Power Green Camp 20th – ปลุกพลังเยาวชน สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

บ้านปูสานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพาเวอร์กรีน ชวนเยาวชนจากทั่วประเทศรวมพลังปกป้องธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตลอด 9 วันเต็ม ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และกิจกรรมพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีค่ายเพาเวอร์กรีน ภายใต้แนวคิด “ดีค้าบ – The Decarb Mission ลดคาร์บอนให้โลกคูลล์” ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

[Branded Content for BANPU]

ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โลกเรากำลังเผชิญหน้ากับความวิตกกังวล ที่หลายปีให้หลังมนุษย์เราเริ่มได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศไปจนถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะแปรปรวนผิดปกติไปเสียหมด ซึ่งทุกคนน่าจะสัมผัสได้ว่า พวกเรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างพลังเยาวชน ด้วยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในโครงการค่ายเยาวชน Power Green Camp ครั้งที่ 20 สานต่อความตั้งใจในการชักชวนให้เยาวชนจากทั่วประเทศมารวมพลังปกป้องธรรมชาติ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การปลูกฝังให้เยาวชนหันมาสนใจธรรมชาติ เกิดความตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญในมิติต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม ผ่านพื้นฐานทางทฤษฎีควบคู่ไปกับการสัมผัสจริงในห้องเรียนธรรมชาติ ด้วยความหวังให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าวในวงกว้างต่อไป

กิจกรรมการเรียนรู้ในหัวข้อ “Decarbonization and Innovation”
กิจกรรม Workshop เพื่อเรียนรู้ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) Decarbonization in Daily Life & Personal Carbon Footprint 2) Decarbonization in Transportation และ 3) Low Carbon Tourism – ท่องเที่ยว เมืองคำร์บอนต่ำ”

โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน (Power Green Camp) จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 20 นับจากเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งทุกครั้งที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวจะมีการกำหนดแนวคิด (Theme) สำหรับกิจกรรมในแต่ละครั้ง โดยในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด  “ดีค้าบ – The Decarb Mission ลดคาร์บอนให้โลกคูลล์” และเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“จริง ๆ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมันมีเยอะมากครับ การเลือกธีมมาใช้ในปีนั้น ๆ เราดูจากเทรนด์ของโลก โดยในปีนี้เรามองว่าเรื่อง Decarbonization มันเป็นวาระสําคัญของทั้งโลก เพราะอุณหภูมิโลกเราตอนนี้สูงเกินกว่า 1.5 ไปแล้ว ทุกคนมีส่วนช่วยได้ ไม่ได้จํากัดอยู่เฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่หมายความถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นน้อง ๆ เยาวชน ภาคครัวเรือน ภาคการศึกษา หรือภาครัฐต้องร่วมมือกัน ในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน” รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของแนวคิดกิจกรรมในครั้งนี้

 

‘วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้ทฤษฎี เตรียมพร้อมสู่การปฏิบัติ’

 ในปีนี้มีเด็ก ๆ ชาวค่ายฯ ราว 50 คน จาก 45 โรงเรียน 28 จังหวัด ผ่านการคัดเลือกจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ไม่จำกัดแผนการเรียน) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศที่สมัครรวม 515 คน จาก 304 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งทางผู้จัดงานเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ เมื่อปี 2549 มีจำนวนเยาวชนที่ให้ความสนใจในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรม “ดีค้าบ – The Decarb Mission ลดคาร์บอนให้โลกคูลล์” ในปีนี้ เยาวชนชาวค่ายฯ ได้รับการปูพื้นฐาน เรียนรู้ปัญหา เข้าใจสาเหตุและผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้เรียนรู้แนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ตั้งแต่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วง 3 วันแรกของกิจกรรม (ตั้งแต่วันที่ 26 – 28 เมษายน 2568) เตรียมความพร้อมเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอีก 2 วันถัดมา (วันที่ 29 – 30 เม.ย. 2568) และนอกจากนี้ทั้ง 50 เยาวชนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมในงาน “ดีค้าบ เฟสติวัล” กิจกรรมพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ยาวนานที่สุดในประเทศ และเป็นงานที่ศิษย์เก่าเพาเวอร์กรีนตั้งแต่รุ่นที่ 1 – 19 ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อแชร์ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ณ อุทยาน 100 ปีฯ แถวบรรทัดทอง (วันที่ 2 – 3 พ.ค. 2568)

