ทำความรู้จักกับข้าว 7 สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยชาวนาไทยอีสาน

ทำความรู้จักกับข้าว 7 สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยชาวนาไทยอีสาน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนที่เกิดวิกฤติชาวนา ปัญหาจำนำข้าว กระทั่งมีข่าวการฆ่าตัวตายของชาวนา สะท้อนความเปราะบางของสังคมเกษตรกรที่แม้จะสำคัญที่สุดในห่วงโซ่อาหาร แต่กลับได้รับการเหลียวแลน้อยที่สุดในสังคม และยังคงเป็นเช่นนี้เรื่อยมาไม่เคยเปลี่ยนแปลง…

การทำนาแบบเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม และรอคอยการช่วยเหลือแบบเดิม จึงอาจพูดได้ว่าย่อมเกิดผลลัพธ์ไม่ต่างจากเดิม นี่คือที่มาของการรวมกลุ่ม “ชาวนาไทอีสาน” เครือข่ายใหม่ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวนามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงได้ ด้วยแนวคิดแบบใหม่ สร้างกระบวนการทำนาแบบใหม่ และมองตัวเองในบริบทโลกที่กว้างไกลมากขึ้น

“ชาวนาไทอีสาน” เป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือเป็นชาวนาที่ทำนาประณีตแบบอินทรีย์ สืบทอดความดีงามแห่งท้องไร่ท้องนาจากบรรพบุรุษ เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน พร้อมๆ ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองทั้งด้านการผลิตและบริโภค เพื่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทาทางชีวภาพ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

สมาชิกกลุ่มเป็นชาวนาจากหลากหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สกลนคร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม โดยมี ตุ๊หล่าง-แก่นคำกล้า พิลาน้อย ผู้เป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ในการทำนาแบบฉบับที่เรียกว่า “ตุ๊หล่างสไตล์” ให้กับแต่ละคน เป็นการทำนาที่ต้องเอาใจใส่ในกระบวนการผลิตในทุกๆ ช่วงอายุของข้าว ซึ่งทั้งละเอียด ประณีต พิถีพิถัน อันบ่งบอกถึงพื้นฐานของความรักที่จะทำนาเป็นเบื้องต้น (ฉันทะ) ครูตุ๊หล่างจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางที่ดึงดูดให้แต่ละคนได้มาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และด้วยทิฏฐิความเห็นที่อยากยกระดับมาตรฐานชาวนาให้ดีขึ้น มีเป้าหมายที่อยากจะเป็นชาวนาที่สร้างประโยชน์ตนและและประโยชน์ท่าน จากที่เคยจับกลุ่มกันหลวมๆ จึงตั้งใจรวมกลุ่มกันเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างเช่นในปัจจุบัน

และล่าสุด เมื่อวันที่ 19 – 20 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มชาวนาไทยอีสานได้จัดงาน “มาเด้อ! ชิมข้าวใหม่” กิจกรรมชิมข้าว 7 สายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับประทานข้าวและขยายแนวคิดเรื่องการทำนาอินทรีย์และการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ

ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ละกิจกรรมเป็นการให้ทั้งความรู้และสร้างการรับรู้ในมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพันธุ์ข้าวพื้นเมือง กว่า 30 สายพันธุ์ ที่ชาวนาไทอีสานทำการอนุรักษ์ไว้จากกว่า 150 สายพันธุ์ เพื่อบอกเล่าความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่เชื่อมโยงไปสู่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและส่งต่อมาจนถึงชาวนาในรุ่นปัจจุบัน

ไฮไลท์สำคัญคือ “นิทรรศการข้าว 7 สายพันธุ์ใหม่” แนะนำข้าวที่ขึ้นเกิดจากการพัฒนาและปรับปรุงขึ้นมาใหม่ของกลุ่มชาวนาไทอีสาน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงและคัดพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ปี กว่าจะได้เป็นพันธุ์ที่มั่นใจว่าตอบสนองต่อการปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ให้ผลผลิตดี ดูแลง่าย สีสันสวยงาม ให้รสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม หอม และอร่อย นอกจากนั้นภายในงานยังมีกิจกรรม “ชิมข้าว – Rice Tasting” ที่ชวนผู้บริโภคมาทดสอบรสชาติของข้าวสายพันธุ์ใหม่ทั้ง 7 สายพันธุ์ แยกแยะความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ของเมล็ด สีสัน กลิ่น และรสสัมผัสหลังจากเคี้ยว กิจกรรม “คัดพันธุ์ข้าว” ที่ชวนผู้บริโภคมาเรียนรู้วิธีการคัดพันธุ์ข้าวที่ถูกต้อง รวมไปถึงเวทีเสวนา และ “Chef’s Table” ที่นำความโดดเด่นของข้าวทั้ง 7 สายพันธุ์ มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารสุดพิเศษ 7 คอร์ส ผ่านการสร้างสรรค์ของเชฟฝีมือดี

