เปิดคฤหาสน์หลังงามใต้ทะเล!

เปิดคฤหาสน์หลังงามใต้ทะเล!

คงสงสัยกันแล้วใช่มั้ยครับ ว่ามีใครไปบุกรุกพื้นที่ทางทะเลรึเปล่า? ขอบอกให้อุ่นใจไว้ก่อนว่าไม่ใช่แบบนั้นครับ ไม่ได้มีใครบุกรุก แต่วันนี้ผมจะพาทุกคนลงสู่โลกใต้ทะเล…อีกโลกที่อยู่กับพวกเราตั้งแต่เกิดสิ่งมีชีวิตรุ่นแรก ๆ ขึ้นมา เป็นสิ่งที่อยากจะพาทุกคนไปสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงใต้ผืนน้ำสีฟ้าของทะเลอ่าวไทย และแน่นอนว่าสิ่งที่จะได้เห็นกันต่อจากนี้ไม่ใช่ภาพที่เราจะเห็นกันได้บ่อย ๆ ครับ แล้วชีวิตใต้ทะเลจะมีเรื่องราวอะไรให้เราได้ตื่นเต้นกันบ้าง ถ้าพร้อมกันแล้วไปติดตามกันต่อได้เลย!

ภาพที่เห็นคือคฤหาสน์หลังงามที่ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทย โดยถูกเรียกกันว่า “บ้านปลา” จากชื่อก็ชัดเจนในหน้าที่ของมันครับ ว่าเป็น “บ้าน” ของปลา รวมถึงสัตว์น้ำต่าง ๆ ด้วยความเป็น “บ้าน” นอกจากไว้อยู่อาศัยก็ยังเป็นสถานที่ที่รวมทุกประสบการณ์ให้กับพวกเราและครอบครัว พวกสัตว์ทะลเก็เช่นกันครับ “บ้านปลา” ก็เป็นทั้งที่อยู่อาศัย เป็นที่สำหรับสร้างครอบครัว เป็นแหล่งหาอาหาร รวมถึงเป็นแหล่งหลบภัยจากผู้ล่า

ก่อนจะกลายเป็นบ้านปลาที่อบอุ่นเต็มไปด้วยเพื่อนสมาชิกแบบนี้ แต่เดิมพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลนี้มีแต่ความว่างเปล่าว่างเปล่า ไม่มีโขดหินหรือปะการังที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นบ้านปลาธรรมชาติ เหล่ามีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กมากมายที่แหวกว่ายอยู่ในทะเลจึงเคลื่อนที่ผ่านไปไร้ที่พักพิง แต่เมื่อมีบ้านปลาเข้ามา เหล่าสิ่งมีชีวิตจึงเข้ามาลงเกาะบนบ้านปลาทีละนิดจนเคลือบทั่วทั้งพื้นผิวของบ้านปลา และสร้างชั้นฟิลม์บางๆ ที่เรียกว่าไบโอฟิลม์ มีลักษณะคล้ายเมือกใส ให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเหล่าสัตว์เกาะติดกลุ่มอื่นๆ เช่น เพรียง หอยสองฝา ที่ต่างพรั่งพรูกันมาแอบอิงบนท่อบ้านปลาอย่างหนาแน่น และยิ่งเป็นการชักชวนให้เพื่อนสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ตามกันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหอยแมลงภู่ หอยนางรม ฟองน้ำ และสาหร่าย หลังจากนั้นเองเหล่าปลาต่าง ๆ ก็จะเข้ามากินพวกสัตว์เกาะติด ซึ่งก็จะดึงดูดให้ปลาผู้ล่าเข้ามาบริเวณบ้านปลาอีกทีนึง ซึ่งนี่เองก็คือชีวิตใต้ทะเลที่เกิดขึ้นรอบบ้านหลังใหญ่ใต้ทะเลแห่งนี้ แล้วสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาพักอาศัยจะหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง…ไปดูกันเลย

