เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ชาวเมืองเก่าแตกฉานซ่านเซ็น บ้างถูกกวาดต้อนไปกับทัพพม่า แม้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงรวบรวมไพร่พลและประกาศตนเป็นไท ทว่าด้วยศรัทธาอันสั่นคลอนและจำนวนประชากรที่เหลือน้อย การฟื้นฟูราชอาณาจักรจึงเผชิญกับอุปสรรคมากมาย กรุงธนบุรีได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงท่ามกลางไฟสงครามที่ยังคุโชน ราชธานีใหม่ไม่มั่นคงและประเมินกันว่ามีพลเมืองราว 10,000 คนเท่านั้น เทียบไม่ได้กับราชธานีที่เคยมีพลเมืองสูงสุดถึงกว่า 200,000 คน
ต่อมาเหตุผลทางยุทธศาสตร์ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาเมืองที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นราชธานีแทนกรุงธนบุรี การก่อสร้างนครแห่งใหม่ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “กรุงเทพฯ ” เป็นไปอย่างรีบเร่ง โดยยึดพระราชวังหลวงเป็นศูนย์กลาง
การเพิ่มจำนวนประชากรมีหลายกรณี กรณีแรกเป็นไปอย่างแยบคาย นั่นคือการเกณฑ์ผู้คนจากหัวเมืองและประเทศราชมาเป็นแรงงานสำหรับงานโยธา ชาวลาว ไท และเขมร เป็นชาติพันธุ์ที่ถูกเกณฑ์มากที่สุด แรงงานเหล่านี้ก่อสร้างกำแพงเมืองและขุดคูคลองอย่างแข็งขัน แม้เรื่องราวของพวกเขาจะกินเนื้อที่เพียงไม่กี่ประโยคในราชพงศาวดาร ทว่าส่วนหนึ่งก็ได้รับพระราชทานที่ดินสำหรับตั้งรกรากในย่านต่าง ๆ เป็นสิ่งตอบแทน
เมื่อรวมกับชาวสยามเดิม จำนวนพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากช่วยสร้างเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว ยังเพิ่มชีวิตชีวาให้เมืองด้วย ย่านทำมาค้าขายและชุมชนต่าง ๆ บันดาลให้กรุงเทพฯ เป็นราชธานีที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่หนีภัยสงคราม ความแห้งแล้ง และด้วยเหตุผลอื่นๆอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก และชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนา และทำธุรกิจ
ชาวเมืองส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบยังชีพ เนื่องจากระบบการค้ายังคลังหลวงเป็นผู้ผูกขาด ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจในการผลิตเพื่อหากำไรจากผลผลิตส่วนเกิน ทำหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง (หลังปี พ.ศ. 2398 ) เกษตรกรรมแบบการตลาดจึงเริ่มพัฒนาขึ้น นับเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีผู้คนอพยพเข้ามายังกรุงเทพฯเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจเสรี
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ค่อยๆผสานไปในทิศทางเดียวกันเมื่อสำนึก “ชาตินิยม” ก่อร่างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังการทำหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง สยามต้องแสวงหาความ “ศิวิไลซ์” บางประการเพื่อให้มีจุดต่างสำหรับต่อกรกับชาติตะวันตกที่อ้าวว่ามีอารยธรรมเหนือกว่า ความพยายามของชนชั้นนำคือการสร้างความกลมเกลียวหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผ่านเบ้าหลอมต่างๆ เช่น ภาษา ศิลปะ ศาสนา และประเพณี
สำนึกชาตินิยมเข้มข้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อชนชั้นนำสมาคมกับชาวตะวันตกมากขึ้น และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองมีพระราชประสงค์จะเร่งรัดพัฒนาประเทศ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ทำให้จำเป็นต้องกำหนดอัตลักษณ์สยาม เพื่อสร้างความแตกต่างจากอารยธรรมภายนอกและเพื่อประโยชน์ในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนต่อชาติอาณานิคม
ภาษาไทยแบบเข้าใจง่ายได้รับการเผยแพร่ผ่านพระพุทธศาสนา ประเพณี 12 เดือนเป็นเครื่องมือสร้างสำนึกร่วมของคนในชาติ แนวคิดเช่นนี้แผ่ขยายไปทั่วทั้งราชอาณาจักร ไม้เว้นแม้แต่ในกรุงเทพฯ กระทั่งเกิดการลงทะเบียนคนต่างด้าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามมาด้วยพระราชบัญญัติแปลงสัญชาติ พ.ศ. 2454 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ชาวต่างชาติในสยามจึงต้องเลือกสัญชาติให้ชัดเจน แม้ชนเหล่านี้จะพูดภาษาไทยไม่ได้เลยก็ตาม
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 กระบวนการสร้างชาตินิยมยังคงเข้มข้นและดำเนินโดยชนชั้นนำกับปัญญาชน มโนทัศน์ความเป็นไทยที่สวยงามค่อยๆผสานความแตกต่างทางชาติพันธุ์ไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระบวนการสร้างชาติไทยเพื่อเป็นผู้นำแห่งแหลมทอง ด้วยฝีมือของ “สถาปนิกวัฒนธรรม” ชั้นครูอย่างหลวงวิจิตรวาทการ อาจก่อคำถามในใจชนรุ่นหลังว่า “รัฐนิยม” จะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้อย่างไร
กระบวนการสร้างชาตินิยมก่อให้เกิดการต่อต้านทางชาติพันธุ์ไม่น้อย เช่น กรณีชายแดนใต้และกบฏผีบุญที่อีสาน แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับในภูมิภาคอื่นๆ จะมีก็แต่ความหวาดหวั่นของผู้ปกครองเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ชาวจีนจำนวนมากเป็นผู้กุมเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ หรือกระบวนการชาตินิยมจีนในสมัย ดร. ซุนยัดเซ็น ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงในกลุ่มชนชั้นนำว่าอาจเป็นภัย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์นั้น
ท้ายที่สุดแล้ว พันธุกรรมของคนกรุงเทพฯก็ผสมปนเปจนสับสน ทว่านั่นแหละคือตัวตนของสามัญชนกรุงเทพฯ นครซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันเผ่า และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นมรดกของกาลเวลา พร้อมคำถามที่ว่า “คนกรุงเทพฯ” มีจริงหรือไม่
ชมภาพถ่ายเมืองไทยในอดีตเพิ่มเติม