รศ. ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 20 กล่าวว่า “การศึกษาก็ไม่ควรหยุดอยู่แค่ห้องเรียน ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบค่ายฯ ให้เป็น ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ ที่ไม่ใช่แค่เรียนทฤษฎี แต่ต้องลงมือแก้ปัญหาจริง เข้าใจบทบาทของธรรมชาติ และใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เราต้องการให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หากเราให้อาวุธทางความคิด ทักษะที่จำเป็น และประสบการณ์ที่เข้มข้น พวกเขาจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการดูแลประเทศและโลกต่อไป”

รศ. ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ รศ. ดร.นพพล อรุณรัตน์ กล่าวถึงการออกแบบกิจกรรมค่ายฯ ร่วมกับบ้านปูว่า เป็นลักษณะของ Co-design Learning ตามโจทย์เรื่อง Decarbonization ที่จะสําเร็จได้นั้นต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ในทุกมิติ ทั้งการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคอุตสาหกรรมต้องดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในขณะที่ภาคการศึกษาก็ต้องสอนให้คนเข้าใจประเด็นเรื่องความยั่งยืน 2) เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ที่ต้องนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในขณะที่ภาคการศึกษาก็ต้องปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง  และ 3) เรื่องการสร้างการมีส่วนร่วม  (Collaboration)  ซึ่งสามารถเริ่มต้นสร้างได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยผู้ปกครองต้องปลูกฝังให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน รวมถึงปลูกฝังการดำเนินกิจวัตรประจําวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพวกเขาสามารถไปช่วยสร้างความตระหนักรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับโรงเรียน คือต้องเริ่มต้นสร้างมาตั้งแต่พาร์ทเล็ก ๆ ไปจนถึงพาร์ทใหญ่อย่างภาคอุตสาหกรรม

“ผมมองว่าสถาบันการศึกษาเราอาจจะช่วยในเชิงของวิชาการ เราก็พยายามจะผลิตและสนับสนุนเยาวชนให้เป็นกําลังในการช่วยในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต อยากจะปลูกฝัง สร้างจิตสํานึกให้ตั้งแต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้รู้จักแนวทางการใช้ชีวิตแบบช่วยลดคาร์บอน พวกเขาคือกําลังสําคัญที่จะเติบโตมาอยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือกระจายตัวอยู่ในทั่วประเทศเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเป็นกําลังของประเทศชาติ

“เราต้องการปลูกฝังให้เยาวชน ‘ตื่นรู้ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน ค่ายเพาเวอร์กรีนในปีนี้จึงออกแบบกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ประเมินหรือคํานวณการปลดปล่อยคาร์บอนของตัวเอง (Personal Carbon Footprint) และในวันสุดท้ายของค่ายฯ แต่ละคนจะรู้เลยว่าตัวเองปล่อยคาร์บอนอย่างไร ในปริมาณเท่าไหร่ นอกจากนี้กิจกรรมภาคสนาม ก็จะช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ว่าในภาคการเกษตร  การท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และแนวทางการแก้ไขอย่างไรบ้าง เป็นการดีไซน์ภาพเล็กไปสู่ภาพใหญ่ เริ่มจากการสร้างหลักคิดให้ตัวเอง เข้าใจกิจกรรมที่ตัวเองทํา ไปจนถึงการเรียนรู้ในภาพที่ใหญ่ขึ้น” รศ. ดร.นพพล อรุณรัตน์ กล่าวเสริม

ห้องเรียนธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

กิจกรรมภาคสนามที่ห้องเรียนธรรมชาติเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ชาวค่ายเดินทางไปถึง โดยทุกกิจกรรมจะโฟกัสไปยังเรื่องของการปล่อยคาร์บอน เนื่องด้วยปริมาณของคาร์บอนนี้เอง กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตัววัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ธรรมชาติไปจนถึง ประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจด้วย

กิจกรรมการเรียนรู้พื้นที่จริง: เดินสำรวจป่าพื้นที่แหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน และความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่อุทยานฯ

กิจกรรมการเรียนรู้พื้นที่จริง: เดินสำรวจป่าพื้นที่แหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน และความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่อุทยานฯ

