การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า (ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 และครั้งที่สองใน พ.ศ. 2450) เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายในการรักษาเอกราช อธิปไตยของสยาม ดังปรากฏเผยแพร่ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน และเอกสารประวัติศาสตร์อื่นๆ
แต่เรื่องหนึ่งซึ่งอาจเป็นรับรู้กันน้อยกว่า คือพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลในสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันเรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (soft power) ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เมืองเราไม่พร้อมและไม่มีอาวุธทันสมัยเหมือนชนชาติยุโรปที่จะไปต่อกรกับเขาได้ แต่เรามีวัฒนธรรมอันดีงามที่สู้กับฝรั่งได้”
นี่อาจเป็นที่มาของการที่ทรงให้การอุปถัมภ์แก่นักธรรมชาติวิทยา และนักสำรวจ ชาวนอร์เวย์นาม คาร์ล บ็อค (Carl Bock) ผู้ใช้เวลาถึง 14 เดือน (มิถุนายน ค.ศ. 1881 ถึงสิงหาคม ค.ศ. 1882) ตระเวนเดินทางในสยาม (โดยเฉพาะแถบหัวเมืองทางเหนือ) และดินแดนใกล้เคียง เพื่อสำรวจ ศึกษา เก็บรวบรวมตัวอย่างและข้อมูลต่างๆ ก่อนจะนำไปเรียบเรียงและพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาประเทศของสยาม เพื่อเผยแพร่ให้โลกตะวันตกรู้จักสยามประเทศดีขึ้นและอย่างถูกต้อง ถือเป็นการปูทางอย่างดียิ่งให้แก่การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440
หนังสือเรื่องวัดวาอารามและช้างภาษานอร์เวย์ฉบับทูลเกล้าฯ ถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ห้า
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ
ผลงานที่ใช้ชื่อว่า Templer og Elefante หรือ Temples and Elephants บันทึกการเดินทางในสยามและลาวของคาร์ล บ็อค (Temples And Elephants: The Narrative Of A Journey Of Exploration Through Upper Siam And Lao by Carl Bock) ฉบับภาษานอร์เวย์ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) โดยเจ้าของโรงพิมพ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือฉบับภาษานอร์เวย์แด่ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้า ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือฉบับนี้แก่หอสมุดแห่งชาติ
หนังสือเรื่อง Templer og Elefante หรือ “วัดวาอารามและช้าง” นี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษานอร์เวย์ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสวีเดน และภาษาเยอรมัน ปัจจุบันถือเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและหายาก (ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2505 ใช้ชื่อว่า สมัยพระปิยมหาราช และต่อมาเปลี่ยนเป็น ท้องถิ่นสยามสมัยพระพุทธเจ้าหลวง)
นับจากการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเรื่อง Templer og Elefante แด่พระพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาล่วงเลยมากว่าหนึ่งร้อยปี จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีมอบหนังสือเรื่องวัดวาอารามและช้างฉบับภาษานอร์เวย์ แก่ ฯพณฯ นางอัสทริด เอมิเลีย เฮลเล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย และคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณสยาม แสนขัติ ผู้แทนชุมชนชาวไทยในนอร์เวย์ และนายธวัชชัย ศรีสมเพ็ชร ประติมากรผู้สร้างรูปหล่อรัชกาลที่ห้า ประดิษฐาน ณ นอร์ดแคปป์ เมืองฮอร์นิงสโวก ประเทศนอร์เวย์ ร่วมเป็น สักขีพยาน นอกจากนี้ ยังได้มีการมอบหนังสือเรื่องวัดวาอารามและช้างฉบับภาษาฝรั่งเศสให้แก่หอสมุดแห่งชาติ โดยได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้แทนรับมอบด้วย
สำหรับหนังสือวัดวาอารามและช้างฉบับภาษานอร์เวย์ที่คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับนั้น มาพร้อมกับหีบไม้โบราณที่มีประวัติความเป็นมา สืบย้อนไปได้ถึงสมัยไวกิ้งราวพุทธศักราช 1300 โดยชาวไวกิ้งใช้บรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆ ในการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ หีบไม้นี้ทำจากไม้โอ๊กชิ้นเดียว แล้วตีประทับตัวหีบด้วยเหล็กกล้าพร้อมสลักลวดลายไวกิ้ง ตัวหีบมีความแข็งแรงรักษาของมีค่าทุกชิ้นไว้ได้อย่างปลอดภัย เชื่อกันว่าในการเดินทางสู่สยามของคาร์ล บ็อค เมื่อ พ.ศ. 2424 ได้ใช้หีบ ลักษณะเดียวกันนี้เก็บรักษาตัวอย่างต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูป และสิ่งของพระราชทานอื่นๆ จากล้นเกล้ารัชกาลที่ห้า โดยไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นเลย
ปัจจุบัน ศิลปวัตถุเหล่านี้ได้รับการจัดแสดงให้ให้อนุชนรุ่นหลังในต่างประเทศ ได้ศึกษา ณ พิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) ในกรุงลอนดอน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินอร์เวย์