืองหลายพันชิ้นไว้เบื้องหลัง

ซึ่งได้แก่เครื่องทองเก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่รู้จัก

และปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ”

ลองถามใครก็ตามว่าขุมทรัพย์ทองคำใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่ใด พวกเขาน่าจะชี้ไปยังอารยธรรมยุคแรกเริ่มของเรา บางทีอาจจะเป็นอียิปต์ที่ขึ้นชื่อเลื่องลือเรื่องสุสานฟาโรห์อันเป็นตำนาน แต่คำตอบที่น่าประหลาดใจคือ ต้องมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปอีก นั่นคือที่วาร์นา เมืองบนฝั่งทะเลดำในประเทศบัลแกเรียปัจจุบัน

ที่นี่ ย้อนหลังกลับไปเกือบเจ็ดพันปีก่อน ศพผู้วายชนม์ได้รับการฝังพร้อมศิลปวัตถุน่าทึ่งนานาชนิด ขุมทรัพย์ที่ขุดพบตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และงานยังคงดำเนินอยู่  ไม่เพียงจุดกระแสความสนใจทั่วโลก แต่ยังเปลี่ยนความเชื่อของเราเกี่ยวกับโลกยุคโบราณ การค้นพบนี้ช่วยนิยามสิ่งที่นักโบราณคดีเรียกว่า วัฒนธรรมวาร์นา (Varna Culture) และจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือเครื่องทองขึ้นรูปด้วยมือมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด กระนั้น แม้จะใช้เวลาศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ตลอดหลายทศวรรษ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ก็ยังมีปริศนาหลายข้อที่ไร้คำตอบ

กำไลขัดเงารวมอยู่ในศิลปวัตถุ 339 ชิ้นที่ค้นพบในอนุสรณ์สถานผู้วายชนม์แห่งหนึ่งในนครสุสานยุคสหัสวรรษที่ห้า ก่อนคริสตกาล ใกล้กับเมืองวาร์นา ประเทศบัลแกเรียปัจจุบัน งานฝีมือเหล่านี้เป็นผลงานของอารยธรรมที่นักโบราณคดีตั้งชื่อว่า วัฒนธรรมวาร์นา (Varna Culture)
ช่างฝีมือน่าจะใช้ก้อนแร่ทองคำที่รวบรวมได้จากแม่น้ำใกล้เคียงมาสร้างงานศิลปะ เช่น ชิ้นงานรูปร่างคล้ายวัว ในภาพนี้

ราว 5000 ปีก่อนคริสตกาล รอบทะเลสาบวาร์นา ผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่งในภูมิภาคที่อำนวยต่อการเกษตร และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ในช่วงเวลานั้น มีแหล่งสินแร่ทองแดงใกล้เคียงสองแห่งผุดขึ้นมาตื้น ๆ และแม่น้ำลำธารในแถบนี้ของคาบสมุทรบอลข่านก็อุดมไปด้วยทองทราย (alluvial gold) เมื่อวัฒนธรรมวาร์นารุ่งเรืองขึ้น บรรดาโรงหล่อ ช่างตีเหล็ก ไปจนถึงช่างทำเครื่องประดับ ก็พัฒนาตาม ในยุคนี้ ผู้วายชนม์จะไม่ถูกฝังใกล้บ้านแล้ว แต่นำไปฝังในนครสุสานนอกเขตนิคมแทน ในสุสานโบราณเหล่านี้นี่เองที่การค้นพบอันมลังมเลืองที่สุดครั้งหนึ่งได้รับการเปิดเผย

ยุคทองทางโบราณคดีของบัลแกเรียนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 1972 เมื่อคนงานคนหนึ่งที่กำลังขุดคูสำหรับวางสายเคเบิลไฟฟ้าใกล้ทะเลสาบวาร์นา สังเกตเห็นวัตถุทำจากโลหะจำนวนหนึ่งส่องประกายอยู่ในดิน เขาติดต่อพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นศิลปวัตถุทองแดง ผู้เชี่ยวชาญตระหนักได้ทันทีว่า นี่คือช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในระเบียนสิ่งของที่พวกเขาจัดทำขึ้นระบุว่ามี “วัตถุทองคำ 27 ชิ้น มีดทองแดงหกเล่ม และแผ่นหินเหล็กไฟสามชิ้น” แล้วการขุดค้นก็เริ่มขึ้นทันที