น้อง ๆ เยาวชนร่วมเรียนรู้การวางแปลงสำรวจการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าไม้ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ที่เขาใหญ่ เด็ก ๆ ชาวค่ายฯ ได้ลงพื้นที่จริงร่วมกิจกรรม “การสำรวจและประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าไม้” (Carbon Sequestration Assessment in Forest) ทั้งในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เพื่อศึกษาโครงสร้างสังคมพืช ประเมินความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมในระบบนิเวศ เยาวชนจำนวน 50 คนได้ฝึกปฏิบัติจริงโดยใช้เครื่องมือวางแปลงสำรวจแบบดั้งเดิม เช่น เข็มทิศ (Hand compass) เทปวัดระยะ (Measuring tape) เครื่องระบุพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS) เทปวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง (Diameter tape) เชือกสำหรับวางแปลงตัวอย่าง เครื่องวัดความสูงต้นไม้ (Clinometer) และชุดบันทึกข้อมูลภาคสนาม (Data Sheet) ควบคู่ไปกับการทดลองใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle – UAV) ซึ่งในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์และดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการเฝ้าระวังป่าไม้และสัตว์ป่า การตรวจวัดมลภาวะ การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ซึ่งช่วยให้เยาวชนได้เห็นภาพรวมของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม

น้อง ๆ เยาวชนร่วมเรียนรู้ เทคโนโลยีประเมินการกักเก็บคาร์บอนด้วย “อากาศยานไร้คนขับ” (UAV)

ไม่เพียงเท่านั้น เยาวชนยังได้เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชนแบบโมเดล ‘Local Low Carbon’ ที่ ‘บ้านท่ามะปรางค์ – บ้านคลองเพล’ พร้อมด้วยการทดลองทำเกษตรอินทรีย์คาร์บอนต่ำที่ ‘ซิมเพิลไลฟ์ เขาใหญ่’ เพื่อเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์และสมดุลคาร์บอนของเกษตรอินทรีย์และการเกษตรแบบทั่วไป กิจกรรมที่ผู้จัดงานตั้งใจสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับโลกนั้น ยังสามารถเริ่มต้นจากชุมชนเล็ก ๆ ได้เหมือนกัน

น้อง ๆ เยาวชนเรียนรู้การเพาะกล้าผักเกษตรอินทรีย์

น้อง ๆ เยาวชนเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ฟาร์มไก่เกษตรอินทรีย์ พร้อมเก็บไข่อารมณ์ดี

ตลอดจนกิจกรรมยิงหนังสติ๊กกระจายเมล็ดพันธุ์มะค่าโมง เพื่อร่วมสร้างป่ายั่งยืนให้เกิดขึ้นต่อไป เนื่องด้วย ‘มะค่าโมง’  คือไม้ยืนต้นที่ผ่านการรับรองคาร์บอนเครดิต ด้วยความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ โดยเฉลี่ยที่ 9 – 15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งยังเจริญเติบโตได้ดีในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังอุดมด้วยประโยชน์รอบด้าน เช่น ส่วนเปลือกมีสรรพคุณทางยา สามารถใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย อาเจียน ส่วนเนื้อไม้ยังมีความแข็งแรงเหมาะกับการนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

กิจกรรมตลอด 9 วันเต็มของปีนี้จึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ และสิ้นสุดลงพร้อมความหวังว่าในอนาคต หลังจากได้มาซึมซับองค์ความรู้ต่าง ๆ เยาวชนจากค่ายเพาเวอร์กรีนอาจเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่ชักชวนให้ผู้คน หันมาร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนอาศัยอยู่ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ในอนาคต

