กระแส “ออเจ้า” ที่ไม่ว่าเดินไปไหนมาไหนต้องได้ยินคำนี้เข้าหู เป็นใครก็อดไม่ได้ที่จะลองดู “บุพเพสันนิวาส” สักตอน หลายคนดูแล้วอยากจะย้อนเวลาไปสัมผัสวิถีชีวิตคนโบราณแบบนางเอกบ้าง พลางจินตนาการเข้าข้างตัวเองไปไกลว่าองค์ความรู้และทักษะที่ตนมีน่าจะช่วยอาณาจักรอยุธยาให้เรืองอำนาจขึ้นมาในด้านใดด้านหนึ่ง!
นอกเหนือจากความตื่นตาตื่นใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยในสมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้สนุกและสมจริงขึ้นเห็นจะเป็นภาษา ก็คำว่า “ออเจ้า” “เทื้อคาเรือน” “ฟะรังคี” ล้วนเป็นคำแปลกหูสำหรับคนทั่วไป จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร ฟังเสียงคุณพี่หมื่นเอ็ดแม่การะเกด อดสงสัยขึ้นมาไม่ได้ว่าผู้คนในสมัยอยุธยาเขาพูดจากันเช่นนี้จริงหรือ? เรื่องศัพท์แปลก ศัพท์โบราณพอเข้าใจได้ว่าต้องมี ทว่าสำเนียงหรือการออกเสียงเล่า มิต้องไปไกลถึงย้อนเวลาสามร้อยปี เอาแค่คนรุ่นนี้สื่อสารกับผู้เฒ่าผู้แก่ ยิ่งมาจากต่างจังหวัดด้วยแล้ว ก็เข้าใจได้ไม่ครบถ้วน ถ้าเช่นนั้นหากแม่เกศสุรางค์สามารถย้อนเวลาได้จริง ๆ จะฟังออกฤาว่าคุณพี่หมื่นเอ็ดว่ากระไร?
ความแตกต่างของภาษาไทยในสองยุคสมัย
หากคุณผู้อ่านลองพลิกหน้ากระดาษของหนังสือ “จินดามณี” “บันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศสของโกษาปาน” หรือ “จดหมายเหตุโกษาปาน” ดูจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของรูปแบบการเขียนภาษาไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน และคงอ่านออกบ้าง อ่านไม่ออกบ้าง หรืออ่านออกแต่ไม่เข้าใจเลย นั่นเป็นเพราะอักขรวิธีและไวยากรณ์ที่ผิดเพี้ยนไปมากในสายตาคนปัจจุบัน
อ.ดร.วิภาส โพธิแพทย์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างของความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ “วรรณยุกต์” ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือช่วงอยุธยาตอนกลางนั้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้รูปวรรณยุกต์เพียงสองรูปเท่านั้นคือรูปเอกและรูปโท แต่แปลกไปกว่านั้นก็คือดูเหมือนว่าคนไทยโบราณจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องวรรณยุกต์มากนักจึงใส่วรรณยุกต์บ้างไม่ใส่บ้าง เช่น คำว่า “ทั้งปวง” ปรากฏในบันทึกเอกสารโบราณของโกษาปานว่าเขียนเป็น “ทังปวง” “เข้าใจว่าคนสมัยก่อนน่าจะดูตามบริบทว่าคำ ๆ นี้มีความหมายว่าอะไร ส่วนสาเหตุที่ไม่ปรากฏก็มีความเป็นไปได้หลายอย่างครับ อาจจะลบเลือนไปตามกาลเวลา หรืออาจเขียนตามเสียงที่คนสมัยนั้นออกจริง ๆ” อาจารย์วิภาสกล่าว รูปวรรณยุกต์ตรีกับจัตวาเพิ่งจะมาปรากฏในเอกสารสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมักใช้กับคำยืมที่มาจากภาษาจีน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยมากเมื่อลองอ่านเอกสารโบราณคือการใส่ไม้ยมก (ๆ) ขอยกตัวอย่างชัด ๆ จากประโยคในบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศสของโกษาปาน หน้าที่ 5 “ในวันเดียวนั้น หญิงเมียฝีดาวู 3 คน อยู่ไกลเมืองแบรศ 4 โยชน์ มาทักข้าพเจ้า ๆ ก็ปราศรัยรับส่งตามสมควรด้วยผู้มานั้น”
จะเห็นว่าคำว่า “ข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นคำซ้ำถูกแทนที่ด้วยไม้ยมก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าผิดหลักภาษาไทยเพราะไม่มีใครใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำที่เป็นคำคนละหน้าที่กัน ข้าพเจ้าตัวแรกเป็นกรรม ส่วนข้าพเจ้าตัวที่สองเป็นประธาน ฉะนั้นแล้วหากเขียนแบบนี้ในปัจจุบันถือว่าผิด แต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใดที่จะใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำ ดูเหมือนว่าคนไทยสมัยก่อนจะสร้างรูปแบบของอักขรวิธีโดยมีแนวคิดมาจากการทำอะไรให้ง่ายเข้าไว้ “แต่ปัจจุบันมีนิสิตเขียนแบบนี้นะครับ” อาจารย์วิภาสกล่าวติดตลก ไม่น่าเชื่อว่าอักขรวิธีที่เลิกใช้ไปแล้วจะกลับมาอีกครั้ง!
