นักวิจัยไทย นำการทดลองไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ครั้งแรกของ นักวิจัยไทย ที่ยกระดับงานวิจัยของชาติโดยการส่งชุดการทดลองเชื้อไข้มาลาเรียไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า นำการทดลองเกี่ยวกับเชื้อไข้มาลาเรียของ นักวิจัยไทย ขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่สถานีอวกาศนานาชาติ

เมื่อปี 2017 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไข้มาลาเรียประมาณ 435,000 คน ในประเทศไทย จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 16 สิงหาคม 2019 พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียแล้ว 3,747 คน ในจำนวนนี้มี 7 รายที่เสียชีวิต

ไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด ไข้มาลาเรียมีความชุกชุมตามบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ในปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่นที่ยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

วงจรชีวิตของเชื้อไข้มาลาเรีย: วงจรชีวิตของเชื้อที่เจริญอยู่ในยุงก้นปล่อง (เส้นสีแดง) วงจรชีวิตที่เป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ (เส้นที่น้ำเงิน) / รูปภาพประกอบ : National Center for Biotechnology Information

ไข้มาลาเรียติดต่อโดยยุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากผู้ป่วยไปสู่คนอื่นๆ โดยเริ่มจากยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยที่เป็นไข้มาลาเรีย แล้วดูดเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียเข้าไป หลังจากนั้น เชื้อมาลาเรียจะใช้เวลาเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 วัน จนอยู่ในระยะที่ทำให้เกิดโรค เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคน ก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10 ถึง 14 วัน

กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ สวทช. ศึกษาและวิจัยเกี่ยวโรคเวชศาสตร์เขตร้อนมาเป็นเวลานาน และเข้าใจถึงกระบวนการเกิดโรคมาลาเรียเป็นอย่างดี ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในช่วงที่ผ่านมา คือการดื้อยาของเชื้อก่อโรค คณะวิจัยจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวยาที่มีความเฉพาะเจาะจง และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมากขึ้น

ในปัจจุบัน หลักการทำงานของยารักษาโรคไข้มาลาเรีย คือการเข้าจับกับโปรตีนของเชื้อมาลาเรียในตำแหน่งเฉพาะ “เราจึงจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างโปรตีน เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กล่าวและเสริมว่า “ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเราอาจเห็นผลการทดลองที่แตกต่างออกไป” ในส่วนนี้ จิสด้าจึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในส่วนงานขนส่งชุดการทดลองไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือในระดับสากลจากองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

“เราหวังว่าเมื่อได้ผลการทดลองแล้ว จะเห็นโครงสร้างโปรตีนที่แตกต่างออกไปจากที่เราทำการทดลองบนพื้นโลก” ดร.ชัยรัตน์ บอกและอธิบายว่า “เพื่อนักวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาตัวยารักษาโรคมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” งานวิจัยครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือของหน่วยงานชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เป็นก้าวแรกของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ที่มีการส่งเสริม ผลักดัน และสนับสนุน นวัตกรรมและเทคโนโลยทางอวกาศที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับฐานงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เกิดการต่อยอดออกมาเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นวงกว้าง

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย

“อย่างน้อย ถึงแม้ว่าผลการทดลองที่ได้ อาจไม่สามารถนำมาพัฒนายาได้ในเร็ววันนี้ แต่ผมเชื่อว่า การทดลองครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยเห็นว่า คนไทยทำเรื่องเหล่านี้ได้ เราพัฒนายาเองได้” ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.