แสงซินโครตรอนเผยความลับคดีอัญมณีละเมิดลิขสิทธิ์

แสงซินโครตรอนเผยความลับคดีอัญมณีละเมิดลิขสิทธิ์

อัญมณี หรือรัตนชาติ มาจากแร่ธาตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นำมาผ่านการเจียระไน ขัดมัน แกะสลัก และนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความสวยงาม ความคงทนถาวร และความหายาก นอกจากนี้ คุณค่าและราคาของอัญมณีแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและลักษณะจำเพาะของอัญมณี เช่น สี ความโปร่งแสง ความวาว การกระจายของแสง เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ประดิษฐ์คิดค้นวิธีสังเคราะห์อัญมณีปลอมให้เหมือนกับธรรมชาติมากที่สุดตั้งแต่ สี ความใส องค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างภายใน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เพราะอัญมณีที่มาจากแหล่งแร่ธรรมชาตินั้น มีปริมาณลดลง หายาก อีกทั้งมีราคาแพง

อัญมนีสังเคราะห์ที่ได้รับจากดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมี โดยใช้แสงซินโครตรอน

ปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ อยู่หลายคดี หนึ่งในนั้นคือคดีฟ้องร้องการละเมิดอนุสิทธิบัตรของบริษัทผู้ประดิษฐ์คิดค้นวัสดุอัญมณีสังเคราะห์ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงสนใจนำตัวอย่างอัญมณีสังเคราะห์ที่มีการฟ้องร้องส่งให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบการพิจารณาคดี

ห้องปฏิบัติการแสงสยาม

“แสงซินโครตรอนเป็นแสงที่ใช้วิจัยและวิเคราะห์ด้านวัสดุ ซึ่งแสงซินโครตรอนเป็นแสงที่มีความพิเศษต่างจากแสงอื่นๆ เช่น มีความสว่างและความเข้มแสงสูงมาก สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบของตัวอย่างได้ถึงระดับโมเลกุลหรืออะตอม” ดร.ณรงค์ จันทร์เล็ก นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าว ทีมนักวิจัยของสถาบันฯ ได้วิเคราะห์และทดสอบองค์ประกอบทางเคมีของธาตุภายในอัญมณีสังเคราะห์ที่ได้รับมาจากดีเอสไอ ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ เพื่อหาลักษณะเฉพาะของอัญมณีสังคราะห์แต่ละประเภท จากการตรวจสอบพบว่า อัญมณีสังเคราะห์สังเคราะห์แต่ละประเภทที่ดีเอสไอได้รับการร้องเรียนนั้น มีองค์ประกอบทางเคมีของธาตุไม่เหมือนกับที่จดทะเบียนในอนุสิทธิบัตร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดี นับว่าเป็นมิติใหม่ของการสืบสวนคดีทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้แสงซินโครตรอน นอกจากการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของวัตถุตัวอย่างแล้ว การใช้แสงซินโครตรอนยังสามารถตรวจวัดปริมาณของสารที่อยู่ในวัตถุได้อย่างแม่นยำ โดยทางสถาบันฯ หวังว่าในอนาคตจะได้มีส่วนร่วมในการไขความลับคดีสำคัญอื่นๆ ต่อไป

ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.