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของรูปแบบภาษาเขียนที่แตกต่างจากในปัจจุบัน แต่ปัญหาก็คือบันทึกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นานัปการนี้ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วแท้จริงผู้คนในสมัยพระนารายณ์เขาออกเสียงกันอย่างไร? แล้วจะทราบได้อย่างไรในเมื่อไม่มีใครย้อนเวลาได้สักคน?
ไขคำตอบจากจินดามณี
“จะรู้ได้อย่างไรว่าคนสมัยก่อนออกเสียงอย่างไร ต้องดูจากหลักฐานหลายอย่างประกอบกันครับ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เช่นกันกล่าว โดยระบุว่าจินดามณีฉบับของพระโหราธิบดีเป็นฉบับที่ใช้ในการหาคำตอบได้ดี เนื่องจากภายในให้ข้อมูลชัดเจนว่าการจะออกเสียงภาษาไทยนั้นควรผันอักษรอย่างไร “ในจินดามณีระบุว่า เสียงวรรณยุกต์ต้องออกเสียงสูง ข้างในเขาจะเขียนไว้ชัดเจนเลยว่ารูปเอกอยู่บนบรรทัดที่สูงกว่ารูปสามัญ” ว่าแล้วอาจารย์พิทยาวัฒน์ ก็ลองผันอักษร กา ก่า ก้า ในแบบของชาวอยุธยาให้ฟัง ซึ่งผลที่ออกมาแปร่งหูใช้ได้เลยทีเดียว
อีกหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนของการออกเสียงก็คือสระสั้น-ยาว “ประเด็นนี้ไม่ได้มีหลักฐานระบุไว้ครับ แต่เราสืบหาร่องรอยได้จากในภาษาอื่น ๆ ที่อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะไดได้ เช่น ในภาษาลาว, ไทยใหญ่ หรือในภาษาคำเมืองเองคำบางคำที่ในสมัยก่อนออกเสียงยาวก็ยังคงออกเสียงยาวอยู่ หรือคำที่ออกเสียงสั้นก็ยังคงเหมือนเดิม” อาจารย์พิทยาวัฒน์กล่าว ดูเหมือนว่าคนที่เป็นฝ่ายเปลี่ยนไปจะมีแต่เราชาวกรุงเทพฯ ที่ออกเสียงสระสั้นยาวบางคำผิดเพี้ยนไปจากอดีต “ถ้าดูจากเอกสารของพจนานุกรมสัพะพะจะนะในสมัยรัชกาลที่ 4 จะเห็นว่าคำต่าง ๆ ยังมีลักษณะการออกเสียงแบบดั้งเดิมอยู่ ดังนั้นเราก็สามารถสรุปได้ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์สระบางคำยังไม่ได้ยืดขึ้นหรือหดลงเช่นในปัจจุบัน”
คุยกับคุณพี่หมื่น
เมื่อถามว่าหากเราสามารถย้อนเวลาได้จริง ในเมื่อภาษาไทยมีคำศัพท์และสำเนียงที่ต่างจากปัจจุบันอยู่พอควร ถ้าเช่นนั้นเราจะสามารถพูดคุยสื่อสารกับผู้คนในอดีตได้หรือไม่? 80 – 90% คือตัวเลขที่อาจารย์พิทยาวัฒน์ ประมาณให้ว่าสื่อสารได้อย่างแน่นอน “สำหรับคนไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ผมคิดว่าสื่อสารได้ไม่มีปัญหาครับ เพราะว่าคำศัพท์พื้นฐานก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก” ส่วนเรื่องสำเนียงหากใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวให้คุ้นหูได้
“ถ้าย้อนเวลาได้ ผมอยากจะดูมากเลยครับว่าผู้คนสมัยก่อนเขาใช้ศัพท์กันอย่างไร ออกเสียงกันอย่างไร เพราะว่าในการศึกษาภาษาพูดของผู้คนสมัยโบราณ เรามีหลักฐานน้อยมากครับต้องอาศัยการปะติดปะต่อเชื่อมโยงมากเหมือนกัน” อาจารย์พิทยาวัฒน์กล่าว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงคงสนุกน่าดู ถ้าบรรดานักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์มีโอกาสได้เห็นอดีตปรากฎขึ้นอยู่ตรงหน้า ทุกการกระทำ ทุกอิริยาบถของผู้คนในสมัยนั้นคงถูกจับจ้องด้วยสายตากระหายใคร่รู้ องค์ความรู้ที่เคยศึกษาและคาดเดากันมาอาจเปลี่ยนแปลง เมื่อรากเหง้าที่แท้จริงของเราถูกเปิดเผย “ปัจจุบันมันเป็นผลของอดีตครับ ฉะนั้นการศึกษาอดีตของภาษาไทยจึงช่วยให้เราทำความเข้าใจได้ว่าทำไมภาษาที่เราใช้กันทุกวันนี้จึงเป็นแบบนี้ และมันมีที่มาอย่างไร” นอกจากนั้นอาจารย์พิทยาวัฒน์ยังเสริมว่าภาษาเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดตลอดจนความเชื่อของผู้คนในสมัยก่อน ดังนั้นแล้วหากเราเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาโบราณเหล่านี้ ก็อาจเปรียบได้กับการย้อนเวลาเช่นกัน
“ขณะนี้ที่เรากำลังพูดภาษาไทยกันอยู่ก็ภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ ทุกวันนี้ภาษาไทยรับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราประยุกต์คำมาจากภาษาเขมรหรือบาลี อีกหนึ่งเรื่องคือเสียงของวรรณยุกต์ที่เปลี่ยนไปครับ ถ้าเทียบกับเมื่อ 50 – 60 ปีที่แล้ว เสียงเอก โท ตรี ก็ไม่เหมือนทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นทีละน้อย ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าภาษาไทยในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร” อาจารย์พิทยาวัฒน์กล่าวปิดท้ายถึงแนวโน้มของภาษาไทยในอนาคต
เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก
ภาพ สรวิชญ์ ลือชาการ
อัตโนจะลาท่านไป แลขอให้ท่านทั้งปวงอยู่เป็นสุขเถิด ข้าพเจ้าตอบว่า อัตโนขอบใจท่านนักหนา อัตโนขอพรแก่พระเป็นเจ้าให้ชีต้นอยู่เป็นสุข แลให้ได้บำรุงศาสนาพระเป็นเจ้า ให้เป็นกุศลสืบไป ครั้นแล้วก็ลาไป
บันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศสของโกษาปานหน้าที่ 3 สนทนากับคณะบาทหลวงคาเมลีต ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนานิกายหนึ่งที่แพร่หลายในฝรั่งเศสสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 4
ขอบคุณข้อมูลจาก
อ.ดร.วิภาส โพธิแพทย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์
จินดามณี กรมศิลปากร
ย้อนรอยโกษาปาน “ต้นทางฝรั่งเศส” นิราศสยามต่างแดนเล่มแรก
ประชุมจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร
จากลายสือไทยสู่อักษรไทย
ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส
อักษรไทยโบราณ ลายสือไทย และวิวัฒนาการอักษรของชนชาติไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
คำศัพท์
อัตโน = ข้าพเจ้า
ออเจ้า = สรรพนามเรียกเธอ ใช้กับผู้ที่มีศักดิ์น้อยกว่า
เทื้อคาเรือน = หญิงสาวที่ถึงวัยต้องออกเรือนแล้วแต่ยังไม่มีคู่ครอง
ฟะรังคี = ฝรั่ง หรือชาวต่างชาติ
ฝีดาวู = ชนชั้นผู้ดีมีตระกูล มาจากคำว่า Fidalgo ในภาษาโปรตุเกส
เมืองแบรศ = เมือง Brest เมืองท่าชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส
แลก็ = และ, กับ
สะเอือะ = น้ำข้นๆ ลอยเป็นฝาจับอยู่บนของเหลว เช่น สะเอือะนม
ลูกบ้าดำ = ผลไม้ชนิดหนึ่ง
ชีต้น = ใช้เรียกพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
อ่านเพิ่มเติม