เจ้าของกะโหลกศีรษะทรงยาว คือเจ้าสาวจากต่างแดน

เจ้าของ กะโหลกศีรษะ ทรงยาว คือเจ้าสาวจากต่างแดน

ในยุคสมัยของการโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Age) เมื่อราวคริสต์ศักราชที่ 300 – 700 กลุ่มอนารยชนที่ประกอบด้วยชาวกอทและชาวแวนดัลสัญจรท่องไปทั่วทวีปยุโรป ในช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยที่จักรวรรดิโรมันกำลังถดถอยเสื่อมอำนาจ ชนเผ่าหนึ่งนาม Bavarii ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานยังพื้นที่ที่กลายมาเป็นรัฐทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และในสุสานของชาว Bavarii นั้นเอง ทีมนักโบราณคดีพบเข้ากับตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มันคือ กะโหลกศีรษะ ของหญิงสาวที่มีรูปทรงยาว

การค้นพบครั้งนี้สร้างความสับสนให้แก่ทีมนักวิจัยมาเป็นเวลานาน สถานที่ที่พวกเขาพบนั้นคือพื้นที่ทางตะวันออกของฮังการีในปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปกำลังถูกยึดครองโดยชนเผ่าใหม่ผู้น่าเกรงขามนาม ชาวฮัน (Hun หรือออกเสียงว่า ชาวฮวน) และในสุสานทางตะวันตกของรัฐบาวาเรีย ของเยอรมนีเองก็มีรายงานพบกะโหลกศีรษะของหญิงสาวจำนวนมาก พวกเธอเป็นใครและมาทำอะไรที่นี่?

หนึ่งในทฤษฎีก็คือชาวฮันเหล่านี้รับเอาเทคนิคการบีบกะโหลกศีรษะมา แต่ผลการศึกษาใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่ลงในวารสาร PNAS ชี้ให้เห็นคำตอบใหม่นั่นคือ กะโหลกศีรษะรูปทรงไม่ธรรมดาที่ถูกพบในบาวาเรียเหล่านี้ ไม่ใช่ของชาวบาวาเรียน

ทีมนักวิจัยนานาชาติวิเคราะห์จีโนมของกระดูกที่ถูกฝังอยู่ในสุสานของชาวบาวาเรียนจำนวน 6 แห่ง ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 6 ในจำนวนผู้หญิง 26 คน มี 14 คนที่แสดงให้เห็นว่ามีกะโหลกศีรษะที่มีรูปร่างผิดปกติ ส่วนในผู้ชายมี 10 คนที่มีกะโหลกทรงยาว และพวกเขายังวิเคราะห์ตัวอย่างอีกห้าตัวอย่าง ในจำนวนนี้ประกอบด้วยทหารโรมันและหญิงสาวจากแหลมไครเมียและเซอร์เบีย

ผลการวิจัยพบว่า กะโหลกศีรษะทรงยาวไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุใดๆ แต่กลับถูกสร้างอย่างตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ด้วยความละเมียดละไมตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก เมื่อกะโหลกศีรษะยังคงอ่อนอยู่ และเมื่อเติบโตขึ้นกะโหลกศีรษะของพวกเขาจึงอยู่ทรง ทั้งนี้ทีมนักโบราณคดีไม่แน่ใจว่าเหตุผลเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับค่านิยมความสวยงาม, สุขภาพ หรืออื่นๆ กันแน่

 


มัมมี่จากอารยธรรมอียิปต์มีรอยสัก


 

ทีมนักวิจัยได้จัดลำดับข้อมูลจีโนมที่พวกเขาเก็บได้ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของชาวบาวาเรียนเหล่านี้ ในผู้ชายพวกเขาเป็นเกษตรกรจากชุมชนเล็กๆ ที่ดูไม่ต่างจากชาวยุโรปทั่วไป แต่สำหรับผู้หญิง พวกเธอแตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง และเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่การปรับเปลี่ยนรูปทรงของกะโหลกศีรษะเท่านั้น เพราะจีโนมของผู้ชายบ่งชี้ว่าพวกเขามีผมสีบลอนด์ ดวงตาสีฟ้า ในขณะที่ผู้หญิงมีดวงตาสีน้ำตาล ผมสีบลอนด์หรือสีน้ำตาล

แต่รูปลักษณ์เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของเรื่องทั้งหมด ทีมนักวิจัยได้เปรียบเทียบจีโนมของผู้คนในยุคนั้นกับผู้คนสมัยใหม่ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว และพวกเขาพบความแตกต่างอย่างมากระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

