ชีวิตติดชลธาร

แสงแดดยามเช้าตกกระทบผิวน้ำ ระยิบระยับตามระลอกคลื่น เรือหางยาวลอยอยู่ใกล้ๆ ดงต้นจาก ชีวิตสองฝั่งริมแม่น้ำบางปะกงกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

เรื่อง ฉัตรดนัย สุขทองสา

ภาพถ่าย นันทิยา บุษบงค์

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทยอาศัยและใช้ประโยชน์จากสายน้ำมายาวนาน จนถึงปัจจุบันนี้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็ไม่สามารถขาดปัจจัยเรื่องน้ำไปได้ ดังนั้น การบริหารทรัพยากรน้ำจึงเป็นเรื่องแรกๆ ที่ผู้นำต้องพิจารณาเพื่อรองรับการพัฒนา เมื่อความเจริญของเมืองเติบโตมากยิ่งขึ้น การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมก็เปลี่ยนแปลงตาม เมื่อครั้งอดีต การทำการเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นการทำเกษตรในครัวเรือน คือทำนาปลูกข้าวเพื่อบริโภคให้เพียงพอกับสมาชิกในครอบครัว ส่วนที่เหลือก็แบ่งขายกันต่อไป ต่างจากปัจจุบันที่เน้นการทำเกษตรเพื่อส่งขายตลาด ปริมาณของผลผลิตจึงเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาเป็นการทำเกษตรเพื่อการจำหน่าย เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่ท้องตลาด นั่นหมายถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเป็นพื้นที่ที่หลายหน่วยงานเข้ามาทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เนื่องจากลุ่มน้ำบางปะกงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและประชากรที่อยู่โดยรอบ ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 ระบุว่า ผลจากการรุกตัวของน้ำเค็ม ทำให้พื้นที่ชลประทานบางแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อผลิตน้ำประปาในช่วงหน้าแล้ง

จากปัญหาดังกล่าว หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งผู้แทนชุมชนในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำเพื่อวัดค่าความเค็มตามจุดต่างๆ ตลอดลำน้ำบางปะกง และกำหนดค่าความเค็มที่สามารถสูบน้ำได้ตามความเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมแต่ละประเภท ที่แตกต่างกันไป เช่น น้ำเพื่อทำการเกษตรกำหนดค่าความเค็มที่ 2 กรัมต่อลิตร ส่วนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 1 และ 0.5 กรัมต่อลิตร ตามลำดับ โดยกำหนดจุดวัดน้ำที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา แต่เมื่อปีก่อน ได้พิจารณาย้ายจุดวัดน้ำไปที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทราแทน ซึ่งมีระยะห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 60 กิโลเมตร เพื่อความเหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อการผลักดันน้ำเค็มของกรมชลประทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในปีนั้นๆ ทั้งนี้การใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงส่วนใหญ่จะอยู่เหนือจุดตรวจวัดดังกล่าวขึ้นไป นั่นแสดงว่า การสูบใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคจะสามารถทำได้ในกรณีที่แม่น้ำบางปะกงมีปริมาณน้ำจืดมากพอที่จะผลักดันน้ำเค็มบริเวณอำเภอเมืองฯ ลงไปได้ กติกานี้เกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน นับเป็นการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในช่วงหน้าแล้งได้อย่างบูรณาการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงแหล่งน้ำสาธารณะได้อย่างทั่วถึงตามลำดับความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

และอีกหนึ่งการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในกรณีเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงเร็วกว่าปกติคือ การปล่อยน้ำจืดมาผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามา เป็นการชะลอน้ำเค็มให้ขึ้นมาถึงจุดใช้น้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้ช้าลง “แต่ระดับขีดความสามารถการชะลอน้ำเค็มทำได้สูงสุดเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น” นายธเนศ ปลื้มคิด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา กล่าวและเสริมว่า “เราต้องสำรองน้ำจืดสำหรับการอุปโภคและบริโภคไว้เป็นหลัก ส่วนการใช้น้ำเพื่อรักษาสมดุลทางระบบนิเวศนั้นเป็นเรื่องรองลงมา”

นอกจากนี้ ทางกรมชลประทานพยายามเข้าถึงชาวบ้านด้วยวิธีการที่สะดวกและง่ายขึ้น เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นไลน์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลของคุณภาพน้ำส่งไปถึงผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ หรือในกรณีที่ชาวบ้านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงาน ก็สามารถสื่อสารถึงเจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้โดยตรง

การบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งของจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งชาวบ้านในพื้นที่ ภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีน้ำอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอ หนึ่งในการจัดการที่มีประสิทธิภาพคือ ความร่วมมือระหว่างสำนักงานประปาจังหวัดฉะเชิงเทรา และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ โดยการสูบเก็บน้ำจากแม่น้ำบางปะกงในช่วงน้ำหลากไปพักไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี แล้วนำน้ำที่เก็บไว้มาผลิตน้ำประปาในช่วงหน้าแล้ง นับเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งมลพิษลงสู่แม่น้ำบางปะกงด้วย ในปี 2555 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) รายงานผลการสำรวจความต้องการใช้น้ำทั้งลุ่มน้ำบางปะกง พบว่า การใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีปริมาณสูงที่สุดมีค่า 2,718.77 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รองลงมาคือการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมีค่า 54.66 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในด้านมลพิษทางน้ำ กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์มลพิษทางน้ำเมื่อปี 2547 สรุปได้ว่า น้ำในตอนล่างของพื้นที่ลุ่มน้ำพบการปนเปื้อนของสารปฏิกูล สารอินทรีย์ รวมทั้งจุลชีพต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการไหลผ่านพื้นที่ชุมชน แหล่งปศุสัตว์ และแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษยังระบุอีกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ สภาพป่าต้นน้ำลดลงทำให้การกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเมื่อพิจารณาแผนที่การใช้ที่ดินในสภาพปัจจุบันของลุ่มน้ำบางปะกงพบว่า ที่ดินถูกถือครองและพัฒนาไปเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรไปแล้ว จากการลดลงของพื้นที่ป่า ทำให้เกิดเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งมีแนวร่วมที่เข้มแข็งจากคนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี และภาคเอกชนอย่างอีสท์ วอเตอร์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กลับคืนสู่พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ความร่วมมือของทุกภาคส่วนกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คงอยู่ และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จึงเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในระยะยาว

ในปี 2549 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการลุ่มน้ำและทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เพื่อมุ่งเน้นการบริหาร จัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรการปกครองท้องถิ่น ชุมชน เครือข่ายภาคเอกชน รวมถึงทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อนำทรัพยากรน้ำที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในลุ่มน้ำบางปะกง

 

แม่น้ำบางปะกงเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน เป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับผู้คนริมสองฝั่ง การรักษาแม่น้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรน้ำ

ขอขอบพระคุณบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่นำพาเราไปดูการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณธเนศ ปลื้มคิด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ที่ให้ข้อมูลที่มีคุณค่า และอธิบายให้เราเห็นถึงการพัฒนาร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

อ่านเพิ่มเติม : ผู้พิทักษ์ท้องทะเลคืนป่าให้ชีวิต ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาดของมนุษย์กับธรรมชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.