 

ข้าว 7 สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยชาวนาไทยอีสาน

1.ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ (VESSANTARA)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2545

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเหนียวเล้าแตก – ข้าวเจ้าหอมมะลิ105

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเจ้าไวแสง อายุ 170 วัน ต้นและใบสีเขียวสด เมื่อออกรวงต้นมีความสูง 180 – 220เซนติเมตร ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดใหญ่ เรียว ยาว

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวสารสีขาวใส  เมื่อขัดขาวแล้ว จะมีความใสวาวอย่างชัดเจน ข้าวสารมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร

รสชาติ/จุดเด่น : รสชาติเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม หุงขึ้นหม้อ

ที่มาและเรื่องราว : เป็นพันธุ์ข้าวรุ่นแรกๆ ที่มีการพัฒนาและปรับปรุง เพื่อแก้ปัญหาข้ามหอมมะลิ105 ที่ให้ผลผลิตน้อย เมื่อผสมพันธุ์กับข้าวเหนียวเล้าแตกที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมและให้ผลผลิตสูง จึงได้เป็นข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระที่ทั้งรสชาติดีและให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าหอมมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอมที่ให้รสสัมผัสเหนียนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นข้าวที่เคี้ยวใหม่ๆ จะหอมอวลอยู่ในลำคอและโพรงจมูก

“เวสสันตะระ” เป็นชื่อที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้พัฒนาพันธุ์ในช่วงขณะที่ใคร่ครวญเรื่องการบำเพ็ญตนของพระเวสสันดร หลังจากพัฒนาพันธุ์ข้าวได้สำเร็จจึงตั้งชื่อพันธุ์ว่าเวสสันตะระ โดยตั้งใจให้เป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ประโยชน์กับทั้งผู้กินและผู้ปลูก สร้างสังคมแห่งการให้ นำไปสู่การเอื้อเฟื้อและแบ่งบัน ดังเช่นการเกิดมาเพื่ออุทิศและเสียสละตนของพระเวสสันดร

 

2.ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร (SUTABUTR)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2548

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าปทุมธานี-ข้าวเจ้าหอมนิล

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเจ้าไม่ไวแสง (ข้าวนาปรัง) อายุ 120 วัน ความสูงประมาณ 120 เซนติเมตร ต้นและใบสีเขียวเข้ม ทรงกอตั้งแข็งแรง ไม่ล้ม รวงจับห่าง เมล็ดต่อกันและมีลักษณะเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟางอมเทา

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวกล้อง มีสีม่วงดำ เมื่อขัดขาวแล้ว จะมีสีขาวใสอมม่วง

รสชาติ/จุดเด่น : รสชาติเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม

ที่มาและเรื่องราว : ข้าวเจ้านาปัง ทรงกอตั้งเหมือนแท่งดินสอ แข็งแรง ต้านทานโรค เมื่อหุงแล้วจะให้รสชาติเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอมข้าวก่ำที่โดดเด่น จนมีคำเปรียบเปรยจากผู้ที่เคยทานว่า “คงเสียดายหากตายแล้วไม่ได้ทานข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร”

คำว่า ‘สูตะบุตร’ มีที่มาสืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2550 เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ขออนุญาตนำนามสกุลของ ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น มาใช้เป็นชื่อพันธุ์ข้าวเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกรผู้ปรับปรุงพันธุ์

 

3.ข้าวเหนียวหอมขาววิสุทธิ์ (KHAOWISUT)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2550

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะรรุ่นที่ 5-ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเหนียวไวแสง อายุ 180 วัน ความสูง 120 เซนติเมตร ต้นและใบสีเขียวเข้ม มีความต้านทานโรคใบไหม้ และโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มากับเพลี้ย ได้มากกว่าข้าว กข6 ข้าวเปลือกเมล็ดเรียวยาว เปลือกสีน้ำตาล ข้าวเปลือกที่เก็บไว้สามารถคงความเหนียวนุ่มและหอมได้มากกว่า 12 เดือน ในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นบรรยากาศ ไม่เกิน 60% ให้ผลผลิตเบื้องต้น 1,100 กิโลกรัม/ไร่ โดยวัดจากความชื้นที่ 14% เมื่อปลูกในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวสารสีขาวขุ่น

