12 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดตัวโครงการ สุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน หรือ Suvarnabhumi : Terra of Co-cultural Values ณ ห้องออดิทอเรียมฮอลล์ ชั้น 10 C ASEAN อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
“สุวรรณภูมิ” เป็นดินแดนที่ได้รับการกล่าวถึง และมีการศึกษาค้นคว้ามาเป็นระยะเวลานานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดินแดนนี้ไม่มีเขตแดนชัดเจน แต่เป็นดินแดนนามธรรมทางความคิด เป็นดินแดนเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นอารยธรรมที่เมื่อพลิกฟื้นขึ้นมาได้จะนำไปสู่การรังสรรค์คุณค่า และการพัฒนาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการแปลงแนวโน้มหลักของโลก หรือเมกะเทรนด์ที่กำลังมาถึง ผ่านการศึกษาและสกัดคุณค่าในแต่ละด้านทั้งหมด 5 มิติ ร่วมกับการใช้นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ทำให้เราได้เห็นว่า สุวรรณภูมิคืออารยธรรมเชื่อมโลก และเมื่อเราตระหนักแล้วว่า เราต่างไม่ได้แบ่งแยกโดยเส้นประเทศ แต่เราเชื่อมโยงถึงกันและกัน ด้วยนโมทัศน์นี้จะพาให้เรากล้าที่จะรวมกันเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคต รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงศ์ ประธานอนุกรรมการโครงการสุวรรณภูมิฯ กล่าวในพิธีเปิด
ในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองปีวัฒนธรรมอาเซียน 2562 โครงการสุวรรณภูมิ : ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก จึงถือโอกาสนี้นำเสนอแนวคิดที่จะนำไปสู่วิวัฒนาการของการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ และคุณค่าวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน บนพื้นฐานของเป้าหมายหลัก ได้แก่ ความมีเสถียรภาพ สันติภาพ พลวัต และยุทศาสตร์การฟื้นความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ภายใต้โครงการความร่วมมือตามแนวเส้นทางสายไหม เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก (Belt and Road Initiative) เพื่อพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ บนพื้นฐานที่ทุกคนมีความมั่นคงในความเป็นมนุษย์ เป็นสุข และมีอิสระที่จะเลือกความหมายให้กับตนเอง ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเสริม
ในตอนท้าย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวนการจิสด้า เปิดเผยว่า โครงการสุวรรณภูมิฯ เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ” มีเป้าหมายในการวิเคราะห์เชื่อมโยงคุณค่าของดินแดนที่ได้รับการกล่าวถึงในเชิง “นามธรรมแห่งความคิด” เป็นการวิจัยเกี่ยวกับร่องรอย และความรุ่งเรืองจากอดีตจนถึงปัจจุบันของสุวรรณภูมิ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐาน เส้นทางการค้าข้ามสมุทร ตลอดจนความเชื่อมโยงในพื้นที่อื่นๆ โดยใช้หลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงข้อมูลใหม่เกี่ยวกับดินแดนที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การตามรอยสุวรรณภูมิครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้คุณค่าแห่งศักยภาพผ่านรูปลักษณ์ ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภูมิสารสนเทศ ซึ่งตรงกับพันธกิจของจิสด้าในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดของโครงการสุวรรณภูมิฯ ได้ที่
suvarnabhumimap.gistda.or.th หรือ www.facebook.com/gistda