จาก ตชด. สู่ครูใหญ่ผู้พัฒนาพื้นที่ชายขอบในจังหวัดเชียงราย

ในยุคที่ใครๆ ต่างวิ่งเข้าหาความทันสมัยของโลกที่หมุนเร็วด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ยังมีอีกหนึ่งคนที่มีความสุขกับการทำงานในพื้นที่อันห่างไกลความเจริญอย่างบ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย จากจุดเริ่มต้นในการรับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่จังหวัดสุรินทร์ ร.ต.อ.ครรชิต พูนวิเชียร ได้เลือกที่จะไปทำหน้าที่ครูให้กับเด็กนักเรียนชาวลีซอและอาข่าในพื้นที่ชายขอบของจังหวัดเชียงรายมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคดุสิต จ.เชียงราย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับทุกคนในพื้นที่ ร.ต.อ.ครรชิต จึงไม่ได้เป็นเพียงครูใหญ่ แต่เขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกครัวเรือน ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มจากนักเรียนที่เปรียบได้กับลูกหลาน นอกจากจะให้ความรู้ทางด้านวิชาการอย่างเต็มที่ เด็กทุกคนยังจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ปัจจัยหลักคือเรื่องอาหารที่ต้องเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นโชคดีของเด็กๆ ที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีที่มอบทุนอาหารกลางวันให้กับทางโรงเรียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือทักษะด้านวิชาชีพ นักเรียนทุกคนได้ร่วมกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียน ซึ่งองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นได้ขยายไปถึงผู้ปกครองและคนในพื้นที่ด้วย ชุมชนจึงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน…ณ จุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ครูใหญ่ของเราต้องผ่านอะไรมามากมาย และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่พร้อมจะสร้างแรงบันดาลใจจาก ร.ต.อ.ครรชิต พูนวิเชียร

ชีวิตก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

ตามพื้นถิ่นแล้วผมเป็นคนบุรีรัมย์ เข้ารับข้าราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ครั้งแรกเลยคือเป็นตำรวจสนามที่ชายแดนจังหวัดสุรินทร์ แต่พอปฏิบัติหน้าที่ไปได้สักระยะ ทาง กก.ตชด.๒๑ ก็มีนโยบายจะสร้างโรงเรียน ตชด. ในหมู่บ้านที่เป็นจุดบอดโรงเรียนใน 2 อำเภอ และมีหนังสือเวียนไปตามกองร้อยสนามต่างๆ ในความรับผิดชอบว่าต้องการรับสมัครกำลังพลที่มีวุฒิทางการศึกษาและสมัครใจไปทำหน้าที่ครู เพื่อร่วมกันสร้างโรงเรียน ทำหน้าที่ครูผู้สอน พัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพิ่มโอกาสทางการศึกษา พัฒนาและช่วยเหลือประชาชน และงานการข่าวด้านความมั่นคง ผมจึงสมัครไป

ตอนนั้นมีเวลาให้เตรียมตัวน้อยมากๆ วันแรกที่ทำหน้าที่ครู ยังนั่งคิดอยู่ในใจเลยว่า เราจะสอนอะไรได้ไหม การเป็นครูนี่มันยากมากนะ คู่มือครูก็ไม่มี มีแต่หนังสือเรียนที่เด็กๆ นำมาจากโรงเรียนเดิม กว่าจะหาเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนการสอนได้ก็เป็นเทอมเลย ตกเย็นก็ตามเด็กๆ ในชั้นเข้าหมู่บ้าน วันนี้ไปบ้านนั้น วันนั้นไปบ้านนี้ ได้กินข้าวบ้าง สังสรรค์กับผู้ปกครองบ้าง พูดกันก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเด็กๆต้องคอยแปลให้ฟัง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นคือภาษาเขมร ถ้าอายุมากแล้วจะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย

แสดงว่าช่วงเวลานั้นต้องทั้งทำงาน หาความรู้ในฐานะครู และปรับตัวหนักมากๆ

ใช่ครับ โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษที่ผมเคยอ่อนมากๆ หลังจากที่การทำงานเข้าที่แล้ว ผมต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเราจะทำยังไงถึงจะทำหน้าที่ครูและเข้าใจการสอนวิชาภาษาอังกฤษได้ เพราะเพื่อนๆ ครูคนอื่นก็สอนไม่ได้เช่นกัน ผมเลยตัดสินใจไปสมัครสอบเรียนต่อวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ยังแปลกใจ แต่พอผมเล่าที่ไปที่มาให้ฟัง จึงได้เรียนต่อเอกภาษาอังกฤษในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เมื่อก่อนการเดินทางก็ลำบากต้องขี่รถมอเตอร์ไซไปและกลับเป็นระยะทางห้าร้อยกว่ากิโลทุกอาทิตย์ เพราะเงินเดือนน้อยครับ แต่กว่าจะได้เรียนวิชาครู การเขียนแผนการสอนก็นานทีเดียว จึงต้องศึกษาจากหลายๆ ทางเพื่อเป็นแนวทางในการสอน

