ช้างป่า ละอู : เมื่อป่าที่เคยเป็นบ้านหดหาย

ช้างป่า คือดัชนีทางชีวภาพของความสมบูรณ์ของผืนป่า

ย้อนกลับไปเมื่อสี่สิบปีก่อน พรานป่าเล่าว่า การจะได้เจอ ช้างป่า สักตัวต้องเดินเข้าป่าลึกสามถึงสี่วัน แต่อดีตนายตำรวจพลร่มท่านหนึ่งในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้พื้นที่เกษตรกรรมที่ขยายตัวจนรุกล้ำพื้นที่ป่า เป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ช้างออกจากป่ามาปรากฏตัวบ่อยครั้งขึ้น ป่าคือแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของช้างป่า แต่เมื่อพื้นที่ป่าที่เคยเป็นบ้านหายไป หรือถูกรุกล้ำจากการคมนาคม ช้างป่า จึงจำเป็นต้องหาแหล่งอาหารใหม่ หรือออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมใกล้ชายป่า ตามธรรมชาติ ช้างป่าจะหากินเป็นโขลงอยู่ในป่าชั้นใน มีเพียงช้างโทนเท่านั้นที่จะออกมาหากินบริเวณชายขอบ

เมื่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติร่อยหรอ ช้างป่า มักยกโขลงกันมายังพื้นที่อื่นๆ นอกป่า

(เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ช้างเศร้าสลดเมื่อเห็นเพื่อนร่วมสายพันธุ์จากไป)

ในปี 2558 หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชาวไร่ชาวสวนจึงจำเป็นต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค นอกจากนี้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติในป่าก็เหือดแห้ง และไม่เพียงพอต่อประชากรช้างในป่า จึงเป็นแรงผลักให้ช้างป่าออกมาหากินยังพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งน้ำรอบๆ ชุมชน จนเกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างคนกับช้าง

นักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มักหยอกล้อกับช้างป่าด้วยนการเร่งเครื่องจักรยานยนต์ใส่ช้าง และขับหนีอย่างรวดเร็ว

เดือนกันยายน ปี 2559 ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงเป็นสัญญาณว่า ภัยแล้งยังคงดำเนินต่อไป ดูเหมือนปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำระหว่างคนกับช้างคงไม่จบสิ้นลงในเร็ววัน ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 ผมลงพื้นที่และทราบข้อมูลว่า ช้างป่าทำให้คนเสียชีวิตสามราย พอมีคนตาย ช้างก็ตาย ปัญหาเกิดจากผู้คนที่สัญจรไปมาบนถนนให้อาหารช้างป่า จนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรม ทุกครั้งที่ช้างเห็นรถชะลอความเร็วแล้วไม่ได้รับอาหาร จึงเกิดความหงุดหงิดและเข้าปะทะกับคนในที่สุด ผมนึกถึงพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2555 ว่า “ทำอย่างไรให้คนกับช้างมีปัญหากันน้อยที่สุด” และจากการประชุมหมู้บ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่า “ควรให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำและทรัพยากรป่าไม้เป็นอันดับแรก”

ซากรถยนต์ปริศนาพลิกตะแคงอยู่บนไหล่ทาง ดึงดูดความสนใจจากช้างป่าอย่างมาก

 

ชาวบ้านในละแวก จะผลัดเวรกันมาผลักดันช้างกลับเข้าป่า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนถนน

 

วิกฤติภัยแล้ง เมื่อปี 2558 ส่งผลให้ ช้างป่าออกมาหาแหล่งน้ำใกล้ชุมชน และโดนไฟจากรั้วไฟฟ้าช็อกตายถึงสามตัว

เรื่องและภาพ พงษ์ชัย มูลสาร
รางวัลรองชนะเลิสอันดับ 1 จากการประกวดโครงการ 10 ภาพเล่าเรื่อง ปี 2016 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

เพิ่มเติม: แผนที่แสดงพื้นที่ป่าละอู

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.