ผสานความร่วมมือและเทคโนโลยี แก้ปัญหาความขัดแย้ง ‘คน-ช้างป่า’ ในพื้นที่อุทยานฯ กุยบุรี

[ BRANDED CONTENT FOR TRUE ]

การลดลงของพื้นที่ป่าจากการถูกแปรสภาพไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม ส่งผลให้แหล่งอาหารของช้างป่าลดน้อยลง จนต้องออกมาหากินลุกล้ำในเขตชุมชน และกลายเป็น ‘ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC)’ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก 

ที่ผ่านมาเราจึงมักได้ยินเหตุการณ์เกี่ยวกับการพบช้างป่าในพื้นที่ชุมชน เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน โดย ข้อมูลจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (IFAW) ระบุว่า แต่ละปีมีช้างป่าเสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ในศรีลังกา 200 ตัว อินเดีย 100 ตัว และเคนยา 120 ตัว ขณะเดียวกันได้มีผู้เสียชีวิตในอินเดียประมาณ 400 คนต่อปี และในเคนยาอีกราว 200 คนระหว่างปี 2553 – 2560

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ในประเทศไทยเอง ก็ประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก โดยจำนวนช้างป่าราว 4,013 – 4,422 ตัว ที่กระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศนั้น กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์กลับมีขนาดเท่าเดิม และส่งผลให้ช้างออกหากินนอกเขตป่า

เห็นได้จากสถิติ 3 ปีล่าสุด (2564 – 2566) มีการพบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าวิตกคือ ในช่วง 12 ปี (2555 – 2567) มีผู้เสียชีวิตจากการบุกรุกของช้างป่าถึง 227 ราย บาดเจ็บ 198 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืน

นำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF-ประเทศไทย ขับเคลื่อนโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า True Smart Early Warning System (TSEWS) ซึ่งใช้เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัยเชื่อมต่อกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) และกลุ่มป่าที่ได้รับผลกระทบช้างป่าบุกรุกทั่วประเทศ

ด้านนายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงปัญหาและความร่วมมือดังกล่าวว่า 

“การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเอกชน และชุมชนในพื้นที่ และในครั้งนี้ก็เป็นความร่วมมือกันของ กรมอุทยานฯ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ WWF ประเทศไทย ที่นำเอาเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มาประยุกต์ใช้กับโครงการระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการเฝ้าระวังช้างป่า ช่วยให้พวกเขาผลักดันช้างกลับสู่ป่าอย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มักเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า”

ทางฝั่งของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ด้วยโซลูชัน ‘True Smart Early Warning System (TSEWS)’ เทคโนโลยีการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่ติดตั้งใช้งานจริงในที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับระบบ TSEWS เป็นระบบเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ ที่ทำงานโดยใช้กล้อง Camera Trap หรือ กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ โดยเชื่อมต่อกับระบบวิเคราะห์ภาพอัจฉริยะผ่านเครือข่าย 5G และ 4G ที่สามารถระบุตำแหน่งช้างได้แม่นยำและรวดเร็ว เมื่อตรวจพบช้างบุกรุก ระบบจะทำการส่งภาพและพิกัดแจ้งเตือน ไปยังระบบ Cloud ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ให้สามารถส่งเจ้าหน้าที่พร้อมโดรนเข้าตรวจสอบและผลักดันช้างกลับป่าได้ทันท่วงที

ถึงวันนี้ เป็นเวลา 7 ปีมาแล้วที่ระบบ TSEWS เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่หน่วยผลักดันช้างป่า แม้เหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีจะยังไม่หมดไป แต่มีแนวโน้มที่ลดลง โดยในปี 2566 จากสถิติ 1,104 ครั้ง มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อพืชผล 4 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.36% เท่านั้น หากเทียบกับปี 2560 ช่วงก่อนการติดตั้งโซลูชัน ที่มีความเสียหาย 74.5%

ปัจจุบัน TSEWS ยังถูกใช้งานในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าในบริเวณดังกล่าวถึงกว่า 400 ตัว ยังสามารถนำไปเป็นต้นแบบ ในการแก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่ป่าอื่นได้ ขณะเดียวกัน โซลูชันดังกล่าวก็ยังเป็น Open Platform ที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นโซลูชันในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.