(โครงกระดูกเหล่านี้ฉายพิธีกรรมของคนเถื่อนชาวเจอร์มานิก)

 

ภาพเขียนจากศตวรรษที่ 16 แสดงให้เห็นอัตติลา ราชาแห่งชาวฮันกำลังเผชิญหน้ากับพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 ในคริสต์ศักราชที่ 452 นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาชนเผ่าผู้น่าเกรงขามนี้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในทวีปยุโรป หลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน
ภาพถ่ายโดย Intrtfoto, Alamy

จีโนมของผู้ชายสมัยใหม่มีความคล้ายคลึงกับผู้คนที่อาศัยอยุ่ในยุโรปทางตอนกลางและทางตอนเหนือ แต่จีโนมของผู้หญิงนั้นมีบรรพบรุษที่หลากหลายอย่างมาก โดยมีทั้งชาวยุโรปจากตะวันออกเฉียงใต้เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย หรือแม้แต่เอเชียตะวันออก

“ดูจากโบราณคดีเพียงอย่างเดียว พวกเขาอาจไม่แตกต่างกันมาก” Joachim Burger นักพันธุศาสตร์ประชากรจากมหาวิทยาลัย Mainz ผู้ร่วมการวิจัยครั้งนี้กล่าว “แต่จากจีโนมแล้ว พวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” จากผลการวิจัยเช่นนี้ ทีมนักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า หญิงสาวเหล่านี้เข้ามาอาศัยในพื้นที่และยอมรับประเพณีท้องถิ่น ว่าแต่ทำไมพวกเขาจึงมียีนที่แตกต่างกัน?

Burger เองยอมรับว่าตัวเขาก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่เขาและทีมวิจัยตั้งทฤษฎีบางประการขึ้นว่าชาวบาวาเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชนเผ่าอื่น ด้าน Susanne Hakenbeck นักประวัติศาสตร์โบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ผู้ใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมเรื่องราวของผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ในยุโรปเมื่อครั้งอดีตพบว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจนทางโภชนาการระหว่างชายและหญิง จากการวิเคราะห์ไอโซโทปของกระดูกในหนึ่งสุสาน

ฉะนั้น Hakenbeck จึงตั้งสมมุติฐานว่า หญิงสาวเหล่านี้คือเจ้าสาวจากต่างแดน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปทรงกะโหลกศีรษะเป็นวัฒนธรรมที่พบได้ในผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางและออสเตรียในเวลานั้น แต่ในภูมิภาคทางตะวันตกเช่น เยอรมนีปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าวกลับพบพียงน้อยนิด และเกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น

“ไม่มีใครคิดว่าการแต่งงานหรือการมีลูกจะเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลานั้น” Hakenbeck แต่ผลการศึกษาใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวผิด ดูเหมือนว่าการมาถึงของผู้หญิงต่างแดนเหล่านี้จะมีขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของการแต่งงานโดยเฉพาะ หรือบางทีนี่อาจเป็นผลพวงจากข้อตกลงของความสัมพันธ์ระหว่างดินแดน

อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ยังคงมีข้อจำกัด: นั่นคือสมมุติฐานดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับกลุ่มประชากรในภูมิภาคทั้งหมด รวมถึงตัวอย่างจากสุสานสองแห่งที่ทำการวิจัยนั้นก็เพิ่งถูกกลบฝังไม่นานมานี้ เมื่อเทียบกับสุสานที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทั้งนี้การที่บรรพบรุษของผู้หยิงเหล่านี้เดินทางมากจากแดนไกลก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของการอพยพเพื่อไปแต่งงานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จินตนาการถึงการเผชิญหน้าของกลุ่มหญิงสาวผมสีเข้ม ที่มาพร้อมกับกะโหลกศีรษะอันแปลกประหลาด กับกลุ่มชายหนุ่มเกษตรกรผมสีบลอนด์  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดูเหมือนฉากในซีรี่ส์จาก Netflix ใช่ไหม Burger เองก็เห็นด้วย “พวกเธอเป็นผู้หญิงต่างแดน ที่มาพร้อมกับกะโหลกไม่ธรรมดา เพื่อเติมเต็มสถานที่อันน่าเบื่อแห่งนี้” เขากล่าว “และการปะทะทางวัฒนธรรมก็เริ่มต้นขึ้น”

เรื่อง Erin Blakemore

 

อ่านเพิ่มเติม

ภาพถ่ายโบราณเผยความสวยงามของเจ้าสาวจากทั่วโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.