“หนูก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ทราบเลยว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร หนูก็เลยชอบไปค่าย พอมาเจอเพาเวอร์กรีนหนูก็รู้สึกว่าเป็นค่ายที่น่าสนใจ เพราะสิ่งแวดล้อมมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม แม้แต่ตัวหนูเองก็เคยใช้ชีวิตแบบไม่ได้คิดถึงสิ่งแวดล้อม แต่พอได้มาสัมผัสประสบการณ์จากค่ายเพาเวอร์กรีน ได้เรียนภาคทฤษฎีในระดับที่ในโรงเรียนยังไม่เคยสอน ได้เรียนรู้ปัญหาและฝึกวิเคราะห์ วางแผน แก้ไขปัญหาผ่านกิจกรรมกลุ่มในแต่ละวัน ได้ลงมือทำผ่านกิจกรรมภาคสนาม ยิ่งทำให้หนูสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในทุก ๆ กิจกรรมทำให้หนูรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องสนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากว่านี้ อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการไม่แยกขยะ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ทําไมเราถึงไม่ตระหนักรู้ ค่ายเพาเวอร์กรีนทำให้หนูค้นพบตัวเองว่าหนูก็มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม รู้สึกอยากจะรักษาเขา อยากเรียนรู้ หนูก็เลยอยากแนะนําเพื่อนๆ ใครที่อยากจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากลองทําอะไรใหม่ๆ ควรมาค่ายนี้ หนูรู้สึกว่าเป็นค่ายที่ทําให้เราค้นพบตัวเองได้มากขึ้น” – ณัฐวลัย ดาปาน (พริกแกง) อายุ 17 ปี โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ (กาญจนบุรี)

“สำหรับผม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจธรรมชาติอยู่แล้ว ค่ายนี้คือโอกาสที่พิเศษมากจริง ๆ มันไม่ใช่แค่การเรียนรู้ธรรมชาติจากในห้องเรียน แต่มันคือการได้ออกมาสัมผัสจริง ลงมือทำจริง และเข้าใจธรรมชาติแบบลึกซึ้ง ผมได้เปิดโลกวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ หรือการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ ทุกอย่างคือความรู้ใหม่ และยิ่งได้ทดลองจริง ลงพื้นที่จริง มันยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้น สนุกขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้แบบเต็มที่ ค่ายนี้เป็นค่ายที่ ‘ใช่’ มาก ๆ สำหรับคนที่อยากเปิดมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม อยากเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อโลกที่ดีขึ้น สำหรับผม ถ้ามีโอกาส ปีหน้า ผมก็อยากกลับมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายฯ แบบพี่ ๆ รุ่นก่อนที่กลับมาในปีนี้ครับ”– ปัณณวิชญ์ ปัญญาบุญ (โฟกัส) อายุ 16 ปี โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย (เลย)

ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ ค่ายเพาเวอร์กรีนได้บ่มเพาะเยาวชนผ่านโครงการดังกล่าวถึง 1,185 คน ในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสามารถเป็นพลังสำคัญในการดูแลและช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ของพวกเขาได้ และยังสังเกตเห็นสัญญาณที่ดี ที่มีเยาวชนสนใจสมัครเข้ามาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้นทุกปี หรือตัวอย่างจากปีนี้ ที่มีผู้สมัครเข้ามามากกว่า 500 คน หรือมากกว่าจำนวนที่เปิดรับถึง 10 เท่า ตัวเลขดังกล่าวอาจกำลังสะท้อนในเห็นถึงมุมมองของเยาวชนต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ ว่าไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

“กว่า 2 ทศวรรษแห่งความร่วมมือระหว่างบ้านปู และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เราไม่ได้พัฒนาแค่รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายในค่ายให้เข้มข้นแต่เพียงเท่านั้น เราสร้างมุ่งพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนที่กล้าคิด กล้าทำ และกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อม เยาวชนไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ผู้เรียน’ แต่คือ ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ เราเชื่อว่าเยาวชนที่ผ่านค่ายเพาเวอร์กรีนไปจะเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน

“บ้านปูจะยังคงเดินหน้าเสริมศักยภาพ ‘คนรุ่นใหม่’ เพื่อสร้าง ‘พลังในการลงมือทำ’ เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนที่ สำเร็จการศึกษา’ จาก ‘ค่ายเพาเวอร์กรีน’ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนอกตำราแห่งนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการดูแลฟื้นฟูโลกใบนี้ ผ่านการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก สร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นถัดไป” รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  กล่าวทิ้งท้าย

 

“บทความนี้เป็นเนื้อหาที่ผลิตขึ้นโดยการสนับสนุนของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มิได้สะท้อนความคิดเห็นของ National Geographic และกองบรรณาธิการของ National Geographic ฉบับภาษาไทย”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.