กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส และงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ ฟ้าใส (Joint Plan of Action – CLEAR Sky Strategy) (2567-2573) และงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00-16.30 น. ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดงานเปิดตัว “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (2567-2573)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ ซึ่งดำเนินการตามผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่าง สปป.ลาว เมียนมา และไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการร่วมฯ กำหนดแผนงานและแนวทาง  ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยในงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ สปป.ลาว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา เข้าร่วมด้วย

ในส่วนของงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน มีวัตถุประสงค์ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการนำแผนปฏิบัติการร่วมฯ มาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจาก 8 หน่วยงาน ได้แก่

  1. กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย (Ministry of Environment and Forestry of Indonesia)
  2. กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ (Ministry of Sustainability and the Environment of Singapore)
  3. กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน (Ministry of Ecology and Environment of China)
  4. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. องค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (World Health Organization South-East Asia Region: WHO SEARO)
  6. องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ)
  7. ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC) และ
  8. ธนาคารโลก (World Bank) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนโดยหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอาเซียน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ ADPC และ GIZ
ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานตามวันและเวลาดังที่ระบุข้างต้น โดยสามารถลงทะเบียนผ่าน QR Code ที่ปรากฏด้านล่างนี้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.