เมื่อมาประจำที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคดุสิต จังหวัดเชียงราย ต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง

ปี พ.ศ. 2558 ผมได้รับคำสั่งให้มาทำหน้าที่ครูใหญ่ รร.ตชด.เทคนิคดุสิต อ.เมือง จ.เชียงราย ที่นี่ถึงแม้จะอยู่บนดอยสูงแต่เส้นทางขึ้น-ลงค่อนข้างสะดวก เพราะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปสู่ดอยช้าง โดยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าลีซอและอาข่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่การพัฒนาที่โรงเรียนนี้ค่อยข้างทำได้สะดวกและง่าย เพราะผู้ปกครองและชาวบ้านให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนดีมาก มีความเอาใจใส่และเห็นความสำคัญของการศึกษาจะให้ลูกมาโรงเรียนทุกวัน ปัญหาการขาดเรียนไม่ค่อยมี เด็กมีความตั้งใจเพราะมีรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง มีหอพักนักเรียนบ้านไกลทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คือเด็กเหล่านี้จะอยู่ช่วยดูแลกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนได้ดีมากๆ ชาวบ้านผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเราจะทำโรงเรียนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ปกครองและผู้ที่สนใจ เพื่อขยายสู่ชมชนต่อไป

การมาเป็นครูในโรงเรียนตำรวจชายแดนมีความท้าทายตรงที่เราไม่ได้มาสอนเท่านั้น แต่เรามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราต้องพัฒนาการศึกษาไปพร้อมๆ กับพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมบอกครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนเสมอว่า  ต้องรักโรงเรียนให้เหมือนบ้าน รักงานให้เหมือนชีวิต รักลูกศิษย์ให้เหมือนลูกหลาน รักชาวบ้านให้เหมือนพี่น้อง รักผู้ปกครองให้เหมือนคนในครอบครัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขานอกจากด้านการศึกษา

คุณพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพเด็กๆ เหล่านี้อย่างไร

เด็กที่มาอยู่กับเราส่วนใหญ่มาตัวเปล่า ที่บ้านไม่ได้มีเงินซื้อของดีๆ ให้ แล้วเด็กๆ บางคนต้องออกจากบ้านเดินมาโรงเรียนแต่เช้า  ช่วยพ่อแม่ทำไร่บางคนไม่ได้กินข้าวเช้า บางวันต้องมากินข้าวที่โรงเรียนประกอบเลี้ยง ในการประกอบเลี้ยงอาหาร วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯ ที่ รร.ตชด.ทุกแห่งจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว และในปี ๒๕๖๐ โรงเรียนก็ได้รับ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการทุนอาหารกลางวันของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี เพื่อพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนและให้นักเรียนได้ลงมือฝึกปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น เช่น การปลูกผักสวนครัว กิจกรรมปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ซึ่งถ้าเด็กเรียนจบจากเราไปแล้วเขาไม่ได้ศึกษาต่อ เขาก็ยังมีอาชีพ มีทักษะชีวิตที่เขาจะเอาไปต่อยอดในอนาคตได้

ตั้งแต่ได้รับทุนจากโครงการมอบทุนอาหารกลางวันจากมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี คุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

โดยปกติโรงเรียนเราก็มีโครงการตามพระราชดำริฯ ที่ รร.ตชด.ทุกแห่งต้องดำเนินงานตามแผนงาน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร  จำนวน ๘ โครงการ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งมีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย งบประมาณที่มาจากโครงการมอบทุนอาหารกลางวันจากมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ก็ได้นำมาสนับสนุนต่อยอดกิจกรรมเหล่านี้ให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำผลผลิตเหล่านี้มาประกอบเลี้ยงให้เด็กนักเรียนได้มีผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ทานและในแต่ละมื้อก็มีอาหารที่หลากหลายมากขึ้น  และที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆเช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด เข้ามาดูแลให้คำแนะนำตลอดเวลา จนทุกวันนี้เราสามารถทำกิจกรรมหมุนเวียนภายในโรงเรียนของเราได้ตลอดปี เรียกว่าเป็นพลังบวกจากทุกหน่วยๆที่เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อเด็กในโรงเรียนจะได้เติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพในสังคมและพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไปครับ

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เราก็ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี โดยทำเป็นโครงการอาหารเสริม ผักและผลไม้ตามฤดูกาล มูลนิธิฯที่ไม่ได้มอบเพียงแค่ทุนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนโครงการเกษตรพอเพียงของโรงเรียนด้วย พอได้งบประมาณจากมูลนิธิฯ มา เราก็สามารถทำกิจกรรมการเกษตรของเราให้มันยั่งยืนขึ้น โดยไม่ต้องไปขอใครแล้ว ตอนนี้เราทำมันจนเข้าที่และมีทุกกิจกรรมเป็นของตัวเอง ไม่ใช่จำนวนที่เยอะ แต่ก็เพียงพอและยั่งยืนสำหรับนักเรียนและครูทุกคน โดยเราสามารถเอาผลผลิตไปขายต่อ รับซื้อมาเลี้ยง และขายต่อไปแบบนี้ได้เรื่อยๆ แค่นี้ยังไม่พอ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดียังทำให้เด็กหอพักบ้านไกลของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอาหารที่หลากหลายรับประทาน รวมทั้งวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย

ทางด้านสุขภาพและโภชนาการ คุณมองเห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมด้วยไหม

เมื่อก่อน เด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารจะมีปัญหาเรื่องคอพอก เนื่องจากขาดสารไอโอดีน เราจึงดำเนินงานโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งเราจะเติมสารไอโอดีนลงในน้ำดื่ม ใช้เกลือไอโอดีนประกอบอาหาร และแจกจ่ายเกลือไอโอดีนให้นักเรียนเอากลับบ้านไปให้ผู้ปกครอง เพราะคนท้องถิ่นที่อยู่บนภูเขา เขาจะไม่ได้ใช้เกลือไอโอดีน แต่ใช้เกลือสินเธาว์ที่หาได้ง่ายและราคาถูกกว่า แต่มันไม่มีสารไอโอดีนเลย แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของเรานั้น ตอนนี้เด็กๆ ไม่มีคนไหนเป็นคอพอกหรือขาดสารไอโอดีนแล้ว โดยเรายังแจกจ่ายเกลือให้ชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้การได้รับประทานอาหารที่ดีขึ้น ยังทำให้ค่าโภชนาการเฉลี่ยของโรงเรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยล่าสุดเราเพิ่งวัดค่าโภชนาการ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของเด็ก ถ้าเทียบกับวันแรกที่เด็กๆ เหล่านี้เข้ามา ตอนนี้ทุกคนมีค่าโภชนาการไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ภาวะผอม ภาวะอ้วนหรือเริ่มอ้วน ภาวะเตี้ย เราจึงอยากขอบคุณมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีที่ทำให้เด็กของเรามีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตที่ดี ไม่เดือดร้อน และมีความสุข

ทำไมถึงเลือกต่อยอดโครงการทุนอาหารกลางวันไปกับการทำเกษตรพอเพียง

เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สูง และชาวบ้านก็จะประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกกาแฟ เด็กๆ เองก็มองไม่เห็นว่า ถ้าโตแล้ว เขาจะทำอาชีพอะไรอื่นๆ ได้นอกจาก 3 อาชีพนี้ เราจึงอยากส่งเสริมให้เขาคิดเป็นว่า จะประกอบอาชีพอะไรดีถึงจะยั่งยืนและหาเลี้ยงตัวเองได้ โรงเรียนก็เลยต่อยอดงบประมาณจากโครงการเกษตรเพื่อมอบทุนอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯ และจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนมีส่วนร่วมโดยเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง เช่น การทำปุ๋ยหมัก ทำปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงปลาในบ่อดิน การเพาะเห็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น โดยชาวบ้านผู้ปกครองก็เข้ามาส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนได้ เพราะบางอย่างเขารู้เยอะกว่าเรา บางอย่างเราแนะนำเขาได้ ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านหลายส่วนเอาโครงการของเราไปขยายต่อได้จำนวนเยอะแล้วหลายครัวเรือน สามารถปลูกผักและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนจริงๆ

เพราะเหตุใดคุณจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงเรียนในชุมชนเล็กๆ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังอยากส่งลูกหลานลงไปเรียนในเมือง

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านทุกคนอยากให้บุตรหลานได้รับการศึกษา เพราะไม่อยากให้บุตรหลานต้องมีชีวิตที่ยากลำบากแบบเขา บางคนไม่มีบัตรประชาชน ทำอะไรไม่ได้เลย เราจึงต้องพัฒนาโรงเรียนในชุมชนให้ได้ดี ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีการศึกษาด้านวิชาการเป็นเลิศ สอบได้คะแนนท็อปของจังหวัด เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน เด็กบนดอยถนัดการเอาตัวรอด รู้จักธรรมชาติ การเกษตร แต่โรงเรียนในเมืองสอนเน้นวิชาการ เน้นความรู้เพื่อไปแข่งขัน พอเด็กบนดอยไปเรียนไม่ทันเขาก็ท้อแท้จนหลายคนต้องออกกลางคัน ท้องระหว่างเรียน การพัฒนาโรงเรียนชายขอบให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงสำคัญมาก ผู้ปกครองต้องมั่นใจว่า ลูกมาเรียนที่นี่แล้ว อาจไม่เก่งวิชาการมาก แต่จะมีทักษะอาชีพที่จะไปช่วยเขาได้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.