สีผิวที่แตกต่าง

สีผิวที่แตกต่าง

การวิจัยทางพันธุกรรมเปิดเผยความจริงอันลึกซึ้งสองประการเกี่ยวกับมนุษย์ ประการแรกคือ มนุษย์ทุกคนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่ชิมแปนซีทั้งหมดเกี่ยวข้องกันเสียอีก มนุษย์แต่ละคนมีชุดพันธุกรรมเหมือนๆ กัน ถ้าไม่นับแฝดร่วมไข่แล้ว ทุกคนมีพันธุกรรมบางส่วนที่ต่างกันไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สร้างพงศาวลีของประชากรมนุษย์ขึ้นมาใหม่ได้ และนั่นก็เผยความจริงประการที่สอง ซึ่งก็คือ มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็นคนแอฟริกา

เผ่าพันธุ์ โฮโม เซเปียนส์ ของเราวิวัฒน์ขึ้นในแอฟริกา ไม่มีใครรู้เวลาหรือสถานที่ที่แน่นอน ฟอสซิลล่าสุดที่ค้นพบจากโมร็อกโกบ่งชี้ว่า ลักษณะทางกายวิภาคของมนุษย์สมัยใหม่เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อ 300,000 ปีก่อน ราว 200,000 ปีถัดจากนั้นเราก็ยังอยู่ในแอฟริกา แต่ในช่วงเวลานั้น มนุษย์หลายกลุ่มเริ่มเคลื่อนย้ายไปยังส่วนต่างๆ ของทวีป และค่อยๆ แยกตัวออกจากกลุ่มอื่น ทำให้เกิดการสร้างประชากรกลุ่มใหม่ๆ ขึ้น

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดจากการกลายพันธุ์แบบสุ่ม เป็นการเปลี่ยนแปลง  เพียงเล็กน้อยในดีเอ็นเอหรือรหัสพันธุกรรมของชีวิต การกลายพันธุ์เกิดขึ้นในอัตราคงที่ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ยิ่งมนุษย์กลุ่มใดดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยาวนาน การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของยีนเหล่านี้ก็จะยิ่งสะสมสืบต่อไปเรื่อย ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มสองกลุ่มยิ่งแยกออกจากกันนานเท่าใด การเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลดีเอ็นเอของทั้งสองเหมือนกันเกือบร้อยละ 99 แน่นอนว่ายีนของมนุษย์สองคนไหนๆ ก็เหมือนกันมากกว่านั้น แต่หลังจากบรรพบุรุษรุ่นก่อนเป็นมนุษย์ของเราสลัดขนออกไป เราก็วิวัฒน์ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดมากในสีผิว การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของดีเอ็นเอทำให้เกิดความแตกต่างที่ว่านี้ การสร้างเม็ดสีคล้ำอาจช่วยบรรพบรุษของเราให้เผชิญกับแสงแดดในแอฟริกาได้ แต่เมื่อมนุษย์อพยพออกจากแอฟริกาไปสู่ภูมิภาคที่มีแสงแดดน้อย ผิวสีอ่อนกลับกลายเป็นข้อดี

จากการวิเคราะห์ยีนของชาวแอฟริกันในปัจจุบัน นักวิจัยสรุปว่า ชาวคอยซาน (Khoe-San) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแอฟริกา เป็นสาขาเก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่งของพงศาวลีมนุษย์ ชาวปิกมีในแอฟริกากลางก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะกลุ่มชนที่โดดเด่นเช่นกัน ความผิดแผกแตกต่างกันอย่างที่สุดในสาแหรกตระกูลมนุษย์ไม่ได้อยู่ตรงสิ่งที่เรามักคิดกันว่าเป็นเชื้อชาติ แต่อยู่ที่ความแตกต่างกันของประชากรแอฟริกันอย่างชาวคอยซานกับชาวปิกมี ซึ่งใช้ชีวิตแยกขาดจากกันหลายหมื่นปี ตั้งแต่ก่อนมนุษย์เดินทางออกจากทวีปแอฟริกา

พันธุกรรมบอกเราว่า คนที่ไม่ใช่ชาวแอฟริกันทั้งหมดในปัจจุบัน ล้วนเป็นลูกหลานของมนุษย์สองสามพันคนแรกที่ทิ้งแอฟริกาไปเมื่อราว 60,000 ปีก่อน ผู้อพยพเหล่านี้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออก รวมถึงชาวฮัดซาในแทนซาเนีย เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงกลุ่มย่อยเล็กๆของประชากรในแอฟริกา ผู้อพยพกลุ่มนั้นจึงพาเพียงเสี้ยวหนึ่งของความหลากหลายทางพันธุกรรมติดตัวไปด้วย

 

คนเก็บของป่าล่าสัตว์ชาวฮัดชาในแทนซาเนียอย่าง ออนโดชี สเตฟาโน เป็นหนึ่งในบรรดาเครือญาติใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ของมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางออกจากทวีปแอฟริกา

บนเส้นทางอพยพตรงไหนสักแห่ง บางทีอาจเป็นตะวันออกกลาง นักเดินทางกลุ่มนั้นได้พบและผสมพันธุ์กับมนุษย์ชนิดพันธุ์อื่น นั่นคือนีแอนเดอร์ทัล และยังพบกับมนุษย์เดนีโซแวนซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันออกด้วย เชื่อกันว่ามนุษย์ทั้งสองชนิดพันธุ์วิวัฒน์ขึ้นในยูเรเชียจากมนุษย์ โฮโม ไฮเดลเบอร์เกนซิส ซึ่งอพยพออกจากแอฟริกาก่อนหน้านั้นนานแล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนยังเชื่อว่า การอพยพครั้งใหญ่เมื่อ 60,000 ปีก่อน แท้จริงแล้วเป็นคลื่นระลอกที่สองของมนุษย์สมัยใหม่ที่ทิ้งแอฟริกาไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อพิจารณาจากจีโนมของเราที่ไม่ใช่ชาวแอฟริกันในทุกวันนี้ คลื่นผู้อพยพระลอกสองย่อมต้องมหาศาลกว่าระลอกแรกเป็นอันมาก

ลูกหลานของผู้อพยพเหล่านั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก พอถึง 50,000 ปีก่อน พวกเขาเดินทางถึงออสเตรเลีย 5,000 ปีต่อมาหรือ 45,000 ปีก่อน ได้ลงหลักปักฐานในไซบีเรีย และล่วงถึง 15,000 ปีที่แล้ว ก็เดินทางถึงอเมริกาใต้ ขณะเคลื่อนย้ายพวกเขาก่อร่างสร้างกลุ่มใหม่ๆซึ่งเริ่มโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์จากกลุ่มอื่นๆ และได้รับชุดพันธุกรรมที่กลายพันธุ์อย่างเด่นชัดมาด้วย

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่เกิดประโยชน์หรือให้โทษ แต่บางโอกาสการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อได้เปรียบในสิ่งแวดล้อมใหม่ ภายใต้แรงกดดันของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) การกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชากรท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างเช่นในพื้นที่สูงซึ่งมีระดับออกซิเจนต่ำ สำหรับกลุ่มคนที่อพยพสู่ที่ราบสูงเอธิโอเปีย ทิเบต หรือที่ราบสูงอัลติปลาโนบนเทือกเขาแอนดีส การกลายพันธุ์ชั้นเลิศช่วยให้พวกเขาเผชิญกับอากาศที่เบาบางได้ เช่นเดียวกับที่ชาวอินูอิตซึ่งได้รับอาหารจากทะเลที่อุดมด้วยกรดไขมัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่ช่วยให้พวกเขาปรับตัวกับอาหารประเภทนั้นได้

ทั่วโลกในปัจจุบัน สีผิวของคนเรามีความหลากหลายอย่างมาก ความแตกต่างส่วนใหญ่สัมพันธ์กับละติจูด บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีแสงแดดจัด ทำให้ผิวคล้ำมีประโยชน์ในการปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลต ส่วนบริเวณใกล้ขั้วโลกที่มีปัญหาเรื่องแสงแดดน้อยเกินไป ผิวสีซีดกว่าย่อมช่วยผลิตวิตามินดีได้ดีกว่า ยีนหลายชนิดทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดสีผิว และกลุ่มคนที่แตกต่างกันอาจมีส่วนผสมของการกลายพันธุ์ได้หลายแบบด้วย

แม้แต่ทุกวันนี้มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลก็อยู่ในตัวพวกเราส่วนใหญ่: ในเมืองดึสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ประติมากรรมชิ้นหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์นีแอนเดอร์ทัลที่อยู่ใกล้เคียง ดึงดูดความสงสัยและการรับรู้จากผู้คนที่เดินผ่านไปมา มนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางออกจากแอฟริกาบางส่วนได้พบและผสมพันธุ์กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ด้วยเหตุนี้ คนที่ไม่ใช่ชาวแอฟริกันในปัจจุบันทุกคนจึงมีดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอยู่เล็กน้อยด้วยยีนเหล่านั้นอาจช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและระดับวิตามินดีของพวกเขา แต่ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทและมีไขมันที่พุงเกินขนาดด้วย

เมื่อคนเราพูดถึงเชื้อชาติ โดยทั่วไปมักจะอ้างอิงถึงสีผิว และในขณะเดียวกันก็หมายถึงบางอย่างที่มากกว่าสีผิว วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันบอกเราว่า ความแตกต่างที่มองเห็นระหว่างมนุษย์ล้วนเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนว่า บรรพบุรุษของเราจัดการกับการสัมผัสแสงอาทิตย์ได้อย่างไร ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เรื่อง เอลิซาเบท โคลแบร์

ภาพถ่าย โรบิน แฮมมอนด์

 

อ่านเพิ่มเติม

บรรพบุรุษชาวอังกฤษมีผิวดำ, ผมหยิก และตาสีฟ้า

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.