อิวาน อิวานอฟ นักโบราณคดีผู้ล่วงลับ ในภาพถ่ายเมื่อปี 1982 ภาพนี้ อุทิศอาชีพของเขาให้กับการขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในวาร์นา หลังการค้นพบครั้งแรกเมื่อหนึ่งทศวรรษก่อนหน้า ในภาพนี้ เขาประคองชามดินเหนียว ใบหนึ่งที่ใช้ผงทองกลบร่องเป็นลวดลายเรขาคณิต (ภาพถ่าย: VARNA ARCHAEOLOGICAL MUSEUM ARCHIVE)

คนงานผู้นั้นได้พลิกหลุมฝังศพจากนครสุสานที่มีอายุย้อนไปถึงสหัสวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล วันแห่งโชคชะตานั้นคือจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาแห่งการค้นพบแสนพิเศษ ซึ่งระหว่างนั้นมีการขุดพบหลุมฝังศพ 294 หลุมในพื้นที่ขนาดราวสนามฟุตบอลหนึ่งสนาม ทว่างานโบราณคดีมีอันต้องปิดฉากลงในปี 1991 เมื่อการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์จะทำให้การขุดค้นหยุดชะงักไปหลายทศวรรษ

โบราณวัตถุมากกว่า 3,000 ชิ้นถูกค้นพบ โดยมีน้ำหนักรวมเกือบหกกิโลกรัม ในจำนวนหลุมฝังศพ 294 หลุม พบว่ามีศิลปวัตถุทองคำใน 62 หลุม แต่มากกว่าสองในสามของทองคำดังกล่าว กระจุกตัวอยู่ในหลุมศพเพียงสามหลุม

ในภาพนี้จะเห็นนครสุสานหลักระหว่างการขุดค้นเมื่อปี 1976 และมองเห็นทะเลสาบวาร์นาในฉากหลัง มีการขุดพบหลุมศพที่นี่รวม 294 หลุม (ภาพถ่าย: VARNA ARCHAEOLOGICAL MUSEUM ARCHIVE)

หลุมศพหมายเลข 43 จัดว่ามั่งคั่งที่สุดเท่าที่พบ ภายในละลานไปด้วยสิ่งของเป็นทองคำหลากหลาย นักโบราณคดีหนุ่มนาม อิวาน อิวานอฟ ซึ่งต่อมาจะอุทิศทั้งอาชีพของเขาให้กับแหล่งขุดค้นนี้ บรรยายไว้ว่า “โครงกระดูกผู้ชาย อายุราว 45-50 ปี… มีวัตถุเป็นทองคำ 990 ชิ้น น้ำหนักรวม 1,516 กรัม วัตถุเป็นทองคำนี้พบอยู่รอบๆ และบนโครงกระดูก”

สมบัติมากมายที่พบบอกเป็นนัยถึงสถานะโดดเด่นของชายดังกล่าว นอกจากสิ่งของต่างๆ แล้ว สัญลักษณ์          บ่งบอกถึงผู้มีอำนาจ เช่น คทาขวานในมือของเขา ทำให้นักโบราณคดีสรุปว่า นี่เป็นหลุมของผู้ปกครองที่มีอำนาจ ทั้งทางการเมืองและศาสนาอยู่ในมือ มันชี้ให้เห็นว่า ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งทะเลสาบวาร์นานี้ แท้จริงแล้วเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและศาสนา หรือเป็นอารยธรรมที่กำลังรุ่งเรืองนั่นเอง

