เครื่องแบบชาวนา

ผลงานภาพ “เครื่องแบบชาวนา” มุ่งถ่ายทอดให้เห็นถึงการแต่งกายที่แตกต่างกันของ ชาวนา ในแต่ละพื้นที่การทำนาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเรายังคงพบเห็นการทำนาอยู่บ้าง ทว่าลดน้อยลงทุกที

แม้ข้าวจะยังคงเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่อาชีพ ชาวนา กลับหดหายไปทีละน้อย จนเกรงว่าอาจสูญหายไปในที่สุด ผมจึงตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยและประเทศไทยมาช้านาน

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน “เครื่องแบบชาวนา” เกิดขึ้นจากการเห็น สังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมนอกภาคเกษตรกรรม

พื้นที่เกษตรกรรมในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่เคยมีการทำนาอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร และสนามกอล์ฟ บ้างซื้อขายเปลี่ยนมือเพื่อเก็งกำไร ส่งผลให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพรับจ้างทำนาได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะเจ้าของพื้นที่นาส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพชาวนาแล้ว ตัดสินใจขายที่นาของตน

เราอาจไม่สามารถระบุหรือบ่งบอกอาชีพชาวนาได้จากเครื่องแต่งกายภายนอกที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ วัฒนธรรมท้องถิ่นและรสนิยมส่วนบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือสัญลักษณ์ของอาชีพโดยเฉพาะเครื่องไม้ เครื่องมืออย่างเคียวเกี่ยวข้าว

ในภาพถ่ายเหล่านี้ เรายังเห็นวิวัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเกษตร เช่น เครื่องจักรทุ่นแรงอย่างรถไถและรถเกี่ยวข้าว ขณะที่ฉากหลังอาจบ่งบอกถึงวัฒนธรรมในท้องถิ่นและการพัฒนาในพื้นที่ เป็นต้น

เรื่องและภาพ ร่มไทร สิทธิศิริ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2014

โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

 

 

 

 

 

 

 

 


อ่านเพิ่มเติม เมื่อชาว แม่แจ่ม เปลี่ยนเขาหัวโล้นจากไร่ข้าวโพด เป็นผืนป่าและสวนวนเกษตรด้วย ‘ต้นไผ่’

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.