การฟังเพลงขณะอ่านหนังสือ ส่งผลดีจริงหรือ

ผู้อ่านส่วนใหญ่เชื่อว่า การฟังเพลงขณะอ่านหนังสือช่วยสร้างความจดจ่อต่อการอ่านได้ดีขึ้น เสียงเพลงส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและประเภทของเพลง บางคนกล่าวว่า ถ้าตนเองอยู่ในภาวะเงียบเกินไปมักไม่เข้าใจเนื้อหาที่กำลังอ่าน แต่บางคนก็แสดงผลในทางตรงกันข้ามคือ ไม่สามารถจดจ่อกับเนื้อหาที่อ่านได้หากมีเสียงรบกวน

บทเพลงนั้นมีผลต่อการอ่านเชิงวิเคราะห์และการรับรู้ รวมไปถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์มองเรื่องนี้อย่างไร

หลายครั้งเรามักพบเจอผู้คนสวมหูฟังไปด้วยขณะที่อ่านหนังสือในห้องสมุด หรือในสวนสาธารณะ ในช่วงทศวรรษ 1990 ทฤษฎีเพลงโมซาร์ต เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง จากผลงานวิจัยของกอร์ดอน ชอว์ ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนักศึกษาหลักสูตรหลังปริญญาเอกนาม Xiaodan Leng พบว่า รูปแบบสมองของผู้ที่กำลังเล่นเครื่องดนตรีแสดงผลคล้ายกับโน้ตเพลงคลาสสิก

ถัดมาในปี 1993 นักวิทยาศาสตร์ทดลองทฤษฎีเพลงโมซาร์ตกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนักเรียนที่ฟัง “Sonata for Two Pianos in D Major” แสดงผลการทดสอบไอคิวในระดับสูงกว่าช่วงที่ไม่ได้รับฟังเพลง เมื่องานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป จึงกลายเป็นความเชื่อมาถึงทุกวันนี้ว่า บทเพลงมีผลต่อการอ่านและการเรียนรู้

สิบปีต่อมา งานวิจัยหลายชิ้นตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดลองไปในทางตรงกันข้ามกับทฤษฎีเพลงโมซาร์ต และชี้จุดสังเกตถึงข้อจำกัดในการทดลองที่ผ่านมา เช่น การวัดไอคิวจากทักษะเพียงด้านเดียวอย่างการพับกระดาษ และการแก้ปริศนา พวกเขากล่าวว่า “ไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใดชี้ชัดว่า การฟังเพลงคลาสสิกส่งผลให้ผู้เรียนฉลาดขึ้น”

บุคคลทั่วไปมีแนวโน้มตอบสนองการแก้ปัญหาได้ดีเมื่ออยู่ในภาวะอารมณ์เชิงบวก บทเพลงช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้เรียนขณะอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ และช่วยลดความกังวลในขณะที่แสดงความคิดเห็น งานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่า เสียงเพลงช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดปามีน ซึ่งส่งผลให้เกิดความสุข และความตื่นตัว

นอกจากนี้ ในบางกรณี บทเพลงช่วยให้เรานอนหลับง่ายขึ้น เมื่อร่างกายพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็ย่อมส่งผลให้ฮอร์โมนเครียดลดลง และสมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

บทเพลงประเภทเพลงบรรเลง อาจช่วยให้เราจดจ่อกับเนื้อหาในตำราได้มากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ หรือการเรียนที่ใช้เวลานาน ในบางกรณีพบว่า นักเรียนบางคนสามารถจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นเมื่อฟังเพลงที่ส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวก ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นความทรงจำทางอ้อม

กล่าวโดยสรุป บทเพลงช่วยกระตุ้นอารมณ์เชิงบวก และช่วยให้สมองผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่าน และการเรียนรู้ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในทางกลับกัน เสียงเพลงก็ส่งในทางลบต่อผู้เรียนเช่นกัน

การศึกษาในกลุ่มนักเรียนที่ฟังเพลงซึ่งมีเนื้อร้องขณะกำลังอ่านจับใจความ และการเขียนเชิงวิชาการ พบว่า นักเรียนมีแนวโน้มของประสิทธิภาพการอ่านและการเขียนลดลง และจดจำข้อมูลจากสิ่งที่อ่านได้น้อยลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลง

นอกจากนี้ เสียงเพลงที่ดังเกินไป หรือเพลงที่มีเนื้อหาก้าวร้าว ส่งผลโดยตรงต่อการอ่านจับใจความและอารมณ์ ทำให้ผู้เรียนจดจ่อต่อสิ่งที่เรียนหรืออ่านได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า นักเรียนที่ฟังเพลงเพื่อเพิ่มการจดนั้น จำเป็นต้องเปิดเพลงคลอไปด้วยขณะทำข้อสอบ แต่เมื่อทดลองทำข้อสอบในห้องที่ไม่มีเสียงเพลง พบว่า นักเรียนดึงความทรงจำออกมายากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ การระลึกถึงความทรงจำเก่านั้น สมองมักทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่สมองบันทึกข้อมูล

ประเภทของบทเพลงเป็นสิ่งสำคัญ

จากรายงานของมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ และจากหลายสถาบัน ชี้ว่า บทเพลงที่มีเนื้อร้องส่งผลให้การเรียนรู้ การอ่าน และการเขียน ไม่ต่อเนื่อง

พวกเขาพบว่า สมองต้องประมวลการรับรู้คำร้องจากเพลงและต้องจดจ่อกับการอ่านในเวลาเดียวกัน จึงทำให้บางครั้งความสนใจของเราหลุดจากการอ่านมาฟังเนื้อหาของเพลงแทน

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ถ้าคุณกำลังจดจ่ออยู่กับเพลงโปรดของคุณ และร้องคลอตามไป ย่อมเป็นการขัดขวางการอ่านเนื้อหาและการเขียน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.