เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่หลายคนกำลังตื่นเต้นกับวันแห่งความรัก ที่สิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย มีคนจำนวนหนึ่งที่กำลังนั่งอยู่กลางสนามหญ้า เพื่อชมการแสดงที่เรียกว่า ‘โขนกลางแปลง’ โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาและเหล่าบอลลูนลูกยักษ์จากนานาชาติ ที่เข้าร่วมในเทศกาลบอลลูนนาชาติที่จัดขึ้นในวัน เวลา และพื้นที่เดียวกัน
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินหรือรู้จักโขนกลางแปลงเป็นครั้งแรก เพราะกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการแสดงโขนแบบดั้งเดิมก็ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยงานไว้ว่า “ปัจจุบันหาดูได้ยาก” อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ความว่าจะหาดูไม่ได้
ในเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ที่จัดขึ้นที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย เมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการแสดงโขนกลางแปลง ชุดรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาสตร์ อันเป็นการแสดงโขนกลางแปลงอีกแห่งนอกจากโขนกลางแปลงที่งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งหมายความว่า ในประเทศไทยมีการแสดงโขนกลางแปลงเหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2563 การแสดงโขนกลางแปลงในเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงรายได้ ดำเนินมาถึงปีที่ 3 ในขณะที่โขนกลางแปลงงานอุทยาน ร.2 ที่เปรียบเสมือนต้นตำรับนั้นจัดแสดงมามากว่า 30 ปี แล้ว แต่ทางบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้จัดงาน ก็มุ่งมั่นที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ผู้ตั้งใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้เหลือไปยังคนรุ่นหลัง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มรดกวัฒนธรรมไทยอย่าง “โขนกลางแปลง” ยังมีคนรู้จัก
เพราะความหลงใหล จึงกลายเป็นผู้สืบสาน
โขนกลางแปลงชุดรามเกียรติ์ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากคุณอิสระ ขาวละเอียด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ อาจารย์สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู ข้าราชการบำนาญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละคร สังกัดกรมศิลปากร ที่เป็นผู้คิดริเริ่มและดำเนินการ โดยมี คุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้สำเร็จ
คุณอิสระเป็น Brewmaster ของบุญรอดฯ ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมไทย ส่วนอาจารย์สุรเชษฐ์คือผู้เชี่ยวชาญด้านโขนละครที่เห็นว่าบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มุ่งสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งสองคนได้มีส่วนทำให้เกิดโขนกลางแปลงชุดรามเกียรติ์ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย อันเป็นสุนทรียนาฏกรรมที่ตรึงสายตาผู้ชมได้กว่าหมื่นคน
“ต้องบอกที่มาที่ไปก่อนว่าทำไมผมถึงต้องนำโขนไปเล่นที่เชียงราย เพราะสิงห์ปาร์คมีพื้นที่ที่สวยงามมาก กว้าง สนามสวย ต้นไม้สวย ดอกไม้สวย ภูเขาสวย เลยคิดว่าทำไมเราไม่หาอะไรไทยๆ ทำไมต้องเป็นคอนเสิร์ตหรือ International Balloon Festival อย่างเดียว ก็เลยนึกถึงโขนกลางแปลง ซึ่งมันหาดูไม่ได้แล้ว มันร่อยหรอลง ไม่ค่อยมีคนรู้จักแล้ว มีเล่นอยู่ที่เดียวก็ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหลืออยู่ที่เดียวซึ่งจัดมา 30 ปีได้แล้ว เราก็น่าจะเอาตรงนี้ไปแสดงดีไหม คนต่างชาติก็จะได้ดู และผมก็เชื่อว่าคนท้องถิ่นก็ไม่เคยดู พอดีวันที่คุยเรื่องนี้ คุณสันติเดินผ่านมาแล้วถามว่าคุยอะไรกัน เราจึงได้เสนอความคิดนี้ ท่านก็ให้ลองทำดูสองวัน พอดูจบท่านก็เรียกผมมาหาแล้วบอกว่า โขนอย่างนี้เราจัดทุกปีได้รึเปล่า” คุณอิสระ เจ้าของความคิดริเริ่มในโครงการนี้ กล่าว