เริ่มจากเจ้าปลากะพงแถบน้ำตาล (Lutjanus vitta) ที่ได้ชื่อเป็นสำคัญกับพวกเราครับ เพราะเจ้าตัวนี้เป็นปลาเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการเข้ามาอยู่อาศัยที่บริเวณบ้านปลาและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติแล้วปลาชนิดนี้ จะถูกพบในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ปลากะพงเป็นปลาที่บอกได้ถึงความสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง เนื่องจากอาหารของมันคือพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลาที่มีขนาดเล็กกว่าตัวมันเอง ดังนั้นแนวปะการังที่ยังพบเห็นปลากะพงจำนวนมากนั่งแสดงถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตของแนวปะการังที่ยังคงสมบูรณ์อยู่

ต่อด้วยปลากะรังลายเส้นฟ้า (Cephalopholis Formosa) ปลากะรัง หรือปลาเก๋า เป็นปลากระดูกแข็งทะเล สามารถเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยได้ นอกจากนี้สีและลวดลายบนตัวปลาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัยได้อีกด้วย และที่มาของชื่อ “กะรัง” ก็มาจากปลาตระกูลนี้ชอบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือกะรังนั่นเอง รวมถึงปูทะเล (Scylla Serrata) อีกสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณ “บ้านปลาเอสซีจี” ปูทะเลในแต่ละที่จะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป ทั้ง สีเขียวหม่น, สีฟ้า, สีขาวอ่อน ๆ หรือสีเหลือง สำหรับตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด มีการเจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ

นอกจากปลาเศรษฐกิจที่เราพบแล้ว ยังมีประเภทปลาสวยงามด้วยนะครับที่ได้เข้ามาอยู่บริเวณบ้านปลา ในภาพที่ได้ถ่ายติดมาได้คือ ปลาปักเป้ากล่อง (Ostracion cubicus) ปักเป้าชนิดนี้จะตัวเล็กกว่าชนิดอื่น แต่มีสีสันลวดลายสวยงาม เกล็ดเรียงกันเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเรียงตัวต่อกัน นอกจากความสวยงามแล้ว ความพิเศษของเจ้าตัวนี้อีกอย่างนึงก็คือ พิษของมันจะเป็นอันตรายกับปลาด้วยกันเท่านั้น!

ดาวทะเล หรือ ปลาดาว เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่พบอยู่ในทะเลทั่วโลก ทั้ง มหาสมุทรแปซิฟิก, แอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งในเขตขั้วโลกด้วยอย่าง มหาสมุทรอาร์กติก และแอนตาร์กติกา

นอกจากเหล่าปลาที่พูดถึงไป ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย เช่น กัลปังหา เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ประโยชน์ของเจ้าตัวนี้คือเป็นแหล่งที่อยู่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก โดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน

และสิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่วันนี้จะพูดถึงคือ ปลิงหนามสีชมพู (Pentacta Anceps) เป็นสัตว์ทะเลที่ไร้กระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะไม่ได้น่ารักเท่าสัตว์สวยงามชนิดอื่น แต่ก็เป็นกำลังสำคัญใต้ท้องทะเลที่จะช่วยกำจัดเศษอาหาร เศษของเสียต่างๆ บนหน้าทรายได้มากเลยทีเดียว

“บ้านปลา” เป็นอีกโครงการเพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลจาก SCG ได้พัฒนาและทำให้เกิดขึ้นจริงมาเป็นเวลากว่า 6 ปี นอกจากบ้านปลาจะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทยยังช่วยสร้างสมดุลสู่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ “ 2 มือ ” ของเราทุกคน หากเราช่วยกันรักษาความสมดุลทางระบบนิเวศในท้องทะเลเอาไว้ เราก็จะมีทรัพยากรทางทะเลไว้ชื่นชมอีกนานเท่านาน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการบ้านปลาเอสซีจี  https://www.scgchemicals.com/fishhome/
เรื่อง นภัทรดนัย สุขบดินทร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.