3 มีนาคมของทุกปีคือวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) โดยในวันนี้ เป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
สำหรับประเทศไทย วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) เริ่มจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้รักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย
ในปี พ.ศ. 2566 วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ตรงกับแนวคิดหลัก (Theme) ประจำปีที่ว่า “Partnerships for Wildlife Conservation” เนื่องด้วยในปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
แนวคิดของปีปัจจุบัน มาจากการที่ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา “พันธมิตร (Partnerships)” ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานอนุสัญญาประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ ก็ด้วยความตั้งใจของภาคีสมาชิก (Parties) และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ (UN agencies) องค์กรภาคเอกชน (private sector) องค์กรการกุศล (philanthropies) และองค์กรพัฒนาเอกชน (non-governmental organizations) ตลอดจนความร่วมมือในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ยังคงอยู่ต่อไป ด้วยการผนึกกำลังในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายและการลดลงของประชากรสัตว์ป่าและพืชป่า ดังนั้น วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก จึงถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับอนุสัญญาไซเตสที่เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงกลุ่มพันธมิตรทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และสร้างการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน
การรักษาไว้ซึ่งกลุ่มพันธมิตรที่มีอยู่เดิมไปพร้อมกับการสร้างพันธมิตรใหม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของทุกชีวิตบนโลก ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติในฐานะชนิดพันธุ์หนึ่งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของจำนวนประชากรสัตว์ป่าและพืชป่า และความเฟื่องฟูของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยค้ำจุนให้โลกใบนี้มีสุขภาวะที่ดีและเป็นแหล่งพึ่งพิงให้ทุกชีวิตต่อไป การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องอาศัยความพยายามในการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน อันเป็นการเปิดโอกาสกับผู้คนที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และนี่จึงเป็นสิ่งที่วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 ต้องการมุ่งเน้นและเป็นที่มาของแนวคิดหลัก (Theme) ประจำปีที่ว่า “Partnerships for Wildlife Conservation”