ภาพผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง-อุน และคณะเดินลงมาตามบันไดของ Panmun Hall ในเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีเหนือ (อาคารที่เห็นด้านหลังในภาพบน) ก่อนที่ผู้นำสูงสุดของเกาเหลีเหนือจะเดินต่อไปยังเส้นกำหนดเขตทหาร (Military Demarcation Line หรือ MDL) ที่ มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนรออยู่อีกฝั่งในเขตเกาหลีใต้ เมื่อผู้นำทั้งสองสัมผัสมือกัน คิม จอง อุน ก็กลายเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือที่ข้ามพรมแดนเข้าสู่เขตแดนของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่สงครามระหว่างสองเกาหลีสิ้นสุดลงอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 1953 ไม่เพียงเท่านั้น หลังก้าวข้ามพรมแดนเข้าสู่เกาหลีใต้ คิม จอง-อุน ก็ยังเชื้อเชิญมุน แจ-อิน ให้ก้าวข้ามเส้นกำหนดเขตทหารเข้าสู่เกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาพเหตุการณ์สั้นๆ นี้จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน
กว่าจะมาถึงวันนี้ เรามาย้อนดูความเป็นมาของความขัดแย้งระหว่างสองเกาหลีที่ยืดเยื้อมาเกือบ 70 ปี ใน “10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้”
1. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังอยู่ในภาวะสงคราม (ในเชิงเทคนิค) หมายความว่า ทั้งสองประเทศยังไม่ได้ประกาศยุติสงครามระหว่างกันและไม่รับรองอำนาจอธิปไตยของกันและกัน เพียงแต่ลงนามในข้อตกลงสงบศึกหรือข้อตกลงหยุดยิง (Armistice หรือ Truce) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 1953 ที่ปันมุนจอม หลังทำสงครามห้ำหั่นกันนานสามปี (1950-1953) ผลสัมฤทธิ์ประการหนึ่งจากการประชุมสุดยอดของผู้นำทั้งสองในครั้งนี้น่าจะเป็นการปูทางไปสู่การประกาศสันติภาพ (อาจอยู่ในรูปแบบสนธิสัญญาสันติภาพหรือ Peace Treaty) ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเจรจาและเตรียมการพอสมควรเนื่องจากมีมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีน เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้สนับสนุนเบื้องหลังทั้งสองฝ่าย
2.ข้อตกลงสงบศึกที่ทำขึ้นในปี 1953 ส่งผลให้เกิดแนวหยุดยิงยาว 238 กิโลเมตร มีกองทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีนับแสนๆ คนจากสองกองทัพที่อาจเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลกเผชิญหน้ากันอยู่ (ฝ่ายเกาหลีใต้มีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่หลายหมื่นนาย ขณะที่เกาหลีเหนือมีกองทัพอันเกรียงไกรที่ว่ากันว่ามีกำลังพลมากกว่าล้านนาย)
3. ต้นตอของความขัดแย้งสืบย้อนไปถึงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อฝ่ายพันธมิตรคือสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาขับญี่ปุ่นออกจากเกาหลี และใช้เส้นขนานที่ 38 แบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นสองส่วน วันที่ 25 มิถุนายน ปี 1950 เกาหลีเหนือส่งกองกำลังนำโดยกองทัพรถถังบุกโจมตีเกาหลีใต้แบบสายฟ้าแลบโดยมีโซเวียตหนุนหลัง นัยว่าเพื่อต้องการสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วทั้งคาบสมุทร ต่อมาจีนซึ่งเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ก็เข้าร่วมสงครามในเดือนตุลาคม ฝ่ายเกาหลีใต้ได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังสหประชาชาติซึ่งกำลังพลส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ สงครามดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและถึงทางตันหลังผ่านไปสามปี คร่าชีวิตทหารไปเกือบเก้าแสนคน และพลเรือนอีกกว่าสองล้านคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
4.ข้อตกลงสงบศึกเมื่อปี 1953 ไม่ได้ยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่กำหนดเขตปลอดทหารหรือดีเอ็มซี (Demilitarized Zone: DMZ) ขึ้นบนพื้นที่กว้างสี่กิโลเมตรซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาพาดข้ามคาบสมุทรเกาหลี ที่บริเวณใกล้เส้นขนานที่ 38 เพื่อเป็นเขตกันชนแยกกองทัพคู่อริออกจากกัน เขตกันชนนี้เป็นเขตต้องห้ามสำหรับกองทหารขนาดใหญ่และอาวุธหนักอย่างรถถังและปืนใหญ่