ความซับซ้อนของวัฒนธรรมวาร์นามีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนางานฝีมือ โดยเฉพาะความช่ำชองในงานโลหกรรม ก่อนการค้นพบนครสุสานต่างๆ ในวาร์นา พร้อมศิลปวัตถุทองคำ นักโบราณคดีเชื่อว่า โลหกรรมถือกำเนิดขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย หรือที่เรียกกันว่า อู่อารยธรรมโลก

ประติมากรรมบุคคลสำคัญซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ปกครองรายหนึ่งในวัฒนธรรมวาร์นา สร้างขึ้นจากกะโหลกศีรษะที่ได้รับการถนอมไว้ส่วนหนึ่ง

การหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีที่เริ่มนำมาใช้ในทศวรรษ 1960  ทำให้สามารถระบุอายุศิลปวัตถุ ได้แม่นยำขึ้น “เพราะวิธีการนี้เอง ในปี 1973 นักโบราณคดีชาวอังกฤษ คอลิน เรนฟริว จึงตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีความเชื่อที่ยึดถือกันโดยทั่วไป งานโลหกรรมในคาบสมุทรบอลข่านถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศจากวัฒนธรรมในตะวันออกกลาง” นักโบราณคดี คาลิน ดิมิตรอฟ เท้าความหลัง

ไม่นานต่อมา ทฤษฎีของเรนฟริวก็ได้รับการยืนยันจากการค้นพบอีกอย่างหนึ่งในวาร์นา  ในปี 1976 หลุมศพสามหลุมในนครสุสานที่ใหญ่กว่าอีกแห่งหนึ่ง วัดอายุได้เก่าแก่กว่านครสุสานแห่งแรก แต่เชื่อมโยงอย่างแน่ชัดกับวัฒนธรรมเดียวกัน ในหลุมศพที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือหลุมศพหมายเลข 3 ปรากฏว่ามีศิลปวัตถุอยู่มากกว่า 1,000 ชิ้น รวมถึงลูกปัดทองคำ 31 ชิ้น การหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีของกระดูกพบว่ามีอายุอยู่ในช่วง 4750 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งหมายความว่า ลูกปัดที่พบรวมอยู่กับกระดูก เป็นทองคำขึ้นรูปด้วยมือมนุษย์เก่าแก่ที่สุด

โครงกระดูกของผู้ปกครองรายหนึ่งในวัฒนธรรมวาร์นาถูกค้นพบพร้อมศิลปวัตถุทำจากทองคำ 990 ชิ้น ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีวาร์นา ในสภาพเหมือนตอนแรกพบ

ทำไมจึงเป็นที่วาร์นา นอกจากทรัพยากรธรรมชาติและช่างฝีมือมีทักษะแล้ว สังคมแบบมีลำดับชั้น ซึ่งเป็นแห่งแรกที่มีการบันทึกไว้ กำลังก่อร่างขึ้น โดยมีการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง และงานหัตถกรรมทองคำก็เกี่ยวข้องกับลัทธิบูชาผู้นำและการแสดงสิทธิในอำนาจ นักวิจัยในงานศึกษาเมื่อปี 2015 ที่ตีพิมพ์ใน วารสารโบราณคดีเคมบริดจ์ (Cambridge Archaeological Journal) ระบุว่า “เท่าที่ผ่านมา ทองคำจะปรากฏในบันทึกทางโบราณคดี เมื่อพัฒนาการทางสังคมแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น”

หากวาร์นาเป็นศูนย์กลางทางโลหกรรมทองคำแล้ว ย่อมเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดวัฒนธรรมนี้จึงไม่เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นอารยธรรมหลักอย่างเมโสเตเมียหรืออียิปต์โบราณ

