Thailand Corporate Sustainability Symposium: แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนจากผู้นำ

แนวคิด “การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” เป็นแนวคิดที่หลายองค์กรให้ความสนใจมากขึ้น แม้ว่าไอเดียเรื่องความยั่งยืนจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจน ปัจจุบัน องค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนจึงสร้างแผนปฏิบัติงานเพื่อให้ทฤษฎีกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้รับรองวาระ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2573” ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลา 15 ปีประกอบด้วย 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี 169 เป้าหมายเฉพาะเจาะจง และ 230 ตัวชี้วัด เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเน้นให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลทั้ง 3 มิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจาก การบริหารจัดการองค์กรต่างต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ได้ผลผลิตในด้านต่างๆ ออกมา ดังนั้นการเล็งคุณค่าของทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานนำมาประยุกต์ใช้ในแผนงานบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันที่จะมีทรัพยากรในโลกนี้ไว้ใช้อย่างยั่งยืน

Thailand Corporate Sustainability Symposium “Learning from the Leaders”

งาน Thailand Corporate Sustainability Symposium “Learning from the Leaders” เป็นงานประชุมสัมมนาที่ได้รับเกียรติจากผู้นำธุรกิจในเมืองไทยมาแบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการ และความรู้เรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีทั้งการเสวนา การจัดเวิร์กช็อป และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จากผู้นำของธุรกิจด้านต่างๆ ในเมืองไทยที่ได้ดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนมาแล้ว ผ่านการจัดงานโดย C ASEAN ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2562 ที่อาคาร CW Tower รัชดา

การประชุมสัมมนาในวันแรก ผู้นำผู้มีประสบการณ์เรื่องความยั่งยืนมาอย่างยาวนานทั้งสามบริษัท ได้แก่ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทบ้านปู (BANPU) จำกัด มหาชน ให้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนไว้ว่า

‘การให้’ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ในวัฒนธรรมชาวตะวันออก เช่น คนไทย ต่างเข้าใจถึงสิ่งนี้เป็นอย่างดี โดยวัฒนธรรมการให้ของบ้านเรานั้นถูกปฏิบัติต่อกันมาด้วยความคุ้นชิน จนทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราต่างมีความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันต่อเพื่อน ต่อครอบครัว ต่อชุมชน เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แนวทางที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยก็คือเรื่อง “ขาดเติมให้เต็ม เต็มให้รู้จักพอ พอให้รู้แบ่ง แบ่งให้เป็นธรรม”

วันที่สองเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องความยั่งยืนจากบริษัทต่างๆ ที่ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนไปแล้ว โดยได้รับเกียรติจาก 10 องค์กรที่มีแผนพัฒนาความยั่งยืนภายในองค์กร เช่น ไทยเบฟเวอเรจ, กลุ่มมิตรผล, เอสซีจี, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, เทสโก โลตัส และกลุ่มผลิตพลังงานบ้านปู เป็นต้น ซึ่งแต่ละองค์กรได้เน้นแนวทางการปฏิบัติเรื่องความยั่งยืนในด้านที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละองค์กรต่างให้ความสำคัญกับการเล็งเห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การน้ำกลับมาใช้ใหม่ แผนการลดขยะที่เกิดจากขบวนการผลิต รวมไปถึงการมีมีจิตสำนึกสาธารณะต่อสังคมรอบสถานประกอบการ

จุดเริ่มต้นของการสัมมนาในครั้งนี้เป็นก้าวแรกของบุคคลในวงการธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ที่ได้ระดมสมองเพื่อแสวงหาแนวทางความยั่งยืนในการทำธุรกิจ เพราะในโลกปัจจุบัน ความสำเร็จที่แท้จริงของธุรกิจหนึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลขผลกำไรที่พุ่งทะยานเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรและสังคมให้เติบโตไปด้วยความยั่งยืน อันจะส่งผลดีให้กับทุกฝ่ายในสังคมได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.