ด้านอาจารย์สุรเชษฐ์กล่าวเสริมว่า “ผมคิดว่าคนดูการแสดงโขนกลางแปลงที่อุทยาน ร.2 มาเป็นยี่สิบสามสิบปีแล้ว แต่คนทางเหนือไม่มีโอกาส ผมจึงคุยกับลูกศิษย์ว่าอยากเอาโขนไปเล่นทางเหนือ ลูกศิษย์บอกว่า คนทางเหนือเขาไม่ค่อยชอบดู ผมคิดว่าทำไมจะทำไม่ได้ ผมจะเอาโขนไปให้ดูให้ได้ พอได้คุยกับผู้ใหญ่ที่บุญรอดฯ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ท่านเล็งเห็นในเรื่องนี้ ท่านบอกว่า เอาเลย ลองทำดู แล้วปีแรกก็ประสบความสำเร็จมาก คนดูบอกว่าเพิ่งเคยเห็นโขนตัวเป็นๆ ครั้งแรก บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จึงถือเป็นผู้ให้โอกาสทางศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชน เพราะว่าเขาไม่มีโอกาสได้ดูมาก่อน”
โขนกลางแปลง นาฏกรรมโบราณที่ไม่ต้องปลูกโรงโขน
กรมศิลปากรให้คำจำกัดความ “โขนกลางแปลง” ว่าเป็น “การแสดงโขนบนพื้นดินกลางสนามหญ้า ไม่ต้องปลูกโรงให้เล่น” การแสดงโขนกลางแปลงนี้จึงต้องใช้สถานที่ใหญ่ เพราะไม่มีเวที ต้องใช้สนามหญ้าเป็นเวทีธรรมชาติ มีฉากเป็นต้นไม้ใบหญ้าหรือภูเขา และใช้คนแสดงจำนวนมาก หากสงสัยว่า “มาก” นี้มากแค่ไหน คุณอิสระผู้รับบทบาทอินทรชิตใน พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 ให้คำตอบว่า “เป็นร้อย จึงจะตื่นตาตื่นใจ คึกคัก และถ้าจะให้สนุกก็ต้องมีทั้งยักษ์ทั้งลิง”
ด้านอาจารย์สุรเชษฐ์พูดถึงความท้าทายในการแสดงโขนท่ามกลางธรรมชาติอย่างภูเขาและทะเลสาบว่า “ชื่อมันบ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงกลางแจ้ง ซึ่งการแสดงที่สิงห์ปาร์คนั้นได้เปรียบกว่าที่อื่น คือมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แทนที่จะมีแต่สนามหญ้าอย่างเดียว ก็มีทั้งภูเขาและดอกไม้ แล้วปีนี้ผมหันหลังเวทีให้ดงดอกไม้ ภูเขา เพราะฉะนั้น คนก็จะได้ชมวิวทิวทัศน์ด้วย เต็มมิติตามที่ผู้ใหญ่จากสิงห์ปรารภเอาไว้ ถ้าเทียบกับที่อื่นถือว่าไม่ยาก แค่ปรับแบบแผนตามสถานที่เล็กน้อย อย่างที่สิงห์ปาร์คมีเนิน เราก็ปรับโลเคชันให้เข้ากับบรรยากาศหรือเนื้อเรื่องการแสดง
“ตัวผมชอบเรื่องเทคนิค ผมก็จะเพิ่มเทคนิคเข้ามา เช่นปรับแสงให้เข้ากับบรรยากาศ แต่แสดงกลางแจ้งก็มีข้อแม้คือพระอาทิตย์จะลับเหลี่ยมมั้ย กระแสลมจะมีมั้ย มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกับเล่นในโรงละครที่มืดทั้งหมด เราจะเนรมิตแสงสีเสียงยังไงก็ได้ แต่พอเป็นกลางแจ้ง ถ้ามีลมมาการแสดงอาจจะไม่ได้อย่างที่เราคิด เพราะเราจะต้องปล่อยเอฟเฟกต์ควันช่วย และปีนี้เป็นปีแรกที่ผมเพิ่มความพิเศษ คือใช้โดรนถ่ายภาพมุมสูงด้วย คนที่ดูนักแสดงก็ดูไป แต่ถ้าคนอยากดูที่จอ ก็จะมีฉากที่ตัดมาให้บนจอ เป็นภาพข้างบน ฉายบนมอนิเตอร์ใหญ่ด้านหลัง”
สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้ไม่เหมือนใครและประทับใจผู้ชม
อาจารย์สุรเชษฐ์เล่าว่า นักแสดงโขนทุกคนล้วนผ่านการแสดงมาแล้วอย่างดี พวกเขาเป็ยกลุ่มศิลปินวังหน้าเป็นกลุ่มนักแสดงที่ผ่านการเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บางท่านเป็นศิลปินกรมศิลปากร บางท่านเป็นศิลปินอิสระ ผู้ผ่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างดี
