นักวิจัยไทยใช้เทคโนโลยี “แสงซินโครตรอน” พิสูจน์วัตถุโบราน เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงอายุกว่า 3500 ปี เป็นของปลอมหรือจริงได้อย่างแม่นยำ โดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอ็กซ์ร่วมกับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเนื้อดินและสี นำไปสู่วิธีการแยกแยะเครื่องปั้นดินเผาของแท้หรือเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการวิจัยของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก และเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ไม่เพียงแต่ในวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเผยแพร่ข้อมูลการตรวจวิเคราะห์วัตถุโบราณในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เพื่อแยกแยะเครื่องปั้นดินเผาของแท้ กับเครื่องปั้นดินเผาเลียนแบบ “ปัจจุบัน ได้มีการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการวิจัยด้านโบราณคดีอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรป เนื่องจาก เทคนิคการตรวจวิเคราะห์โดยใช้แสงซินโครตรอน สามารถบอกได้ถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของวัตถุ โดยชิ้นตัวอย่างไม่ได้รับความเสียหายจากขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง” ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าว
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการยอมรับให้เป็น “แหล่งมรดกโลก” จึงนำไปสู่การทำเครื่องปั้นดินเผาเลียนแบบ เพื่อจูงใจนักสะสมทั้งหลาย การทำเลียนแบบเหล่านี้พัฒนาเทคนิคจนสามารถทำให้ดูเหมือนของแท้ รวมไปถึงการทำให้ดูเก่าด้วย ซึ่งการพิสูจน์ความเป็นของแท้นั้นทำได้ยาก และต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
กรมศิลปากรจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ศึกษาคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ทั้งการวิเคราะห์ทั้งเนื้อดิน องค์ประกอบทางเคมี และสีที่เขียนเป็นลวดลาย โดยใช้เทคนนิคการเรืองรังสีเอ็กซ์ และการการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ ซึ่งทำให้ทราบว่า เครื่องปั้นดินเผาชิ้นใดเป็นของแท้หรือปลอม ดร.ประพงษ์กล่าวปิดท้าย
อ่านเพิ่มเติม