รสชาติ/จุดเด่น :เมื่อนึ่งสุกมีความเหนียวนุ่มและมีกลิ่นหอมมาก

ที่มาและเรื่องราว : คำว่า วิสุทธิ์ มาจาก วิสุทโธ แปลว่า ความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นฉายาทางธรรมของผู้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวขณะที่ออกบวช ข้าวพันธุ์นี้จะสร้างกุศลอย่างยิ่งหากช่วยให้ผู้ปลูกและผู้บริโภคได้ระลึกถึงการฝึกฝนที่จะพัฒนาจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากบาปอกุศลทั้งปวง เช่นดั่งชื่อพันธุ์ข้าว ขาววิสุทธิ์

 

4.ข้าวเจ้าหอมเวสวิสุทธิ์ (VESWISUT)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2550

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 – ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเจ้าไวแสง อายุ 175 วัน ความสูง 120 เซนติเมตร

ทรงกอตั้ง ต้นและใบสีเขียวเข้ม ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว ข้าวเปลือกมีน้ำหนักค่อนข้างเบากว่าข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระเมื่อเทียบกับปริมาตรที่เท่ากัน เนื่องจากเปลือกข้าวมีความหนามากกว่า

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวสารมีความยาว 7.5 – 8 มิลลิเมตร เมล็ดมีความขาวใสชัดเจนไม่มีไส้ขุ่น

รสชาติ/จุดเด่น : เมื่อหุงสุก ข้าวมีความเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม หุงขึ้นหม้อ ถ้าปลูกในสภาพดินที่มีส่วนผสมของดินทราย 25% ขึ้นไป จะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น

ที่มาและเรื่องราว : เป็นข้าวเจ้าหอมนาปีต้นเตี้ย ซึ่งพัฒนาพันธุ์มาจากข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ เพื่อแก้ปัญหาข้าวพันธุ์เดิมที่ต้นสูง ล้มง่าย เมล็ดไม่สวยสะดุดตา กระทั่งได้ข้าวที่มีเมล็ดเรียวยาว ข้าวสารมีสีขาวใส  ก้นโค้งสวย หุงแล้วเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอมมาก ผู้เฒ่าผู้แก่หลังจากได้ชิมข้าวสวยเวสวิสุทธิ์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติและรสสัมผัสคล้ายข้าวหอมมะลิพื้นเมืองโบราณแถบภาคอีสานที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว

 

5.ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ (SE LA BHORN)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2550

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ รุ่นที่ 5 – ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : มี 2 ประเภท คือ เป็นข้าวเหนียวแบบไวแสง อายุ 175 วัน และแบบไม่ไวแสง (นาปรัง) อายุ 150 วัน มีลักษณะทางกายภาพ เหมือนกัน คือ ความสูงของลำต้น 120 – 130 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ต้นและใบ สีเขียวเข้ม ข้าวเปลือกเมล็ดใหญ่ ค่อนข้างยาว เปลือกสีเทา

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวกล้อง สีม่วงดำเข้ม เมื่อขัดขาวแล้ว เนื้อแป้งเป็นสีขาวขุ่นอมม่วง

รสชาติและจุดเด่น : เมื่อหุง (ข้าวกล้อง) หรือนึ่ง (ข้าวขัดขาว) สุกดีแล้ว จะมีความเหนียวนุ่ม และให้กลิ่นหอมข้าวเหนียวดำชัดเจนมาก

ที่มาและเรื่องราว : เป็นข้าวเหนียวดำอีกพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกับพันธุ์อสิตะ แต่ว่าจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์คือหอมข้าวก่ำชัดเจน กระทั่งหลายคนที่ได้ลิ้มลองมักจะนึกถึงรสชาติของการกินขนมที่ทั้งหอมหวานและเย้ายวนใจจนอดใจไม่ไหวที่จะตักคำต่อไปเข้าปาก

 

6.ข้าวเหนียวดำอสิตะ (ASITA)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2550

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 – ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเหนียวไวแสง อายุ 180 วัน ความสูงของลำต้น 120 -130 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง

ต้นและใบ สีเขียวเข้ม ข้าวเปลือกเมล็ดใหญ่ค่อนข้างยาว เปลือกสีเทา รวงเล็กกว่าข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์แต่มีน้ำหนักมากกว่า และมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวเหนียวดำ

สีลาภรณ์

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวกล้อง มีสีม่วงดำเข้ม เมื่อขัดผิวข้าวกล้องออก เนื้อแป้งเป็นสีขาวขุ่นอมม่วง

รสชาติและจุดเด่น : มีกลิ่นหอม 2 ระดับ กล่าวคือ มีทั้งกลิ่นหอมของข้าวเหนียวดำและกลิ่นหอมของข้าวมะลิแทรกอยู่ในข้าวเมล็ดเดียว ซึ่งจะแยกได้ง่ายเมื่อเคี้ยวข้าวดิบ โดยเมื่อเคี้ยวข้าวกล้องในระยะแรกกลิ่นข้าวมะลิจะกรุ่นขึ้นมาก่อน พอเคี้ยวบดข้าวไปสักระยะหนึ่ง กลิ่นข้าวเหนียวดำจะฟุ้งกรุ่นขึ้นมา แต่เมื่อนึ่งข้าวขัดขาวหรือหุงข้าวกล้อง กลิ่นหอมทั้งสองแบบจะอบอวลรวมกันทำให้รู้สึกว่ามีความหอมมาก

ที่มาและเรื่องราว : อสิตะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า ดำสนิท, มืดสนิท ซึ่งเป็นลักษณะอันโดดเด่นของเมล็ดข้าวกล้องพันธุ์นี้ ว่ากันว่านี่คือพันธุ์ข้าวเหนียวสีดำเข้มที่ให้สีดำขั้นสุด และมีกลิ่นหอมชนิดที่ว่าหอมทนทาน เป็นความหอมละมุนที่ผสมกันระหว่างข้าวก่ำและข้าวหอมมะลิ

 

7.ข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี (PHET RA TRI)

ปีที่ปรับปรุงพันธุ์ : พ.ศ.2550

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ : ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 – ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5

ลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์ : เป็นข้าวเจ้าไวแสง อายุ 175 วัน สูง 120 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ต้นและใบสีเขียวเข้ม เปลือกสีเทา ข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี กลุ่ม 4 กลุ่ม 10 และกลุ่ม 11 มีเมล็ดเรียวยาวคล้ายข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร มีความทนทานต่อโรคใบไหม้ สำหรับกลุ่ม 12 มีเมล็ดใหญ่และยาวคล้ายข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ มีกลิ่นหอมมากกว่าทุกกลุ่มพันธุ์ของข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี แต่อ่อนแอต่อโรคใบไหม้

ลักษณะข้าวสาร : ข้าวกล้อง มีสีม่วงดำสนิท ลักษณะเมล็ดเรียวยาว เมื่อขัดขาวแล้ว จะได้ข้าวสารสีขาวใสอมม่วง

รสชาติและจุดเด่น : กลุ่ม 4 และกลุ่ม 11 มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ กลุ่ม 12 มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวเหนียวดำอสิตะ กลุ่ม 10 มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวเหนียวดำอสิตะ แต่มีกลิ่นที่อ่อนกว่ากลุ่ม 12

ที่มาและเรื่องราว : คำว่า ‘ราตรี’ แปลว่า กลางคืน หรือความมืด มาจากชื่อมารดาของผู้ปรับปรุงสายพันธุ์ ส่วนคำว่า ‘เพชร’ ใช้เปรียบแทนสิ่งมีค่า ดังนั้น ‘เพชรราตรี’ จึงหมายถึง สิ่งมีค่าที่ซุกซ่อนอยู่ หรือถูกปกปิดไว้ด้วยความมืด เหตุที่ผู้ปรับปรุงพันธุ์ตั้งชื่อนี้ สืบเนื่องด้วยข้าวพันธุ์นี้เกิดขึ้นจากการแตกตัวทางพันธุกรรมอย่างผิดปกติจากข้าวเจ้าสีขาวในกลุ่มเดียวกัน เช่น ข้าวเจ้าหอมปุณณะ และข้าวเจ้าหอมเวสวิสุทธิ์ ในรุ่นที่ 6 (พ.ศ. 2556) ซึ่งมีเพียง 2 กอ กอละ 2 รวง ในจำนวนข้าวกว่า 16,000 กอ โดยโอกาสที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ข้าวพันธุ์นี้จึงเปรียบดั่งอัญมณีในยามราตรี

 

ติดตามเรื่องราวและความเคลื่อนไหวของชาวนาไทอีสานเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.