“ทางผู้ใหญ่ในบุญรอดฯ เขาให้ผมสร้างสรรค์เลยว่าควรจะเป็นอย่างไร แล้วผมก็คิดว่าควรจะมีอะไรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ อย่างปีที่แล้วผมเห็นสิงห์หน้าไร่ ผมเลยคิดการแสดงชุดใหม่เรียกว่า ‘ชุดเบิกโรง’ ซึ่งการแสดงเบิกโรงนาฏศิลป์มีอยู่แล้ว แต่ผมทำใหม่ ตั้งชื่อให้ว่า ‘สิงหวตาร’ จินตนาการว่าสิงห์เป็นเทพเจ้าที่อวตารลงมาเพิ่มความบันเทิงให้แก่โลก ทั้งให้น้ำบริสุทธิ์ดื่ม ให้การสนับสนุนคนยากจน เป็นระบำชุดใหม่ ปีนี้เอามาเล่นก็จะซ้ำ เราก็เปลี่ยนเป็นขบวนสวยงาม
“การแสดงโขนกลางแปลงทุกปีเราพยายามทำให้ชวนติดตามยิ่งขึ้น อย่างตอนนี้เป็นตอนใหญ่ ศึกพรหมาสตร์นี่ไม่เหมือนกับทุกครั้ง คุณจะเห็นความยิ่งใหญ่ของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขบวนเทวดา นางฟ้า กลองชนะ ในฉากนั้นคนแสดงไม่ต่ำกว่าเก้าสิบคน ยิ่งใหญ่อลังการมาก”
สืบสานเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมมรดกไทย
“ผมโตขึ้นมาก็มองเห็นว่าทางบุญรอดฯสนับสนุนงานด้านศิลปะทุกอย่าง ไม่ว่าจะดนตรีไทย โขนละคร จิตรกรรม ประติมากรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่บุญรอดฯสนับสนุนมากว่าสิบปี ส่วนใหญ่จะมาทางด้านอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะไทยแทบทั้งหมด ในช่วงหลังจึงเริ่มไปสนับสนุนทางด้านกีฬามากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าบุญรอดฯให้การสนับสนุนทางด้านกีฬาค่อนข้างเยอะ หลังจากนี้ทางบุญรอดฯก็จะไปสนับสนุนอย่างอื่นเพิ่มเติม ผมเลยพยายามจะดึงศิลปะไทยกลับมาใหม่
เราไม่อยากให้มันหายไป เพราะเป็นสิ่งที่บุญรอดฯสนับสนุนมาตั้งแต่ยุคแรกๆ”
คุณอิสระเล่าถึงความหลังครั้งเป็นนักศึกษาพ่วงตำแหน่งหัวหน้าชมรมดนตรีไทย กระทั่งวันที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยและได้มีโอกาสอนุรักษ์การแสดงที่เป็นมรดกของไทย
“ใช่ เราต้องการจะอนุรักษ์ แล้วก็ใช้สถานที่ที่อำนวยของเรามาช่วยส่งเสริมให้มีการจัดการแสดงประเภทนี้ ส่งเสริมให้คนได้รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมาสนใจมากขึ้น และสังเกตว่าในปีแรกที่เราจัดแสดง ผู้ปกครองพาเด็กๆ มา เด็กๆ ก็นั่งดูกับพื้นแล้วลุกขึ้นมารำ โขนรำยังไง เด็กๆ ก็รำอย่างนั้น นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราแอบอมยิ้ม เด็กๆ นี่ถ้าไม่สนใจ เขาไม่ทำหรอก เราเลยคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และเราก็ไม่ได้ทำอาชีพนี้ ทุกคนไปด้วยความสมัครใจ เพื่อนฝูงก็ดึงกันมา ทุกคนมีความสนใจทางด้านนี้และอยากจะอนุรักษ์ อยากส่งเสริม อยากจะสืบสาน” คุณอิสระตอบเป็นการย้ำถึงเจตนารมณ์ของบุญรอดฯและตัวเอง
นอกจากนี้ คุณอิสระฝากถึงผู้ที่ไม่เคยไปดูโขนกลางแปลงที่สิงห์ปาร์คมาก่อนว่า “การแสดงโขนนอกจากโขนจะเป็นศิลปะชั้นสูงสุดของนาฏศิลป์ไทยแล้ว การแสดงกลางแจ้งแบบนี้ก็หาชมได้ยากมาก แทบจะไม่เหลือแล้ว จึงอยากให้คนที่ไปเที่ยวเชียงราย โดยเฉพาะคนท้องถิ่นซึ่งผมว่าไม่เคยเห็นแน่ๆ ได้มาดู จะได้เข้าใจศิลปะไทย เนื้อหา ความละเอียดอ่อน รวมทั้งรู้เรื่องราวพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่สองมากขึ้น ทุกอย่างมันเป็นสุดยอดหมด ไม่อยากให้พลาด และมีแค่ปีละครั้งด้วย”
ตลอด 1 ชั่วโมงกับนักแสดงกลุ่มศิลปินวังหน้าเกือบร้อยชีวิต และตลอดบทสนทนากับคุณอิสระ นักปรุงเบียร์สิงห์ที่มีงานรองเป็นนักแสดงโขน และอาจารย์สุรเชษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละคร ทำให้เราค้นพบความหมายของ “โขนกลางแปลง” ได้ด้วยตัวเอง จนทำให้เกิดความหวังว่า การสืบสานและผลักดันโขนกลางแปลง ศิลปะไทยที่หาชมได้ยาก ของบุญรอดบริวเวอรี่จะสามารถเปลี่ยนข้อมูลของกรมศิลปากรที่ระบุว่าโขนกลางแปลงนั้น “ปัจจุบันหาดูได้ยาก” ได้ในอนาคต