“เราพยายามหาคำอธิบายเรื่องนี้มาหลายทศวรรษแล้วครับ” วลาดีมีร์ สลาฟเชฟ จากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีวาร์นา กล่าวและเสริมว่า “การจะมีอารยธรรมสักอารยธรรมหนึ่งอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมระดับโอฬาร มีวัฒนธรรมการเขียน… หรือหลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า โครงสร้างรัฐ เราต้องมีประชากรที่อาศัยอยู่รวมกันในดินแดนขนาดใหญ่ และอยู่ใต้การปกครองเดียวกัน วาร์นาแสดงให้เห็นว่าอยู่บนเส้นทางนี้ เรามีโครงสร้างทางสังคม มีระบบลำดับชั้น มีโครงสร้างทางอำนาจปรากฏอยู่ช่วงหนึ่ง แต่พัฒนาไปได้แค่ถึงจุดหนึ่ง แล้วสังคมก็แตกสลายไป”

คทาขวานหินเคลือบทองคำที่ด้ามจับได้รับการบันทึกภาพพร้อมขวานทองแดง และเครื่องตกแต่งผ้าเป็นทองคำ คทาขวานซึ่งนักโบราณคดีตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ถูกจัดวางไว้ในมือของบุคคลซึ่งเป็นผู้ปกครอง
ในเครื่องประดับที่ทำจากลูกปัดหินคาร์เนเลียน ช่างฝีมือสร้างผลงานน่าทึ่งอย่างยิ่ง ลูกปัดได้รับการขัดเงา เจียระไน และมีน้ำหนักตรงตามมาตรฐาน นักวิจัยเสนอทฤษฎีว่า งานฝีมือที่เป็นเครื่องทองคือลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสังคม ที่มีลำดับชั้น และแบ่งแยกให้รู้ว่าใครคือผู้ถือครองอำนาจ

คำตอบที่เป็นไปได้ข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังสิ้นสุดสมัยน้ำแข็ง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีเริ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย ระดับทะเลและน้ำใต้ดินเพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยด้านภูมิอากาศบรรพกาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปจนล่วงเข้าสหัสวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ทุ่งเกษตรกรรมใกล้แม่น้ำและทะเลสาบน่าจะกลายเป็นหนองคลองบึง และเก็บเกี่ยวพืชผลลดลงอย่างมาก เมื่อสูญเสียวิถียังชีพ ผู้คนน่าจะอพยพไปอยู่ที่อื่น

พอถึงปลายสหัสวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล การตั้งถิ่นฐานย้ายจากชายฝั่งทะเลดำไปยังพื้นที่ตอนในของคาบสมุทรบอลข่าน ประชากรจำนวนหนึ่งเข้าไปอยู่ในเทือกเขาโรโดป ที่เหลืออพยพไปถึงฮังการีในปัจจุบัน กระนั้น เมื่อล่วงถึงต้นสหัสวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล ไม่มีนิคมแม้แห่งเดียวเหลือรอดอยู่ ทายาทผู้สืบทอดวัฒนธรรมนี้ก็เช่นกัน

เป็นไปได้เช่นกันว่า วิกฤติในสังคมวาร์นาอาจเกิดจากฉากทัศน์ต่างออกไป คาลิน ดิมิตรอฟเชื่อว่า ควบคู่กับปัจจัยอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดที่เป็นไปได้ ทองคำเองนั่นแหละที่กลายเป็นปัญหา  การทำเหมือง การสกัด และการสร้างงานฝีมือจากโลหะอ่อนชนิดนี้ อาจยังประโยชน์แก่เหล่าผู้นำ แต่ไม่ได้บรรเทาปัญหาเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งคือ การอยู่รอด “ระบบสะสมความมั่งคั่งทั้งหมดนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิผลเท่าไรนัก” ดิมิตรอฟกล่าวและเสริมว่า “การสะสมทองคำนำไปสู่ความสิ้นสูญทางทรัพยากร และทำให้สังคมอ่อนเปลี้ย”

เรื่องและภาพถ่าย

กราซิเมีย์ อันโดนอฟ

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


อ่านเพิ่มเติม : ทำไม ทองคำ ถึงเป็นวัตถุที่ล้ำค่า

แลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ทั่วโลก

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.