5.นอกจากกำหนดเขตปลอดทหารหรือดีเอ็มซีแล้ว ข้อตกลงสงบศึกยังได้กำหนดเส้นสมมุติแบ่งอาณาเขตเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ขึ้นตรงกึ่งกลางเขตกันชน เรียกว่า เส้นกำหนดเขตทหาร (Military Demarcation Line: MDL) ใครที่พยายามข้ามเส้นนี้ไปอาจถูกยิงได้ นับตั้งแต่การกำหนดเขตปลอดทหารขึ้นเมื่อปี 1953 เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันประปราย โดยส่วนใหญ่มักสืบเนื่องจากทหารฝ่ายเกาหลีเหนือพยายามแปรพักตร์และลักลอบหนีเข้ามายังดินแดนเกาหลีใต้ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีนับจากนั้นมีทหารฝ่ายเกาหลีใต้ (รวมทั้งทหารสหรัฐฯ) เสียชีวิตรวมกันกว่า 400 นาย ขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือมีเกือบ 1,000 นาย
6.สงครามเกาหลี ทำให้ครอบครัวของประชาชนกว่า 7 ล้านคนต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อผู้คนจำนวนมากพากันหนีภัยการปกครองของคอมมิวนิสต์ลงใต้ เกาหลีเหนือตัดขาดการสื่อสารทัังหมด ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ โทรศัพท์ หรือการเดินทางตั้งแต่ปี 1953 แต่หลังการประชุมสุดยอดของสองผู้นำเกาหลีเมื่อปี 2000 ได้มีการจัดให้ครอบครัวชาวเกาหลีทั้งสองฝั่งมาพบหน้ากันอีกครั้ง และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ลึกๆ แล้วชาวเกาหลีทั้งสองฟากฝั่งยังวาดหวังถึงการรวมชาติ (Korean Reunification) อันเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ยาวนาน 13 ศตวรรษของเกาหลี ก่อนที่ทุกอย่างจะขาดสะบั้นลงในปี 1945 การแบ่งแยกประเทศเกาหลีเป็นสองนี้อาจเป็นหนึ่งในมรดกสุดท้ายของยุคสงครามเย็น หลังกำแพงเบอร์ลินที่เคยแบ่งแยกเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกพังทลายลงเมื่อปี 1989
7.ในเชิงการทหารและยุทธศาสตร์เชื่อว่า ฝ่ายเกาหลีใต้มีความเหนือกว่าในแง่เทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ ขณะที่เกาหลีเหนือได้เปรียบในเชิงขนาดของกองทัพที่สามารถยาตราทัพถาโถมข้ามพรมแดนเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้อยู่ห่างออกไปจากเขตปลอดทหารเพียง 50 กิโลเมตร นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกาหลีเหนือมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเป็นกำลังต่อรองโดยไม่เพียงพุ่งเป้าไปยังเกาหลีใต้ แต่ยังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลที่อ้างว่าสามารถยิงไปถึงดินแดนสหรัฐอเมริกาได้
8.ปัจจุบัน เขตปลอดทหารกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางฝั่งเกาหลีใต้ ให้มาชมประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง เช่น สะพานเสรีภาพ (Bridge of Freedom) ที่ถูกทำลายลงบางส่วนในสงครามเกาหลี อุโมงค์และหลุมหลบภัย ตลอดจนซื้อหาของที่ระลึกจากเขตปลอดทหาร การไปเยี่ยมชมเขตปลอดทหารจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
9.“ปันมุนจอม” เป็นชื่อของ “หมู่บ้านพักรบ” ในเขตปลอดทหารซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่ทหารทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากันในบริเวณที่เรียกว่า Joint Security Area (JSA) ย้อนหลังไปเมื่อปี 1953 สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นดที่เจรจาและลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างตัวแทนของจีน เกาหลีเหนือ และสหประชาชาติ
10.ข้อดีอย่างหนึ่งในจำนวนไม่กี่อย่างที่เกิดจากการเผชิญหน้ายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ กล่าวคือ เกราะความมั่นคงรอบเขตปลอดทหารได้ช่วยอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งยังไม่พัฒนาผืนใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้เป็นเนื้อที่เกือบ 2,500 ตารางกิโลเมตรไว้ ในประเทศที่มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกประเทศนี้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในบริเวณนี้ยังคงห้ามคนทั่วไปเข้า ผู้มาเยือนที่ต้องการชมสัตว์ป่าดาวเด่นของเขตปลอดทหาร คือนกกระเรียนเอเชียหายากสองชนิด ต้องได้รับอนุญาตจากทางทหารก่อน
อ่านเพิ่มเติม