การอ่านหนังสือช่วยพัฒนาสมองอย่างไร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ส่งความรู้สร้างความสุข” เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของความร่วมือระหว่าง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ คือกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน เพราะการอ่าน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน

ในแต่ละวัน เราอ่านหนังสือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งหนังสือกระดาษหลากหลายแนว หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ หลายคนเลือกให้การอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกสุดรักที่ขาดไม่ได้ในชีวิต และเป็นที่ยอมรับกันมาอย่างยาวนานว่าการอ่านหนังสือมีประโยชน์ต่อการสร้างสติปัญญาและช่วยพัฒนาสมอง ซึ่งเราจะเห็นได้จากกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนโตล้วนมีการอ่านหนังสือเป็นวิธีการสำคัญ หรือแม้กระทั่งการอ่านหนังสือแนวบันเทิงคดีก็ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมจินตนาการทั้งสิ้น

โดยผู้ที่อ่านหนังสือ จะมีการพัฒนาในสมองส่วนกลีบท้ายทอย (Occipital Lope) ซึ่งเป็นส่วนประมวลผลกลางของการสร้างภาพในสมองที่มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เป็นนักอ่านสามารถประมวลความคิดเป็นภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีลักษณะสมองที่สามารถแปลและเพิ่มจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงมีความสามารถในการสร้างภาพอนาคตในสมองเพื่อใช้สำหรับการสินใจในสิ่งต่างๆ ได้ดี ในส่วนของสมองกลีบข้าง (Parietal Lobe) ก็มีการพัฒนาที่ดีเช่นกัน โดยสมองส่วนนี้มีหน้าที่เปลี่ยนตัวอักษรเป็นคำ และเปลี่ยนคำให้เป็นความคิดในสมอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเขียนและการอ่านเพื่อทำความเข้าใจ

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือมีคุณประโยชน์กับสมองในด้านต่างๆ ดังนี้

– การกระตุ้นทางจิตใจ (Mental Stimulation)

งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นจิตใจช่วยลดภาวะความจำและสมองเสื่อมได้มากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้งานสมองอย่างต่อเนื่องโดยการต่อจิกซอว์ เล่นเกมปริศนา และแน่นอน การอ่านหนังสือ

– ลดความเครียด

มีหลายคนที่ใช้การอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการอ่านนวนิยายเพื่อผ่อนคลายความเครียด โดยจากงานวิจัยเมื่อปี 2009 ค้นพบว่าการอ่านสามารถลดความเครียดได้มากถึงร้อยละ 68 ซึ่งมากกว่าการฟังเพลง ดื่มชา เล่นวิดีโอเกมหรือการเดินเล่น นักวิจัยให้รายละเอียดว่า ผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีประสบการณ์การอ่านหนังสือเพียง 6 นาทีต่อวันจะมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle Tension)

โดยเนื้อหาของหนังสือที่อ่านไม่ได้มีผลเป็นพิเศษ แค่เพียงได้อ่านหนังสือที่พาคุณหมกหมุ่นไปกับมัน และพาคุณออกจากความกังวล ความเครียด ไปสัมผัสจินตนาการของผู้แต่ง ซึ่งในระหว่างที่เราอ่าน สมองในส่วนร่องกลาง (Central Sulcus) ที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวและทรงตัวของเราก็ได้รับการกระตุ้นไปด้วย นั่นหมายความว่าสมองทำให้เราได้เห็นภาพในหัวแจ่มชัดราวกับได้เคลื่อนไหวในโลกของหนังสือจริงๆ

– เพิ่มทักษะการเข้าสังคม

แม้การอ่านหนังสือจะทำให้คุณได้ออกจากโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง แต่ก็มีผลการวิจัยที่น่าสนใจว่าการอ่านช่วยเพิ่มทักษะทางสังคมซึ่งมีส่วนช่วยเมื่อคุณต้องเจรจาติดต่อกับผู้คน มีงานศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่อ่านหนังสือเรื่องแต่ง (fiction) จะมีสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีจิต (Theory of mind) คือความสามารถในการจำแนกสภาพจิต เช่นความเชื่อ ความตั้งใจ ความต้องการ การเล่นบทบาท (role-playing) ความรู้ ว่าเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น และสามารถเข้าใจว่า คนอื่น ๆ มีความเชื่อ ความต้องการ และความตั้งใจ ที่ต่างจากของตน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม และมีอีกงานศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่อ่านนวนิยายจะมีคะแนนในการทดสอบวัดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่าผู้ที่อ่านหนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง non-fiction อีกด้วย

– พัฒนาความจำ

เมื่อเราอาจหนังสือ สิ่งที่สมองเราทำงานไม่ได้มีแค่การถอดรหัสคำที่อยู่บนหน้ากระดาษ เพราะในระหว่างที่เราอ่านหนังสือ สมองจะทำหน้าที่ทั้งประมวลผลภาพในหัว ภาษา และการเรียนรู้เชื่อมโยง (associative learning) ไปพร้อมกัน

มีงานศึกษาหนึ่งพบว่าการกระตุ้นทางจิตใจเช่นการอ่านหนังสือสามารถช่วยในเรื่องความจำและทักษะการคิด ซึ่งผู้เขียนงานวิจัยระบุว่าการอ่านหนังสือทุกวันสามารถลดการเสื่อมถอยทางสติปัญญาสำหรับผู้สูงอายุ (late-life cognitive decline) ด้วย

– พัฒนาการเชื่อมโยงและการทำงานของสมอง

มีงานศึกษาหนึ่งที่สรุปว่าความชอบในการอ่านนวนิยายอย่างยิ่ง สามารถเพิ่มสภาวะการพักเชื่อมต่อของสมอง (the brain’s resting state connectivity) และการทำงานโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านนวนิยายจะช่วยพัฒนาการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของผู้อ่าน และช่วยพัฒนาเรื่องของจินตนาการ ความเชื่อมโยงของสมอง แม้แต่ตอนที่เราเลิกอ่านไปแล้ว

ที่มา

7 Ways Reading Benefits Your Brain

เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ 5 ข้อที่การอ่านจะช่วยพัฒนาสมองของคุณ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.