เมืองไทยในอดีต: ล้านนาเมื่อวันวาน

 เมืองไทยในอดีต: ล้านนาเมื่อวันวาน

บรรยากาศบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คนในหัวเมืองทางเหนือของไทยเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อยู่เนืองๆ เช่นสารคดีเรื่อง ตามหาไม้กระเบา หรือ Hunting for Chaulmoogra Tree ในฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 และอีกครั้งในสารคดีเรื่อง จับเสือที่ป่าเมืองน่าน หรือThe Warfare of the Jungle Folk ในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1928

เชียงใหม่คือศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาแต่พุทธศักราช 1839 ในสมัยพญามังราย ด้วยชัยภูมิลุ่มน้ำแม่ปิงที่เหมาะสม สายน้ำแม่ปิงเปรียบเสมือนสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงบำรุงเมืองทั้งด้านความเป็นอยู่ การเดินทาง และการค้า ด้วยเหตุที่ดินแดนนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างไทยกับพม่า ฉะนั้น การได้ล้านนาเป็นเมืองประเทศราชจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นฐานที่มั่นในการเกณฑ์กำลังคน เสบียงอาหาร อาวุธเกื้อกูลต่อการยกทัพ ในยุคที่มากด้วยการกรำศึกและผลัดแผ่นดินอยู่มิว่างเว้น

พระเจดีย์ประธานที่วัดเจดีย์เหลี่ยมหรือวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพญามังราย โดยใช้วิธีกระสวนแบบ (ลอกแบบ) จากพระเจดีย์วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
“ตนบุญแห่งล้านนา” ครูบาศรีวิชัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาให้เป็นหนึ่งในยุคที่ส่วนกลางแผ่ขยายอำนาจเข้าแทรกแซงการปกครองสงฆ์อย่างเข้มข้น

สองร้อยกว่าปีที่ล้านนาอยู่ในการปกครองของพม่าสิ้นสุดลงเมื่อล้านนาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ล่วงเข้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แม้ว่าเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของล้านนาจะสวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ แต่การสร้างความเข้มแข็งของบ้านเมืองยังคงทำได้ยากยิ่ง เพราะพม่ายังรุกรานดินแดนนี้อยู่เรื่อยมา

กลดคือเครื่องใช้จำเป็นเมื่อพระสงฆ์ต้องธุดงค์ไปจำวัดกลางป่าเขาเพื่อปลีกวิเวก

ตำนานอันเป็นที่เลื่องลือของ “เจ้าเจ็ดตน” เจ้าผู้ครองนครที่มีความผูกพันทางสายเลือดเจ็ดพระองค์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ได้อภิบาลผู้คนนับหมื่นแสนในดินแดนล้านนาอย่างประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้ศูนย์กลางของดินแดนล้านนาอย่างเชียงใหม่มีความเป็นปึกแผ่นและแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับในฐานะเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือที่สำคัญของไทย

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างของขัตติยนารี ผู้ดำรงเอกลักษณ์ของชาวล้านนาท่ามกลางธรรมเนียมของชาววังหลวงในพระนครได้อย่างสมพระเกียรติ

เมืองเชียงใหม่ผ่านการปกครองดูแลโดยเจ้าผู้ครองนครถึง 9 พระองค์ ทว่าในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8) ตรงกับช่วงการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสถาปนาเชียงใหม่เป็นเมืองหลักสำคัญในมณฑลพายัพ ซึ่งอำนาจในการปกครองจะขึ้นอยู่กับข้าหลวงประจำนครที่ส่งมาจากพระนคร เจ้าแก้วนวรัฐจึงเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของนครเชียงใหม่

บรรยากาศคึกคักยามเช้าที่กาดหลวง (ปัจจุบันคือตลาดวโรรส) เมืองเชียงใหม่ เมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ในยุคที่ป่ารกเพราะเสือยัง ชาวเหนือเรียนรู้วิธีดักจับสัตว์ป่าทั้งจับเป็นและจับตาย แผงท่อนซุงเสียบไม้ไผ่เหลาแหลมที่เห็นนี้มีไว้สังหารสัตว์ร้ายอย่างเสือโคร่ง
เราพอจะอนุมานระดับน้ำสูงสุดในแม่น้ำปิงฤดูน้ำหลากได้จากท่อนซุงที่ค้างเติ่งอยู่บนก้อนหินใหญ่กลางลำน้ำในช่วงหน้าแล้ง

แม้วันนี้ล้านนาจะไร้เจ้าผู้ครองนคร แต่อดีตทางวัฒนธรรมที่ยังคงปรากฏอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เป็นสิ่งที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า อาณาจักรแห่งนี้เคยรุ่งเรืองและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงรัตนโกสินทร์มากเพียงใด —มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ เรียบเรียง

 

อ่านเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ศรัทธาและศาสนา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.